"กินเยอะ ๆ ลูกในท้องจะได้ตัวโต" แต่รู้ไหมคะว่า ลูกในท้องตัวโตก็อันตรายเหมือนกัน โดยเฉพาะลูกที่น้ำหนักเยอะแต่ไม่แข็งแรง เพราะมีโอกาสเกิดอันตรายได้ทั้งกับตัวคุณแม่เองและลูกในท้องด้วยค่ะ
รศ.นพ.ธีระพงศ์ เจริญวิทย์ หัวหน้าหน่วยเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายกสมาคมอัลตราซาวด์ทางการแพทย์ อธิบายถึงความเสี่ยงและอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกรณีที่ลูกในท้องน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์ไว้ดังนี้
ทารกในท้องที่น้ำหนักตัวมากกว่า 4,000 กรัม ขึ้นไป จะเข้าข่ายหรือเรียกได้ว่าอยู่ในเกณฑ์ทารกตัวใหญ่กว่าปกติ ซึ่งข้อมูลของน้ำหนักทารกในแต่ละกลุ่มประชากรก็จะมีความแตกต่างกันในการที่จะกำหนดน้ำหนักของทารก สำหรับเกณฑ์ของทารกที่ถือว่าตัวใหญ่ที่ใช้กันมากคือ 4,000 กรัม หรือ 4,500 กรัมขึ้นไป ในประเทศสหรัฐอเมริกาจะใช้เกณฑ์น้ำหนักทารกตั้งแต่ 4,500 กรัมขึ้นไป ส่วนในบ้านเราและประเทศแถบเอเชียใช้เกณฑ์น้ำหนัก 4,000 กรัมขึ้นไป
แพทย์มักจะวินิจฉัยน้ำหนักหรือขนาดตัวเด็กไม่ได้ 100% จนกว่าทารกจะคลอด ทั้งที่ได้มีการพยายามนำคลื่นเสียงความถี่สูง (อัลตร้าซาวด์) มาใช้ในการตรวจหาน้ำหนักทารกในครรภ์ ด้วยวิธีการวัดขนาดของศีรษะ ขนาดของกระดูกขา และขนาดเส้นรอบวงท้อง เพื่อนำมาใช้ในการคำนวณหาน้ำหนัก จากสถิติการประเมินด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง ที่พบว่าทารกมีน้ำหนักมากกว่า 4,000 กรัมนั้น มีความถูกต้องเพียง 65% และไม่ได้ให้ผลที่แม่นยำมากกว่าวิธีตรวจจากหน้าท้องของแม่มากนัก เนื่องจากมีความคลาดเคลื่อนสูง ยิ่งคุณแม่ที่มีน้ำหนักตัวมากโอกาสที่จะผิดพลาดก็จะยิ่งสูงขึ้น ด้วยเหตุนี้การประเมินน้ำหนักทารกด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงจึงยังไม่เป็นที่ยอมรับว่าเชื่อถือได้
จากผลการศึกษาการประเมินน้ำหนักทารกเทียบกัน ระหว่างการวัดด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงกับการตรวจจากหน้าท้องของแม่พบว่า ให้ค่าความแม่นยำใกล้เคียงกัน คือ มีความคลาดเคลื่อน +- ร้อยละ 10 และ ค่าเฉลี่ยของความคลาดเคลื่อนโดยการตรวจทางหน้าท้องคือ +- 296 กรัม ส่วนของคลื่นเสียงความถี่สูงเป็น +- 294 กรัม ยิ่งกรณีที่ทารกมีก้นเป็นส่วนนำ ความแม่นยำในการคำนวณน้ำหนักจะลดลง