ช่างภาพคนหนึ่งรู้สึกทึ่งเมื่อเห็นลูกสาวตัวน้อยหลงใหลได้ปลื้มสีชมพูอย่างหนัก เธอจึงสำรวจสีสองสีที่มีอิทธิพลต่อชีวิตคนเรา
เมื่อลูกสาวของยุนชองมีอายุได้ห้าขวบ เธออยากใส่แต่เสื้อผ้าสีชมพูเท่านั้น ยุน ช่างภาพชาวเกาหลีใต้ รู้ว่าลูกสาวเธอมีความชอบไม่ต่างจากเด็กหญิงคนอื่นๆ จำนวนมาก แต่เธอสนใจสิ่งที่ดูเหมือนจะเป็นแนวโน้มในระดับสากลนี้เสียจน ริเริ่ม
“โครงการสีชมพูและสีฟ้า” (Pink and Blue Project) ที่บอกเล่าเรื่องราวของสีสองสีที่มักเชื่อมโยงกับเด็กชายและเด็กหญิงทั่วโลกผ่านภาพถ่าย
“ฉันอยากแสดงให้เห็นขอบเขตที่เด็กๆ และพ่อแม่ได้รับอิทธิพลจากโฆษณาและวัฒนธรรมกระแสหลัก ไม่ว่าจะรู้เท่าทันหรือไม่ก็ตาม” ยุนบอก “สีฟ้ากลายเป็นสัญลักษณ์ของความเข้มแข็งและความเป็นชาย ขณะที่สีชมพูเป็นสัญลักษณ์ของความอ่อนหวานและความเป็นหญิง”
เด็กหญิงชียู วัยสี่ขวบ ซึ่งใส่เสื้อผ้าสีชมพูตั้งแต่ศีรษะจรดเท้าและล้อมรอบด้วยข้าวของสีชมพูจำนวนมาก โพสท่าถ่ายรูปในห้องนอนที่กรุงโซล เกาหลีใต้ เมื่อปี 2007
โจ เพโอเลตตี อาจารย์ด้านอเมริกันศึกษา จากมหาวิทยาลัยแมริแลนด์ ระบุว่า การเชื่อมโยงเพศสภาพกับสีเหล่านี้เป็นเรื่องค่อนข้างใหม่ ในศตวรรษที่สิบเก้า สีพาสเทลได้รับความนิยมในยุโรปและสหรัฐฯ และคนใช้สวมใส่
“เพื่อขับผิวให้สวยขึ้น ไม่ใช่เพื่อแสดงถึงเพศสภาพ” เธอบอก ต่อมาความแตกต่างทางเพศในสีเสื้อผ้าเริ่มปรากฏให้เห็นในช่วงต้นศตวรรษที่ยี่สิบ และพอถึงปี 1940 สีชมพูและสีฟ้าก็หยั่งรากลงในฐานะสีที่เชื่อมโยงกับเพศสภาพอย่างเข้มข้น และดำเนินต่อมาจนถึงทุกวันนี้
เด็กชายทงฮู วัยหกขวบ ยืนอยู่ท่ามกลางของเล่น เสื้อผ้า หนังสือ และข้าวของจำนวนมากที่เป็นสีฟ้า เพื่อถ่ายภาพบุคคลภาพนี้เมื่อปี 2008 ในกรุงโซลเช่นกัน
เพโอเลตตีบอกว่า สหรัฐฯ มีส่วนสำคัญในการสร้างปรากฏการณ์ “สีชมพูสำหรับเด็กผู้หญิง และสีฟ้าสำหรับเด็กผู้ชาย” โดยได้รับการกระตุ้นจากสีที่แพร่หลายของตุ๊กตาบาร์บี้ ภาพยนตร์ซุปเปอร์ฮีโร่ และองค์ประกอบสำคัญอื่นๆ ของวัยเด็กแบบอเมริกัน และปรากฏการณ์นี้ยังมีความยืนยงทางวัฒนธรรมแบบเดียวกับ “แนวคิดดั้งเดิมเกี่ยวกับเพศ เพศสภาพ และเรื่องทางเพศ”
ที่มา - National Geographic
www.ngthai.com
www.thairath.co.th/content/840278