คุณพ่อคุณแม่รู้ไหมคะ ว่าโรคอีสุกอีใส เป็นอีกหนึ่งโรคที่จะต้องระวังและติดตามสังเกตอาการให้ดี เพราะผู้ใหญ่อย่างเราหรือพ่อแม่ที่มั่นใจว่าฉีดวัคซีนอิสุกอีใสมาแล้วตั้งแต่เด็ก มั่นให้ดีใจว่าเคยเป็นอีสุกอีใสมาแล้วจะไม่เป็นอีก ลบความคิดนั้นออกไปได้เลยค่ะ เพราะถึงจะได้รับวัคซีนอีสุกอีใสแล้ว และเคยเป็นแล้ว แต่ก็เป็นอีกได้ แถมโรคอีสุกอีใสในผู้ใหญ่ในปัจจุบัน ค่อนข้างรุนแรงและอาจจะทิ้งรอยแผลเป็นอีสุกอีใสที่ยากจะลบเลือนอีกด้วย และจากการสำรวจโรคอีสุกอีใส สาเหตุการเสียชีวิตส่วนใหญ่เกิดจากมีโรคแทรกซ้อนเช่น ปอดอักเสบ หรือ ตับอักเสบรุนแรง
โรคอีสุกอีใสเกิดจากอะไร
โรคอีสุกอีใส หรือ Chickenpox เกิดจากเชื้อไวรัสวาริเซลลา ซอสเตอร์ ไวรัส (Varicella zoster virus หรือ เรียกย่อว่า VZV/ วีซีวี ไวรัส) หรือ ฮิวแมนเฮอร์ปี่ไวรัส ชนิดที่ 3 (Human herpes virus type 3) ซึ่งเป็นเชื้อเดียวกับที่ทำให้เกิดโรคงูสวัด
ร่างกายรับเชื้อไวรัสโรคอีสุกอีใสได้อย่างไร
- ไวรัสอีสุกอีใสติดต่อโดยการหายใจ ไอ จามรดกัน หรือการสัมผัสถูกตุ่มแผลสุกใส
- สัมผัสถูกของใช้ เช่น ที่นอน ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว ผ้าห่ม ที่เปื้อนตุ่มแผลของผู้ป่วย หายใจเอาละอองของตุ่มน้ำผ่านเข้าไปทางเยื่อเมือก
อาการของโรคอีสุกอีใส
เมื่อร่างกายได้รับเชื้อไวรัสอีสุกอีใสแล้วจะมีระยะฟักตัว 10-20 วัน และจะแสดงอาการดังต่อไปนี้
- มีไข้ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร มีอาการปวดเมื่อยตามเนื้อตัวคล้ายไข้หวัด ครั่นเนื้อครั่นตัว 2-4 วัน
- หลังจากตุ่มน้ำใสขึ้นทั้งตัวแล้ว จะค่อย ๆ ยุบและแห้งลง และกลายเป็นสะเก็ดที่รอหลุด ระยะที่ตุ่มน้ำแห้งจะใช้เวลาประมาณ 3 วัน และหลังจากนั้นจะเป็นเวลาที่สะเก็ดแผลจะค่อย ๆ แห้งขึ้นเรื่อย ๆ จนสะเก็ดหลุดออกเองและทำให้ผิวเป็นปกติ ซึ่งรวมระยะเวลาในการเป็นโรคอีสุกอีใสประมาณ 2 สัปดาห์
- หลังจากผื่นขึ้นแล้วประมาณ 1-2 วัน ผื่นแดงกลายเป็นตุ่มแดง ตุ่มน้ำและตกสะเก็ด ตุ่มน้ำจะมีลักษณะคล้ายหยดน้ำอยู่บนผิวหนังที่แดง เมื่อตุ่มน้ำโตเต็มที่จะกลายเป็นตุ่มหนอง ช่วงเป็นตุ่มน้ำนี้อาจจะใช้เวลาในการทยอยขึ้นประมาณ 1 สัปดาห์
- เริ่มมีผื่นแดงเกิดขึ้น และผื่นอีสุกอีใสจะทำให้คันมาก ผื่นจะเกิดขึ้นที่บริเวณใบหน้าและลำตัวก่อนแล้วค่อยๆ ลามไปยังแขนขา และอาจขึ้นในเยื่อบุช่องปาก และกับผิวหนังของอวัยวะเพศภายนอก ผื่นจะมีการเปลี่ยนแปลงเป็นระยะต่างๆ อย่างรวดเร็ว ใช้เวลาไม่กี่ชั่วโมง
วิธีรักษาและดูแลผู้ป่วยโรคอีสุกอีใส
โรคอีสุกอีใสไม่มียารักษาที่ตรงกับโรค ผู้ป่วยสามารถทำได้เพียงฉีดวัคซีนป้องกันไว้ตั้งแต่ก่อนรับเชื้อ รวมถึงการประคองและรักษาไปตามอาการของโรค ดังนี้
- แยกผู้ป่วยที่เป็นโรคอีสุกอีใสออกจากผู้อื่น เช่น แยกห้องนอน รวมถึงแยกของใช้ของผู้ป่วยโรคอีสุกอีใส เพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยงในการได้รับเชื้อจากการใช้ของร่วมกัน
- เช็ดตัวลดไข้ ดื่มน้ำมาก ๆ พักผ่อนให้เพียงพอกินยาลดไข้เฉพาะพาราเซตามอลเท่านั้น ห้ามกินยาลดไข้ชนิดแอสไพริน เนื่องจากทำให้ตับอักเสบรุนแรงได้
- ควรอาบน้ำ ฟอกสบู่ให้สะอาด อาจใช้สบู่ที่มียาฆ่าเชื้อ เพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน
- ควรตัดเล็บให้สั้น พยายามไม่แกะหรือเกาตุ่มคันซึ่งอาจทำให้เกิดการติดเชื้อกลายเป็นตุ่มหนองได้
- หากมีอาการคันมาก ควรทายาแก้คัน เช่น ยาคาลามาย (Calamine lotion)หรือ กินยาบรรเทาอาการคัน โดยปรึกษาเภสัชกรก่อนซื้อยากินเองเสมอ
- การรักษาแบบเจาะจง คือการใช้ยาต้านเชื้อไวรัสอีสุกอีใส ซึ่งควรจะให้ในระยะเวลา 24-48 ชั่วโมง หลังมีผื่นขึ้น ซึ่งเชื่อว่าการที่สามารถให้ยาได้ทันและมีปริมาณพอเพียง ในช่วงนี้สามารถทำให้การตก สะเก็ดของแผล ระยะเวลาของโรคสั้นลง การทำให้แผลตกสะเก็ดเร็วขึ้น โอกาสการเกิดแผลติดเชื้อหรือแผลที่ลึกมากก็น้อยลง
- อาการโรคอีสุกอีใสจะค่อย ๆ ทุเลาภายใน 1 ถึง 3 อาทิตย์ ในระยะนี้ให้ระวังโรคแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้เช่น แก้วหูอักเสบ ปอดอักเสบ ตับอักเสบ หรือ ติดเชื้อในสมอง ดังนั้นเมื่อมีอาการปวดหู หรือไอ หายใจเหนื่อย เจ็บหน้าอก หรือ ตาเหลืองตัวเหลือง (ดีซ่าน) หรือ ปวดศีรษะมาก ซึมลง ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาเพิ่มเติม
การป้องกันโรคอีสุกอีใส
การป้องกันโรคอีสุกอีใสเป็นเรื่องค่อนข้างยาก เพราะผู้ป่วยสามารถแพร่เชื้อไวรัสอีสุกอีใสให้ผู้อื่นได้ตั้งแต่ช่วงออกอาการไข้ไปจนถึงช่วงแผลแห้งตกสะเก็ด ดังนั้นทางป้องกันที่ดีที่สุดคือ การรักษาความสะอาดของร่างกายและของใช้ ที่สำคัญคือการฉีดวัคซีนอีสุกอีใส
- วัคซีนอีสุกอีใสสามรถฉีดครั้งแรกได้ตั้งแต่อายุ 1 ปี สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย แนะนำให้รับวัคซีนเข็มแรกเมื่ออายุ 12 – 18 เดือน และเข็มที่สองเมื่ออายุ 4-6 ปี ซึ่งเป็นช่วงอายุที่พบติดเชื้อได้บ่อยที่สุด แต่หากมีความจำเป็นเร่งด่วน เช่น เกิดการระบาด หรือเพิ่งรับเชื้อ ให้รับวัคซีนเข็มที่ 2 ทันที แต่ต้องห่างจากเข็มแรกอย่างน้อย 3 เดือน
