โรคภูมิแพ้
แม้จะไม่ใช้โรคติดต่อที่อันตรายถึงชีวิต แต่มักพบบ่อยในเด็ก สาเหตุหลักคือ พันธุกรรม รองลงมาคือ สิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็ก อาการที่สังเกตได้ คือ จามบ่อย มีน้ำมูกใสๆ ยิ่งถ้ามีอาการรุนแรงมาก เช่น ไอเจ็บคอบ่อย เหนื่อยง่าย หายใจไม่สะดวกขณะนอนหลับ ทำให้นอนหลับไม่สนิทส่งผลต่อการเรียน แบบนี้ควรรีบพามาให้คุณหมอตรวจ เพื่อจะได้แนะนำวิธีดูแลตนเองต่อไป
โรคไข้เลือดออก
ไข้เลือดออกเกิดจากยุงซึ่งเป็นพาหะของโรค นอกจากจะเป็นปัญหาสาธารณสุขของประเทศไทยแล้ว ยังเป็นปัญหาสาธารณสุขทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศในเขตร้อนชื้น และก่อให้เกิดความกังวลต่อผู้ปกครองเวลาเด็กมีไข้ มักพบบ่อยในเด็กต่ำกว่า 15 ปี โดยเฉพาะช่วงอายุ 2-8 ขวบ
โรคมือ เท้า ปาก
โรคมือเท้าปากสามารถติดต่อโดยตรงจากการสัมผัสกับสารคัดหลั่งจากจมูก ลำคอ น้ำลาย และน้ำจากตุ่มใส รวมถึงอุจจาระของผู้ป่วยที่มีเชื้ออยู่ และสามารถติดต่อโดยอ้อมจากการสัมผัสของเล่น พื้นผิวสัมผัสที่มีการปนเปื้อนของเชื้อ อาหารหรือน้ำดื่มที่ปนเปื้อนเชื้อ มือของผู้เลี้ยงดู โดยสถานที่ที่มักพบการระบาดของโรค ได้แก่ สถานรับเลี้ยงเด็กและโรงเรียนอนุบาล และช่วงที่มักมีการระบาดของโรคนี้คือ ช่วงฤดูฝนเข้าสู่ฤดูหนาว
โรคท้องร่วง
โรคท้องร่วงเป็นโรคที่พบบ่อยที่สุด โรคหนึ่งเป็นโรคที่คร่าชีวิตผู้ป่วยเด็กไปมากที่สุด จะมีอาการถ่ายอุจาระเหลว หรือเป็นน้ำมากกว่า 3 ครั้งต่อวันหรือถ่ายเหลวมีเลือดปนเพียง 1 ครั้งใน 24 ชั่วโมงโดยทั่วไปอาการท้องร่วงมักหายได้เองใน 2-3 วันโดยที่ไม่ต้องรักษา ถ้าเป็นนานกว่านั้นต้องมีปัญหาอื่น ท้องร่วงทำให้เกิดผลเสียคือร่างกายขาดน้ำ ซึ่งถ้าเป็นมากอาจจะอันตรายถึงกับเสียชีวิตได้
โรคหัด
เป็นโรคไข้ออกผื่นที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสหัด (Measles virus) นับว่าเป็นโรคที่มีความสำคัญมากโรคหนึ่ง เพราะอาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนเป็นเหตุให้เสียชีวิตได้ ส่วนผู้ที่เคยติดเชื้อมาแล้วจะมีภูมิคุ้มกันไปตลอดชีวิต และโรคนี้มีวัคซีนป้องกันที่มีประสิทธิภาพสูงเกือบ 100% มักพบในเด็กอายุ 2-14 ปี และพบได้บ่อยในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี มักไม่พบในทารกอายุต่ำกว่า 6-8 เดือน โรคนี้สามารถติดต่อแพร่กระจายได้ง่าย จึงอาจพบการระบาดตามชุมชน โรงเรียน หรือสถานรับเลี้ยงเด็ก
โรคไข้หวัด
