โรงเรียนสยามสามไตร
จากโรงเรียนอนุบาลหนูน้อยสู่โรงเรียนสยามสามไตร โครงการก่อสร้างโรงเรียนขึ้นใหม่ ด้วยทุนบุญสนับสนุนจากผู้ปกครอง บุพการี ญาติมิตร ออกแบบงานสถาปัตยกรรม โดยศิลปินแห่งชาติ ดร.สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา ก่อสร้างแล้วเสร็จในเดือนพฤศจิกายน เปิดอาคารเรียนในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2550
พัฒนาหลักสูตรให้เกิดผลต่อเด็กเป็นรูปธรรมชัดเจนในแนว "คงแก่เล่น คงแก่เรียน คงแก่การทำงาน การเข้าสังคม'' ให้เกิดผลสมจริงในทุกระดับชั้น
โรงเรียนประถมศึกษาใหม่บนผืนดินเดิม เปิดเรียนเป็นทางการด้วยชื่ออันเป็นมงคล สมบูรณ์ด้วยความหมาย “โรงเรียนสยามสามไตร” จากท่านเจ้าคุณอาจารย์ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) เปิดการสอนในระดับเด็กเล็ก อนุบาลถึงประถมศึกษาปีที่ 6 พร้อมกับการพัฒนาผู้บริหารน้อยและครูรุ่นใหม่ ร่วมด้วยได้รับเกียรติจากสถาบันการศึกษาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต และมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ส่งนิสิต นักศึกษา มาฝึกสอนเพื่อสร้างครู ผู้สืบสานการศึกษาที่มีคุณภาพให้ลูกหลานไทยตามนโยบายเชิงอุดมคติต่อไป
จัดการเรียนการสอนเป็น 3 ส่วน
ส่วนที่ 1
การจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาเด็กสู่มนุษย์ที่สมบูรณ์ เพื่อพัฒนาพฤติกรรม จิตใจและปัญญา ผ่านการปฏิบัติจริงในชีวิตประจำวันของเด็ก โดยการช่วยเหลือตนเอง การทำงานด้านต่างๆ ด้วยตนเอง เพื่อฝึกทักษะ พฤติกรรม ความเคยชินที่ดี เหมาะสมกับวัยอนุบาลตามระดับ อายุ ตลอดช่วงของวันตั้งแต่เช้ามาถึงโรงเรียนจนบ่ายกลับบ้าน ปรากฏชัดเจนอยู่ในตารางกิจวัตรประจำวันของห้องเรียน
ส่วนที่ 2
การจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาแบบองค์รวมขององค์ประกอบของระบบชีวิต 4 ระบบ ในรูปแบบเนื้อหาการเรียนรู้รายคอร์ส 4 คอร์ส ตลอดปีของหนูน้อย ระยะเวลาคอร์สละ 9 สัปดาห์ โดยครูและเด็กเลือกประเด็นการเรียนรู้ที่สนใจศึกษา สร้างงาน ในแนวกว้างหรือแนวลึกร่วมกันอย่างต่อเนื่อง เลื่อนไหลตามธรรมชาติการเรียนรู้ของมนุษย์
ส่วนที่ 3
การถ่ายทอดความรู้ทางวิชาการ และการพัฒนาทักษะความสามารถไปสูงสุดตามศักยภาพของเด็กรายบุคคล ในรูปแบบการจัดกิจกรรม การเรียนการสอนแบบบูรณาการในและนอกห้องเรียน ตามแนวทฤษฎี โปรแกรมการเรียนรู้ นวัตกรรมที่เลือกให้ตอบสนองต่อความสามารถปัญญา ด้านต่างๆ ทั้งด้านวิชาการ (ภาษา – คณิต – วิทย์) และด้านอื่นๆ (มิติสัมพันธ์ ร่างกายการเคลื่อนไหว ดนตรี มนุษย์สัมพันธ์) และในรูปแบบมุมการเรียนรู้เสรีในและนอกห้องเรียน เพื่อพัฒนาทักษะความสามารถด้านต่างๆ รายบุคคลหรือกลุ่มย่อย
เพื่อให้ครอบคลุมภารกิจและหน้าที่ของการศึกษาที่แท้แนวพุทธ นโยบายและปรัชญาของโรงเรียนจึงปรากฏเป็นการจัดการศึกษา 3 ส่วน
การศึกษาส่วนที่ 1
