หากลูกมีพฤติกรรมทำและคิดบางอย่างซ้ำ ๆ วนเวียนอยู่อย่างนั้นตลอด นี่อาจเป็นสัญญาณแรก ๆ ของโรคย้ำคิดย้ำทำ ที่เกิดขึ้นได้ตั้งแต่วัยอนุบาล
คือพฤติกรรมคิดวิตกกังวลเรื่องใดเรื่องหนึ่งมากเกินไปคิดซ้ำ ๆ หมกมุ่น คิดแต่เรื่องเดิม ๆ ซึ่งเด็กจะรู้ตัวว่าคิดซ้ำ คิดมากเกินไป และไม่ต้องการคิด แต่ก็หยุดคิดไม่ได้ จะรู้สึกทุกข์ทรมานกับสิ่งที่ตัวเองเป็น แล้วทำซ้ำ ๆ มากจนผิดปกติ เพื่อลดความกังวลที่เกิดขึ้นจากสิ่งที่คิด
การคิดและทำซ้ำ ไม่เป็นโรคได้ แต่เมื่อไหร่ก็ตาม ที่เด็กคิดและเริ่มทำซ้ำ ๆ บ่อย ๆ วนเวียน จนส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของเด็ก เกิดนอนไม่หลับเพราะคิดตลอดเวลา ไม่มีสมาธิ ส่งผลต่อการเข้าสังคม ส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล รวมทั้งส่งผลต่อการเรียน อาการแบบนี้ย่อมผิดปกติ และอาจมาควบคู่กับโรคสมาธิสั้น โรคกล้ามเนื้อกระดูก หรือโรคที่มีการเคลื่อนไหวร่างกายซ้ำ ๆ ที่ผิดปกติ เป็นต้น
คิดซ้ำ ๆ ทำซ้ำ ๆ อาจเริ่มได้ตั้งแต่วัยอนุบาล แล้วสะสมอาการย้ำคิดย้ำทำ จนเห็นได้ชัดเจนในวัยประถมต้น โดยเป็นโรคย้ำคิดย้ำทำได้ในช่วงประถมปลายเป็นต้นไป ซึ่งระยะเวลาที่เป็นนั้น เด็กจะมีพฤติกรรมคิดและทำซ้ำนานเป็นเดือน ๆ และอาจต่อเนื่องยาวเป็นปี ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของเด็กแต่ละคน
การทำงานของสมองผิดปกติ สารเคมีในสมองหลั่งออกมาผิดปกติ พันธุกรรมจากยีนที่คนในครอบครัวเคยเป็น เกิดจากการเลี้ยงดู การอบรมสั่งสอนของผู้ปกครอง เป็นต้น
เด็กอาจมีอาการหรือแสดงพฤติกรรมดังนี้ โดยจะพบ 3 พฤติกรรมแรกเป็นส่วนใหญ่
กลัวเชื้อโรค กลัวความสกปรกต่าง ๆ จนต้องทำความสะอาดซ้ำ ๆ นาน ๆ เช่น ล้างมือ เปลี่ยนที่นอน อาบน้ำ ล้างนานเป็นชั่วโมง ล้างจนมือลอก แห้งเป็นแผล กลัวว่าจะติดเชื้อสกปรก ใครมาโดนตัวก็ต้องไปล้างมือหรืออาบน้ำตลอดเวลาเป็นต้น
จัดวางของต้องเป๊ะ เช่น ใส่เสื้อผ้าซ้ายขวาต้องเท่ากัน ขยับของบนโต๊ะให้เสมอกัน ทำซ้ำ ๆ เพราะกลัวว่าจะไม่เท่ากัน เมื่อเท่ากัน แล้วก็ทำซ้ำอีก เพราะไม่แน่ใจว่าเท่ากัน
ตรวจซ้ำ ๆ นับซ้ำ ๆ เช่น การลืมเลื่อนประตู เด็กอาจย้ำกับผู้ปกครองว่า ปิดไฟ ล็อคประตูหรือยังบ่อย ๆ ประมาณ 3-5 ครั้ง หรือนับขึ้นบันไดตลอดเวลา เดินขึ้นไปแล้วลงมาใหม่ แล้วนับซ้ำอีก เป็นต้น
คิดเรื่องบางเรื่องตลอดเวลา เช่น คิดทำร้ายพ่อแม่ คิดเรื่องศาสนา มหันตภัยต่าง ๆ ซึ่งเรื่องที่คิดนั้น เป็นการรับข้อมูลในเรื่องนั้น ๆ มากจนเกินไป แล้วปล่อยวางไม่ได้ ทำให้คิดกังวลตลอดเวลา
สะสมสิ่งของ โดยเฉพาะการเก็บของที่ไม่ใช้แล้ว กังวลที่จะทิ้งของเหล่านั้น กลัวว่าจะต้องใช้แล้วทิ้งไป กังวลว่าหากทิ้งไปจะนำกลับมาอีกไม่ได้ เป็นต้น
