ลูกท้องร่วงไม่ใช่แค่จากไวรัสโรต้านะคะ แต่ยังมีเชื้อซาลโมเนลลา ที่อันตรายไม่แพ้กัน และรุนแรงจนทำให้เด็กๆ ต้องแอดมิทด้วย
การรักษาความสะอาดร่างกายและของใช้ทุกอย่างของลูก นับเป็นเรื่องสำคัญมากที่พ่อแม่ต้องใส่ใจ เพราะเชื้อโรคมากมายอยู่รอบตัวลูก ที่เรามองไม่สามารถเห็นได้ ยิ่งลูกน้อยที่มีภูมิคุ้มกันน้อย ก็จะยิ่งป่วยได้ง่ายมากขึ้น ดังเช่นคุณแม่จากเพจ แม่มาเม้าท์ ที่ได้เล่าเรื่องราวของลูกสาววัย 11 เดือน ที่ป่วยติดเชื้อ "ซาลโมเนลลา" ให้เป็นเรื่องราวเตือนใจทุกครอบครัว
คุณแม่โพสต์ดังนี้...
" บอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับลูกสาวแม่ กับโรคอุจจาระร่วงจากเชื้อซานโมเนลลา หรือจะอ่านว่าซัลโมเนลลาก็ได้ โดยเชื้อโรคนี้จะเกิดกับเด็กเล็กตั้งแต่ 0-15 ปี ใช่ค่ะ น้องเจอแปนโดนแจ็คพอตนี้เข้าไปเต็ม ๆ น้องถูกเลือกให้ติดเชื้อนี้ตั้งแต่อายุ 11 เดือน ไม่สิ แม่หยิบยื่นเชื้อไวรัสนี้ให้น้องเอง เดี๋ยวแม่จะบอกนะว่าน้องนี้ได้รับเชื้อไวรัสนี้ได้อย่างไร เพราะตั้งแต่เกิดมาน้องแข็งแรง ไม่เคยเจ็บป่วย และนี่เป็นครั้งแรกหนักหนาเหลือเกิน จนต้องแอดมิทที่โรงพยาบาลถึง 4 วัน 3 คืน
อาการเริ่มต้น (วันศุกร์)
เริ่มตัวร้อนมีไข้ ไข้จะขึ้น ๆ ลง ๆ แต่ยังเล่นได้ กินได้ปกติ แค่ซึม ๆ นิดหน่อย และติดแม่มาก ไม่ค่อยเอาใคร วันแรกที่มีไข้ เมื่อแม่พาน้องไปหาหมอ หมอวัดไข้ได้ 39.6 องศา ตัวร้อนมาก น้องซึม ๆ พยาบาลพาไปเช็ดตัว เช็ด ๆ ถู ๆ แรงมาก มันเป็นวิธีที่จะทำให้ไข้ลด ขยี้หัว ขยี้หลัง ทั้งตัว จนไข้ลดเหลือ 37 องศากว่า หลังจากนั้นเข้าพบหมอเพื่อประเมิณอาการเบื้องต้น หมอให้ยาลดไข้ และให้เช็ดตัวบ่อย ๆ และกลับมาดูอาการที่บ้าน
อาการคืนแรก (คืนวันศุกร์-เช้าวันเสาร์)
มีไข้ขึ้น ๆ ลง ๆ แต่เมื่อประมาณตีสาม ไข้ขึ้นสูงมาก แม่เช็ดตัวให้แทบจะทุกชั่วโมงเลย อาการเริ่มออก น้องท้องเสียถ่ายประมาณ 3 รอบ อุจจาระมีกากอาหารมีน้ำเยอะมาก 2 รอบแรกเต็มแผ่นผ้าอ้อมสำเร็จรูป ส่วนรอบ 3 เริ่มมีน้ำจนน่ากังวล จึงตัดสินใจพาโรงพยาบาลอีกครั้ง น้องร้องไห้หนักมาก เริ่มงอแงไม่ค่อยเอาใคร วัดไข้ วัดชีพจรก็ร้องไห้ วันนั้นจึงตัดสินใจแอดมิท
วันแรกที่แอดมิท (เช้าวันเสาร์-คืนวันเสาร์)
