การเรียนรู้ของลูกวัย 1-2 ปีจะต่อเนื่องมาจากช่วงวัยขวบแรกที่เน้นประสาทสัมผัสและการเคลื่อนไหว ดังนั้นลูกจะเรียนรู้เรื่องร่างกายของตัวเองเป็นหลัก ผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 และการเคลื่อนไหว โดยจะไล่จากส่วนหัวไปถึงเท้า สามารถเชื่อมโยงระหว่างสัมผัสการเคลื่อนไหวให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันได้
เมื่อเข้าวัย 2-3 ปีจะเริ่มมีการพัฒนาด้านความคิด จินตนาการ เริ่มเรียนรู้ว่าไม่จำเป็นต้องเห็นของเล่นหรือสัมผัส แค่คิดในใจก็สามารถเล่นได้ ดังนั้นการเล่นจะอยู่ในรูปแบบสมมติ หรือเห็นรูปภาพก็รู้ว่าภาพนั้นเป็นตัวแทนของของจริง รู้ว่ารูปแมวที่เห็นในหนังสือนิทานร้องอย่างไร สามารถเชื่อมโยงการเรียนรู้สู่สัญลักษณ์ได้ สิ่งที่พ่อแม่ควรทำคือ เข้าไปมีส่วนร่วมในการเรียนรู้พร้อมๆ กันกับลูก ก็จะช่วยให้ลูกอยากเรียนรู้โลกมากขึ้นด้วย
ประเภทหนังสือนิทาน : หนังสือนิทานภาพ หนังสือนิทานกึ่งของเล่น เช่น หนังสือผ้า หนังสือลอยน้ำ และหนังสือ Board Books หนังสือนิทานป็อปอัพ
หนังสือควรมีภาพขนาดใหญ่ มองเห็นชัดเจน สีสันสดใสและหลากหลาย ลายเส้นไม่สลับซับซ้อนจนเกินไป อาจจะเพิ่มเติมลักษณะลายเส้นให้มากกว่าตอนลูกเล็กได้ แต่อย่าเพิ่งเลือกเล่มที่ลายเส้นยุ่งเหยิงวุ่นวายจนดูไม่ออกว่าเป็นรูปอะไร และที่สำคัญหากเป็นภาพที่พบเห็นในชีวิตประจำวัน ควรเป็นภาพที่มีลักษณะคล้ายของจริงมากที่สุด เช่น นิ้วมือมี 5 นิ้ว
เนื้อเรื่องต้องสั้น เหตุการณ์ในนิทานไม่สลับซับซ้อนเกินไป สีสันสดใสและหลากหลาย ใช้ภาษาไทยถูกต้อง สั้น กระชับ เข้าใจง่าย และสุภาพ เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้คำและภาษาไทยที่ถูกต้อง รูปเล่มมีความแข็งแรงทนทานต่อการใช้งาน ไม่มีมุมแหลมคม ขนาดเล่มไม่หนาเกินไป ส่วนกระดาษที่ใช้ก็ไม่ควรบางและคมเกินไปเพราะวัยนี้เริ่มใช้มือเปิดหนา หนังสือเองได้แล้ว
เปิดโอกาสให้ลูกได้พูดคุย ซักถามเรื่องราวในนิทานบ้าง เพราะเขาอยู่ในวัยช่างคุย สนุก และมีความสุขที่จะได้พูด ชวนให้ลูกถาม-ตอบ สิ่งต่างๆ ที่อยู่ในนิทาน และจะช่วยให้ลูกได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ เพิ่มเติม อย่าลืมสร้างบรรยากาศการอ่านให้สนุกสนานและน่าสนใจ สร้างการจดจำที่ดีกับการอ่านให้หนังสือด้วย อย่าให้ทีวี เกม และคอมพิวเตอร์เร้าความสนใจของเด็กจนเกินพอดี