“ตอนนี้หนูกำลังจะได้เป็นพี่คนโตแล้ว เพราะมีน้องเล็กอีกคนอยู่ในท้องคุณแม่” ความรู้สึกหนึ่งของพี่คนโตก็ดีใจ แต่อีกใจกลัวว่าจะตกกระป๋อง และอาจเลยเถิดไปถึงขั้นอิจฉาน้องได้ แบบนี้มาช่วยส่งเสริมให้พี่คนโตสวมบทพี่ตัวจริงด้วยความมั่นใจ ภูมิใจ และไม่อิจฉาน้องกันค่ะ
สำหรับเด็กวัย 4-5 ขวบ การมีสมาชิกเพิ่มเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเขา เด็กรู้สึกว่าทุกคนในบ้านเปลี่ยนไปเทคะแนนให้เจ้าตัวเล็กอีกคนกันหมด พอจะเข้าไปดูน้องหรือร่วมวงสนทนาด้วย ก็ถูกกีดกันออกมาเพราะกลัวว่าเขาจะไปทำให้น้องร้องไห้ สุดท้ายเลยต้องอยู่หัวเดียวกระเทียมลีบ แล้วก็นึกโทษว่าเป็นเพราะน้องที่แย่งทุกอย่างจากเขาไป
หลังจากนั้นพี่จะเริ่มเรียกร้องความสนใจ ทำพฤติกรรมเหมือนเด็กทารก พัฒนาการถดถอย เช่น ขอดูดนมแม่ ไม่ได้ดังใจก็ร้องไห้โวยวายหรือร้องให้อุ้ม ร้องไห้แข่งกับน้อง แต่ถ้าพ่อแม่เริ่มวางแผนรับมือแต่เนิ่น ๆ เหตุการณ์ทั้งหมดข้างต้นจะไม่เกิดขึ้น ลองนำเทคนิคต่าง ๆ นี้ไปใช้ดู
เนื่องจากลูกวัยนี้มีพัฒนาการทางอารมณ์ซับซ้อนขึ้น เช่น โกรธ น้อยใจ โมโห เหงา จึงต้องการระยะเวลาในการปรับตัวและปรับอารมณ์ เพราะฉะนั้นถ้าคุณวางแผนจะมีน้องอยู่แล้ว ลองเริ่มถามลูกดูว่า อยากมีน้องไหม ถ้ามีแล้วใครจะช่วยเลี้ยงน้อง
พ่อและทุกคนในบ้านควรมีบทบาทตั้งแต่แม่เริ่มท้องค่ะ เพื่อให้ลูกเห็นว่าทุกคนในบ้านช่วยกันดูแลน้องเล็กอีกคน และควรเปิดโอกาสให้เขาร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ด้วย เช่น เตรียมของ ดูแลแม่ ดูแลกิจวัตรของตัวเอง
พี่จะได้เห็นและรับรู้ว่าน้องอยู่ในท้องแม่ และครั้งหนึ่งพี่ก็เคยอยู่ในท้องแม่เหมือนกัน กว่าจะโตแม่ต้องคอยดูแลหนู แต่ตอนนี้แม่มีพี่มาช่วยดูแลน้องเพิ่มขึ้นอีกคน
ลองคุยกับลูกคนเล็กให้พี่ได้ยินว่านี่คือพี่หนูนะ เขารักหนูและจะช่วยแม่ดูแลหนู พี่จะภูมิใจกับความเป็นพี่สุด ๆ เลยค่ะ
พ่อแม่ควรจะให้ญาติสนิทที่มาเยี่ยมให้ซื้อของสัก 1-2 ชิ้น ฝากลูกคนโตด้วย แล้วบอกว่านี่คือรางวัลที่พี่ช่วยแม่ดูแลน้อง จังหวะนี้ควรก็เล่าให้ญาติฟังว่าพี่คนโตช่วยดูแลแม่และน้องก่อนคลอดอย่างไรบ้าง เท่าที่วัยอย่างเขาทำได้
