หมอเตือนพ่อแม่ให้ยาลูกผิดวิธีหรือเปล่า
รศ.พญ.วารุณี พรรณพานิช วานเดอพิทท์ กุมารแพทย์สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) กล่าวว่า เมื่อลูกเจ็บป่วย
พ่อแม่มักจะให้ลูกรับประทานยาปฏิชีวนะหรือยาต้านแบคทีเรีย ถือเป็นการใช้ยาอย่างไม่สมเหตุสมผล เพราะเกือบ 100% อาการป่วยของลูกส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัส เนื่องจากร่างกายมนุษย์จะมีแบคทีเรียที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายอยู่ตามระบบอวัยวะต่างๆ ถือเป็นเจ้าถิ่น จึงเป็นเรื่องยากที่จะปล่อยให้เชื้อแบคทีเรียอื่นเข้ามาแย่งพื้นที่ ดังนั้น การป่วย มีไข้ ส่วนใหญ่จึงเกิดจากเชื้อไวรัสที่เข้ามาก่อกวนระบบนิเวศของแบคทีเรียในร่างกาย จึงมีโอกาสติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนภายหลัง ซึ่งภาวะติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนพบว่ามีโอกาสเกิดขึ้น 1 ใน 4,000 เท่านั้น ดังนั้น ช่วง 2-3 วันแรกที่ลูกป่วยอยากให้พ่อแม่ให้ยารักษาลูกตามอาการก่อน แต่หากลูกเริ่มมีอาการซึม นอนไม่ได้ ตรงนี้อาจเกิดเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เพราะมีความรุนแรงกว่า แต่ก็ไม่อยากให้ฟันธงว่าเกิดจากเชื้อแบคทีเรียแล้วใช้ยาปฏิชีวนะทันที เพราะบางโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสก็ทำให้เกิดอาการเช่นนี้ได้ เช่น ไข้เลือดออก เป็นต้น ดังนั้น เมื่อลูกเริ่มมีอาการมากขึ้นขอให้พาไปพบแพทย์ เพื่อวินิจฉัยจะดีกว่า
“การให้ยารักษาลูกตามอาการ พ่อแม่ผู้ปกครองมักรู้สึกว่าไม่ค่อยได้ผล ที่เป็นเช่นนี้เพราะเป็นการให้ยาที่ผิด เนื่องจากยารักษาตามอาการเหล่านี้ เช่น ยาแก้ไอ ยาลดน้ำมูก ยาแก้หอบ จะออกฤทธิ์เร็ว หมดฤทธิ์เร็ว จึงต้องให้ยาตอนที่มีอาการ ซึ่งส่วนใหญ่อาการลูกมักจะเห่อขึ้นในช่วงกลางคืน เนื่องจากช่วงเช้าร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนออกมาซึ่งช่วยให้ไข้ลดลง ยับยั้งภาวะอักเสบต่างๆ แต่ฮอร์โมนจะเริ่มหมดไปในช่วงกลางคืน ลูกจึงมักมีอาการป่วยในช่วงนี้ แต่พ่อแม่มักจะให้ลูกกินยาในมื้อเช้า กลาง เย็น จึงทำให้อาการของลูกไม่ดีขึ้นในเวลากลางคืน” รศ.พญ.วารุณีกล่าว
รศ.พญ.วารุณีกล่าวว่า ที่ผ่านมาแพทย์มักจะกำชับให้กินยาก่อนหรือหลังอาหาร เพราะสะดวก ช่วยให้ไม่ลืมกินยา ตอนนี้ถึงเวลาต้องเปลี่ยนแล้ว หากยาตัวใดที่ไม่มีผลระคายเคืองกระเพาะอาหาร หรือยาที่อาหารไม่มีผลต่อการดูดซึมของยา ก็ให้กินยาเฉพาะตอนที่มีอาการมากจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ไอมากจนไม่สามารถนอนได้ มีน้ำมูกมากจนหายใจลำบาก เป็นต้น แต่ไม่ใช่ให้ยาทุกครั้งที่มีอาการ แต่ไม่ได้รบกวนการใช้ชีวิตประจำวันมากเกินไป ซึ่งเรื่องนี้ต้องให้ความรู้ทั้งแก่พ่อแม่ผู้ปกครอง รวมถึงแพทย์ด้วย ซึ่งปัจจุบันความรู้นั้นเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว จนแพทย์เองก็อาจตามไม่ทัน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีการจัดทำคู่มือการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล (Rational Drug Use) นำไปใช้ในแต่ละโรงพยาบาลแล้ว ซึ่งการให้ยารักษาตามอาการก็เป็นหนึ่งเรื่องที่บรรจุในคู่มือนี้ด้วย เชื่อว่าจะช่วยลดการใช้ยาไม่สมเหตุสมผลลงได้
ขอบคุณเนื้อหาจาก
http://www.manager.co.th/