วัดไข้ วัดชีพจร เจาะเลือดพร้อมกับดูดเลือดออกไปตรวจถึง 3 หลอด แล้วเปลี่ยนเป็นสายให้น้ำเกลือ น้ำเกลือขวดแรกเริ่มขึ้น น้องซึม ๆ อยู่ เล่นแฟลชการ์ดได้ แต่กินข้าวได้น้อยมาก หลังจากนั้นก็แปะที่เก็บปัสสาวะ และตักอุจจาระไปตรวจ วันนี้ยังมีไข้ตัวร้อนอยู่ตลอด พยาบาลเข้ามาวัดไข้แทบจะทุกชั่วโมง เพราะไข้ขึ้นสูงถึง 40 องศากว่า เช็ดตัว ให้ยาลดไข้ ดีขึ้นมาหน่อย เป็นแบบนี้จนถึงเช้า น้องไม่ค่อยงอแงจะมีร้องไห้ โวยวายตอนมาวัดไข้ และก็เช็ดตัว (มียาหลังอาหาร 3 มื้อ เป็นยากลุ่มฆ่าเชื้อประมาณ 4 ตัว)
วันรุ่งขึ้น (เช้าวันอาทิตย์-คืนวันอาทิตย์)
อาการยังทรง ๆ หมดน้ำเกลือขวดแรกไปเติมขวดที่สองต่อ วันนี้ถ่ายประมาณ 6 ครั้ง (อุจจาระมีสีเขียวเข้ม ๆ มีมูกด้วย มูกใส ๆ ยืด ๆ บางรายมีมูกและมีเหลือ นี่ถือว่าเบาหน่อย) น้องทานอาหารในแต่ล่ะมื้อได้น้อย มื้อล่ะ 5 คำ ทานนมได้ 3 มื้อ มื้อล่ะ 3-4 ออนซ์เป็นนมสูตรใหม่ที่ทางโรงพยาบาลปรับให้สำหรับน้องที่ยังท้องเสียอยู่ วันนี้ก็เช่นกันที่มีไข้สูง 39-40 องศา แม่รู้ว่าเค้าปวดท้อง เพราะแม่เอาเค้ามานอนบนตัวเค้าจะอ้อน ๆ หน่อย คือเค้าจะเกร็งท้อง เหมือนกันคนที่แขม่วพุงขึ้นลงอยู่แบบนั้น แค่ตด อุจจาระก็เล็ดออกมาแล้ว ผลการเพาะเชื้อออกแล้ว หมอว่าน้องติดเชื้อในลำไส้ และกระเพาะอาหาร เป็นเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อ ซาลโมเนลลา หมออธิบายตัวเชื้อและสาเหตุไปเบื้องต้น เดี๋ยวแม่จะอธิบายอีกทีว่ามาได้อย่างไร
วันถัดมา วันแม่แห่งชาติ เช็คอินโรงพยาบาลช่วงเวลาดี ๆ ที่วันนี้อาการเริ่มดีขึ้นแล้ว (เช้าวันจันทร์-คืนวันจันทร์)
อาการเริ่มดีขึ้นแล้วค่ะ ไข้ลงมา 36 37 ร่าเริงแล้ว แต่ก็ยังท้องเสียอยู่ ถ่ายมา 5-6 ครั้ง วันนี้น้องทานได้เยอะขึ้น อาหารยังอ่อนอยู่
วันนี้หนูพร้อมกลับบ้านแล้ว พอแล้วโรงพยาบาล (เช้าวันอังคาร)
ก่อนกลับบ้านวันนี้ มีหมอมาตรวจประเมิณอาการดูว่ากลับบ้านได้แล้ว แต่ยังคงต้องกินยาฆ่าเชื้ออยู่ เพราะเชื้อจะอยู่ในร่างกายราว ๆ 1 สัปดาห์ วันนี้มีการเก็บอุจจาระอีกครั้งเพื่อไปเพาะเชื้อ แต่ช่วงที่เก็บน้องยังไม่ถ่ายท้อง พยาบาลใช้ไม้ที่หุ้มสำลี คัตเติลบัตนั่นแหละแต่ไม้จะยาว ๆ และหัวใหญ่อยู่ แหย่เข้าไปในรูทวารน้อง น้องนอนนิ่งไม่ร้องเลย ทำเอาแม่ใจหายใจคว่ำ
สาเหตุของอาการป่วย เด็กท้องเสีย ท้องร่วง
ด้วยความที่แม่อยู่กับน้องแทบจะ 24 ชั่วโมง เลยรู้กิจวัตรประจำวัน ทำไรมา กินอะไรเข้าไป โดยวันก่อนที่จะมีไข้ แม่พาน้องไปทานอาหารนอกบ้าน แล้วด้วยความเสียดายเงินสิบบาทยี่สิบบาท แม่หยิบน้ำขวดหลังรถให้น้องทาน จริง ๆ น้องมีน้ำขวดต้มสุกส่วนตัวแต่แม่ไม่ได้หยิบลงไป ตอนหยิบก็เอะใจ ไม่เป็นไรหรอก เพราะปกติก็เคยทานได้อยู่ แจ็คพอตแตกเลย นั้นแหละเป็นสาเหตุ เพราะน้ำที่อยู่ในรถและตากแดดเป็นเวลานาน เป็นแหล่งเพาะเชื้อดี ๆ นี่เองซึ่งก็ไม่รู้ว่าอยู่ในรถนานแค่ไหนแล้ว ส่วนสาเหตุอื่น ๆ ก็มาจากน้ำดิบ น้ำที่ไม่ได้ต้มสุก น้ำแข็ง การหยิบจับของเล่นเข้าปาก เอามือเข้าไป ตัวนี้ก็มีส่วนเช่นกัน อาหารไม่สุกก็ด้วยนะ ที่หมอเค้าบอกมาค่ะ
