" หากความเข้มงวดที่คุณแม่ว่ามามี 3 อย่าง คือ เข้มงวดเวลากินข้าว เวลาเข้านอน และการดูทีวี กิจกรรมทั้งสามอย่างนี้ต้องการความเอาจริงเอาจังของพ่อแม่ ไม่มีการต่อรอง และสมควรเข้มงวด
สมัยใหม่อาจจะเพิ่มอีกข้อคือการนั่งคาร์ซีทก่อนออกรถในต่างประเทศ โดยเฉพาะในยุโรปพ่อแม่จะดูแลกติกาเรื่องเวลากับพฤติกรรมพื้นฐาน ได้แก่ การกิน และการนอน เด็กที่รู้ว่าเวลากินคือกี่โมง วันละสามครั้ง ตามด้วยเวลาเข้านอนคือกี่โมง อย่างตรงเวลาทุกๆวัน
เด็กจะกำหนดหมุดหมายของชีวิตลงไปวันละ 4 จุดโดยไม่รู้ตัวแล้วความสามารถที่จะควบคุมตัวเองให้ทำตามกติกาจะมาโดยอัตโนมัติ รวมทั้งรู้ว่าอะไรทำได้และอะไรทำไม่ได้
เวลาเป็นนามธรรม (abstract) ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตา เด็กเล็กไม่รู้จักเวลา พ่อแม่ที่ชาญฉลาดจึงแปลงเวลาที่เป็นนามธรรมให้กลายเป็นรูปธรรม (concrete) ด้วยการวางนาฬิกามีเข็มเห็นเด่นชัดให้ลูกเห็นวันละ 4 ครั้งคือเวลากินข้าวและเข้านอน
ด้วยวิธีนี้เด็กๆจะเห็นเข็มสั้นและเวลาเริ่ม เข็มยาวและเวลาหยุด กินข้าวด้วยตนเองบนโต๊ะได้เมื่อเข็มยาวเดินจากขีดหนึ่งไปที่อีกขีดหนึ่งที่พ่อแม่ชี้ให้ดูด้วยนิ้วชี้ คำสั่งสอนของพ่อแม่บัดนี้กลายเป็นนิ้ว เป็นรูปธรรม
กินข้าวคือกินข้าวสถานเดียว ไม่เล่นบนโต๊ะอาหาร ไม่อ่านหนังสือและไม่ดูหน้าจอ เวลากินข้าวคือเวลากินและพูดคุยกับพ่อแม่ให้เสร็จใน 30-45 นาทีจนกระทั่งเป็นกติกาประจำชีวิต เข้านอนตรงเวลาทุกวันเมื่อเข็มสั้นและเข็มยาวเข้าที่ ประจำตำแหน่ง และนอนคือนอน ขึ้นเตียง ปิดไฟ และหลับตา ไม่ทำอย่างอื่นบนเตียงนอนจนติดเป็นนิสัยนอนไม่หลับ เพราะเตียงมิได้มีไว้นอนจนเป็นความเคยชิน
นอกเหนือจากการกลั้น และการกิน รวมไปถึงการนอน เด็กพัฒนาต่อไปจากศูนย์กลางของร่างกายเลื่อนออกมาถึงกล้ามเนื้อลายที่ต้นแขนต้นขาตามด้วยกล้ามเนื้อลายที่ปลายแขนปลายขา นี่คือกล้ามเนื้อใหญ่ของร่างกายที่ควบคุมการเคลื่อนที่ของกล้ามเนื้ออย่างหยาบ (gross motor) เป็นอีกหนึ่งความสามารถที่จะมีมาเองอัตโนมัติโดยไม่ต้องสอน
วันหนึ่งเด็กจะตีพ่อแม่ได้ เตะปู่ย่าตายายได้ ขว้างอาหารบนจานทิ้ง วิ่งหนีพ่อแม่เมื่อพ่อแม่เรียกอาบน้ำ ดิ้นด้วยกำลังแรงเมื่อพ่อแม่จับแปรงฟัน ความสามารถของกล้ามเนื้อใหญ่ที่มีพลังมหาศาลนี้เกิดขึ้นเอง ที่เราสอนจึงเป็นเรื่องกฎ กติกา มารยาท อะไรที่ทำได้ อะไรที่ทำไม่ได้ "
นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
จิตแพทย์และนักเขียน ขวัญใจพ่อแม่ชาวโซเชียล