จากการสำรวจจำนวนเด็กที่เป็นโรคหืด พบจำนวนเพิ่มขึ้นทุกๆ 10 ปี โดยเฉพาะที่ภาคเหนือ สาเหตุหลักมาจากสภาพแวดล้อมและมลพิษต่างๆ หากไม่ต้องการให้กลายเป็นโรคเรื้อรัง ต้องแก้ที่ต้นเหตุ ใช้ยาอย่างต่อเนื่องและติดตามการรักษากับคุณหมอ เพื่อไม่ให้โรคหืดกลายเป็นโรคเรื้อรังที่กระทบกับพัฒนาการและสุขภาพในระยะยาว
โดยผศ.ดร.นพ.สิระ นันทพิศาล หัวหน้าหน่วยโรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ในประเทศไทยมีการสำรวจจำนวนเด็กที่เป็นโรคหืดมาประมาณ 30 ปีแล้ว และก็ทำมาเรื่อยๆ ประมาณทุก 10 ปี และพบว่าตัวเลขเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะที่ภาคเหนือในระยะ 10 ปีที่ผ่านมามีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนรวมไปถึงโรคภูมิแพ้อื่นๆ เช่น จมูกอักเสบภูมิแพ้
ซึ่งเป็นโรคคู่กันก็เจอเยอะขึ้นโดยเฉลี่ยอยู่ประมาณ 4-10% ในประเทศไทยแล้วแต่ภูมิภาค ในกรุงเทพประมาณ6-7% สำหรับทุกช่วงอายุในผู้ป่วยเด็ก ถ้าโยงเกี่ยวกับเรื่องฝุ่นมลพิษหรือเปล่าจริงต้องบอกว่า
ปัจจัยการเกิดโรคหืดแต่เดิมเราบอกมันมีหลายปัจจัยก็คือเป็นเรื่องของพันธุกรรมเพราะคุณพ่อคุณแม่ที่เป็นโรคหืดมาก่อน ลูกจะโอกาสเป็นโรคหืดได้มากขึ้นตั้งต้นมาเหมือนต้นทุนเดิม
ทีนี้ระหว่างที่เขาเติบโตมาเขาจะเผชิญกับสภาพแวดล้อมต่างๆ ซึ่งหลายๆ คนก็จะบอกว่าเป็นเรื่องของสัตว์เลี้ยงหรือเปล่าการเลี้ยงสุนัข เลี้ยงแมวในบ้านจะสามารถทำให้เกิดเป็นโรคหืดได้ไหม ซึ่งอันนี้ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่า 2 อย่างนี้จะเป็นปัจจัยทำให้เกิดหืด
แต่สิ่งที่ชัดเจนมากๆ เลยคือส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของมลพิษ มลพิษอันดับแรกที่เรายังไม่ได้พูดถึงกันก็คือ ควันบุหรี่ อันนี้ตัวร้ายเลยเพราะว่ามีการศึกษาออกมาชัดเจนว่ามารดาที่ตั้งครรภ์ และระหว่างตั้งครรภ์สูบบุหรี่จะเป็นสาเหตุเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอาการหอบหืดในเด็กโดยเฉพาะเด็กอายุน้อยกว่า 3 ปี ชัดมาก ถือว่าเป็นปัจจัยหลัก
มีการศึกษาเพิ่มเติมด้วยว่าเป็น Secondhand Smoker คือหมายความว่าตัวคุณแม่ไม่จำเป็นต้องสูบเองแต่อยู่ในครอบครัวหรือในสภาพแวดล้อมที่มีควันบุหรี่เยอะๆ อันนี้ก็ส่งผลกับปอดของเด็กตั้งแต่อยู่ในครรภ์เหมือนกัน เพราะฉะนั้นพอเด็กออกมามีความเสี่ยงถ้ายังอยู่ในสภาพแวดล้อมเดิม เขาก็จะเจอกับสารก่อภูมิแพ้ หรือสารระคายเคืองจากบุหรี่เพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ
ในระยะ 10 ปีถ้าเราติดตามข่าวสารกันก็จะทราบว่าภาวะโลกร้อนเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ปริมาณ PM2.5 เพิ่มมากขึ้น จริงๆ เรารู้จักกันมานานพอสมควรแล้วสำหรับฝุ่น PM2.5 แต่เพิ่งมาให้ความสนใจกันเยอะมากในปัจจุบัน ในช่วงประมาณ 10 ปีที่ผ่านมาตัวเลขจะมีการมอนิเตอร์กันเป็นประจำก็จะพบว่าในกรุงเทพมีค่ามลพิษโดยเฉพาะ PM2.5 เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน
มีการศึกษากันแล้วว่าจุดตั้งต้นก่อน เอาง่ายๆ เลยมีการศึกษากันแล้วว่าถ้าเป็นแฝดแต่แยกที่กันเลี้ยงคนหนึ่งอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มี PM2.5 เยอะ อีกคนอยู่อีกที่หนึ่งหรือว่าพี่น้องกัน ปรากฎว่าคนที่อยู่ในสภาวะที่มี PM2.5 นานๆ เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคภูมิแพ้มากขึ้น
สุดท้ายเรื่องสารก่อภูมิแพ้ในอาการซึ่งอันนี้เราต้องแยกว่า PM2.5 ควันบุหรี่ อันนั้นเป็นการระคายเคืองทำให้อาการภูมิแพ้กำเริบ แต่สารก่อภูมิแพ้ก็คือโปรตีนต่างๆ เล็กๆ น้อยๆ ที่มันอยู่ในสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติ เช่น ไรฝุ่น ไม่ใช่ฝุ่นละอองที่เรากวาดบ้านถูบ้านเจอกัน คือสัตว์เล็กๆ ที่กินรังแคเราเป็นอาหารรังของเขาก็คือที่นอนของเราเป็นบ้านหลักเลยอยู่กันทีเป็นล้านตัว
เพราะฉะนั้นเขาก็จะกินอาหารคือผิวเราเองแล้วเขาก็จะอุจจาระออกมาซึ่งตัวอุจจาระเป็นตัวก่อให้เกิดอาการภูมิแพ้โดยเฉพาะในทางเดินหายใจ แล้วก็ยังมีซากละอองแมลงสาป เหล่านี้เป็นสิ่งที่แยกได้ยากมากหมายความว่าหลีกเลี่ยงยากมาก เพราะไรฝุ่นกับแมลงสาปอยู่กับเรามานานแสนนานเพราะฉะนั้นเราคงไม่สามารถไปกำจัดเขาให้ออกไปจากสภาพแวดล้อมได้
เพราะฉะนั้นหลักๆ สรุปเป็นประเด็น 3 ประเด็น คือ 1. พันธุกรรม 2. สารก่อภูมิแพ้ในอากาศ ที่เพิ่มมากขึ้นมาคือพวก ละอองเกสรดอกไม้ ตั้งแต่น้ำท่วมปี 54 และร่วมกับโลกร้อนจำนวนและสัดส่วนของหญ้าต่างๆ ในประเทศไทยเปลี่ยนเยอะและพวกนี้เป็นตัวกระตุ้นให้ปริมาณสารก่อภูมิแพ้ในอากาศโดยเฉพาะละอองเกสรดอกไม้มีมากขึ้นและมีการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนอย่างชัดเจน 3. มลพิษ
สังเกตุอาการโรคหืด
จริงๆ แล้วที่ถูกเราควรเรียกว่าโรคหืด แต่เวลาที่เด็กมีหืดกำเริบเราจะเรียกว่าอาการหอบ หลักๆ เราจะแบ่งการสังเกตอาการและสาเหตุการกระตุ้นอาการหอบเป็น 2 กลุ่มอายุ คือกลุ่มอายุน้อยกว่า 5 ปีและเกิน 5 ปีขึ้นไป
