ทราบมั้ยคะว่าสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของการบาดเจ็บและอุบัติเหตุในเด็ก คือ การจมน้ำ อย่าคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว เพราะแม้แต่ในกะละมังน้ำไม่สูงเท่าไร แต่ก็สามารถคร่าชีวิตเด็กวัย 1-3 ปี มาหลายคนแล้วค่ะ
แหล่งน้ำในบ้าน
จากสิ่งที่พ่อแม่คิดไม่ถึงว่าจะทำให้ลูกจมได้อย่าง อ่างน้ำ ถังน้ำ คอห่าน ชักโครก อ่างต่างๆ หรือแม้แต่สระน้ำ
(ถ้ามี) นั่นแหละค่ะ แหล่งน้ำเหล่านี้เกิดอันตรายกับลูกได้ทั้งนั้น เพราะเด็กเล็กชอบเล่นน้ำ และมีความอยากรู้อยากเห็น อาจจะคลานหรือจุ่มหน้าลงไปในน้ำได้ทั้งนั้นค่ะ แค่หน้าคว่ำลงไปในน้ำ แม้น้ำจะลึกแค่นิ้วเดียวนี่แหละค่ะ ทำให้ลูกได้รับอันตรายถึงชีวิตได้แล้ว
การป้องกันลูกน้อยการจมน้ำที่ดีที่สุด คือให้ลูกห่างจากแหล่งน้ำมากที่สุด ต้องตรวจตราดูว่ามีกะละมัง ถังน้ำวางไว้ตรงจุดไหนบ้าง ถ้ามีก็ต้อง เอาไปวาง ไว้ในจุดที่มั่นใจว่าลูกไปไม่ถึง หรือเททิ้งไป หากคุณอยู่ในสระน้ำหรือชายหาดทะเล ก็อย่าได้คลาดสายตาหรือต้องอยู่กับลูกตลอดเวลา
ปลอดภัยในห้องน้ำ
- เมื่ออาบน้ำให้ลูกน้อย อย่าปล่อยลูกไว้ในน้ำตามลำพังแม้แต่วินาที หากมีความจำเป็นต้องทำ ให้อุ้มลูกขึ้นจากน้ำ แล้วไปด้วยกัน อย่าคิดว่าให้ลูกอยู่ในน้ำแป๊บเดียวเอง คงไม่เป็นไร เพราะเกิดเหตุร้ายกับลูก เพราะความคิดนี้มานักต่อนักแล้ว
- ปูพื้นห้องน้ำด้วยแผ่นยางเพื่อป้องกันการไถลลื่น และเปิดน้ำในอ่างแค่ 3-4 นิ้วก็พอ หากลูกยังเล็กมาก ยังนั่งเองไม่ได้ ให้ประคองหลังลูกตลอดเวลา เพราะลูกอาจไถลตัวลงไปในน้ำได้
- ปิดฝาชักโครกและประตูห้องน้ำทุกครั้งหลังใช้งานแล้ว
ทำอย่างไรเมื่อลูกหน้าคว่ำในน้ำ
เมื่อลูกน้อยหน้าจมน้ำ หากเป็นแป๊บหนึ่ง ลูกจะไอหรือสำลักน้ำนั้นออกมา แต่หากลูกหน้าจมลงไปนาน อย่าช้า..