เชื้อไข้หวัดมีหลายสายพันธุ์ เวลาเป็นแล้วหายร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันเชื้อโรคที่เคยเป็น แต่ก็อาจจะกลับมาเป็นได้อีก อาการคือ คัดจมูก มีน้ำมูก ไอ จาม คอแห้ง เจ็บคอ เป็นไข้ อ่อนเพลีย ปวดหัว มีเสมหะ โรคแทรกซ้อนที่มากับไข้หวัดคือ ไซนัสอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ แต่สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องระวังเป็นพิเศษคือ หากมีไข้ขึ้นสูงเด็กอาจจะเกิดอาการชักได้
โรคอีสุกอีไส
โรคอีสุกอีใส หรือ
Chickenpox เกิดจากเชื้อไวรัสวาริเซลลา ซอสเตอร์ ไวรัส (Varicella zoster virus หรือ เรียกย่อว่า VZV/ วีซีวี ไวรัส) หรือ ฮิวแมนเฮอร์ปี่ไวรัส ชนิดที่ 3 (Human herpes virus type 3) ซึ่งเป็นเชื้อเดียวกับที่ทำให้เกิดโรคงูสวัด โดยทั่วไปเป็นโรคพบในเด็กตั้งแต่อายุประมาณ 1 ขวบไปจนถึงอายุประมาณ 12 ปี แต่อย่างไรก็ตามพบได้ในทุกอายุทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ โดยโอกาสเกิดใกล้เคียงกันทั้งในผู้หญิงและในผู้ชาย
โรคไอกรน
ไอกรนเป็นโรคติดต่อที่สำคัญอันหนึ่งของระบบทางเดินหายใจ พบมากในเด็กทุกเพศทุกวัยที่มีอายุต่ำกว่า 7 ปี เกิดได้ในทุกสภาพอากาศหรือภูมิประเทศ ในชุมชนที่มีประชาชนอาศัย อยู่รวมกันอย่างหนาแน่น มักพบผู้ป่วยด้วยโรคนี้สูง สาเหตุของโรคไอกรนเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย โดยติดเชื้อโดยตรงจากละอองอากาศที่ผู้ป่วยไอและจาม รดใส่ หรือปนออกมากับเสมหะ นํ้ามูก นํ้าลายของผู้ป่วย
โรคตาแดง
โรคตาแดงหรือตาอักเสบ เกิดจากอักเสบของเยื่อบุตาที่เกิดจากการติดเชื้อมักจะเป็นมากในช่วงฤดูฝน การติดต่อของโรคเกิดจากการสัมผัส การใช้ของร่วมกัน การไอจาม แม้กระทั่งการหายใจรดกันก็อาจทำให้เชื้อแพร่กระจายได้ หลังจากได้รับเชื้อแล้วจะทำให้เกิดอาการภายใน 1-2 วัน และเมื่อเกิดเป็นตาแดงขึ้น จะมีโอกาสแพร่เชื้อให้ผู้อื่นนานถึง 2 สัปดาห์
ไวรัส RSV
RSV หรือชื่อเต็มๆ ว่า
Respiratory Syncytial Virus เป็นเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจโดยเฉพาะในเด็กเล็ก เชื้อไวรัสนี้สามารถทำให้เกิดภาวะปอดอักเสบได้เนื่องจากมักเกิดพยาธิ สภาพในส่วนของหลอดลมเล็ก (bronchiole) และถุงลม (alveoli) ทำให้มีการสร้างสิ่งคัดหลั่ง เช่น เสมหะ ออกมาในปริมาณมาก และมีการหดตัวของหลอดลมเนื่องจากการบวมของเยื่อบุหลอดลมและทางเดินหายใจต่างๆ ส่งผลให้เด็กมีอาการหอบ เหนื่อย และหายใจลำบากได้อย่างรวดเร็ว
เชื้อนี้ติดต่อกันได้โดยการสัมผัสใกล้ชิดกับสิ่งคัดหลั่งต่างๆ ของผู้ป่วย เช่น น้ำมูก น้ำลาย เสมหะ