แม่หลายคนสงสัยเรื่องการฉีดวัคซีนทารก วัคซีนเด็กเล็ก เราได้รวบรวมคำถามมาตอบให้แล้วค่ะ จะช่วยให้แม่มั่นใจในการพาลูกไปฉีดวัคซีนมากขึ้นค่ะ
9 คำถามเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนทารก วัคซีนเด็กที่แม่ถามเข้ามามากที่สุด
1. เตรียมตัวลูกทารก ลูกเล็กก่อนไปฉีดวัคซีนอย่างไร
- ถ้าเด็กโตพอพูดรู้เรื่องก็ควรคุยกันก่อน หรืออาจเล่าเป็นนิทานเรื่องลูกหมีไปหาหมอ ฉีดยาให้แข็งแรงจะได้ไม่ป่วย
- ห้ามบอกลูกเด็ดขาดว่าถ้าดื้อจะให้หมอฉีดยา เพราะไม่อย่างนั้นแค่เจอหน้าหมอ ยังไม่ทันเห็นเข็มก็คงร้องไห้จ้าแล้วล่ะ
- อาจจะลองทำความคุ้นเคย เช่น เอากระบอกฉีดยาของเล่นมาลองฉีดยิงน้ำ พ่นระบายสี เป็นต้
- พอจะฉีดยาของจริงก็ร้องเพลงหลอก คุยหลอก ได้จังหวะก็ฉีดปั๊บเข้าไปเลย วิธีนี้น่าจะได้ผลค่ะ เพราะบ่อยครั้งที่เด็กๆถูกล่อหลอกจนลืมร้องไห
- เมื่อฉีดเสร็จแล้วก็ปรบมือเป็นกำลังใจให้คนเก่งหน่อย
2. ก้อนแข็งหลังจากการฉีดวัคซีน ทำอย่างไรถึงจะหาย
ถ้าบวมและแข็งมากบรรเทาได้โดยการประคบเย็น ถ้าปวดมากก็ให้ลูกกินยาแก้ปวดได้ค่ะ อาการบวมจะเป็นประมาณ 2-3 วันค่ะ ถ้ามีอาการอักเสบมากอย่าปล่อยจนเป็นหนองให้รีบพาลูกไปพบแพทย์ด่วนค่ะ
3. ให้ลูกกินยาดักไข้ ก่อนไปฉีดยา ทำได้หรือไม่
ไม่ได้ค่ะ ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง ต้องรอให้ลูกเป็นไข้ก่อนดีกว่านะคะคุณแม่ เข้าใจว่าเป็นห่วงลูก แต่ไม่ใช่เด็กทุกคนไปฉีดยาแล้วจะป่วยนะคะ ทางที่ดีห้ามให้ลูกกินยาดักเด็ดขาดค่ะ
4. หลังจากฉีดวัคซีนเสร็จ ลูกร้องไห้ไม่หยุด รับมืออย่างไรดี
เหตุผลที่ลูกร้องไห้ไม่หยุด เป็นเพราะน้องเจ็บจากการโดนฉีดยามานะคะ อยากให้คุณแม่ใจเย็น ๆ อาจให้กินยาพาราเซตามอนแก้ปวดและใช้ผ้าเย็นประคบเบาๆ ไม่ต้องนวดคลึงและไม่จำเป็นต้องกินยาปฏิชีวนะคะ
5. ผื่นขึ้นหลังจากฉีดวัคซีน
อาจเกิดจากเชื้อที่อยู่ในวัคซีนเช่น หัดเยอรมัน คางทูม อีสุกอีใส อาจขึ้นหลังจากฉีดไปแล้ว 5-7 วัน รวมอาการมีไข้ด้วย แต่หลังจากนั้นประมาณ 1 สัปดาห์ก็จะหายไปเองค่ะ
6. ฉีดวัคซีนแล้วลูกไม่สบาย มีไข้ วิธีแก้ไข
อาการไข้จะเกิดขึ้นกับลูกได้ค่ะ คุณแม่สามารถเช็ดตัวให้ลูกเพื่อให้ไข้ลดได้ หรือถ้าเป็นมากให้กินยาลดไข้ที่คุณหมอให้มาก็ได้ค่ะ อาจให้กินยาพาราเซตามอน อาการจะหายไปเองภายใน 2-3 วันค่ะ ไม่ควรกินยาดักไว้ก่อนนะคะ ให้ลูกมีไข้ก่อนแล้วค่อยกิน ถ้ามีไข้ขึ้นสูงมากจน ลูกชัก ให้จับหน้าลูกตะแคงหันด้านข้าง เพื่อไม่ให้ลิ้นอุดตันทางเดินหายใจ ห้ามใช้สิ่งของยัดเข้าไปในปากของลูกเพราะอาจเกิดการบาดเจ็บที่ช่องปากหรือสิ่งของนั้นอาจหลุดเข้าไปในปากลูกได้ พยายามเช็ดตัวให้ไข้ลดโดยการเน้นเช็ดที่ซอกคอ และข้อพับต่าง ๆ ถ้าอาการไม่ดีขึ้นให้รีบพาลูกส่งโรงพยาบาลทันที
