ตู้ยาสามัญประจำบ้านยังจำเป็นนะคะ โดยเฉพาะยาสำหรับเด็ก เพราะลูกเราอาจเจ็บป่วยได้เสมอ เราจึงต้องเตรียมพร้อมยาเหล่านี้ไว้ตลอดเวลา
Checklist! ยาสำหรับเด็กที่ควรมีติดบ้านเมื่อลูกเจ็บป่วย พร้อมปริมาณการกินยาที่ถูกต้อง
ใคร ๆ ก็ไม่อยากให้ลูกเจ็บป่วยค่ะ แต่ก็ห้ามยาก ดังนั้นการเตรียมความพร้อมด้วยการมีชุดยาสามัญประจำบ้าน ชุดปฐมพยาบาลจึงสำคัญที่สุด พญ.สินดี จำเริญนุสิต กุมารเวชศาสตร์พัฒนาการและพฤติกรรม จะมาบอกคุณพ่อคุณแม่ว่ายาอะไรบ้างที่ควรมีติดบ้าน และที่สำคัญที่สุดคือ ลูกควรกินยาแต่ละชนิดปริมาณเท่าไหร่จึงจะถูกต้อง ปลอดภัย
5 หลักการเลือกซื้อและใช้ยาสามัญประจำบ้านในบ้านที่มีลูกเล็ก
-
ควรเลือกซื้อที่ร้านที่มีเภสัชกรให้คำแนะนำ และก่อนซื้อยาควรแจ้งอายุของลูก รวมถึงโรคประจำตัว หรือประวัติแพ้ยา/แพ้อาหารแก่เภสัชกรด้วย
-
ปรึกษาแพทย์/เภสัชกรก่อนจะซื้อยานั้นๆมาให้ลูกใช้
-
อ่านฉลากเอกสารกำกับยาก่อนทุกครั้ง
-
เลือกซื้อยาที่มีฉลากยา ระบุตำรับยา สรรพคุณ ขนาด และวิธีใช้
-
ต้องมีวันเดือนปีที่ผลิต และวันสิ้นอายุ หรือวันที่ยาหมดอายุระบุไว้
5 ยาสามัญประจำบ้านที่ควรมีติดบ้านที่มีลูกเล็ก
- ยาลดไข้สำหรับเด็ก
วิธีใช้ยาลดไข้สำหรับเด็ก
ใช้เมื่อมีอาการตัวร้อนมีไข้ เพื่อให้อาการไข้ลดลง หรือใช้ในกรณีที่มีอาการปวดหัว ปวดฟัน (ทั้งนี้ต้องแน่ใจว่าไม่มีโรคอื่นแทรกซ้อน ถ้าไม่แน่ใจควรพบแพทย์)
ปริมาณการกินยาลดไข้สำหรับเด็ก
- ขนาดยาพาราเซตามอลที่ใช้โดยประมาณ คือ 10-15 มิลลิกรัม ต่อ น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (ถ้าไม่แน่ใจอาจจะดูที่ฉลากยาซึ่งระบุอายุของเด็กกับปริมาณยาที่เหมาะสม)
- ความถี่โดยทั่วไป คือ ทุก 4-6 ชั่วโมง
- การดูแลเวลาที่เด็กมีไข้ คือ การเช็ดตัวลดไข้ ควบคู่ไปกับการกินยาด้วย ส่วนทารกและเด็กเล็ก ต้องระมัดระวังในการใช้ยาลดไข้ และควรพาไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ
- กลุ่มยาลดน้ำมูก/ยาแก้ไอสำหรับเด็ก
โดยทั่วไป ไม่แนะนำให้พ่อแม่ซื้อยาลดน้ำมูกมาให้ลูกรับประทานเอง (โดยเฉพาะเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ) เพราะมีโอกาสที่จะทำให้ น้ำมูกแห้งอยู่ในโพรงจมูก และอาจทำให้ปิดกั้นทางเดินหายใจได้ค่ะ หากมีอาการควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา แต่ในเด็กโตพ่อแม่อาจใช้พวกน้ำมันหอมระเหย เช่น น้ำมันยูคาลิปตัสบริสุทธิ์ หยดบริเวณหมอน ผ้าห่ม ปกเสื้อลูก หรือสเปรย์ภายในห้องนอน หรือ อาจใช้ยาขี้ผึ้งที่มีส่วนผสมของน้ำมันยูคาลิปตัส ทาบริเวณหน้าอก คอ และหลัง เพื่อช่วยให้ลูกหายใจได้สะดวกขึ้น (ต้องแน่ใจว่าลูกไม่มีอาการแพ้ และ ไม่ควรทาที่จมูกลูกโดยตรงเพราะจะแสบได้)
เด็กเล็กหากมีอาการไอ และมีเสมหะไม่มาก อาจให้ดื่มน้ำอุ่นบ่อย ๆ เพื่อไม่ให้เสมหะเหนียว ช่วยให้ชุ่มคอและไม่ระคายเคือง แต่ถ้ามีอาการไอและมีเสมหะมาก ยาเบื้องต้นที่สามารถใช้ในเด็กได้อย่างปลอดภัย เช่น ยาคาร์โบซีสเทอีน, แอมบรอกซอล หรือบรอมเฮกซีน เป็นต้น ยาแก้ไอสำหรับเด็กส่วนมากจะปราศจากแอลกอฮอล์ และบางยี่ห้อจะไม่มีทั้งน้ำตาลและแอลกอฮอล์ค่ะ
