แม่ท้องอยากรู้ไหมคะว่า ระบบประสาทสัมผัสของลูกในท้องพัฒนาอย่างไร ลูกในท้องเราแต่ละสัปดาห์ เขาสัมผัสอะไรได้จากพ่อแม่บ้าง เราลองมาเช็กประสาทสัมผัสของลูกตามสัปดาห์ของอายุครรภ์ตลอด 9 เดือนกันเลยค่ะ
พัฒนาการระบบประสาทของทารกในครรภ์
ตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 1 เริ่มสร้างระบบประสาท
- อายุครรภ์สัปดาห์ที่ 5 เริ่มมีการแยกเนื้อเยื่อเอ็กโตเดิร์นแล้วพัฒนามาเป็นระบบสมองและเส้นประสาท
- อายุครรภ์สัปดาห์ที่ 10 ระบบประสาทไขสันหลังของลูกเริ่มพัฒนา
- อายุครรภ์สัปดาห์ที่ 11 เส้นประสาทจะแตกแขนงมาถึงกล้ามเนื้อเล็กๆ จะสังเกตุเห็นได้ว่าทารกจะกำนิ้ว กำมือ หรือ คลายมืดได้
- อายุครรภ์สัปดาห์ที่ 12 ลูกสามารถกรอกตาได้
ตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 2 ทารกในครรภ์รับสัมผัสได้มากยิ่งขึ้น
- อายุครรภ์สัปดาห์ที่ 14 ลูกน้อยสามารถแสดงออกทางใบหน้าได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการขยับหน้า ขยับปาก หรือการขมวดคิ้ว ลูกก็เริ่มที่จะทำได้
- อายุครรภ์สัปดาห์ที่ 15 แขนขาของลูกสามารถขยับได้อย่างชัดเจน จนคุณแม่หลายคนรู้สึกได้ และยังมีการตอบสนองต่อแสงเมื่อนำแสงไปจ่อที่หน้าท้อง ลูกน้อยก็จะขยับหนีแสงไฟ
- อายุครรภ์สัปดาห์ที่ 17 ลูกสามารถขยับข้อต่างๆได้แล้ว
- อายุครรภ์สัปดาห์ที่ 19 ลูกน้อยมีการตอบสนองต่อประสาทสัมผัสทั้ง 5 โดยเฉพาะเสียง ฉะนั้นการที่คุณแม่พูดคุยกับลูกน้อยจะช่วยพัฒนาทักษะการฟังของลูกได้
- อายุครรภ์สัปดาห์ที่ 20-21 ลูกน้อยมีการขยับแขนขาบ่อยขึ้น ซึ่งคุณแม่จะรู้สึกลูกกำลังดิ้นได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น ถ้าหากไม่มีความรู้สึกนี้ แสดงว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นกับลูกน้อยในครรภ์
ตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 3 ยิ่งกระตุ้น ทารกในครรภ์ยิ่งตอบสนอง
- อายุครรภ์สัปดาห์ที่ 26 ลูกสามารถแยกเสียงของพ่อแม่ได้แล้ว
- อายุครรภ์สัปดาห์ที่ 27 ลูกเริ่มมีอาการสะอึก ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีเพราะการสะอึก เป็นอีกหนึ่งกลไกของระบบประสาทควบคุมเรื่องการกิน
- อายุครรภ์สัปดาห์ที่ 28 ลูกมีการกระพริบตาและมีความไวต่อแสงมากยิ่งขึ้น สามารถตอบสนองต่อแสงที่มากระตุ้นได้
- อายุครรภ์สัปดาห์ที่ 30 ลูกมีการพัฒนาจอประสาทรับแสงได้ดีขึ้นและต่อมรับรสของลูกสามารถพัฒนาตอบสนองได้ดีขึ้น
ดังนั้นเพื่อพัฒนาระบบประสาทสัมผัสของลูก คุณแม่ต้องดูแลตัวเองอย่างสม่ำเสมอ กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ ควบคุมน้ำหนักและอาหารการกินให้ดี กินให้หลากหลาย เพื่อให้ลูกได้พัฒนาการรับรสต่าง ๆ นอกจากนี้ ควรกระตุ้นพัฒนาการทากรในครรภ์ด้วยวิธีง่าย ๆ เช่น ลูบ จับ สัมผัสบ่อย ๆ พูดคุยกับลูกบ่อย ๆ โดยเฉพาะเสียงของแม่ ซึ่งนอกจากเสียงพูดของแม่แล้ว ลูกยังรับรู้เสียงที่สะท้อนเข้ามาข้างในตัวแม่ด้วย เช่น เสียงเส้นเลือด เสียงเต้นของหัวใจ จังหวะหัวใจของแม่ และนี่จึงเป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมเด็กทารกถึงได้หลับสบายเวลาอยู่บนอกคุณแม่ เพราะเขาคุ้นกับเสียงหัวใจของแม่นั่นเอง