กลุ่มอายุน้อยกว่า 5 ปีอาการหืดกำเริบของเขาส่วนใหญ่จะสัมพันธ์กับการติดเชื้อทางเดินหายใจก็คือการเป็นหวัด แปลว่าเด็กที่มีอาการหอบเวลาที่เขาเป็นหวัดแต่ละครั้งจะมีอาการหอบกำเริบค่อนข้างง่าย อาจจะไม่ได้รุนแรงมาก สามารถสังเกตอาการได้อย่างไรถ้าอาการไม่รุนแรง
1. เด็กจะมีอาการไอค่อนข้างมาก สมมติมีเด็ก 2 คน คนหนึ่งเป็นหอบ คนหนึ่งไม่เป็นหอบ มานั่งคู่กันคนที่เป็นหอบเขาจะไอเยอะกว่าชัดเจน เวลาไปโรงพยาบาลบางครั้งเขาจะได้ยาขยายหลอดลมมากิน คนที่เป็นโรคหืดแล้วมีอาการหอบกำเริบเขาจะกินยาขยายหลอดลมแล้วอาการไปลดลงแปลว่าอาการไอควรจะตอบสนองกับการขยายหลอดลม
2. ไอนานมากเป็นหวัดส่วนใหญ่ไอ 5-7 วัน หาย เด็กที่เป็นหอบก็จะ 7-10 วัน ไปแล้วก็ยังไม่หายไอ ถ้าไม่เป็นหวัดอาหารที่พอสังเกตได้คือเขาวิ่งเล่นเหนื่อยๆ แล้วมีอาการไอเพราะว่าการออกกำลังเป็นตัวกระตุ้นทำให้อาการหอบกำเริบได้
หรือมีอาการไอตอนกลางคืนเพราะอากาศเย็นอันนี่ก็เป็นสิ่งที่กระตุ้นทำให้อาการไอหรือหอบหืดกำเริบเพิ่มมากขึ้น ตอนกลางวันถ้าไปเจอฝุ่นละอองหรือมลพิษต่างๆ เขาก็จะมีอาการไอ ลักษณะสำคัญเลยคืออาการไอเหล่านี้ถ้าได้รับยาขยายหลอดลมแล้วเขาจะดีขึ้น
ในขณะที่เด็กโตจะเห็นค่อนข้างชัดเจนคือโอกาสการเป็นหวัดจะลดลง เพราะฉะนั้นเขาจะเป็นลักษณะของการแสดงออกที่สัมพันธ์กับกิจกรรมประจำวันมากกว่า เช่น ออกกำลังแล้วมีอาการไอ หรือสัมผัสสารก่อภูมิแพ้อันนี้ค่อนข้างชัดมาก เช่น คุณแม่กวาดบ้านอยู่ลูกไปวิ่งเล่นแถวนั้นก็เกิดอาการไอขึ้นมา
ถ้าอาการรุนแรงมากขึ้นเขาก็จะมีอาการหอบซึ่งอาการหอบเหมือนวิ่งแล้วหอบ คือหายใจแรงขึ้น หายใจไม่ทัน มีอาการบ่นได้ก็จะบอกว่าแน่นหน้าอกอันนี้เป็นลักษณะของเด็กที่มีอาการหืดกำเริบ
อาการอื่นๆ ที่อาจจะมีได้ก็อาการของโรคภูมิแพ้ที่มักจะพบร่วมกันกับอาการโรคหืดก็คืออาการภูมิแพ้ทางจมูก ซึ่งประมาณ 85% ของเด็กที่เป็นโรคหืดจะมีภูมิแพ้ทางจมูกร่วมด้วยก็เป็นอาการน้ำมูก จาม คันและคัดแน่นจมูกมีคันตาร่วมด้วย หลายๆ คนก็จะมีอาการนอนกรน อันนี้ก็เป็นอาการของโรคภูมิแพ้จมูกอักเสบซึ่งพบร่วมกันในเด็กที่เป็นโรคหืด
RSV จะเป็นในเด็กที่อายุน้อยกว่า 2 ปี ซึ่งอาการโรคหืดยังไม่ค่อยแสดงออกเท่าไหร่ ความคล้ายกันของเขาคือเขาจะมีอาการหอบเหมือนกันเวลาที่เราติดเชื้อ RSV เพราะว่า RSV เป็นการติดเชื้อของทางเดินหายใจส่วนล่าง หลอดลมฝอยมีการอักเสบเด็กจะมีหายใจเสียงหวีดเหมือนหอบหืดได้เลย
แต่ RSV พ่นยาขยายหลอดลมแล้วไม่ค่อยตอบสนองคือจะไม่หายหอบเท่าไหร่คือต้องรอให้เขาหายเอง อาการติดเชื้อดีขึ้นเสมหะในปอดลดลง อาการหอบก็จะลดลง ในขณะที่ถ้าเป็น RSV แล้วเด็กมีอาการหอบอยู่ด้วยรวมกันมันจะส่วนหนึ่งที่จะตอบสนองกับยาขยายหลอดลม
