สมาธิสั้นเป็นโรคพัฒนาการทางสมองที่เกี่ยวข้องกับความสามารถในการควบคุมตัวเองล่าช้ากว่าเด็กวัยเดียวกัน สังเกตได้จากอาการสำคัญ 3 ด้าน คือ ซน อยู่ไม่นิ่ง (Hyperactivity) ไม่สามารถจดจ่อกับกิจกรรมอย่างหนึ่งอย่างใดได้นาน เบื่อง่าย วอกแวก (Inattention) และหุนหัน วู่วาม รอคอยไม่เป็น (Impulsive) ส่งผลกระทบถึงการเรียนและการใช้ชีวิตประจำวันที่ไม่เต็มศักยภาพหรือความสามารถที่แท้จริงของเด็ก
วิธีในการดูแลเด็กสมาธิสั้นมีอยู่ 8 วิธี เพื่อช่วยเด็กรับมือกับโรคได้ดีขึ้น
จัดมุมที่เงียบสงบไว้ให้เด็กได้ทำงาน หรือทำการบ้าน ห่างจากโทรทัศน์ไม่ให้มีเสียงเข้ามารบกวนสมาธิ และจัดของใช้ที่จำเป็นเท่านั้น เพื่อลดสิ่งเร้าที่ดึงความสนใจของเด็ก
ใช้การสื่อสารที่สั้น กระชับ ชัดเจน ให้เด็กทวนคำสั่งว่ามีอะไรบ้าง เนื่องจากเด็กสมาธิสั้นมักมีความอดทนในการฟังต่ำ
ฝึกฝนวินัยในเด็ก สร้างกรอบกฎเกณฑ์ มีตารางเวลาชัดเจน ไม่ปล่อยปละละเลยหรือตามใจจนเคยตัว
เบี่ยงเบนความสนใจ เมื่อเด็กดื้อหรือซนมากให้หากิจกรรมอื่นมาแทน
ให้เด็กออกกำลังกายและทำกิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหว เพื่อช่วยลดพลังงานส่วนเกิน ช่วยให้มีสมาธิและลดความเครียด
การนอนหลับให้เพียงพอก็เป็นอีกทางหนึ่งที่ทำให้เด็กมีสมาธิและมีสุขภาพที่ดี
ลดระยะเวลาในการทำกิจกรรมให้สั้นลง แต่ทำบ่อยขึ้น เน้นเรื่องความรับผิดชอบและอดทน ตั้งเป้าหมายของกิจกรรมให้ง่ายๆ สั้นๆ อย่างชัดเจนและเสร็จเป็นชิ้นๆ ไป
ควรให้คำชมหรือรางวัลเมื่อเด็กทำพฤติกรรมที่พึงประสงค์ เพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจให้เด็กทำพฤติกรรมที่ดีต่อไป
ทั้งนี้ การเรียนรู้ เข้าใจ และยอมรับกับโรคสมาธิสั้นที่เกิดในเด็กของพ่อแม่ผู้ปกครองมีส่วนช่วยลดความเครียดในครอบครัว และป้องกันโรคทางจิตเวชอื่นๆ เช่น ซึมเศร้า วิตกกังวล ที่อาจตามมาในเด็ก ช่วยให้เด็กมีความสุขกับการเรียน การใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างสมวัย และทำได้เต็มความสามารถมากขึ้น
โดย แพทย์หญิงเบญจพร อนุสนธิ์พรเพิ่ม จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลวิชัยยุทธ