ดังนั้นการเลือกโรงเรียนอนุบาล ที่เข้าใจธรรมชาติการเรียนรู้ของเด็กๆ และเปิดกว้างต่อการเรียนรู้ในหลายๆ รูปแบบ จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะหากพ่อแม่สามารถเลือกโรงเรียนที่ มีกระบวนการการเรียนการสอนที่สอดคล้อง และสนับสนุนส่งเสริมธรรมชาติการเรียนรู้ของเด็กๆ ในแต่ละช่วงวัยได้ เด็กๆ ก็จะสามารถพัฒนาศักยภาพของตัวเองได้อย่างเต็มที่
เพลินพัฒนา เป็นหนึ่งในโรงเรียนทางเลือก ที่มีการจัดสภาพแวดล้อม และจัดกระบวนการการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับธรรมชาติของเด็กในแต่ละช่วงวัย และยังมีกิจกรรมต่างๆ ที่เสริมเข้ามา เพื่อช่วยสนับสนุนพัฒนาการหลายด้านของเด็กๆ โดยมีแนวคิดหลักที่สำคัญที่สุดคือ “เรียนรู้ผ่านการเล่น”
ธรรมชาติของเด็กคือการเล่น เมื่อเด็กๆ ได้เล่น เขาจะมีความสุข และพร้อมที่จะเปิดกว้างรับสิ่งต่างๆ ที่ครูสอดแทรกเข้าไประหว่างการเล่น เช่น กิจกรรม “ดนตรีชีวิต” ที่คุณครูจะเล่านิทานให้เด็กๆ ฟัง แล้วคอยทำท่าต่างๆ ให้เด็กๆ ทำตาม ด้วยหลักคิดที่ว่า ธรรรมชาติของมนุษย์มีจังหวะต่างๆ ในการเคลื่อนไหวอยู่ ดังนั้นการนำดนตรีมาเป็นสื่อกลางในการเรียนรู้ ก็จะช่วยให้สิ่งต่างๆ ที่ครูต้องการสอนค่อยๆ แทรกซึมลงไปในการรับรู้ของเด็กๆ ได้ง่ายกว่าการนั่งเรียนกับหนังสือ หรือตำราเพียงอย่างเดียว เพราะขณะที่ใช้เสียงเพลง ควบคู่ไปกับนิทานเป็นสื่อกลางในการสอนนั้น เด็กๆ จะรู้สึกผ่อนคลาย และมีความสุข เมื่อเด็กๆ มีความสุข สมองและจิตใจก็จะเปิดกว้าง จากนั้น ไม่ว่าครูจะป้อนเรื่องอะไรให้ เด็กก็จะเรียนรู้ และจดจำได้โดยง่าย ไม่ว่าจะเป็น เลข ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ดนตรี หรือการฝึกมิติสัมพันธ์ ฝึกจินตนาการ ฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็ก และการฝึกกฏ กติกามารยาทต่างๆ
ดนตรีชีวิต สะพานสู่การเรียนรู้
กิจกรรม ดนตรีชีวิต เริ่มด้วยการใช้เสียงดนตรี หรือเพลง ประกอบการเล่านิทานที่ไม่มีรูปแบบตายตัว ครูจะคอยบอกให้เด็กๆ ทำท่าต่างๆ ตามตัวละครในนิทาน โดยให้ทุกท่าทางเป็นไปตามจินตนาการของเด็กๆ ไม่มีผิดไม่มีถูก กิจกรรมนี้ เด็กจะได้ฝึกฝนการฟัง การทำตามเงื่อนไขต่างๆ ฝึกการแยกประสาท และการใช้ประสาทสัมผัสต่างๆ และฝึกการใช้จินตนาการ ซึ่งครูจะค่อยๆ เพิ่มเงื่อนไขต่างๆ เข้าไป ให้เด็กทำตามอยู่เป็นระยะๆ ซึ่งผลที่ได้จากการเรียนรู้ในห้องเรียนดนตรีชีวิต สามารถต่อยอดไปสู่การเรียนรู้อื่นๆ ได้อีก เช่น ดนตรี เพราะเมื่อเด็กอยู่ในวัยที่เหมาะสม ก็จะสามารถเล่นเครื่องดนตรีแบบง่ายๆ ได้ ซึ่งที่เพลินพัฒนาจะมีคลาส “ระนาด off” เป็นระนาดที่จะเอาลูกระนาดโน้ตเสียงที่ไม่เพราะออกไป เหลือแต่โน้ตที่เล่นแล้วเพราะ เพื่อให้เด็กวัยอนุบาลรู้สึกว่าตัวเองเล่นดนตรีได้ไพเราะ ซึ่งจะทำให้เขาภูมิใจในความสามารถของตัวเอง (หากเด็กๆ เล่นดนตรีแล้วรู้สึกว่า ดนตรีที่ตัวเองเล่นนั้นไม่เพราะ หรือมีเสียงแปลกๆ ก็อาจทำให้เด็กๆ หมดกำลังใจในการเล่นดนตรีไปเลย)
นอกจากนี้การเรียนรู้โดยมีดนตรีเป็นส่วนประกอบ หรือการเรียนดนตรีโดยตรง ยังช่วยในเรื่องของวิชาเลขอย่างเห็นได้ชัดอีกด้วย เพราะการเรียนดนตรีต้องอาศัยการคำนวณห้องดนตรีต่างๆ และต้องใช้ความแม่นยำในการคำนวณ เช่นเดียวกับการคำนวณในวิชาเลข
ศิลปะเปิดกว้าง ไม่ปิดกั้นจินตนาการของเด็ก
การเรียนศิลปะ และการวาดรูปตามรูปแบบของเพลินพัฒนา คือ ครูจะไม่มีการทักว่าผลงานของเด็ก “ไม่สวย” หรือ “สวย” เพราะการทักจะเป็นการปิดกั้นจินตนาการของเด็กๆ เนื่องจากศิลปะนั้นไม่มีผิด ไม่มีถูก จะสวย หรือไม่สวย จะมองเป็นรูปร่างอะไร ก็ขึ้นอยู่กับจินตนาการของคนแต่ละคนมากกว่า
และการทักถามว่าเด็กกำลังวาดอะไรอยู่ เช่น ครูเห็นเด็กกำลังวาดรูปวงกลม ก็ไม่ควรถามว่า “นั่นวาดรูปส้มอยู่ใช่มั้ยคะ” เด็ดขาด เพราะเด็กอาจจะไม่ได้กำลังวาดรูปส้มอยู่ก็ได้ เขาอาจกำลังวาดรูปอย่างอื่นอยู่ การทักของครู จะไปทำให้เด็กไขว้เขว หรือเกิดการเปลี่ยนแปลงจุดมุ่งหมายในการวาดได้
ที่สำคัญอีกอย่างคือ ห้ามบอกเด็กๆ ว่าสิ่งที่เขาวาดออกมา ไม่เหมือนกับสิ่งที่เขาบอกว่าจะวาด เพราะภาพของสิ่งๆ นั้นในใจของครูกับในใจของเด็ก อาจจะไม่เหมือนกันก็ได้ เช่น เด็กบอกว่าเขาวาดปลาหมึก แต่ครูไปทักว่าไม่เห็นเหมือน การทักว่าไม่เหมือน จะทำให้เด็กขาดความมั่นใจ และคิดว่าสิ่งที่ตัวเองทำนั้นผิด ฉะนั้นการไม่ใช้ตัวเองตัดสินผลงานของเด็ก จึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของการเรียนศิลปะ
การทำให้เด็กมีความมั่นใจนั้นสำคัญ เพราะเมื่อเด็กเกิดความมั่นใจ มือของเขาจะนิ่ง และประสานและสัมพันธ์กับตา แล้วเด็กก็จะสามารถใส่จินตนาการลงไปในผลงานได้อย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องกังวลว่าจะสวยหรือไม่สวย การเรียนศิลปะแบบเปิดกว้างและให้อิสระทางความคิดเช่นนี้ จะไม่ทำลายความคิดสร้างสรรค์ของเด็กๆ ให้หายไป เพราะความคิดสร้างสรรค์ของคนเราควรจะคู่ขนานไปกับความสามารถด้านต่างๆ ด้วย
ต้องเป็นพวกเดียวกับเด็กๆ
การจะสอนเด็กๆ ผ่านการเล่นได้ดีที่สุด คือ ครูต้องลงไปเป็นพวกเดียวกับเด็ก ต้องคิดว่าตัวเองก็เป็นเด็กอีกคน และต้องเข้าใจว่าเด็กอยากเล่นอะไร สนใจอะไร มีอะไรที่จะดึงความสนใจของเด็กได้ เมื่อเด็กๆ รู้สึกว่าครูเป็นพวกเดียวกับเขา เขาจะสนุกไปกับครู จากนั้นครูสามารถสอดแทรกเงื่อนไข หรือกติกาบางอย่างลงไปในการเล่นได้อย่างแนบเนียน
ที่เพลินพัฒนาจะฝึกให้เด็กๆ ช่วยเหลือตัวเอง และช่วยเหลือคนอื่น เช่น หากเด็กอยากจะช่วยกวาดห้องเรียนให้สะอาด ครูก็จะปล่อยให้ทำไปจนเสร็จ หรือหลังการนอนกลางวัน ก็ปล่อยให้เด็กๆ เก็บหมอน เก็บที่นอนเอง การปล่อยให้เด็กวัยอนุบาลทำอะไรที่ไม่เกินกำลังด้วยตัวเขาเอง จะทำให้เด็กๆ เกิดความภาคภูมิใจในตัวเอง ว่าเขาก็ทำสิ่งต่างๆ ได้เหมือนผู้ใหญ่คนหนึ่ง ไม่ต้องมีคนมาคอยช่วยเป็นเด็กเล็กๆ อยู่ตลอดไป
นอกจากครูจะฝึกให้ที่โรงเรียนแล้ว พ่อแม่ยังต้องหัดให้เขาทำกิจวัตรประจำวันเอง และช่วยงานบ้านคุณพ่อคุณแม่ด้วย แต่ต้องเลือกงานบ้านที่ไม่หนักเกินกำลังของเด็ก เช่น ล้างจาน พับผ้า หรือกวาดบ้าน เพราะเด็กวัยนี้กำลังอยากจะทำตัวเป็นผู้ใหญ่ อยากลอง และอยากทำตามที่ผู้ใหญ่ทำ ถ้าพ่อแม่ไปห้ามเพราะคิดว่าเขายังเด็ก และยอมให้เขาทำตอนที่โตกว่านี้ จะเป็นการทำลายโอกาสที่ดีในการเรียนรู้ของเด็กๆ ไปอย่างน่าเสียดาย
ครูกับการพัฒนาตัวเอง
ที่เพลินพัฒนาจะมีการนัดรวมกลุ่มย่อยของครูในแต่ละระดับชั้น เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ต่างๆ ที่ครูแต่ละคนพบเจอในชั่วโมงการเรียนการสอน โดยทุกวันจันทร์จะเป็นช่วงเวลาตั้งวงคุยกันของครูระดับชั้นเตรียมอนุบาล วันอังคารจะเป็นเวลาของครูระดับชั้นอนุบาล 1 และวันพุธจะเป็นช่วงเวลารวมตัวของครูประจำชั้นอนุบาล 2 – 3 โดยมีส่วนกลางคือฝ่ายวิชาการเป็นผู้หากิจกรรมต่างๆ มาช่วยทำให้ครูผ่อนคลาย เช่น อาจจะให้ครูนอนพักสายตา และเปิดเพลงเบาๆ คลอไป เพื่อให้ครูเกิดความผ่อนคลาย และเตรียมพร้อมกับการสนทนา
