Q: เพิ่งคลอดลูกชายไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ค่ะ พอพฤศจิกายนมีอาการแปลกๆ เลยไปตรวจ ปรากฏว่าตั้งท้อง ตอนนี้เครียดมาก เพราะลูกก็ยังเล็กและติดแม่มาก แล้วเขาบอกว่ามีลูกติดกันแบบหัวปีท้ายปีแบบนี้ ร่างกายแม่ยังไม่ฟื้นเต็มที่ จะทำให้ลูกคนที่สองไม่แข็งแรง พัฒนาการไม่ดีจริงหรือเปล่าคะ
A: ความจริงแล้วคุณแม่ควรตั้งครรภ์ห่างกันอย่างน้อย 2 ปี เพื่อให้ร่างกายฟื้นตัวจากการตั้งครรภ์แรก รูปร่างและน้ำหนักตัวเริ่มเข้าที่ หรือลูกคนแรกก็อาจจะเริ่มเข้าโรงเรียน ทำให้คุณแม่ไม่รู้สึกว่าทรุดโทรมหรือเหนื่อยมากจนเกินไป เพราะลูกคนแรกช่วยเหลือตนเองได้แล้ว อีกทั้งเสื้อผ้าเครื่องใช้ก็ใช้ต่อด้วยกันได้ ไม่ต้องซื้อหาใหม่ ประหยัดเงินได้อีกด้วย ลูกไม่รู้สึเหงาเพราะวัยไล่เลี่ยเป็นเพื่อนเล่นกันได้
แต่ในกรณีนี้ที่ท้องแล้วก็ไม่เป็นไรครับ ดูแลเขาให้ดีที่สุดดีกว่า การเครียดต่างหากที่อาจจะทำให้ลูกไม่แข็งแรงได้ คุณแม่ควรฝากท้องทันทีเมื่อรู้ว่าท้อง ดูแลตัวเองในด้านโภชนาการให้ดี รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่เพื่อให้ร่างกายมีการฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ควรเน้นอาหารที่มีโปรตีนและแคลเซียมสูง ลดอาหารจำพวกแป้งและไขมัน ทานยาบำรุงเลือดตามที่แพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด หลีกเลี่ยงอาหารหมักดอง บุหรี่ และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิด
ท้องสองคุณอาจจะรู้สึกว่าน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นเร็วกว่าปกติโดยเฉพาะคุณแม่ที่เพิ่งคลอดบุตรคนแรกไม่กี่เดือน ทั้งนี้เป็นเพราะร่างกายยังไม่กลับเข้าสู่สภาวะเดิม ดังนั้นจึงควรควบคุมอาหารให้ดี อย่าให้น้ำหนักตัวเพิ่มมากเกินไป พยายามให้น้ำหนักตัวเพิ่มทีละน้อยตามเกณฑ์ แต่ในบางรายคุณแม่อาจจะรู้สึกเหนื่อยมากจากการเลี้ยงดูลูกคนแรกทำให้เบื่ออาหาร ทานไม่ลง ซึ่งจะทำให้เกิดผลเสียต่อทารกในครรภ์ได้ คุณแม่ที่มีภาวะโภชนาการที่ดีจะมีน้ำหนักตัวขึ้นตามเกณฑ์ปกติ ถ้าน้ำหนักตัวไม่ขึ้นตามที่ควรจะเป็นก็ควรเพิ่มปริมาณสารอาหารตามความเหมาะสม
เมื่อรู้ว่าท้องคุณแม่อาจจะเกิดความลังเล ความกังวลใจ ความไม่พร้อม ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดความเครียดขึ้นมาจนทำให้คุณแม่รู้สึกไม่สดชื่นไม่สบายใจในการท้องครั้งใหม่ คุณแม่ต้องพยายามปรับตัวเตรียมใจให้พร้อมที่จะต้อนรับสมาชิกใหม่ มั่นใจต่อการท้องครั้งนี้ให้มาก อาจมองในแง่ดีว่าเป็นความโชคดีที่เคยมีประสบการณ์จากท้องแรกมาแล้ว และหลีกเลี่ยงสิ่งที่จะส่งผลเสียต่อตัวคุณแม่และลูกน้อย
คุณแม่ควรมีเวลาพักผ่อนให้มากกว่าตอนที่ท้องแรกเพราะจะเหนื่อยจากการเลี้ยงลูกคนแรก คุณพ่อควรช่วยเลี้ยงลูกในเวลากลางคืน ให้คุณแม่มีเวลาพักผ่อนมากขึ้น การออกกำลังกายจะช่วยให้คุณแม่คลายความเครียด รู้สึกสดชื่น กล้ามเนื้อผ่อนคลาย ทำให้สุขภาพจิตดีขึ้น อาจเป็นการเล่นโยคะ กายบริหารเล็กน้อย แต่ถ้าคุณแม่ไม่มีเวลาออกกำลังกายก็สามารถเลือกใช้เวลาระหว่างการดูแลลูกคนแรกมาออกกำลังกายร่วมด้วย เช่น การพาลูกคนแรกนั่งรถเข็นเดินเล่น
นอกจากสภาพร่างกายที่คุณแม่จะต้องดูแลเป็นพิเศษแล้ว สภาพจิตใจก็เป็นส่วนสำคัญที่ต้องคำนึงถึง เพราะด้วยสภาพร่างกายของคุณแม่ท้องที่เริ่มมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย อยากพักผ่อน แต่ขณะเดียวกันหากลูกคนแรกยังเล็กก็ต้องการการดูแลเอาใจใส่จากคุณแม่ ซึ่งกรณีนี้จะทำให้คุณแม่รู้สึกอ่อนเพลีย หงุดหงิดง่าย เป็นสาเหตุให้อารมณ์แปรปรวน ทั้งยังไม่มั่นใจกับสภาพร่างกายตัวเอง กังวลว่าสามีจะเบื่อหน่าย ซึ่งภาวะเช่นนี้อาจจะทำให้คุณแม่เกิดภาวะซึมเศร้าได้ ซึ่งไม่ดีแน่สำหรับคุณแม่ที่ท้องและต้องเลี้ยงลูกเล็กครับ
รศ.ดร.นพ.ดิฐกานต์ บริบูรณ์หิรัญสาร
ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ ศิริราชพยาบาล