เป็นหวัดทั่วไปก็เหมือนกันปกติถ้าเป็นหวัดเป็นการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน เด็กทั่วไปก็จะไม่มีอาการหอบ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่เป็นไข้หวัดธรรมดาแล้วมีอาการเหนื่อยหอบ หายใจเร็วแล้วก็ได้ยินว่าหายใจมีเสียงหวีดๆ เกิดขึ้น อันนี้เราก็จะบอกว่าแสดงว่ามีโรคหืดแฝงอยู่ เพราะฉะนั้นการตรวจ จริงๆ แล้วเราก็บอกว่าควรให้แพทย์เป็นคนวินิจฉัย
การทดสอบสมรรถภาพปอดในอายุน้อยกว่า 5 ปี มีข้อจำกัดคือทำไม่ได้เพราะต้องอาศัยความร่วมมือของผู้ป่วยต้องเกิน 5 ปีไปถึงพอจะทำได้ การวินิจฉัยถ้า 5 ปีขึ้นไปแล้วเราสงสัยว่าเป็นหรือไม่เป็นเราก็ส่งตรวจสมรรถภาพปอดไปเลย เป็นจุดยากเลยเป็นยาขมสำหรับหมอเด็กเหมือนกันไม่ใช่พ่อแม่อย่างเดียว หมอเด็กเองก็เด็กคนนี้อายุ 3ปี พ่นยามาแล้ว 3 รอบใช่หรือไม่ใช่โรคหืด
เพราะฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่ที่มีประวัติลูกเป็นแบบนี้เป็นหวัดแต่ละครั้งดูอาการแล้วแบบไอเยอะ ไปโรงพยาบาลก็ต้องมีการพ่นยา
การพ่นยาจะเป็นแบบฝอยละอองแล้วใช้เป็นตัวครอบแทนเป็นกรวยแล้วใช้เป็นยากดพ่น ก็ลองถามคุณหมอหลังจากที่มีการให้ยาขยายลมพ่นว่าลูก หลาน ตอบสนองไหม เสียงหายใจหวีดลดลงไหมหรือหายใจเร็วลดลงไหมหลังจากใช้ยาขยายหลอดลมถ้าเป็นอาการแบบนี้คือตอบสนองกับยาขยายหลอดลมได้ดีและปีหนึ่งเกิน 3 ครั้ง อันนี้มีแนวโน้มที่จะเป็นโรคหืดสูง
ต้องเป็นข้อความที่เราจะสื่อสารกันเป็นหลักไม่ว่าจะเป็นผู้ปกครองหรือตัวผู้ป่วยที่เป็นผู้ใหญ่เราต้องแก้ความเข้าใจกันใหม่ เพราะเวลาที่คนไข้มาพบแพทย์ส่วนใหญ่เขาบอกว่ายาที่ดีที่สุดในการรักษาโรคหืดคือยาขยายหลอดลมซึ่งจริงๆ ถูกแค่บางส่วน เพราะว่ายาขยายหลอดลมจะใช้เมื่ออาการโรคหืดกำเริบคือมีอาการหอบเป็นเป้าหมายที่ลดความรุนแรงของอาการหอบที่กำเริบ
แต่จริงๆ เป้าหมายหลักของการรักษาโรคหืดคือเราต้องการให้ไม่เกิดอาการหืดกำเริบคนไข้ต้องไม่หอบเลย เพราะฉะนั้นเป้าหมายสำคัญคือควบคุมไม่ให้เกิดอาการหอบเพราะการหอบแต่ละครั้งเวลาที่เกิดอาการแต่ละครั้งมันจะมีการอักเสบในทางเดินหายใจหลอดลมฝอยจะมีการอักเสบเกิดขึ้นถ้ามีการปล่อยไว้ให้การอักเสบเป็นไปเรื่อยๆ มันจะมีการเสียสภาพของหลอดลมในระยะเบื้องต้น
ถ้าหอบยังไม่เป็นมากสภาพหลอดลมที่เสียไปสามารถกลับมาสู่สภาวะที่เป็นปกติได้ด้วยการรักษาของการใช้ยาควบคุมโรคหืด แต่ถ้าไม่ได้ใช้เลยการที่หลอดลมมันเสียสภาพมักจะกลายเป็นเสียถาวร