อาการที่เสี่ยงพัฒนาเป็นโรคซึมเศร้า เมื่อย้ำคิดย้ำทำมาก ๆ อาการรุนแรงมากขึ้น เด็กจะมีความรู้สึกว่าตัวเองไม่เก่ง ไม่มีความภาคภูมิใจในตัวเอง ตัวเองไม่มีคุณค่า จนอยู่กับความคิดความรู้สึก แล้วลุกขึ้นมาไม่ได้ หากไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างเอาใจใส่ อาจกลายเป็นโรคซึมเศร้า ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการฆ่าตัวตายได้ในอนาคต
สิ่งหนึ่งที่ทำให้สุขภาพจิตของเด็ก ๆ ดีขึ้น มาจากพ่อแม่เป็นอันดับแรก ตามด้วยการบำบัดโดยจิตแพทย์เด็ก การปรับความคิดพฤติกรรมบำบัดคอร์สละ 2-3 เดือน และรักษาด้วยยาปรับสารเคมีในสมองในรายที่รุนแรงเป็นอันดับสุดท้าย ปรับการเลี้ยงดูและวิธีการสอน โดยบางพฤติกรรมของผู้ปกครองเป็นตัวสนับสนุนให้เด็กเกิดอาการย้ำคิดย้ำทำ พูดคุยกับลูกบ่อย ๆ หากลูกยังไม่ยอมพูด ไม่ยอมคุย ไม่ต้องบังคับลูก ค่อย ๆ ใช้วิธีอื่นที่จะทำให้คุณพ่อคุณแม่รู้ว่า ลูกกังวลเรื่องอะไร เพื่อช่วยให้คำแนะนำหรือช่วยแก้ไขปัญหาให้ลูกอย่างถูกต้องเหมาะสม เบี่ยงเบนความสนใจของลูก หากลูกว่าลูกกำลังคิดอะไรซ้ำ ๆ ลองชวนลูกไปทำอย่างอื่นแทน เช่น ชวนไปออกกำลังกาย เล่นนอกบ้าน เล่นกีฬา เพื่อให้ลูกได้ระบายอารมณ์ ลดความเครียด และเบี่ยงเบนความคิดในหัว ลูกจะลืมสิ่งที่คิดเยอะไปได้เอง
อย่าขู่ลูกให้กลัว เพราะจะทำให้ลูกเข้าใจผิด บวกจินตนาการกลายเป็นมโนไปเอง เมื่อเกิดภาวะนี้บ่อย ๆ ก็จะกลายเป็นโรคย้ำคิดย้ำทำได้ คุณพ่อคุณแม่ควรอธิบายให้ลูกฟังด้วยเหตุผลตามหลักความเป็นจริงเสมอ
อย่าใส่อารมณ์ อย่าซ้ำเดิม หากลูกทำผิด หรือเริ่มคิดอะไรซ้ำ ๆ ต้องอธิบายเรื่องบางเรื่องให้ลูกฟังบ่อย ๆ หลีกเลี่ยงการใส่อารมณ์ หรือชักสีหน้าเวลาพูดกับลูก และเลี่ยงการใช้คำพูดในลักษณะซ้ำเติม เช่น เรื่องที่ลูกคิดมันไร้สาระ แต่ควรชี้ให้เห็นถึงข้อดีของความไร้สาระนั้นอย่างเป็นเหตุเป็นผล
อย่าดุด่า เมื่อลูกกังวลหรือคิดอะไรในใจ หลีกเลี่ยงการดุด่า เพราะลูกจะเก็บไปคิดหนักขึ้นกว่าเดิม ให้ใช้ความเข้าใจบอกกับลูก ด้วยโทนเสียงที่อบอุ่น สีหน้าที่เต็มไปด้วยรอยยิ้ม
อย่าจิตตก คุณพ่อคุณแม่ต้องเป็นผู้ประคับประคองที่ดีให้ลูก ต้องนิ่ง ต้องมั่นคง ตั้งสติให้ดี ไม่ไหวเอนตามความกังวลของลูก หากยิ่งกังวลตามลูกก็จะยิ่งทำให้ลูกกังวลหนักมากขึ้น และพร้อมรับฟังและคอยให้คำแนะนำที่ดีกับลูก
เด็กที่เป็นโรคย้ำคิดย้ำทำ บางคนพบว่าเป็นเด็กฉลาดมี IQ ดี คุณพ่อคุณแม่ควรพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสด้วยการชี้ทางให้ลูกอย่างถูกต้องได้ค่ะ