แม่จ๋า หนูเครียด! ภาวะเครียดในเด็กที่ต้องรู้
คุณพ่อคุณแม่อาจมองว่าเจ้าตัวเล็กของคุณนั้นยังเป็นเด็กอายุน้อย คงไม่มีเรื่องเครียดอะไรให้น่าปวดหัว แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่เลย เพราะเด็กๆ ก็มีเรื่องเครียดของเขาได้เหมือนกัน
สาเหตุที่ทำให้เด็กเล็กเกิดความเครียด
ความเครียดนั้นเกิดจากหลายสาเหตุ แนวคิดของจิตแพทย์ ฟรอยด์และอีริคสันมีความคิดเห็นสอดคล้องกันว่าความรักความอบอุ่นและการเลี้ยงดูของพ่อแม่มีผลต่อการพัฒนาบุคลิกภาพของเด็กวัยต่อมา เด็กจะมีการพัฒนาความรู้สึกเชื่อมั่น ความไว้วางใจบุคคลรอบข้างหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการได้รับการเลี้ยงดูที่อบอุ่นจากครอบครัว
ปัญหาสำคัญที่ทำให้เด็กเล็กเกิดความเครียด ได้แก่
ปัญหาสุขภาพ
การที่เด็กมีสุขภาพไม่แข็งแรง ขาดอาหาร ขาดการออกกำลังกาย พักผ่อนไม่เพียงพอ หรือเจ็บป่วยบ่อยๆ จะทำให้เด็กมีอารมณ์หงุดหงิด ร้องไห้ เอาแต่ใจตนเอง ไม่รู้จักรอคอย และก้าวร้าวต่อคนอื่น
การอบรมเลี้ยงดู
การเลี้ยงดูแบบเข้มงวดมากเกินไป (Authoritarian Control) พ่อแม่ที่เลี้ยงดูเด็กให้อยู่ในวินัยอย่างเคร่งครัดไม่ยืดหยุ่น หรือตั้งความคาดหวังกับลูกมากไปกว่าความสามารถของเด็กในวัยนี้ เช่น คาดหวังว่าเด็กจะต้องสอบแข่งขันเข้าเรียนในโรงเรียนดังๆ ได้ หรือคาดหวังให้ลูกเล่นกีฬา เล่นดนตรีอย่างเป็นเลิศ ถ้าลูกไม่สามารถทำสิ่งเหล่านี้ได้พ่อแม่จะรู้สึกหงุดหงิด บางคนพาลไม่พูดกับลูก ไม่ให้การดูแลเอาใจใส่อย่างที่เคยปฏิบัติมาก่อน ก็จะส่งผลให้เด็กเกิดความเครียดขึ้นมา เด็กอาจแสดงออกโดยมีปัญหาการกิน การพูด เช่น กลายเป็นเด็กที่อาจพูดติดอ่างได้
การเลี้ยงดูแบบย้ำคิดย้ำทำมากเกินไป พ่อแม่ที่มีความกังวลกับลูก คอยย้ำถามย้ำปฏิบัติกับเด็ก ทั้งที่เด็กต้องการและไม่ต้องการ มีผลทำให้เด็กต้องอยู่ในบรรยากาศที่ต้องระวังตลอดเวลา ทำให้เด็กมีความวิตกกังวลอย่างมาก จนทำให้เกิดความเครียดขึ้นมา เมื่อโตขึ้นอาจกลายเป็นคนย้ำคิดย้ำทำ ทำให้บุคลิกภาพเสียไป
การเลี้ยงดูแบบตามใจมากเกินไป พ่อแม่ที่ตามใจลูกมากเกินไป ให้ทุกอย่างที่ลูกต้องการโดยไม่คิดว่าเหมาะสมหรือไม่ อาจเกิดจากพ่อแม่คิดว่าหากขัดใจลูกแล้วลูกจะร้องสร้างความรำคาญ หรือพ่อแม่ไม่มีเวลาให้กับลูกจึงทดแทนด้วยสิ่งของที่ลูกต้องการ เมื่อเด็กถูกตามใจมากๆ จะกลายเป็นคนที่เอาแต่ใจตนเอง เมื่อเด็กถูกขัดใจจะไม่สามารถควบคุมตนเองได้ และเมื่อไปอยู่ในสังคมกับบุคคลอื่น เด็กจะเกิดความเครียดคับข้องใจ ไม่สามารถปรับตัวได้ และแสดงออกด้วยพฤติกรรม อาจจะลงมือลงเท้า กรีดร้อง เต้นเร่าๆ พ่อแม่ไม่ควรรีบโอ๋เด็ก ควรอยู่เฉยๆ และไม่ควรเดินจากไปจนกระทั่งเด็กสงบลง การดูแลอย่างใกล้ชิดจะมีผลให้เด็กค่อยๆ สงบลง
สภาพแวดล้อมในครอบครัว
เด็กที่อยู่ในครอบครัวที่ขาดความอบอุ่น พ่อแม่หย่าร้างกัน เด็กถูกทอดทิ้ง พ่อแม่ทะเลาะกัน พ่อแม่ดุด่าลูกเป็นประจำ หรือสภาพครอบครัวที่มีแต่ความตึงเครียด มีปัญหาด้านเศรษฐกิจ บุคคลในครอบครัวเจ็บป่วยหรือพิการ พ่อแม่ที่มีแต่ความเครียดทำให้ลูกเครียดด้วย เพราะเด็กที่อยู่ในสภาพแวดล้อมเช่นนี้จะส่งผลกระทบทางจิตใจและอารมณ์อย่างมาก หากต้องอยู่ในสภาพเช่นนี้ไปนานๆ จะส่งผลให้เกิดความเครียดเรื้อรัง เด็กจะแสดงออกโดยมีพฤติกรรมที่ก้าวร้าว เอาแต่ใจตนเอง แยกตัว และซึมเศร้าได้
สภาพแวดล้อมที่โรงเรียน
การให้เด็กทำกิจกรรมที่ยาวนานและยากเกินความสามารถของเด็ก เด็กที่เรียนในโรงเรียนที่สอนวิชาการมากเกินไป เช่น สอนคณิตศาสตร์ ภาษาไทย อังกฤษ อีกทั้งให้เด็กอยู่กับการเขียน และการอ่านมากเกินไปแทนที่จะได้ทำกิจกรรมที่เตรียมความพร้อมเด็กตามวัย จะทำให้เด็กไม่ได้พักผ่อน เกิดความเหนื่อยล้า ส่งผลให้เด็กเกิดความเครียดขึ้นมาและไม่อยากไปโรงเรียน