การป้องกันก็ต้องดูแลความสะอาดมือเป็นพิเศษหน่อย หมั่นล้างมือบ่อย ๆ เช็ดข้าวของ ของเล่นด้วยแอลกอฮอล์ลหรือน้ำยาฆ่าเชื้อ ตอนนี้ก็เลี่ยงการดื่มน้ำจากขวด ให้กินน้ำต้มสุกแล้ว แม่พลาดเองจริง ๆ ช่วงกลับมาจากโรงพยาบาลก็กินยากลุ่มฆ่าเชื้อวันละ 5 ครั้ง กินต่อเนื่องจนยาหมด ประมาณ 10 วันนับจากวันที่เป็น น้องมีเรียนว่ายน้ำก็ต้องหยุดไปก่อน เพราะยังท้องเสียอยู่ ไม่ควรนำเชื้อโรคไม่แพร่ไปสระ อันนี้กาดอกจันทน์ไว้เลยนะ ถ้าเด็กท้องเสียอย่าพาลงสระ เพราะจะแพร่เชื้อโรคให้คนอื่นได้ แม่ต้องให้น้องหยุดไปเทมอนึงก่อน แล้วค่อยไปเรียนใหม่ กลับมาบ้านครั้งนี้ก็ดูแลรักษาความสะอาดมากขึ้นกว่าเดิม น้องเริ่มทานอาหารได้เยอะเหมือนเดิม แต่ยังคงงดผักผลไม้ ขับถ่ายดีขึ้นไม่มีมูกแล้ว เริ่มมีชื้นเนื้อ ๆ บ้าง แต่ยังไม่ปกติ
ขอบคุณที่ติดตามนะคะ เรื่องราวของหนูจะเป็นประโยชน์สำหรับพ่อแม่ผู้ปกครองไม่มากก็น้อยนะคะ "
จากกรณีของคุรแม่ เรามารู้จักโรคติดเชื่อ Salmonella Infection หรือ โรคติดเชื้อซาลโมเนลลา หรือโรคซาลโมเนลโลสิส กันค่ะ
โรคติดเชื้อซาลโมเนลลา เป็นโรคติดเชื้อจากแบคทีเรียซาลโมเนลลา มักเกิดจากการรับประทานอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนอุจจาระที่มีเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการเป็นไข้ ถ่ายเหลว หรืออาเจียน โดยอาการอาจปรากฏอยู่นาน 8-72 ชั่วโมง ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่สุขภาพแข็งแรงอาจมีอาการดีขึ้นเองภายใน 2-3 วันโดยไม่จำเป็นต้องรับการรักษา ทั้งนี้ ผู้ป่วยบางรายอาจไม่มีอาการใด ๆ เกิดขึ้น
การติดเชื้อแบคทีเรียซาลโมเนลลา อาจใช้เวลานานหลายชั่วโมงจนถึง 2 วัน จึงจะปราฏอาการของโรค อาการดังนี้
โดยปกติแล้วอาการของซาลโมเนลลา จะคงอยู่ประมาณ 2-7 วัน ส่วนอาการท้องเสียอาจคงอยู่ประมาณ 10 วัน ซึ่งอาจอาจต้องใช้เวลาหลายเดือนจนกว่าลำไส้จะกลับมาทำงานปกติ หรือ หากยังมีอาการผิดปกตินานเกิน 7 วัน ควรไปพบแพทย์อีกซ้ำ
นอกจากนี้ หากผู้ติดเชื้อเป็นเด็กที่ภูมิคุ้มกันบกพร่อง แล้วมีอาการอุจจาระเป็นเลือด มีไข้สูง หรือมีภาวะขาดน้ำ เกิดขึ้นนานกว่า 2-3 วัน ควรไปพบแพทย์ซ้ำเช่นเดียวกัน