การที่ลูกเล่นบทบาทสมมติส่งผลต่อพัฒนาการในทุกด้านของลูก ช่วยให้ลูกมีทักษะต่างๆ และเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น
ลูกจะรู้ว่าตนเองชอบหรือไม่ชอบอะไร เขาอาจเห็นภาพอนาคตของตนเองได้ว่าอยากทำอะไร หรือเป็นอะไรเมื่อโตขึ้น
เพราะการเล่นบทบาทสมมติคือการที่ลูกจินตนาการตัวเองในบทบาทต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นพ่อค้า แม่ค้า เป็นหมอ เป็นครู รู้จักเชื่อมโยงบทบาทหน้าที่ เช่น ถ้าเป็นแม่ค้าในตลาดจะต้องทำอย่างไร จะพุดอะไร จะแสดงอะไรออกมา
นอกจากจินตนาการแล้ว ลูกยังได้ฝึกทักษะการคิด หรือเกิดความคิดสร้างสรรค์จากการเล่นบทบาทสมมติต่าง ๆ ที่ลูกเล่น มีการจำลองเหตุการณ์สมมติ ต่อยอดจินตนาการ เกิดกระบวนการคิด และการแก้ปัญหาต่างๆ
บทบาทสมมติสามารถกระตุ้นให้ลูกเกิดความกล้าแสดงออก พูดเก่ง รู้จักพูด รู้จักเจรจา และแสดงออกอย่างเหมาะสม
หากคุณพ่อคุณแม่ เข้ามาร่วมเล่นกับลูกด้วย มีปฏิสัมพันธ์ร่วมกัน จะช่วยให้ลูกมีความสุข สุขภาพจิตดี และเป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวอีกด้วยค่ะ
บทบาทสมมติทำให้ลูกแยกพฤติกรรมที่ควรทำและไม่ควรทำได้ แยกคนดีกับคนชั่วได้ ลองสังเกตจากการที่ลูกเล่นบทบาทสมมติลูกมักจะอยากเป็นคนดี หรือขณะเล่นพ่อแม่สามารถสอดแทรกจริยธรรมเข้าไปในเนื้อเรื่องของบทบาทสมมติที่ลูกกำลังแสดงได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแสดงความเมตตากรุณา การช่วยเหลือผู้อื่น การแบ่งปัน เป็นต้น
การเล่นบทบาทเชื่อมโยงกับความจำ เด็กจะจดจำท่าทางของคนที่เขาเลียนแบบ เช่น เล่นเป็นคุณครู ครูทำท่าทางอย่างไร คุณครูชอบพูดอะไร หรือน้ำเสียงเป็นแบบไหน เด็ก ๆ จะจำแล้วนำมาถ่ายทอดตามบทบาทที่เขาเล่นอยู่
เด็ก ๆ เล่นบทบาทสมมติเลียนแบบผู้ใหญ่หรือเหตุการณ์ที่ตนเองพบเจอ เช่น การกล่าวทักทาย การไหว้ สวัสดี ขอบคุณ ฯลฯ มักจะแทรกอยู่ในบทสนทนาที่เด็ก ๆ เล่น
เด็ก ๆ ไม่ได้เล่นแค่สมมติตัวเองเป็นใคร แต่ในการเล่นของเขาหลาย ๆ ครั้งจะมีการแสดงสีหน้าและอารมณ์ด้วย เช่น ดีใจ เสียใจ ทุกข์ใจ ร้องไห้ หากพ่อแม่เล่นกับลูก สามารถสอนลูกให้เข้าใจอารมณ์ต่าง ๆ ได้ว่าเมื่อเกิดความรู้สึกเหล่านั้นเขาจะมีพฤติกรรมอะไรตามมาและต้องจัดการอย่างไร
เพราะการเล่นบทบาทสมมติเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสาร แม้จะเล่นคนเดียวลูกก็จะหาเพื่อนในจินตนาการขึ้นมาเป็นตัวละครต่าง ๆ นอกจากท่าทางที่แสดงออกแล้ว ก็จะมีคำพูดที่ลูกจดจำมาเล่นด้วย และหากพ่อแม่เล่นกับลูกด้วย เขาก็จะได้ฝึกพูด ฝึกทักษะการสื่อสารให้ดีขึ้นไปอีกค่ะ