โรคซึมเศร้าคือภัยเงียบที่น่ากลัว อย่าคิดว่าเด็กไม่มีทางเป็นโรคซึมเศร้าได้นะคะ ซึ่งในปัจจุบันเด็กยุคนี้มีความเสี่ยงสูงเลยทีเดียว เพราะความกดดันในการเรียน ต้องเรียนหนัก ต้องเรียนดี ตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงสอบเข้ามหาวิทยาลัย รวมไปถึงสภาพแวดล้อมและค่านิยมต่าง ๆ ของสังคม
หากพ่อแม่ไม่ทำความเข้าใจว่าลูกเป็นอะไร ดันไปมองว่าลูกเพี้ยน เก็บกด ขี้แพ้ ไม่รู้จักโต เจอปัญหาแค่นี้ก็รับไม่ได้ ต่อว่าเพราะคิดว่าลูกอ่อนแอ นั้นคือคุณได้ผลักโรคซึมเศร้าไปให้ลูกแล้วค่ะ ลองมาเช็กกันเลยว่าคุณกำลังเป็นพ่อแม่ ที่หยิบยื่นโรคซึมเศร้าให้กับลูกคุณเองหรือไม่
คาดหวังมาก มอบความเจ็บปวดให้ลูก พ่อกับแม่ที่ปูทางเดินให้ลูกสารพัด เพราะอยากให้ลูกเป็นคนสมบูรณ์แบบในสายตาคนรอบข้าง ทั้งเลือกโรงเรียนให้ ผลการเรียนต้องดี โตขึ้นไปสอบเป็นหมอ สอบเป็นนักบิน ต้องทำในสิ่งที่พ่อกับแม่อยากให้ทำ จนลืมคิดไปว่าเด็กคนหนึ่งจะแบกรับความคาดหวังไหวหรือเปล่า เมื่อภูมิคุ้มกันทางด้านจิตใจพ่อแม่ไม่เคยสร้างให้ ก็นำลูกไปสู่อาการซึมเศร้าในที่สุดค่ะ
ไม่เคยให้กำลังใจลูก กำลังใจและคำพูดด้านบวก มีพลังช่วยให้จิตใจของลูกเข้มแข็งได้ดี แต่หากพ่อกับแม่ไม่มีความสัมพันธ์อันดีกับลูก เพราะกลัวลูกเหลิง จึงได้แต่เงียบ ไม่กล่าวชมเมื่อทำดี แต่หากทำพลาดมาพูดสามวันก็ไม่จบ อาจจะด้วยความหวังดี แต่เด็กคนหนึ่งไม่รู้หรอกค่ะ เขาแค่อยากได้ยินคำชมเรียบๆ ง่ายๆ จากคนที่เขารักเท่านั้นจริงๆ
ปล่อยให้ลูกเผชิญปัญหาเพียงลำพัง พ่อกับแม่ควรรู้ปัญหาของลูกและมองดูอยู่ห่างๆ บ้าง ทำให้ลูกรู้ว่าเขาไม่ได้ตัวคนเดียว หากไม่สนใจเลย หรือเห็นเป็นเรื่องเล็กๆ ของเด็ก คิดว่าลูกอ่อนแอไปเอง ตำหนิลูกว่าปัญหาแค่นี้ก็รับไม่ได้ ลูกจะรู้สึกแย่และฝังใจว่าถูกทิ้งให้เผชิญปัญหาคนเดียว เขาจะไม่เปิดใจให้พ่อกับแม่อีก และเลือกเก็บปัญหาทุกอย่างไว้เพียงลำพัง
4. เปรียบเทียบลูกกับคนอื่น นี่คือปัญหาระดับชาติ แต่พ่อแม่หลายคนยังทำแบบนี้อยู่ เช่น เด็กคนนั้นทำไมเขากินข้าวเก่งกว่า เด็กบ้านนั้นทำไมเรียนเก่งกว่า ลูกเขาผลการเรียนดีแล้วของลูกล่ะ ทำไมเด็กคนนั้นเป็นเด็กดีทำไมลูกดื้อ เปรียบเทียบแบบนี้ผลระยะยาวทำให้เขาเป็นคนขี้อิจฉา เอาตัวเองไปเปรียบกับคนอื่นเสมอในทุกๆ เรื่อง จนเป็นทุกข์ในใจ