อาการเจ็บท้องคลอดไม่ได้มีอาการเดียว แต่ยังมีอาการอื่นด้วย เช่น ปวดบีบ ปวดหน่วง ปวดเกร็ง เป็นต้น อาการเจ็บท้องคลอดมีอะไรบ้าง แม่ท้องต้องเตรียมคลอดอย่างไร เรามีคำแนะนำค่ะ
อาการเจ็บท้องคลอด สัญญาณเตือนคลอดแบบไหนที่เตรียมตัวคลอดได้เลย
อาการเจ็บท้องคลอด คุณแม่ที่เจ็บครรภ์จริงจะมีอาการปวดร่วมกันกับมีการหดรัดตัวของมดลูก อาการปวดนี้คล้ายคลึงกับอาการปวดประจำเดือน แต่จะปวดที่บริเวณมดลูกทั้งใบ อาการปวดทวีระดับความรุนแรง (severity) เพิ่มขึ้น ช่วงเวลาระหว่างการปวดแต่ละครั้ง (interval) สั้นลงเรื่อยๆ เช่น จากเจ็บทุกๆ 2-3 ชั่วโมง เป็นทุกๆ ชั่วโมง เป็นทุก 30 นาที เป็นต้น
ระยะเวลาในขณะที่มดลูกหดรัดตัวที่ทำให้ปวดแต่ละครั้ง (duration) จะนานขึ้นเรื่อย ๆ เช่น จาก 10 วินาที เป็น 20 วินาที เป็น 40 วินาที เมื่อคุณแม่เจ็บครรภ์จริงแล้ว การคลอดจะดำเนินต่อไปจนกระทั่งทารกคลอดในที่สุดโดยไม่มีอะไรหยุดยั้งการคลอดได้ แต่ถ้าอาการเจ็บปวด ไม่สม่ำเสมอ และห่างออกไปเรื่อย ๆ ร่วมกับการที่มดลูกหดรัดตัวเบาๆ ไม่รุนแรง และหยุดโดยไม่มีการคลอดเกิดขึ้น เราเรียกว่าการเจ็บครรภ์หลอก (false labor) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งเกิดจากการซ้อมหดรัดตัวของมดลูก (Braxton Hicks contractions) โดยปกติแล้ว อาการเจ็บปวดจะน้อยไม่รุนแรง
ถ้าเริ่มมีอาการเจ็บครรภ์สม่ำเสมอประมาณ 3-4 ครั้ง ต่อชั่วโมงก็ควรไปโรงพยาบาล เนื่องจากมีโอกาสที่จะเจ็บครรภ์จริงมากกว่า เจ็บครรภ์หลอก
การคลอดวิถีธรรมชาติ มีอาการเจ็บท้องคลอด 3 ระยะ
อาการเจ็บท้องคลอดระยะที่ 1 (first stage of labor) ระยะที่คุณแม่เริ่มเจ็บครรภ์จริง โดยที่ปากมดลูกยังปิดอยู่จนถึงปากมดลูกเปิดหมด 10 ซม. เรายังสามารถแบ่งระยะนี้ออกเป็นระยะย่อย ๆ ได้ 3 ระยะคือ
- ช่วงที่ 1: ระยะเจ็บครรภ์เนิ่น ๆ (early labor) ระยะนี้นับตั้งแต่เริ่มเจ็บครรภ์จริง ปากมดลูกปิดอยู่จนถึงเปิด 4 ซม. ปากมดลูกมักจะยังหนาอยู่ แต่ก็จะเริ่มบางตัวไปอย่างช้า ๆ ในระยะนี้มดลูกจะมีช่วงเวลาระหว่างการหดรัดตัวแต่ละครั้ง เท่ากับ 5-30 นาที และมีระยะเวลาที่มดลูกหดตัวแต่ละครั้งเท่ากับประมาณ 15-40 วินาที โดยทั่วไปคุณแม่จะทำกิจกรรมได้ตามปกติ พูดคุยรับรู้และสนใจในสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ได้ดี แต่อาจจะหยุดทำกิจกรรมนั้น ๆ เมื่อมีอาการเจ็บครรภ์ จากการที่มดลูกหดรัดตัวเกิดขึ้นเป็นครั้งเป็นคราวได้ โดยจะมีอาการปวดบีบ ๆ (cramps) ทั่วไปที่บริเวณมดลูกทั้งใบ แต่ไม่รุนแรง บางครั้งอาจรู้สึกจุกหรือเสียด บริเวณท้องหรือมดลูกได้ คุณแม่บางคนอาจมีอาการปวดหลังได้
