โรงเรียนสองภาษาคือโรงเรียนแบบไหน
กระทรวงศึกษาธิการได้ให้คำนิยามเกี่ยวกับโรงเรียนสองภาษา ซึ่งถือเป็นมาตรฐานกำหนดแนวทางการเรียนการสอนของทั้งโรงเรียนรัฐบาลและเอกชน ว่า โรงเรียนสองภาษาเป็นโรงเรียนที่มีจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2544 โดยใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อ เพื่อพัฒนาศักยภาพด้านความรู้ ความสามารถ และทักษะทางภาษาของผู้เรียน และในการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียน ต้องคำนึงถึงความสามารถพื้นฐานในการใช้ภาษาของผู้เรียน การสอดแทรกคุณธรรม จริยธรรมอันดีงาน ตลอดจนการเรียนการสอนในบริบทของความผสมผสานเป็นสากล
ในปัจจุบันโรงเรียนสองภาษาไม่ได้จำกัดเพียงแค่ภาษาอังกฤษเท่านั้น แต่ยังมีภาษาอื่นด้วย เช่น โรงเรียนสองภาษาที่ใช้ภาษาจีนเป็นสื่อ รวมถึงโรงเรียนที่เรียนมากกว่าสองภาษา เช่น ภาษาไทย-ภาษาอังกฤษ-ภาษาจีน ซึ่งหลักสูตรเหล่านี้จะต้องผ่านการอนุมัติจากกระทรวงศึกษาธิการเช่นกัน
ประเภทของโรงเรียนสองภาษา
โรงเรียนสองภาษาแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
หลักสูตรของโรงเรียนสองภาษา
เนื่องจากหลักสูตรมาตรฐานฉบับภาษาอังกฤษของโรงเรียนสองภาษาโดยตรงที่กระทรวงศึกษาธิการกำลังทำอยู่นั้นยังไม่มีกำหนดแล้วเสร็จที่แน่นอน แต่ละโรงเรียนจึงใช้หลักสูตรและตำราเรียนที่หลากหลายโดยมีมาตรฐานเป็นของตัวเอง รวมทั้งมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับระดับสากล เช่น โรงเรียนอำนวยศิลป์ใช้หลักสูตรภาษาอังกฤษของ Cambridge, UK เป็นต้น แต่ถ้าเป็นโรงเรียนของรัฐบาลก็จะปรับใช้ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2544 เป็นหลัก ซึ่งหลักสูตรของโรงเรียนสองภาษาสามารถสรุปได้ดังนี้
1. ใช้ตำราเรียนจากต่างประเทศส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนเอกชนที่ใช้หลักสูตรของต่างประเทศมาสอน ทั้งจากอังกฤษ และสิงคโปร์ ซึ่งเนื้อหาบางส่วนอาจไม่สอดคล้องกับสังคมไทย
2. แปลตำราภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษโดยพื้นฐานหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการแบบ content by content ซึ่งอาจทำให้ดูไม่ต่างจากการเรียนในภาคภาษาไทยปกติมากนัก
3. แปลตำราภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษโดยยึดจุดประสงค์สาระการเรียนรู้ตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาฯ มาประยุกต์เข้ากับกิจกรรมการสอน
4. ครูผู้สอนคัดเลือกจากหลักสูตรไทยและต่างประเทศควบคู่กันเน้นเนื้อหาให้ตรงกับจุดประสงค์การเรียนรู้แล้วทำเป็นรูปเล่มตำราใหม่
ทั้งนี้แต่ละโรงเรียนอาจประยุกต์หลายแบบมารวมกันได้ การที่หลักสูตรของโรงเรียนสองภาษา ทางโรงเรียนจะเป็นผู้ดำเนินการเองจึงอาจจะยังขาดมาตรฐานกลาง จึงอาจส่งผลถึงการประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของนักเรียน เมื่อต้องเข้าสู่ระบบการแข่งขันกับนักเรียนในภาคปกติที่ข้อสอบเป็นภาษาไทยจึงอาจจะมีจำกัดอยู่บ้าง ดังนั้นสำหรับเด็กที่เรียนโรงเรียนสองภาษาจึงอาจจะต้องเสริมทักษะด้านภาษาไทยหรือการตีความเพิ่มเข้าไปด้วย
ครูในโรงเรียนสองภาษา
ครูผู้สอนในโรงเรียนสองภาษาจะมีทั้งครูคนไทยและครูชาวต่างชาติที่เป็นเจ้าของภาษา โดยแบ่งการสอนคร่าวๆ คือ
