โรคหัด คือโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ ที่เกิดจากไวรัสที่สามารถแพร่เชื้อและติดต่อกันได้ผ่านทางอากาศหรือการสัมผัสน้ำมูก และน้ำลายของผู้ป่วยโดยตรง ซึ่งเชื้อไวรัสตัวนี้จะเข้ามาทางระบบทางเดินหายใจก่อน แล้วจึงแพร่กระจายไปทั่วร่างกาย โดยส่วนใหญ่แล้วมักเกิดในเด็กเล็ก ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุการเสียชีวิตของเด็กมากที่สุด แม้จะมีวัคซีนฉีดป้องกันโรคแล้วก็ตาม
ป้องกันได้ด้วยวัคซีนโรคหัด โรคหัดป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัด ซึ่งอยู่ในรูปวัคซีนรวมป้องกันหัด คางทูม หัดเยอรมัน (MMR) เข็มแรกของวัคซีนสามารถป้องกันโรคหัดได้ประมาณ 93% หากได้รับสองเข็มจะมีประสิทธิภาพป้องกันได้ 97%
สำหรับตารางการฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัดในประเทศไทย MMR
เข็มแรก 9-12 เดือน เข็มที่สอง 2 1/2 ปี – 6 ปี ให้วัคซีนครั้งแรกเมื่ออายุ 9-12 เดือนขึ้นไป และครั้งที่ 2 เมื่ออายุ 4-6 ปี ควรพิจารณาให้ฉีดเร็ว (อายุ 9 เดือน) ในพื้นที่ ๆ ยังมีรายงาน โรคหัดจำนวนมากในเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี และควรฉีดช้า (อายุ 12 เดือน) ในพื้นที่ๆ มีรายงานโรคหัดจำนวนน้อยในเด็กต่ำกว่า 1 ปี
การฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 อาจให้ได้ตั้งแต่อายุ 2 1/2 ปี ตามแผนปฏิบัติงานของกระทรวงสาธารณสุข
กรณีที่มีการระบาดหรือสัมผัสโรคอาจฉีดเข็มที่ 2 เร็วขึ้นก่อนอายุ 4 ปีได้ โดยต้องห่างจากเข็มแรกอย่างน้อย 3 เดือน
การรักษาเป็นอย่างไร สำหรับการรักษาโรคหัด เป็นโรคที่ไม่มียาต้านไวรัสจำเพาะสำหรับโรคหัด โดยการรักษาแพทย์จะประคับประคองอาการทางการแทพย์ ช่วยบรรเทาอาการและลดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เช่น การติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อน เป็นต้น
พญ.ฐิติอร นาคบุญนำ กุมารแพทย์ด้านโรคติดเชื้อ ศูนย์สุขภาพเด็ก โรงพยาบาลพญาไท 3