เพราะเป็นการสื่อสารทางเดียวที่ไม่พัฒนาการเรียนรู้ของเด็กได้ บรรยากาศการอ่านที่เต็มไปด้วยความเครียดและความกดดันจากคุณพ่อคุณแม่ และหวังผลให้อ่านได้หลายๆ เล่ม จะทำให้ลูกไม่อยากอ่านหนังสือเพราะไม่มีความสุข หากในบ้านไม่มีหนังสือให้ลูกอ่านเลย มีแต่ของเล่นหรือคอมพิวเตอร์ ลูกก็จะหันไปหากิจกรรมอื่นแทนการอ่าน ทำให้ลูกไม่รักการอ่านในที่สุด
ดนตรีเป็นเครื่องมือให้ลูกเรียนรู้ทางประสาทสัมผัสมาเป็นการเรียนรู้แบบลงมือทำมากขึ้น และพัฒนาการด้านร่างกายก็พร้อมเกือบเต็มที่ สามารถควบคุมแข้งขา กระโดดโลดเต้นได้อย่างใจ สามารถจับจังหวะของดนตรี อีกทั้งเสียงเพลงยังสร้างความสนุกและสุนทรียภาพในจิตใจ เสียงเพลงจึงเป็นเครื่องมือในการกระตุ้นพัฒนาการอย่างครบถ้วน
หาของเล่นที่มีเสียง เช่น ของเล่นประเภทเคาะ หรือแบบเขย่าแล้วมีเสียง เช่น กลองใบเล็ก ลูกแซค เลือกที่ไซส์เล็กขนาดเหมาะมือลูก วัยเริ่มหัดพูดควรสอดแทรกการร้องเพลงไปพร้อมๆ กับการหัดพูด ลูกจะสามารถจับจังหวะเพลง ฮัมเพลงตามจังหวะ ร้องเป็นคำคล้องจอง แถมท่าทีประกอบเพลงด้วยจะสนุกมากเลย อัดเทปเสียงร้องของลูกให้ลูกฟัง เขาจะรู้สึกตื่นเต้นกับเสียงที่ได้ยิน กระตุ้นให้อยากส่งเสียงร้อง ร้องเพลงที่มีเนื้อร้องประกอบกิจวัตรประจำวัน ทำให้เด็กสนุกมากขึ้น เช่น อาบน้ำ แปรงฟัน ช่วงวัยนี้ลูกจะเริ่มเป็นตัวของตัวเอง เรียนรู้ที่จะเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ซึ่งดนตรีกับการเคลื่อนไหวจะเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ปฏิสัมพันธ์กับคนรอบตัว รู้จักฟัง และแสดงออกในจังหวะที่เหมาะสม เด็กก็จะมีการพัฒนาประสาทการรับรู้และการเคลื่อนไหวให้มีความสัมพันธ์และแม่นยำมากขึ้น
การจะช่วยเสริมพัฒนาการของลูกน้อยนั้นไม่จำเป็นต้องไปซื้อของเล่นแพงๆ เพียงแค่เข้าใจพัฒนาการของลูกและร่วมเล่นกับลูกไปด้วยกัน เพื่อส่งเสริมพัฒนาการของเขาอย่างมีความสุขที่สุด
หนังสือนิทาน - หนังสือนิทานยังเป็นเครื่องมือชั้นยอดของการคิดสร้างสรรค์ เมื่อคุณพ่อคุณแม่อ่านให้ลูกฟังและให้เขาดูรูปตาม อาจจะตั้งคำถามปลายเปิดว่า ถ้าหนูเป็นหนูน้อยหมวกแดงจะเป็นยังไง หรือชี้ชวนให้ลูกดูรายละเอียดอื่นๆ ในภาพด้วย เช่น ดูแอบเปิ้ลว่ามีกี่ผล หมาป่าอยู่ตรงไหนนะ คุณควรจะใส่เอฟเฟคเสียงสูงต่ำ เพิ่มความน่าสนใจเข้าไปด้วย และควรมีหนังสือนิทานดีๆ ให้หลากหลายไว้ให้ลูกเลือกที่จะอยากฟังหรืออยากอ่านเอง แม้เป็นเรื่องซ้ำๆ ก็ไม่เป็นไร