- ช่วงที่ 2: ระยะเจ็บครรภ์ที่เร่งร้อนขึ้น (accelerated labor) มดลูกมีการหดรัดตัวบ่อยขึ้นในระยะนี้ ประมาณทุกอๆ 2-3 นาที หดตัวแต่ละครั้งนาน 45-60 วินาที และความแรงของการหดรัดตัวมากกว่าในระยะที่แล้ว ดังนั้นคุณแม่จึงรู้สึกเจ็บครรภ์มากขึ้นตามลำดับ ระยะนี้เริ่มตั้งแต่ปากมดลูกเปิด 4-8 ซม. และปากมดลูกจะบางตัวเต็มที่แล้ว (100%) โดยร่างกายจะเริ่มสร้างและหลั่งเอนดอร์ฟินออกมาเพื่อช่วยให้คุณแม่สามารถอดทนต่อความเจ็บปวดครรภ์ที่เริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ได้เป็นอย่างดีจนกระทั่งคลอดลูกน้อยออกมาลืมตาดูโลกในที่สุด
ในช่วงที่ 2 นี้ พฤติกรรมของคุณแม่จะเริ่มเปลี่ยนไป เริ่มเงียบลง ไม่สนใจต่อสิ่งแวดล้อม แต่จะหันกลับมาสนใจในตัวตนของตัวเอง (focus inwardly) โดยเฉพาะการหดรัดตัวของมดลูก จะนั่งอยู่กับที่ หลับตาลงคล้าย ๆ กับคนที่กำลังนั่งสมาธิอยู่ อาการแสดงต่าง ๆ เหล่านี้เป็นสัญญาณที่บอกเราได้เป็นอย่างดีว่าระดับเอนดอร์ฟินในร่างกายคุณแม่นั้น เริ่มสูงขึ้นและมีระดับเพียงพอสำหรับความต้องการที่จะใช้ในการดำเนินการคลอด นอกจากนี้ก็ยังสามารถบอกได้ทางอ้อมว่า การทำงานของมดลูกก็น่าจะดีเช่นเดียวกัน จึงทำให้ร่างกายหลั่งเอนดอร์ฟิน เพื่อให้คุณแม่สามารถต่อสู้กับความเจ็บปวดที่รุนแรงขึ้นได้ ดังนั้นในระยะนี้ เราจึงไม่ควรรบกวนความต้องการของคุณแม่โดยพยายามให้คุณแม่อยู่ตามลำพังกับตัวเอง
- ช่วงที่ 3: ระยะเปลี่ยนผ่าน (transition) ในระยะนี้มดลูกจะหดรัดตัวทุก ๆ 1.5 - 3 นาที โดยหดตัวนานครั้งละ 45-90 วินาที โดยมีความรุนแรงมากที่สุด เมื่อเทียบกับ 2 ระยะย่อยที่ผ่านมา ระยะนี้มีการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์อย่างรวดเร็ว เป็นระยะเวลาสั้น ๆ และบางครั้งอาจควบคุมอารมณ์ไม่ได้ ร่างกายจะสร้างเอนดอร์ฟินสูงสุดในระยะนี้ เพื่อให้คุณแม่สามารถทนทานต่อความเจ็บปวดที่รุนแรงที่สุด ผลของฮอร์โมนนี้ทำให้คุณแม่ยังคงมุ่งสนใจในตัวเอง บางครั้งอาจจะหลงลืม เช่น จำสถานที่หรือบุคคลไม่ค่อยได้ (disorientation) คุณแม่จะหายใจถี่และเร็วขึ้น เพื่อตอบสนองต่อการปวด คุณแม่บางคนอาจร้องครวญคราง เอะอะโวยวาย ขอให้คุณหมอช่วยทำอะไรก็ได้เพื่อให้หายปวด เช่น ขอยาแก้ปวด ขอให้ผ่าตัดคลอด เป็นต้น
สิ่งสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งก็คือ ผู้ดูแลการคลอดต้องเข้าใจให้ดีว่าอาการต่าง ๆ เหล่านี้ส่วนหนึ่งเป็นผลจากเอนดอร์ฟิน มิใช่ว่าคุณแม่มีความเจ็บปวดทรมานอย่างแสนสาหัส ดังนั้นจึงควรพยายามช่วยประคับประคองคุณแม่ โดยไม่แทรกแซงที่ไม่จำเป็น และหลังคลอดแล้ว คุณแม่ก็จะหลงลืมอาการเจ็บปวดต่างๆ เหล่านี้เป็นปลิดทิ้ง โดยเฉพาะเมื่อเห็นหน้าลูก คุณแม่บางคนอาจมีอาการบางอย่างร่วมด้วย เช่น หนาวสั่น เป็นตะคริว คลื่นไส้ อาเจียน สะอึก หรือมีความรู้สึกปวดหน่วง ๆ เมื่อศีรษะทารกเคลื่อนต่ำลง และเคลื่อนไปจนถึงช่องทางคลอด