- อุ้มลูกให้หัวห้อยต่ำกว่าหน้าอก
- ถอดเสื้อผ้าที่เปียกออกให้หมด แล้วห่อตัวลูกไว้ หากลูกจมน้ำ แล้วไม่รู้สึกตัว ให้ใจเย็นๆ รีบเอาลูกนอนหงายบนพื้นเรียบๆ หากไม่มั่นใจว่ากระดูกสันหลัง คอ หรือหลังลูกได้รับบาดเจ็บหรือเปล่า ก็อย่าเคลื่อนย้ายลูก จากนั้นให้
เช็คการหายใจและชีพจรลูกโดยเร็ว
การปฐมพยาบาล
เช็คการหายใจและชีพจร
- เมื่อเห็นลูกนอนหมดสติอยู่ ให้รีบเข้าไปตรวจดูการหายใจของลูก ด้วยการตะแคงหูเข้าไปชิดที่จมูกและ ปากของลูกเพื่อฟังเสียงหายใจ พร้อมกับสังเกตดูหน้าอกของลูก ว่ากระเพื่อมขึ้นลงตามจังหวะหายใจหรือไม่
- ถ้าลูกไม่หายใจให้จับลูกเอียงหน้าไปด้านใดด้านหนึ่ง เพื่อกันลิ้นของลูกตกไปจุกที่หลอดลม แล้วค่อยๆ ใช้นิ้วล้วงเข้าไปที่ปากเพื่อดูว่ามีสิ่งแปลกปลอมที่ติดอยู่หรือไม่ ถ้าพบให้ใช้นิ้วเกี่ยวออกมาด้วยความระมัดระวัง เพราะไม่อย่างนั้นนิ้วของเราอาจจะไปดันให้ของหลุดเข้าลึกมากขึ้น
- เปิดทางเดินหายใจให้ลูกด้วยการจับลูกวางนอนบนพื้นราบ ใช้มือจับหน้าผากลูกแล้วกดเบาๆ ให้คางของลูกหงายขึ้นเล็กน้อย
- ใช้มืออีกข้างดึงปลายคางของลูกให้ปากของลูกเปิดออกเล็กน้อย เพื่อเปิดทางเดินหายใจให้ลูก
- จับมือลูกวางไว้เหนือศีรษะ ใช้นิ้วชี้และนิ้วกลางจับชีพจรตรงข้อมือ ไหปลาร้า และข้อพับว่าเต้นหรือไม่
ผายปอด
เมื่อช่วยเปิดทางเดินหายใจแล้ว แต่ลูกยังหายใจเองไม่ได้ ต้องรีบช่วยเหลือต่อด้วยการเป่าปาก หรือที่เรียกว่า "ผายปอด" ทันที
- จับศีรษะลูกให้หงายไปทางด้านหลังเล็กน้อย มืออีกข้างจับคางของลูกให้ปากเปิดออก
- สอดมือเข้าไปประคองศีรษะและหลังของลูกไว้ ประกบปากเราไปที่ปากและจมูกลูกให้สนิท ถ้าลูกโตสักหน่อย ใช้นิ้วบีบจมูกของลูกไว้ ประกบปากเข้ากับปากลูกให้ปิดสนิท จากนั้นใช้มือดึงคางลูกเพื่อเปิดปาก
- เป่าลมเข้าปากลูกช้าๆ อย่างต่อเนื่อง (ประมาณ 15-20 ครั้งต่อนาที) โดยเป่าลม 4-5 ครั้งสลับกับการหยุดพักประมาณ 5 วินาที ทำซ้ำจนกว่าจะสังเกตเห็นว่า หน้า อกของลูกขยับขึ้นลง แสดงว่าลูกเริ่มหายใจได้เองแล้ว
ปั๊มหัวใจ
หากช่วยเปิดทางเดินหายใจและผายปอดแล้ว แต่ลูกยังไม่หายใจ จับชีพจรไม่พบหรือหัวใจเต้นอ่อนมาก ต้องรีบช่วยนวดปั๊มหัวใจให้กลับมาทำงานอีกครั้ง
- วางลูกนอนบนพื้นเรียบ สอดแขนเข้าไปประคองศีรษะและหลังของลูก
- นั่งคุกเข่าข้างตัวลูก วางนิ้วชี้และนิ้วกลางไปที่บริเวณกึ่งกลางอกของลูก ออกแรงกดลงไปให้ลึกประมาณ 1/2-1 นิ้ว (อย่ากดให้ลึกกว่านี้ เพราะหากกดแรงจะไปทำให้อวัยวะภายในลูกเจ็บได้) นวดไปเรื่อยๆกะให้ได้ 100 ครั้งต่อนาที หากลูกโต ใช้เฉพาะบริเวณส้นมือกดไปที่กึ่งกลางหน้าอกลูก ซึ่งอยู่เหนือลิ้นปี่ขึ้นไประมาณ 1 นิ้ว โดยกดนวดลึกลงไปประมาณ 1 1/2 - 2 นิ้วประมาณ 60 ครั้งต่อนาที
- ถ้าจะให้ผลดี ควรปั๊มหัวใจไปพร้อมกับการเป่าปาก โดยกดหน้าอกปั๊มหัวใจ 5 ครั้ง สลับกับการเป่าปาก 1 ครั้ง ให้ทำติดต่อกันไปจนกว่าลูกจะหายใจได้เองหรือคลำ ชีพจรพบจากนั้นพาลูกส่งโรงพยาบาลเพื่อตรวจร่างกายให้ละเอียดอีกครั้ง