7. ข้อควรระวัง อาการข้างเคียงหลังฉีดวัคซีนให้ลูก
- อย่าให้วัคซีนที่ทำให้ตัวร้อนได้พร้อมกันเช่น วัคซีนรวมคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน พร้อมกับวัคซีนป้องกันไทฟอยด์
- เมื่อรับวัคซีนแล้วอาจมีอาการข้างเคียงบางอย่างเกิดขึ้นได้ ทั้งนี้เนื่องจากร่างกายมีปฏิกิริยาต่อวัคซีนซึ่งโดยทั่วไปจะมีอาการไม่มาก และจะหายไปเอง
- เนื่องจากอาการแพ้วัคซีนชนิดรุนแรงมักเกิดขึ้นไม่นานหลังการฉีด จึงควรแนะนำให้เฝ้าสังเกตอาการผิดปกติหรือฉีดวัคซีนทุกชนิดประมาณ 15-30 นาทีขณะยังอยู่ในโรงพยาบาล
- อาการแพ้วัคซีนหรือแพ้ส่วนประกอบของวัคซีนสามารถพบได้ในวัคซีนทุกชนิด หากเป็นแค่เพียงผื่นเล็กน้อยก็ไม่มีอะไรน่ากังวลนัก แต่หากลักษณะที่เกิดขึ้นเป็นผื่นลมพิษ มีอาการหน้าบวมปากบวม หายใจลำบาก หรือความดันโลหิตต่ำลง ถือเป็นอาการข้างเคียงสำคัญ ซึ่งหากอาการเหล่านี้เกิดขึ้น อาจพิจารณางดการฉีดวัคซีนชนิดนั้นในครั้งต่อไป และควรบันทึกไว้ในหลักฐานทางการแพทย์และสมุดวัคซีนให้ชัดเจน
- ที่มาของผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน
8. เด็กที่มีอาการข้างเคียงเมื่อได้รับวัคซีน
อาจไม่ได้มีอาการจากตัววัคซีนโดยตรง เนื่องจากในวัคซีนป้องกันโรค นอกจากจะประกอบด้วยสารที่กระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทานโรคแล้ว ยังมีสารอื่น ๆ ที่เป็นส่วนประกอบของวัคซีนด้วย เช่น
- อลูมินัม พบในวัคซีนป้องกันเยื่อหุ้มสมองอักเสบฮิบ, ไวรัสตับอักเสบเอและบี
- ยีสต์ พบในวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี
- ไข่ พบในวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่
- เจลาติน พบในวัคซีนป้องกันสุกใส, หัด หัดเยอรมันและคางทูม
- ยาปฏิชีวนะนีโอมัยซิน พบในวัคซีนป้องกันสุกใส, หัด หัดเยอรมันและคางทูม ดังนั้นถ้าเด็กที่มีอาการข้างเคียงจากสารที่เป็นส่วนประกอบในวัคซีน ก็จะมีอาการข้างเคียงเมื่อได้รับวัคซีนได้ค่ะ
9. คำแนะนำในการมารับวัคซีนครั้งต่อไป
- ในวันนัด ถ้าเด็กเป็นไข้ไม่สบาย ควรให้เด็กหายดีก่อนหลังจากนั้น 1 สัปดาห์จึงพามารับวัคซีน
- ในกรณีที่ไม่สามารถมาตามนัดได้ ท่านสามารถพามารับวัคซีนเพื่อกระตุ้นให้ครบไม่ว่าจะเว้นไว้ไปนานเท่าใดได้โดยไม่ต้องเริ่มต้นใหม่ แต่ไม่ควรพามา
- ก่อนนัดเนื่องจากระยะห่างระหว่างการกระตุ้นของวัคซีนที่สั้นเกินไปจะมีผลให้ภูมิต้านทานโรคขึ้นน้อยกว่าปกติ
- ถ้าเด็กเคยมีประวัติแพ้ยา แพ้ไข่ไก่ หรือเคยมีอาการผิดปกติรุนแรงหลังได้รับวัคซีน เช่น ชัก ผื่น ลมพิษไข้สูงมาก ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนได้รับวัคซีนครั้งต่อไป