ในช่วงปลายระยะนี้มดลูกกำลังเปลี่ยนหน้าที่ จากการขยายปากมดลูกเป็นการผลักดันทารกให้ออกมาทางช่องคลอด ซึ่งสามารถจะทราบได้โดยคุณแม่เริ่มมีความต้องการอยากเบ่งถ่ายเหมือนถ่ายอุจจาระ
อาการเจ็บท้องคลอดระยะที่ 2: ระยะเบ่งคลอด (second stage of labor) ระยะนี้เริ่มนับตั้งแต่ปากมดลูกเปิดหมด จนถึงทารกคลอดออกมาทั้งตัวแล้ว แบ่งออกเป็น 2 ระยะย่อย
-
- เจ็บท้องคลอด เบ่งคลอด ระยะย่อยที่ 1: ระยะเฉื่อย (latent phase) ระยะเฉื่อยนี้จะมีเวลาประมาณ 10 ถึง 30 นาทีเท่านั้น ระยะนี้มดลูกจะหดตัวน้อยลงหรือไม่หดรัดตัวเลย นับว่าเป็นความชาญฉลาดของร่างกายคุณแม่ โดยเฉพาะที่กำหนดให้มีการพักผ่อนสักหน่อย ก่อนที่จะเบ่งคลอดซึ่งก็ต้องใช้พลังงานอย่างมหาศาลในการที่จะเบ่งคลอดทารก
-
- เจ็บท้องคลอด เบ่งคลอด ระยะย่อยที่ 2 : ระยะเร่ง (active phase) ระยะนี้คุณแม่มีความรู้สึกอยากเบ่งเหมือนกับการเบ่งถ่ายอุจจาระ เนื่องจากเป็นสรีรวิทยาอย่างเดียวกับการถ่ายอุจจาระ โดยมีศีรษะของทารกมากดบนกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน คล้าย ๆ กับที่อุจจาระลงมากดบนกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานเช่นเดียวกัน
ในระยะนี้มดลูกจะมีการหดรัดตัวทุก ๆ 3-5 นาที เป็นระยะเวลาประมาณ 45-70 วินาที คุณแม่จะมีความรู้สึกอยากเบ่งเองโดยธรรมชาติโดยไม่ต้องมีใครสอน คุณแม่จะภูมิใจมากที่สามารถเบ่งเองจนลูกคลอดออกมาได้ ความภูมิใจและความมั่นใจนี้เองที่จะเสริมกำลัง (empower) แก่คุณแม่ในการดูแลลูก เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตลอดจนเผชิญหน้ากับปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ในครอบครัวได้เป็นอย่างดี คุณแม่ท้องแรกอาจใช้เวลาในระยะที่ 2 ประมาณมากกว่าหรือเท่ากับ 2 ชั่วโมงหรือมากกว่า แต่ในท้องต่อ ๆ ไประยะย่อยนี้จะสั้นลงโดยจะใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง
อาการเจ็บท้องคลอดระยะที่ 3 (third stage of labor)
เริ่มต้นตั้งแต่หลังจากทารกคลอดออกมาทั้งตัวแล้วจนถึงรกออกมาหมด มดลูกจะหดรัดตัวไม่สม่ำเสมอ คุณแม่จะรู้สึกแน่น ๆ เมื่อรกลอกตัวและเคลื่อนตัวคลอดออกมา คุณแม่บางคนอาจรู้สึกปวดแบบบีบๆ หรืออยากเบ่งเมื่อรกเคลื่อนต่ำลงมาในช่องคลอด ในระยะนี้ส่วนใหญ่รกสามารถคลอดเองได้จากการทำงานของออกซิโทซินที่ช่วยให้มดลูกหดรัดตัวบีบไล่รกออกจากโพรงมดลูก ระยะนี้กินเวลาประมาณ 20 นาที