การแชร์ประสบการณ์ตรงที่พบเจอจากหน้างานแบบนี้ จะช่วยกระตุ้นไอเดียต่างๆ ให้ครูคนอื่นๆ นำไปต่อยอดใช้กับชั้นเรียนและการสอนของตัวเองได้
ส่วน แผนการสอนนั้น แต่ละภาคเรียนจะมีการวางแผนกันก่อนที่จะเปิดเทอม ซึ่งที่เพลินพัฒนาจะแบ่งออกเป็น 4 ภาคเรียน คือ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา โดยแต่ละภาคเรียนจะะเรียน 10 สัปดาห์ ซึ่งจะต้องวางแผนการสอนออกมาเป็น Mind Map เสียก่อน ว่าแต่ละสัปดาห์จะสอนเรื่องอะไรเป็นหลักบ้าง แล้วครูของแต่ละชั้นก็จะเอาโจทย์ใหญ่มาลงรายละเอียดการสอนอีกที ว่าจะสอนเด็กยังไง ใช้อะไรเป็นสื่อในการสอน เช่น ถ้าโจทย์ใหญ่ คือ สอนเรื่องข้าว ครูก็ต้องไปวางแผนการสอนของตัวเองมาว่าจะสอนให้เด็กๆ รู้จักข้าวอย่างไร ครูบางคนก็จะเอาข้าวสารหลากหลายชนิดมาให้เด็กๆ ได้ดู และได้ลองชิมข้าวชนิดนั้นๆ ที่หุงสุกแล้ว ซึ่งจะทำให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ความแตกต่างของข้าวแต่ละสายพันธ์
การวางแผนการสอนของครูแต่ละคนนั้น จะมีแก่นมาจากโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นไปตามแนวทางการสอนของโรงเรียน ส่วนเทคนิคต่างๆ ที่ใช้ในการสอน ครูจะปรับใช้จากประสบการณ์ตรงของตัวเอง และปรับตามพฤติกรรมของเด็กๆ แต่ละคน ซึ่งในแต่ละปีการศึกษา เด็กๆ จะไม่เหมือนกันเลย ดังนั้นแผนการสอนของปีการศึกษาก่อนอาจจะสอนเด็กในปีการศึกษาถัดไปไม่ได้ผล เท่ากับที่เคยใช้ ดังนั้นการแบ่งภาคการศึกษาย่อยออกเป็น 10 สัปดาห์ จะทำให้ครูสังเกตเด็กได้เร็ว และสามารถปรับแผนการสอนให้เข้ากับธรรมชาติของเด็กได้ทันการ
กุญแจสำคัญคือความผ่อนคลาย
สิ่งที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาบุคลากรครูของเพลินพัฒนา คือ ครูจะต้องรู้สึกผ่อนคลาย เพราะถ้าหากครูเครียด ความเครียดต่างๆ ก็จะส่งผ่านไปถึงเด็กๆ ด้วย รังสีความเครียดของครูก็จะปกคลุมห้องเรียนไปด้วย ดังนั้นการสร้างกิจกรรมเพื่อผ่อนคลายในการรวมกลุ่มย่อยของครูกับฝ่ายวิชาการ ก็ถือเป็นการผ่อนคลายความเครียดจากการสอนให้ครูด้วยอีกทางหนึ่ง
โรงเรียนเพลินพัฒนา
33/39-40 ถ.สวนผัก แขวงศาลาธรรมสพน์ เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ 10170
โทร.028852670-5 แฟกซ์ ต่อ 6103
E-mail: webmaster@plearnpattana.com
www.plearnpattana.ac.th