จิ๊กซอว์ บล๊อกไม้ - ตัวต่อที่เหมาะสมตามวัยจะทำให้เจ้าหนูเกิดไอเดียต่อได้สารพัด และด้วยสีสันสดใสยิ่งทำให้เป็นจุดสนใจ ทั้งต่อยอดได้ตามจินตนาการ และแกะรื้อในเวลาเดียวกัน คุณพ่อคุณแม่ควรเลือกจิ๊กซอว์ที่ไร้มุมคมแหลม ได้คุณภาพมาตรฐาน รวมทั้งอาจจะซื้อแบบที่มีจำนวนชิ้นมากหน่อยเพื่อการต่อยอดชิ้นงานขนาดใหญ่ ซึ่งจะดีกับลูกมากกว่าจิ๊กซอว์ที่มีตัวต่อแค่ 5-6 ชิ้น
ระบายสี - เตรียมกระดาษเปล่าขนาดใหญ่พร้อมกับสีเทียน ให้เจ้าตัวน้อยลงมือละเลงเล่นได้อย่างเต็มที่ในเนื้อกระดาษ แต่มีข้อห้ามอยู่ว่าอย่าใช้สมุดระบายสีที่มีกรอบรูปการ์ตูนเว้นช่องว่างให้ ระบายสี เพราะว่านั่นคือกรอบสกัดกั้นจินตนาการของลูกน้อย
ทรายและน้ำ - สร้างบ่อทรายเล็กๆ สักบ่อ พร้อมกับบล็อกพิมพ์ต่างๆ แบบตามชายหาด และน้ำสัก 1 ถัง ไอเดียการเล่นของเจ้าหนูจะพุ่งกระฉูดมากมาย เพราะทรายสามารถแปรเปลี่ยนเป็นรูปร่างอะไรก็ได้ ส่วนน้ำเป็นตัวช่วยให้ทรายยึดติดกัน ลูกจะได้เรียนรู้จากประสบการณ์และข้อผิดพลาด
เล่นบทบาทสมมุติ - ลองชวนลูกมาเล่นละครสั้นๆ สนุกกัน หรือว่าจะเล่นเป็นนางเอก พระเอก พระราชา นางฟ้า ทหาร อาชีพต่างๆ อะไรก็ได้ที่ให้เจ้าหนูได้สวมบทบาทใดบทบาทหนึ่ง เพราะสมองของเขายังไม่ตั้งกฎกติกามากมาย การเล่นแบบนี้จะทำให้เขาคิดเป็นธรรมชาติ และได้ลองทำในสิ่งที่คิดดูจริงๆ ซึ่งจะสร้างประสบการณ์ให้เขาได้มากมาย
Painting Shadow - ออกไปกลางแจ้งตอนสายๆ หรือบ่ายๆ เอากระดาษมาวางบนพื้นแล้วให้ลูกวาดรูปเงาตัวเองที่พาดลงกระดาษ คุณพ่อคุณแม่ก็ทำด้วยจะได้เพิ่มความเข้าใจให้เจ้าหนู และลองเปลี่ยนอิริยาบถเป็นวาดเงาจากมือที่แปลงร่างเป็นผีเสื้อ หรือทำท่าทางตลกๆ แล้ววาดลงไปในกระดาษ เจ้าหนูจะเชื่อมโยงข้อเท็จจริงจากธรรมชาติ และความคิดสร้างสรรค์ด้วยในตัว
ลูกโป่งว่าว - ใช้ลูกโป่งเป่าลมพร้อมตัดกระดาษเป็นรูปผีเสื้อ เครื่องบิน หรือนก ผูกติดกับลูกโป่ง และผูกปลายเชือกเข้ากับข้อมือเจ้าหนูอีกที แล้วปล่อยให้เขาวิ่งเล่นที่สวนสาธารณะ เจ้าหนูจะพาเครื่องบินลำเก่งไปที่เมฆก้อนไหนก็ได้
แป้งโดว์ - หนูๆ จะปั้นเป็นอะไรก็ได้ เปิดไอเดียสร้างสรรค์ของลูกมากๆ นอกจากนั้นยังช่วยพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กอีกด้วย สามารถตั้งแสดงเป็นผลงานโชว์ในบ้านได้อีกด้วย