ข้อควรระวัง: ไม่ควรซื้อยากดอาการไอมาให้ลูกเอง เช่น ยากลุ่ม เดกซ์โทรเมทอร์แฟน โดยเฉพาะในเด็กที่ยังบ้วนเสมหะไม่เป็น เพราะยาจะกดอาการไอเอาไว้ ทำให้เสมหะไม่ถูกขับออกมาผ่านทางการไอ แต่กลับสะสมในปอดแทน อาจทำให้เกิดอาการติดเชื้อที่ปอดและมีอาการรุนแรงได้
- ยาแก้ท้องอืดสำหรับเด็ก ที่นิยมใช้กัน เช่น มหาหิงคุ์ ยู่ยี่ออยล์ เป็นต้น
วิธีใช้ยาแก้ท้องอืดสำหรับเด็ก
- เด็กทารกสามารถใช้ได้อย่างปลอดภัย โดยทาที่หน้าท้องบริเวณรอบ ๆ สะดือ หรืออาจทาฝ่ามือฝ่าเท้าด้วย จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการเคลื่อนไหวของทางเดินอาหารได้ และทำให้เด็กรู้สึกสบายท้องมากขึ้น
- ยากินเพื่อบรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ จะเป็นกลุ่มยาน้ำโซเดียมไบคาร์บอเนต หรือ ไซเมทิโคน ชนิดน้ำเชื่อม
- ยาทาแผลสด และอุปกรณ์ทำแผล หรือแผลฟกช้ำ
- ใช้น้ำเกลือล้างแผล จะไม่แสบเหมือนแอลกอฮอล์ และใช้ยาใส่แผล กลุ่มโพวิโดน-ไอโอดีน หรืออาจใช้เป็นยาครีมขี้ผึ้งที่ผสมยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย
- อุปกรณ์ทำแผลที่ควรมีติดตู้ยาไว้ได้แก่ พลาสเตอร์ยา สำลี ผ้าก๊อซ เทปปิดผ้าก๊อซ เป็นต้น
- แผลฟกช้ำโดยช่วงแรก(1-2 วันแรก) ควรใช้เจลประคบเย็นหรือผ้าห่อน้ำแข็งไว้ ประคบ เพื่อให้แผลฟกช้ำไม่บวมกระจายเป็นวงกว้าง ลดอาการปวดได้ และไม่ควรคลึงหรือนวดเพราะอาจจะบวมมากขึ้น
- ยาแก้แพ้/แก้คันสำหรับเด็ก
- บ่อยครั้งที่ลูกวิ่งเล่นที่สนามหญ้า อาจจะถูกแมลงสัตว์ กัดต่อย หรือเกิดอาการผดผื่นคันตามตัวได้ ควรมียาขี้ผึ้ง หรือยาทาแก้ผดผื่นคันไว้ เช่น ยาคาลาไมน์ หรือยาทาที่มีสเตียรอยด์แบบอ่อนๆ (0.1%ไฮโดรคอทิโซนครีม)
- ถ้าอาการเป็นมาก อาจใช้ยากินแก้แพ้ ร่วมด้วย เช่น กลุ่มแอนตี้ฮิสตามีน เป็นต้น
ข้อควรระวังในการใช้ยาสำหรับเด็ก
- หากลูกมีประวัติแพ้ยาหรือพ่อแม่มีประวัติแพ้ยา ก็ต้องระมัดระวังการให้ยากลุ่มนั้นกับลูกเป็นพิเศษด้วยค่ะ เพราะมีโอกาสที่ลูกอาจจะแพ้ยาได้ เหมือนกับพ่อแม่
- ลูกมีโรคประจำตัวหรือไม่ เพราะโรคประจำตัวบางโรค อาจจะต้องหลีกเลี่ยงยาบางกลุ่มที่จะกระตุ้นให้แสดงอาการผิดปกติได้
อุปกรณ์มาตรฐานในการตวงยาให้เด็ก
ถ้าเป็นไปได้ไม่ควรใช้ช้อนทานข้าว หรือช้อนชงกาแฟ เพราะจะทำให้ได้ปริมาณยาที่ไม่ถูกต้อง โดยขนาดมาตรฐานในการตวงยา มีดังนี้
- 1 ช้อนชา เท่ากับ 5 มิลลิลิตร
- 1 ช้อนโต๊ะ เท่ากับ 15 มิลลิลิตร
อาจใช้ช้อนชาที่ให้มากับขวดยา หรือใช้กระบอกฉีดยา (SYRINGE) ป้อนก็ได้นะคะ อย่างไรก็ตาม หากลูกไม่ยอมรับประทานยา หรือให้ยาแล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือมีอาการแย่ลง ควรรีบพาลูกไปพบแพทย์ทันทีค่ะ
รักลูก Community of The Experts
พญ.สินดี จำเริญนุสิต
กุมารเวชศาสตร์พัฒนาการและพฤติกรรม