เริ่มต้นที่ตัวเด็ก พัฒนาให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ สู่สภาพชีวิตที่ดีงามเป็นคนเต็มคนครบพร้อมกัน 3 ด้าน ตามหลักไตรสิกขา คือ ด้านพฤติกรรม (ศีลสิกขา) ด้านจิตใจ (จิตตสิกขา) ด้านปัญญา (ปัญญาสิกขา) โดยการบูรณาการองค์ธรรมมาเป็นหลักสำคัญในการศึกษาให้กับ นักเรียน
การศึกษาส่วนที่ 2
การถ่ายทอดความรู้ด้านวิชาการ เพื่อการดำรงชีวิตและการทำงาน 8 วิชา คือ วิชาภาษาไทย วิชาคณิตศาสตร์ วิชาวิทยาศาสตร์ วิชาสังคม ศาสนาศึกษาและวัฒนธรรม วิชาสุขศึกษาและพลศีกษา วิชาการงานพื้นฐานอาชีพ และเทคโนโลยี วิชาทัศนศิลป์ นาฏศิลป์และดนตรี วิชาสุขศึกษาและพละบกโดยการบูรณาการความรู้สู่การจัดเนื้อหาองค์รวมของชีวิต 4 ระบบ คือ ธรรมชาติกับตัวเรา ธรรมชาติกับสังคมไทย สังคมพุทธ สังคมโลก ธรรมกับธรรมชาติ และธรรมชาติกับวิวัฒน์วิทยาการ
การศึกษาส่วนที่ 3
การถ่ายทอดความรู้ด้านปฏิบัติการและการพัฒนาผู้เรียนเพื่อพัฒนาทักษะชีวิตทั้งร่างกายและจิตใจในการทำงานเป็นกระบวนการเรียนรู้และพัฒนาแบบบูรณาการ นำสู่ทักษะความสามารถที่หลากหลาย โดยจัดการเรียนการสอนเป็นภาคปฏิบัติ คือ วิชาภูมิธรรม-ภูมิไทย-ไตรรงค์ วิชาอดทน วิชาธรรมชาติและวิทยาศาสตร์ วิชาลูกเสือ-เนตรนารี วิชาศิลปะ ดนตรี นาฏศิลป์และการละคร วิชากีฬาและการละเล่น วิชาอาหารและสุขภาพ วิชาลายสือไทยและภาษาต่างด้าว วิชาหัตถกรรม วิชายานพาหนะและเทคโนโลยี วิชาการ-วิชาเกม และคนพิเศษ-สุดสัปดาห์
ตราสัญลักษณ์โรงเรียนสยามสามไตร
แบบอักษร (ลายมือ) โดยพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)
แบบสัญลักษณ์ (ภาพ) โดยคุณสุกัญญา ไชยวุฒิกรณ์วานิช (ผู้ปกครองสยามสามไตรรุ่นแรก)
สีประจำโรงเรียน คือ สามกษัตริย์ ได้แก่ทอง เงิน นาค
ปรัชญาโรงเรียนสยามสามไตร
รู้จักตนเอง เรียนรู้โลกรอบตัว มีจริยธรรม นำความสามารถ สู่ความสุข
คติพจน์โรงเรียนสยามสามไตร
ฝืนกระแสโลกได้ คือการดำเนินตามรอยพระพุทธบาท และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
โดยศาสตราจารย์นายแพทย์อุดม โปษะกฤษณะ บุพการีของโรงเรียน
เปิดสอนระดับเด็กเล็ก – อนุบาล – ประถม
อายุตั้งแต่ 1.6 ปี – 12 ปี (สัดส่วนครูต่อเด็ก)
เด็กเล็ก 6 – 8 คน : ครู 1 คน ห้องละ 15 – 20 คน
อนุบาล 10 – 12 คน : ครู 1 คน ห้องละ 20 – 25 คน
ประถม 25 – 30 คน : ครู 1 คน ห้องละ 25 – 30 คน
สถาปัตยกรรมอาคารเรียน
แบบโดย ดร.สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประยุกต์ศิลป์) พ.ศ.2541 ปรากฏเป็นเอกลักษณ์ระบบการศึกษาแนวพุทธด้วย
แผงแนวคิด (สีเขียวด้านหน้าโรงเรียน) การสร้างเด็กให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ "ด เป็น ฅ"
อาคาร 4 ชั้น 3 ปีก เน้นการศึกษาที่ฝึกสร้างเด็ก ทั้งด้านศีล ด้านสมาธิ และด้านปัญญา
แนวรั้ว "บวร" คือโลกของการศึกษาที่เชื่อมโยงระหว่างบ้าน วัด โรงเรียน และผู้ทรงคุณ
ลานกิจกรรม ตลอดชั้น 1 ถึงชั้น 4 ปรากฏเส้นจักรวาลเป็นสากลโลก คือประโยชน์เพื่อมนุษยชาติ