ถ้าเกิดอาการอิจฉาขึ้นมาจริง ๆ หรือเรียกร้องความสนใจเป็นครั้งคราว เช่น ตีน้อง ให้รีบจับแยกทันทีแล้วบอกให้พี่รู้ว่าน้องเจ็บ แต่ต้องดูด้วยว่าเกิดจากน้องคว้าผมหรือดึงผมให้พี่เจ็บหรือเปล่า ถ้าเป็นอย่างนั้นอธิบายให้พี่รู้ว่าน้องเล่นด้วยแต่ยังไม่รู้กำลังของตัวเอง และบอกด้วยว่าถ้าจะเล่นกับน้องควรทำอย่างไรจึงจะไม่ถูกดึงผม เช่น รัดผมให้เรียบร้อย
ถ้าพี่คนโตมาป้วนเปี้ยนอยากเล่นกับน้อง ก็ให้เขามีส่วนร่วมกับการดูแลน้อง เช่น หยิบของใช้ ดูน้องระหว่างแม่เข้าห้องน้ำ ใช้เพลงจากที่โรงเรียนมากล่อมน้อง แต่ข้อควรระวังคือ อย่าบังคับจนพี่คนโตรู้สึกว่าน้องเป็นภาระ จนอดไปเล่นหรือทำกิจกรรมที่เขาชอบ
ระหว่างให้นมลูก ให้พี่ช่วยลูบเท้าหรือขาน้อง พ่อแม่อาจจะคุยและถามเรื่องทั่ว ๆ ไป หรือให้เขาทำกิจกรรมที่ตัวเองชอบ อย่าปล่อยให้ลูกคนโตนั่งทำตาปริบ ๆ อยู่ข้าง ๆ เพราะทำตัวไม่ถูก
อาจจะขอความช่วยเหลือจากสามีหรือปู่ย่าตายายว่าแม่จะขอไปเที่ยวกับลพี่คนโตสัก 3 ชั่วโมง พาพี่คนโตไปเล่นนอกบ้าน เที่ยวสวนสนุก เข้าคาเฟ่ พาไปกินไอศกรีมที่พี่ชอบ เพื่อให้เขารู้ว่าแม่ไม่เคยละเลยเค้า และพี่ยังเป็นคนสำคัญของพ่อแม่
หากพี่คนโตอยู่ในวัยที่ไม่ห่างจากน้องคนเล็กมากนัก ถ้าพี่หย่านมไปแล้วแต่อ้อนอยากกินนมเหมือนน้อง แม่สามารถปั๊มนมให้ลูกกินได้เลยค่ะ แต่ให้บอกพี่ว่า แม่แค่ให้ชิมและมีนมน้อยสำหรับน้องเท่านั้น เพราะน้องตัวเล็กกินนมทีละน้อย แต่หนูเป็นพี่ต้องดื่มนมจากแก้ว ถ้าน้องโตกว่านี้แม่ก็ให้น้องดื่มนมจากแก้วเหมือนกัน เพราะแม่ไม่มีน้ำนม
เช่น คุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยาย หรือเพื่อนวัยเดียวกัน เพื่อทำกิจกรรมอย่างอื่น ลูกจะได้ไม่รู้สึกว่าถูกทิ้ง อีกอย่างเด็กวัยนี้เริ่มมีช่วงเวลาส่วนตัวที่เขาอยากเล่นคนเดียวแล้วค่ะ
ประโยคต้องห้ามอย่าเผลอพูดไปนะ เพราะจะยิ่งสร้างปมให้พี่น้อยใจ รู้สึกพ่อแม่ลำเอียง
ทั้งหมดนี้เป็นแค่หนทางรับมือกับบางสถานการณ์เท่านั้นค่ะ แต่เชื่อแน่ว่าความเป็นพ่อเป็นแม่ของคุณ จะทำให้ผ่านไปได้ด้วยดีค่ะ เด็กบางคนปรับตัวเร็ว บางคนปรับตัวช้า จึงต้องให้เวลาและโอกาสลูกในการปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ ด้วยค่ะ