ใครเจอปัญหาวางลูกนอนปุ๊บร้องปั๊บจนแม่ต้องอุ้มตลอด แทบไม่ได้ทำอะไรเลย เรามี มือกันจ๊าก ไอเทมผู้ช่วยคุณแม่ลูกแรกเกิดให้วางลูกนอนให้อุ่นใจไม่สะดุ้งตื่น แล้วแวบไปทำธุระส่วนตัวได้ก่อนกลับมาดูแลลูกต่อค่ะ
มือกันจ๊าก มือผู้ช่วยวางลูกนอนหลับยาว ลูกไม่สะดุ้งตื่น ไอเทมเด็กแรกเกิดที่แม่ต้องลอง
คุณแม่ที่มีลูกแรกเกิดคนไหนกำลังรับมือสถานการณ์นี้บ้างคะ วางนอนปุ๊บสะดุ้งตื่นปั๊บ วางนอนได้นิ่งๆ แป๊บเดียว พอแม่หันหลังจะเข้าห้องน้ำก็ร้องขึ้นมาเหมือนรู้ว่าแม่จะไม่อยู่
เด็กแรกเกิดคุ้นชินกับการอยู่ในที่แคบ อบอุ่น และปลอดภัยแบบในมดลูกแม่ค่ะ เมื่อคลอดออกมาจึงรู้สึกไม่อุ่นใจ อยากให้แม่อุ้มกอดในท่าและบรรยากาศที่คุ้นเคย จึงไม่แปลกใจที่คุณแม่หลายคนบอกว่าลูกติดมือ เข้าห้องน้ำยังต้องอุ้มไปด้วย ให้พ่ออุ้มแทนยังร้อง! มาค่ะ ลองมาดู "มือกันจ๊าก" ตัวช่วยที่คุณแม่ควรลองว่าจะช่วยให้ลูกนอนนานขึ้นอีกนิดไหมช่วงที่แม่แวบไปเข้าห้องน้ำ ล้างจาน กินข้าว
วัสดุในการทำมือกันจ๊าก
- ถุงมือผ้านุ่มๆ หรือถ้าจะให้ดีลองใช้เสื้อคุณแม่เอง วาดรูปมือลงไป แล้วตัดเย็บเป็นถุงมือค่ะ (เป็นถุงมือกลิ่นแม่)
- ข้าวสาร 1 ถ้วย
- เข็ม ด้าย และริบบิ้น
วิธีทำมือกันจ๊าก
- ค่อยๆ ใส่ข้าวสารลงไปในถุงมือให้เต็มส่วนนิ้วทั้ง 5 จากนั้นใส่ลงไปอีกเล็กน้อยในอุ้งถุงมือ
- ลองวางถุงมือบนหมอนแล้วเกลี่ยมือกันจ๊ากตามรูปทรงหมอนดูก่อน(แทนตัวลูก) เพื่อดูว่าปริมาณข้าวสารมากหรือน้อยไปไหม และถุงมือกันจ๊ากควรมีน้ำหนักไม่เกิน 400-500 กรัม จะไม่หนักเกินไปค่ะ
- เย็บปิดถุงมือให้สนิท หรือ ตกแต่งด้วยริบบิ้นน่ารักๆ ได้ค่ะ
ข้อควรรู้และควรระวังในการลองใช้ถุงมือกันจ๊าก
- ไม่มีของใช้เด็กชิ้นไหนแทนที่ความอบอุ่นจากมือแม่ได้นะคะ ดังนั้นถ้ายังดูแลลูกแบบใกล้ชิดได้ตลอดเวลาก็โอบกอดลูกเถอะค่ะ
- ถ้ามือกันจ๊ากได้ผล ก็ใช้เป็นครั้งคราวเท่านั้นนะคะ เพราะลูกต้องการความอบอุ่นและปลอดภัยจากสัมผัสของพ่อแม่ ไม่ใช่จากผ้าหรือตุ๊กตาค่ะ
- ไม่ควรวางมือกันจ๊ากทับไปบนหน้าอก ท้อง หรือวางด้านหน้าใกล้จมูกและปาก เพราะจะทำให้ลูกหายใจไม่ออกค่ะ
- การวางมือกันจ๊ากที่ถูกต้องคือ วางส่วนนิ้วและอุ้งมือบริเวณก้น หรือหลัง โดยต้องมีส่วนหนึ่งของมือที่วางทิ้งน้ำหนักไว้บนที่นอนด้วย ป้องกันน้ำหนักที่อาจมากเกินไป
- ถุงมือหรือผ้าที่จะใช้ตัดถุงมือต้องไม่มีขน ใยผ้าไม่ฟุ้งหรือหลุดร่วงง่าย และไม่แข็งกระด้าง