เพราะฉะนั้นคิดเอาว่าถ้าเสียสภาพถาวรตั้งแต่เป็นเด็กโตขึ้นไปเขาจะไม่มีทางที่สมรรถภาพปอดเขาจะกลับมาสู่สภาวะปกติหรือเทียบเท่ากับคนอื่นได้ เพราะฉะนั้นต้องย้ำไม่ว่าโรคหืดจะเกิดเมื่อไหร่ก็ตาม ช่วงอายุไหนก็ตาม ยารักษาหลักคือยาควบคุมโรคหืดที่ไม่ทำให้เกิดอาการหอบ ซึ่งตรงนี้ในประเทศไทยหรือทั่วโลกเราจะมียาอยู่ 2 กลุ่ม
1. ยาพ่นชนิดสเตียรอยด์
2. ยากินที่สามารถใช้รักษาควบคุมโรคหืดได้ สองอย่างนี้จะเป็นยาหลักที่ใช้ในการรักษา ซึ่งผู้ป่วยจำเป็นต้องใช้ทุกวันไม่ว่าจะมีอาการหืดหรือไม่มีอาการหืดก็ตาม ถ้าเมื่อไหรก็ตามที่มีอาการกำเริบขึ้นมาเมื่อนั้นเราจึงจะใช้ยาขยายหลอดลมพ่นเพื่อทำให้บรรเทาอาการหืดกำเริบเฉียบพลัน เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้วเราต้องรักษาที่สาเหตุหลักก็คือใช้ยาควบคุมโรคหืด
สำหรับยาสเตียรอยด์ จริงๆ แล้วเป็นยาที่ปลอดภัยและสามารถใช้ได้ทุกช่วงอายุแต่ก็จะมีข้อจำกัดบางอย่างเพราะว่าสเตียรอยด์ในเด็กอุปกรณ์ที่ยาจะอยู่เป็นชนิดพ่นจำเป็นจะต้องพ่นผ่านกระบอกต้องอาศัยความร่วมมือกับผู้ป่วยพอสมควรมีอุปกรณ์ต่อเพราะถ้าพ่นใส่ปากโดยตรงยาจะไม่ถึงปอด
ผู้ปกครองหลายๆ คนจะมีความกังวลพูดขึ้นมาว่าเป็นสเตียรอยด์จะทำให้ส่งผลต่อการเจริญเติบโต ใช้ไป 1-2 ปีลูกจะเตี้ยไม่โตหรือเปล่า ติดเชื้อง่าย จริงๆ ต้องบอกว่าในปริมาณของการใช้เพื่อควบคุมโรคหืดจะเป็นขนาดที่ไม่มีผลกระทบข้างเคียงเยอะขนาดนั้น
ยากลุ่มที่ 2 ยาต้านการอักเสบที่ยับยั้งการทำงานของสารลิวโคไทรอีน เป็นยาชนิดกินซึ่งเป็นยาที่สามารถใช้ควบคุมโรคหืดได้เหมือนกันแต่เราก็จะมีการบริหารยาที่ง่ายเพราะจะมีทั้งเป็นแบบผง แบบเม็ด ซึ่งอันนี้ให้เด็กกินทุกวันต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน
ทั้ง 2 ตัวมีประสิทธิภาพในการควบคุมโรคหืดได้ใกล้เคียงกัน แต่ต้องย้ำว่าทั้ง 2 ตัวนี้ไม่ใช่ยาขยายหลอดลมเพราะฉะนั้นพอหลายๆ คนบอกว่าต้องใช้ไปทุกวันถ้าเวลาหืดกำเริบขึ้นมาอย่างไรก็ต้องกลับไปใช้ยาขยายหลอดลม
แต่เป้าหมายหลักของเราถ้าใช้ยาตัวใดตัวหนึ่งไม่ว่าจะเป็นสเตียรอยด์พ่น หรือยากินควบคุมโรคหืดแล้วเราหวังว่าผู้ป่วยจะไม่มีอาการหืดกำเริบและก็ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ยาขยายหลอดลมสูตรพ่นเลยอันนี้คือเป้าหมายหลักจริงๆ
จริงๆ เรามีการให้ความรู้กับแพทย์ อัพเดทความรู้เราก็จะบอกเขาไปในกลุ่มของแพทย์ผู้ดูแลโดยเฉพาะหมอเด็กเพราะเรามีการอัพเดทแนวทางการรักษาอยู่เป็นประจำแล้วก็อยากยืนยันว่ายามีความปลอดภัยในการใช้ระยะยาว