- วัคซีนโรคอีสุกอีใส นอกจากป้องกันโรคได้แล้ว ยังช่วยลดโอกาสเกิดแผลเป็น และช่วยลดความรุนแรงของโรคเมื่อเกิดเป็นโรคอีสุกอีใสหลังฉีดวัคซีนแล้ว
- วัคซีนอีสุกอีใสสำหรับอายุ 13 ปีขึ้นไปและผู้ใหญ่ รับวัคซีน 2 เข็มห่างกันอย่างน้อย 1 เดือน หรือ ภายใน 4-8 สัปดาห์หลังจากฉีดวัคซีนเข็มแรก
- การรับวัคซีนอีสุกอีใสสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 13 ปี ที่ยังไม่เคยมีเป็นโรคอีสุกอีใส ให้รับ 2 เข็มห่างกันอย่างน้อย 3 เดือน
ความเชื่อเรื่องโรคอีสุกอีใส
- โรคอีสุกอีใส เป็นเองก็หายเองได้ ไม่ต้องฉีดวัคซีน - เป็นความเชื่อที่ผิด เพราะโรคอีสุกอีใสสามารถเกิดโรคแทรกซ้อนได้จากการติดเชื้อจากแผลที่เกิดขึ้น ทั้งตัว และอาจเสียชีวิตได้จากการโรคแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น ปอดติดเชื้อ
- อาบน้ำต้มผักชีช่วยให้อีสุกอีใสหายไว - ความเชื่อนี้ยังไม่ได้รับการพิสูจน์และเผยแผ่ตามหลักวิชาการ แต่สรรพคุณของผักชีคือเป็นพืชธาตุเย็นที่ช่วยลดอาการผื่นแดง แต่สำหรับการใช้รักษาโรคอีสุกอีใสยังไม่มีข้อมูลยืนยันว่าได้ผลจริง
- โรคอีสุกอีใสต้องกินยาเขียวหรือยาหม้อจะได้หายเร็ว - เป็นความเชื่อที่ผิด เพราะในยาเขียว ยาหม้อที่อ้างสรรพคุณขับเชื้ออีสุกอีใสให้ออกมาจากตัวนั้น ล้วนแล้วแต่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์ (Steroid) ซึ่งเป็นยากดภูมิคุ้มกันจนทำให้เชื้ออีสุกอีใสที่ดูเหมือนจะไม่มีพิษมีภัย ลามกระจายไปยังอวัยวะสำคัญในร่างกายจนถึงแก่ชีวิตได้
- ฉีดวัคซีนอีสุกอีใสแล้วจะไม่เป็นอีสุกอีใส - เป็นความเชื่อที่ผิด เพราะวัคซีนป้องกันได้ประมาณ 90% ซึ่งมีโอกาสเป็นอีสุกอีใสได้ เพียงแต่จะทำให้อาการน้อยลงและใช้เวลาในการเป็นโรคสั้นลง
- โรคอีสุกอีใสเป็นแล้วจะไม่เป็นอีก - เป็นความเชื่อที่ผิด เพราะปัจจุบันมีไวรัสโรคอีสุกอีใสสายพันธุ์ใหม่ที่ค่อนข้างรุนแรงกว่าเดิม จึงสามารถเป็นอีสุกอีใสได้อีกโดยเฉพาะในผู้ใหญ่
- ถ้าเป็นโรคอีสุกอีใส ห้ามกินไข่เพราะจะเป็นแผลเป็น - เป็นความเชื่อที่ผิด เพราะไม่มีอาหารชนิดใดเป็นของแสลงกับโรคอีสุกอีใส ที่สำคัญตือผิวต้องการการดูแลและการบำรุงจากโปรตีนมากขึ้น เช่น เนื้อ นม ไข่ ถั่วต่างๆ เพื่อให้มีภูมิต้านทานโรค
หากคุณพ่อ คุณแม่ หรือลูก เป็นโรคอีสุกอีใส ควรไปพบแพทย์เพื่อหาวิธีรักษาที่ถูกต้องนะคะ อย่าหาวิธีรักษาเอง เพราะอาการอาจแย่ลงได้ โดยเฉพาะในเด็กเล็กค่ะ