ก่อนที่ลูกจะเข้าโรงเรียน หรืออยู่ร่วมกับผู้อื่น พ่อแม่ควรเสริมทักษะความเข้มแข็งของจิตใจให้ลูกก่อนนะคะ เช่น การปล่อยให้ลูกได้พ่ายแพ้บ้าง
เพราะเด็กบางคนไม่เคยแพ้ พอไปอยู่ร่วมกับเด็กคนอื่นแล้วเล่นเกมแพ้ แข่งขันแพ้ ก็จะโวยวาย ร้องไห้ รับไม่ได้เลยก็มี ดังนั้นพ่อแม่มีหน้าที่สอนให้ลูกฝึกรับมือกับความแพ้ เพื่อเป็นเกราะป้องกันจิตใจเมื่อต้องไปอยู่สังคมใหม่ ๆ นะคะ
การให้ลูกแพ้ นั่นแปลว่าลูกจะได้พัฒนาทักษะการเผชิญความเครียด (coping skills) พ่อแม่เริ่มสอนลูกได้ตั้งแต่ยังเล็ก ๆ เลย เช่น พ่อแม่เล่นตัวต่อ หรือจิ๊กซอว์ชนะลูก ให้ลูกรู้สึกว่าการแพ้เป็นเรื่องปกติที่คนจะต้องเผชิญ
สอนให้เป็นมิตร จับมือคนชนะได้ และยินดีเมื่อคนอื่นมีความสุข เวลาลูกมีความสุข คนอื่นก็จะยินดีเช่นกัน และบอกลูกว่าการแพ้ทำให้ลูกได้เรียนรู้ พ่อแม่ควรสอนลูกว่าเมื่อลูกแพ้ ลูกจะได้รู้ข้อผิดพลาด เช่น ลูกต่อจิ๊กซอว์ผิดตรงไหน ต่อแบบไหนง่ายกว่ากัน หรือ ลูกประกอบตัวต่อผิดตรงไหน ต่อแบบไหนฐานจะแข็งแรงกว่า แล้วประกอบสำเร็จได้ เป็นต้น
ก่อนลูกจะชนะใคร ลูกต้องได้เรียนรู้ความพ่ายแพ้ก่อน ให้รู้ว่ามันรู้สึกอย่างไร เพื่อให้ลูกรู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่น เมื่อถึงเวลาที่ลูกชนะบ้าง ลูกจะได้แสดงออกอย่างมีน้ำใจ เพราะได้ลองสัมผัสประสบการณ์ที่คล้ายกันมาแล้ว
สอนลูกว่าการแพ้ทำให้ลูกได้ฝึกการควบคุมตนเองและสร้างความมั่นใจใหม่ได้เสมอ เมื่อลูกยอมรับความล้มเหลวให้เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตแล้ว ลูกจะมีความพยายามไม่ให้ตัวเองแพ้อีก ให้ลูกค่อย ๆ ลองทำสิ่งที่พลาดให้สำเร็จ หรือลองทำใหม่ที่ถนัด
เป็นสิ่งสำคัญที่พ่อแม่ควรทำ ถามลูกว่าลูกมีโอกาสครั้งหน้า ถ้าให้ลองใหม่ ลูกจะลองทำอย่างไรให้เราทำสำเร็จได้ ลูกอยากปรับตรงไหนไหม เพื่อให้ลูกวางแผนว่าจะทำอย่างไรในครั้งต่อไป และพ่อแม่ควรช่วยเหลือลูกเล็ก ๆ น้อย ๆ ด้วย
เมื่อลูกเพิ่งเจอความล้มเหลว ทำผิดพลาด หรือเผชิญกับอะไรบางที่น่าอึดอัดใจ นี่เป็นวิธีที่คนเป็นพ่อแม่อาจช่วยพวกเขาให้เรียนรู้และก้าวต่อไปได้
ชวนลูกนั่งลงด้วยกัน และทบทวนความรู้สึกตัวเอง ปล่อยให้ลูกรับรู้อารมณ์ในขณะนั้น โดยไม่ต้องพยายามสอนเพื่อหวังให้พวกเขารู้สึกดีขึ้น
ชวนลูกคิดถึงจุดแข็งของตัวเอง และสิ่งที่ลูกสามารถทำได้ในครั้งต่อไป เพราะแค่แพ้ไม่ได้แปลว่าจบเกม
ใช้เวลาพูดถึงเรื่องการทบทวนความรู้สึก ลองถามลูกว่ารู้สึกดีอย่างไรระหว่างลองทำสิ่งใหม่ ๆ แม้ว่าจะไม่สำเร็จก็ตาม ลูกได้เรียนรู้อะไรบ้าง แล้วเป้าหมายต่อไปของลูกคืออะไร