สำหรับครูผู้สอนในโรงเรียนสองภาษาจะมีการคัดเลือกจากทางโรงเรียนด้วยเงื่อนไขต่างๆ กัน เช่น ถ้าเป็นครูคนไทยจะต้องมีคะแนนสอบTOEFL ไม่น้อยกว่า 550 หรือ IELTS ไม่น้อยกว่า 5.5 สำหรับครูชาวต่างชาติจะต้องมีความรู้ความสามารถและเรียนจบปริญญา ซึ่งเงื่อนไขเหล่านี้ทำให้ครูโรงเรียนสองภาษามีจำนวนจำกัดแต่ก็มีคุณภาพ เนื่องจากครูจะต้องมีความสามารถด้านภาษาอังกฤษ มีความรู้ที่จะถ่ายทอดเป็นอย่างดี รวมถึงมีจิตวิทยาเด็กที่จะสามารถควบคุมเด็กได้แม้จะปล่อยให้ทำกิจกรรมกันโดยอิสระ
สภาพแวดล้อมในโรงเรียนสองภาษา
เนื่องจากโรงเรียนสองภาษาส่วนใหญ่จะเป็นการเพิ่มหลักสูตรการเรียนภาษาอังกฤษเข้ามา ดังนั้นจึงสามารถเก็บค่าเล่าเรียนเพิ่มมากขึ้นกว่าโรงเรียนที่มีหลักสูตรปกติได้ จึงทำให้โรงเรียนมีศักยภาพมากพอที่จะพัฒนาสภาพแวดล้อมในโรงเรียนได้เป็นอย่างดี เช่น ห้องสมุดที่มีความทันสมัย ห้องทดลองวิทยาศาสตร์ที่มีอุปกรณ์ครบครัน คอมพิวเตอร์ที่เพียงพอต่อจำนวนนักเรียน สนามกีฬาที่พร้อมใช้งาน เป็นต้น รวมถึงจำนวนนักเรียนต่อห้องเรียนก็จะน้อยกว่าโรงเรียนทั่วไปจึงทำให้ครูผู้สอนสามารถดูแลและเป็นที่ปรึกษาให้เด็กได้อย่างใกล้ชิด สภาพแวดล้อมเช่นนี้ค่อนข้างเอื้ออำนวยต่อเด็กในการเรียนรู้อย่างเต็มที่
ค่าเล่าเรียนของโรงเรียนสองภาษา
โรงเรียนสองภาษาของรัฐบาล อนุญาตให้เก็บค่าเล่าเรียนในระดับม.ปลายไม่เกิน 40,000 บาทต่อภาคการศึกษา และม.ต้นไม่เกิน 35,000 บาทต่อภาคการศึกษา ส่วนในโรงเรียนเอกชนจะขึ้นอยู่กับแต่ละโรงเรียนเอง แต่ยังอยู่ภายใต้ข้อกำหนดของกระทรวงศึกษาศึกษาธิการ เช่น โรงเรียนสองภาษาของกรุงเทพฯคริสเตียน กำหนดไว้ 70,000 บาทต่อภาคการศึกษา
นอกจากนี้บางแห่งอาจมีค่าใช้จ่ายในส่วนของกิจกรรมต่างๆ หรือจัดให้นักเรียนสอบวัดความรู้ภาษาอังกฤษ ทั้ง TOEFL , IELTS ซึ่งอาจมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม เมื่อคำนวณแล้วจะสูงกว่าการเรียนภาคปกติ แต่เมื่อเปรียบเทียบกับโรงเรียนนานาชาติ และการไปเรียนต่อต่างประเทศก็ถือว่าถูกกว่า
ลูกจะได้อะไรจากการเรียนโรงเรียนสองภาษา
เด็กที่เรียนโรงเรียนสองภาษาจะได้รู้จักการเรียนรู้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่ 2 ไปในตัวตั้งแต่เริ่มแรก จึงทำให้มีการพัฒนาด้านภาษาที่ค่อนข้างดีกว่าเด็กโรงเรียนปกติ รวมถึงการเรียนการสอนของโรงเรียนสองภาษาที่เน้นการให้เด็กเป็นศูนย์กลาง ดังนั้นเด็กจะกล้าคิด กล้าแสดงออก และบอกได้ว่าตัวเองต้องการอะไร และหากเด็กจะสอบเพื่อเรียนต่อในต่างประเทศก็จะค่อนข้างได้เปรียบ เพราะโรงเรียนสองภาษาบางโรงเรียนที่มีหลักสูตรจากต่างประเทศ จะมีการใช้คะแนนสอบและการวัดผลของโรงเรียนเพื่อใช้สำหรับเรียนต่อได้เลย
ในขณะเดียวกัน สำหรับเด็กที่ไม่ได้เรียนโรงเรียนสองภาษามาตั้งแต่แรก แต่มาเข้าเรียนเมื่อโตแล้ว เช่น ป. 4 หรือ ม.3 เด็กอาจจะมีปัญหาเรื่องการปรับตัว เนื่องจากอาจจะเคยชินกับการเรียนในโรงเรียนปกติ ไม่ชินกับการใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสาร เข้ากับเพื่อนๆ ไม่ได้ และเกิดภาวะกดดันได้
นอกจากนี้โรงเรียนสองภาษามีครู 2 วัฒนธรรมที่ต่างกัน ดังนั้นเด็กอาจจะเรียนรู้สิ่งที่เห็นจากครูมาอย่างแตกต่างและสับสน เช่น ครูไทยสอนว่าไม่ควรเดินข้ามสิ่งของ แต่ครูต่างชาติอาจจะไม่ถือเรื่องพวกนี้จึงอาจจะเดินข้ามให้เด็กเห็น เด็กจึงอาจเกิดความสับสนในสิ่งที่ครูสอนเพราะความแกตต่างนี้ ดังนั้นพ่อแม่ที่มีลูกเรียนโรงเรียนสองภาษา หรือกำลังตัดสินใจให้ลูกเรียนโรงเรียนสองภาษาจะต้องช่วยเสริมทักษะต่างๆ ให้ลูกด้วย เช่น เรื่องมารยาท เรื่องการใช้คำพูด เพื่อให้ลูกสามารถอยู่ในสังคมที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมได้ โดยเริ่มตั้งแต่โรงเรียนเป็นอันดับแรก