กรมควบคุมโรค ให้เฝ้าระวังสถานการณ์โรคคางทูมในประเทศไทย หลังพบผู้ป่วยคางทูมแล้ว 1,466 ราย ไม่พบผู้เสียชีวิต กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยมากสุด คือ กลุ่มอายุ 15-24 ปี และพบมากในกลุ่มนักเรียนร้อยละ 39.6 แนะพ่อแม่พาไปฉีดวัคซีนป้องกัน
โรคคางทูมเกิดจากเชื้อไวรัส เป็นโรคติดต่อทางเดินหายใจและการสัมผัสน้ำลายของผู้ป่วย ส่วนมากจะเป็นในเด็กวัยเรียน อาการระยะเริ่มแรกจะมีอาการไข้ ปวดศีรษะ และอ่อนเพลียภายใน 12-24 ชั่วโมงต่อมา
จะมีอาการปวดบริเวณข้างแก้มและใบหู มีอาการปวดมากขึ้นเวลาขยับขากรรไกร หรือเวลาที่กินอาหารที่มีรสเปรี้ยว ต่อมน้ำลายบริเวณขากรรไกรบวมและลามไปยังหลังใบหู ต่อมน้ำลายจะบวมมากขึ้นในเวลา 1-3 วัน ส่วนใหญ่มักเริ่มข้างเดียวก่อน แล้วเป็นที่ต่อมน้ำลายอีกข้างตามมา หลังจากนั้นอาการบวมจะค่อย ๆ ลดลงภายใน 3-7 วัน อาการต่าง ๆ จะหายเป็นปกติภายใน 7-10 วัน
เป็นการรักษาตามอาการ ควรมีการแยกผู้ป่วยประมาณ 10 วันหลังจากเริ่มมีต่อมน้ำลายโต และควรหยุดไปโรงเรียนหรือหยุดงานเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น
กรมควบคุมโรค ขอแนะนำประชาชนว่า วิธีป้องกันโรคคางทูมที่มีประสิทธิภาพ คือ การฉีดวัคซีนป้องกันโรค โดยเป็นรูปแบบวัคซีนรวมป้องกันโรคหัด คางทูม และหัดเยอรมัน (MMR) ในเด็กเล็กควรรับวัคซีนป้องกันโรค 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อเด็กอายุ 9-12 เดือน และให้ซ้ำอีกครั้งเมื่ออายุ 2 ปี 6 เดือน