ภาวะร้องกลั้นเป็นอีกหนึ่งอาการที่มักพบบ่อยในเด็กทารกแรกเกิด ร้องกลั้นเป็นอย่างไร สามารถป้องกันหรือรักษาภาวะร้องกลั้นได้ไหม คุณหมอมีคำแนะนำมาให้คุณพ่อคุณแม่ได้สังเกตอาการร้องกลั้น พร้อมวิธีรับมือแบบอย่างถูกต้องค่ะ
เข้าใจภาวะลูกทารกร้องกลั้น ไม่อันตรายอย่างที่คิด ถ้าพ่อแม่พร้อมรับมือ
การร้องกลั้นคืออะไร
การร้องกลั้น (breath-holding spell) คือ การร้องไห้อย่างรุนแรง ตามด้วยการกลั้นหายใจโดยไม่ตั้งใจในช่วงสิ้นสุดการหายใจออก ทำให้เด็กมีอาการเขียวหรือซีดได้ มักเกิดขึ้นหลังจากมีสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดความกลัว โกรธหรือเจ็บ หากมีอาการเป็นระยะเวลานานอาจหมดสติหรือชักช่วงสั้น ๆ ร่วมด้วยได้ พบได้ในช่วงอายุ 6 เดือนถึง 5 ปี แต่อาการจะค่อยๆลดลง เมื่ออายุมากขึ้น พบบ่อยช่วงอายุ 16-18 เดือน
ภาวะร้องกลั้นมี 3 ประเภท
- มีอาการเขียว (Blue/ Cyanotic spells) พบบ่อยที่สุด
- มีอาการซีด (Pale/ Pallid spells)
- แบบผสม (Mixed spells)
วิธีสังเกตอาการร้องกลั้น
- ลูกร้องไห้ไม่มีเสียง
- อ้าปากค้าง
- ตัวเกร็ง
- ปากเขียวม่วงหรือซีด
อาการร้องกลั้นแบบไหนถึงอันตราย
หากมีอาการ คุณพ่อคุณแม่ควรปรึกษากุมารแพทย์ที่ดูแลเพื่อหาสาเหตุที่อาจหลบซ่อนอยู่ เช่น ภาวะชัก (ถ้าลูกมีอาการชักเกร็งนานกว่า 1 นาที ยิ่งน่าสงสัย) หรือภาวะซีดจากการขาดธาตุเหล็ก หรืออาการของโรคหัวใจ หากตรวจร่างกายปกติ และอาการเข้าได้กับภาวะร้องกลั้นในเด็ก คุณพ่อคุณแม่จะได้สบายใจค่ะ
คำแนะนำหากลูกร้องกลั้น
- ทำความเข้าใจก่อนว่า ภาวะนี้ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อเด็ก แม้ว่าเด็กจะหมดสติ เด็กก็จะเริ่มหายใจได้เอง และเมื่อเด็กตื่นพ่อแม่ไม่ควรแสดงความกังวลมากนัก
- เอาผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดหน้าลูก ภายใน 15 วินาทีแรกของการหยุดหายใจ อาจทำให้อาการดีขึ้นได้
การป้องกันภาวะร้องกลั้น
- หาสาเหตุที่ทำให้ลูกร้องก่อน เพราะส่วนใหญ่ลูกมักจะร้องเมื่อหิว ง่วง หรือไม่สบายตัว
- ถ้าเป็นไปได้ควรหลีกเลี่ยงเหตุการณ์ที่ทำให้เด็กรู้สึกเจ็บ กลัว หรือโกรธมาก ๆ และกำหนดขอบเขตสิ่งที่เด็กควรจะได้รับหรือทำให้ชัดเจน แต่ไม่ใช่การตามใจที่จะทำให้เด็กมีอาการมากขึ้น เพื่อเรียกร้องความสนใจ
- หากไม่พบสาเหตุ และลูกยังร้องไห้ไม่รุนแรงมาก ให้ลองอุ้ม ปลอบ หรือ เบี่ยงเบน ชวนให้ลูกสนใจสิ่งอื่น การพาลูกออกไปเดินเล่น เปลี่ยนบรรยากาศ หรือทำกิจกรรมอะไรใหม่ ๆ อาจช่วยเปลี่ยนอารมณ์ลูกให้ดีขึ้นได้
สิ่งที่พ่อแม่ห้ามทำเด็ดขาดเมื่อลูกมีอาการร้องกลั้น
- ห้ามเขย่าเด็กแรง ๆ หรือตีเด็ก
- การเขย่าลูกอย่างรุนแรง จากอารมณ์โกรธหรือโมโหหรือเพื่อให้ลูกหยุดร้อง การกระทำแบบนี้นอกจากลูกจะไม่หยุดร้องหรืออาจจะยิ่งร้องหนักกว่าเดิม คืออาจส่งผลเสียต่อลูกถึงขั้นพิการได้
- ห้ามตะโกนใส่เด็กเล็ก พ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูต้องใจเย็น เมตตาเด็ก พยายามเข้าใจว่าเขายังสื่อสารด้วยคำพูดไม่ได้จึงต้องใช้วิธีการร้องไห้ แต่หากคิดว่าไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตนเองในขณะนั้นได้ หรือหงุดหงิดมาก ควรเรียกหาคนใกล้ชิดที่ไว้ใจได้มาดูแลเด็กแทนในช่วงนั้น
การร้องไห้ของทารก เป็นเรื่องน่ากังวลใจของคุณพ่อคุณเเม่อยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะพ่อแม่มือใหม่ แต่หมออยากให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจว่า การร้องไห้คือการสื่อสารของลูก เพื่อบอกสิ่งที่ตัวเองต้องการ และเป็นการเรียนรู้หรือมองหาว่า เขามีคนที่คอยปกป้องอยู่หรือไม่ ดังนั้นหากเด็กได้รับการตอบสนองอย่างเหมาะสม เขาจะเชื่อใจ และสร้างสายสัมพันธ์ที่ดีกับคุณพ่อคุณแม่ได้ ภาวะการร้องกลั้นหรือร้องไห้อย่างรุนแรงก็จะค่อยๆลดลงอย่างแน่นอน
รักลูก Community of The Experts
พญ.สินดี จำเริญนุสิต
กุมารเวชศาสตร์พัฒนาการและพฤติกรรม