สูงสุด คือ แผงสัญลักษณ์ การประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน องค์แทนบรมครู...พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ได้รับคัดเลือกส่งเข้าประกวดผลงานสถาปัตยกรรมดีเด่น ประจำปี 2551 โดยสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์
การรับสมัครนักเรียนใหม่
ภาคเรียนที่ 1 เปิดรับสมัคร เดือนธันวาคม – มีนาคม
สำหรับน้องๆ ของศิษย์ปัจจุบัน / เด็กเก่า สมัครสิงหาคม – กันยายน
เด็กทั่วไป รอบที่ 1 ตุลาคม – ธันวาคม / พร้อมทดสอบเด็ก และสัมภาษณ์ผู้ปกครอง
รอบที่ 2 (กรณีมีที่ว่าง) มกราคม – กุมภาพันธ์ / พร้อมทดสอบเด็ก และสัมภาษณ์ผู้ปกครอง
ภาคเรียนที่ 2 เปิดรับสมัคร เดือนกรกฎาคม – สิงหาคม
ค่ายช่วงปิดภาคเรียนที่ 1 (คิดทำนำปัญหา – Day Camp) เปิดรับสมัครเดือนสิงหาคม
ภาคเรียนที่ 2 (คิดทำนำปัญหา – Day Camp) เปิดรับสมัครเดือนมกราคม
ค่ายนักเรียนนานาชาติ "สร้างวิถีชีวิตความเป็นคนไทย ด้วยภาษาไทย วัฒนธรรมประเพณี มารยาทไทย" สมัครระหว่างพฤษภาคม – มิถุนายน
Day Care เด็กเล็ก อายุ 1 – 2 ขวบ เปิดตลอดปี
Play Group เด็กเล็กที่คุณแม่เลี้ยงเอง
ขั้นตอนการรับสมัครเรียน
1. นำผู้ปกครองชมโรงเรียน (ทุกวันทำการ)
แจกเอกสารแนะนำโรงเรียน
พาชมบรรยากาศบริเวณโรงเรียนและบรรยากาศห้องเรียน
นัดฟังนโยบายและแผนการเรียนการสอนของโรงเรียน
2. ฟังนโยบายและแผนการเรียนการสอนของโรงเรียน (ทุกวันพฤหัสบดี 09.00 – 11.00 น.)
นำเสนอนโยบายวิถีชีวิต ข้อมูลประวัติโรงเรียน รวมถึงแผนการเรียนการสอนของโรงเรียน
สอบถามติดตามผลเพื่อให้เข้ามายื่นใบสมัคร
3. ยื่นใบสมัคร (ทุกวันทำการ หลังจากฟังนโยบาย)
รับใบสมัครและตรวจสอบเอกสาร
พิจารณาเบื้องต้นจากใบสมัคร
โทรนัดสัมภาษณ์
4. ทดสอบและสัมภาษณ์ (ทุกวันพฤหัสบดี ภายใน 1 สัปดาห์)
ทดสอบเด็กเบื้องต้น เพื่อแยกเด็กปกติและเด็กพิเศษ
สัมภาษณ์ผู้ปกครอง เพื่อศึกษาพื้นฐานทางครอบครัว
พิจารณาผลการทดสอบและการสัมภาษณ์
ประกาศผลการสมัคร พร้อมโทรแจ้งผู้ปกครอง
5. ลงทะเบียนและชำระค่าใช้จ่าย (ภายใน 1 สัปดาห์ หลังประกาศผล)
จัดชั้นเรียน
ลงทะเบียนและทำบัตรประจำตัวนักเรียน
ชำระเงินค่าเทอม
สั่งซื้อของใช้แรกเข้า
แนะนำห้องเรียนและครูประจำชั้น
6. วันเปิดเทอมและวันปฐมนิเทศ (วันเปิดเรียน ตลอดภาวะเด็กใหม่)
ส่งเด็กเข้าห้องเรียน
ปฐมนิเทศผู้ปกครองใหม่
ติดตาม ช่วยเหลือและประเมินผลจนหมดภาวะเด็กใหม่
โรงเรียนสยามสามไตร
สถานที่ตั้ง : 87 ซ.สุขุมวิท 89/1 แขวงบางจาก เขตพระโขนง กรุงเทพฯ 10260
เบอร์โทรติดต่อ : 02-311-0134, 02-331-6258-60
โทรสาร : 02-311-2575
เว็บไซต์ : www.โรงเรียนสยามสามไตร.com
E-mail : siamsaamtri@hotmail.com
การเดินทาง
BTS : สายสุขุมวิท สถานีบางจาก >> ดูรายชื่อโรงเรียนบริเวณใกล้เคียง ตามเส้นทางสถานีรถไฟฟ้า BTS <<
แผนที่โรงเรียนสยามสามไตร
ทำความรู้จักโรงเรียนสยามสามไตรให้มากขึ้น