ปัญหาสำคัญเลยคือผู้ปกครองมักจะหยุดยาก่อนถึงเวลาอันควร แต่จริงๆ รอยโรคในหลอดลมฝอยที่เวลาเราเกิดโรคหืดขึ้นมาแล้วมันอาจจะเป็นแผลที่ใหญ่พอสมควร ยิ่งเป็นมานานเป็นรุนแรงก็จะเป็นแผลที่ใหญ่
เพราะฉะนั้นการที่เราจะสมานแผลตรงนี้ให้มันกลับมาปกติได้และความไวของหลอดลมมันลดลงไปได้มันต้องใช้เวลายาวนานพอสมควรอย่างน้อยเป็นปี เพราะฉะนั้นกินยาหรือพ่นยาไปประมาณ 1-2 เดือนอาการสงบดีอย่าเพิ่งหยุด ควรจะมีการประเมินก่อนซึ่งคุณหมอก็เป็นคนประเมิน ซึ่งก็จะมีหลักการหลายๆ ข้อ อยากให้ไปพบแพทย์อย่าหยุดยาเองโดยเฉียบพลันโดยตัวเองลูกอาการสงบดีแล้วก็หยุดยาจริงๆ ถึงจะอาการสงบแต่ภายในอาจจะไม่สงบก็ได้ เป็นคลื่นใต้น้ำมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า
มีผลโดยตรงกับพยาธิสภาพในปอดก็คือหลอดลมจะมีการเสียอาจจะถาวรได้ถ้ารักษาช้าหรือรักษาไม่ถูกต้องอันนี้หลอดลมเสียสภาพถาวรได้ซึ่งมันจะไปส่งผลกระทบทางอ้อมกับสุขภาพทางกายและทางใจของเด็ก
เพราะว่าเวลาที่เขามีภาวะหลอดลมไวเด็กเขาจะถูกกระตุ้นได้ง่ายถ้าเจออากาศเย็น เจอไรฝุ่นเล็กน้อยจะมีอาการไอแล้วสำคัญเลยโรคหืดมักจะไอตอนกลางคืนเด็กมักจะตื่นมาไอตอนตีสองตีสามซึ่งเป็นเวลาทองของการหลั่ง Growth Hormones เด็กจะโตได้จริงๆ แล้วเวลาทองของการนอนคือ 4ทุ่ม ถึงตีสอง แต่โรคหืดเวลากำเริบตอนกลางคืนแล้วเด็กไอตื่นขึ้นมา Growth Hormones มันจะหายไป
มีการศึกษาออกมาชัดเจนแล้วว่าเด็กที่เป็นโรคหืดแล้วรักษาด้วยสเตียรอยด์โตเร็วกว่าเด็กที่เป็นโรคหืดแล้วไม่ได้รับการรักษา 1 ปีประมาณ 1เซนติเมตรถือว่าเยอะอันนี้คือผลกระทบแน่ๆ ต่อการเจริญเติบโตแล้วถ้าตอนกลางคืนหลับไม่สนิทผลที่ตามมาคือตื่นเช้ามางอแง ปลุกไม่ตื่น ไม่อยากไปโรงเรียนทำให้ประสิทธิภาพในการเรียนลดลง ไม่ตั้งใจเรียน ทำข้อสอบไม่ได้อันนี้เราพบว่าอาจจะมีความสัมพันธ์กับสมาธิสั้นด้วย
อันนี้สำคัญอย่างที่บอกไปแล้วว่าโรคหืดกำเริบได้ด้วยการออกกำลังกาย เพราะฉะนั้นเวลาที่เด็กไปโรงเรียนสิ่งที่เขาอยากทำคือวิ่งเล่นกับเพื่อ เด็กที่เป็นโรคหืดเขาจะหยุดตัวเองโดยอัตโนมัติเพราะเขาจะรู้ว่าเขาวิ่งได้เท่านี้ เขาจะไม่วิ่งต่อหยุดเล่นเพื่อนก็วิ่งไปได้ไกลทั้งสนามแล้วแต่ลูกเราวิ่งไปได้ 50 เมตรก็หยุดวิ่งเขาก็จะรู้สึกเหมือนเป็นปมด้อยแล้วเขาก็จะไม่เข้าสังคมในเด็กเพื่อนๆ เขาได้ก็เป็นผลกระทบต่อทั้งจิตใจและร่างกายของเด็กพัฒนาการของเด็กด้วย
ในส่วนที่ต้องทำในเด็กเล็กหรือในเด็กที่น้อยกว่า 12 ปี เกือบ 100% จะเป็นกลุ่มที่เป็นภูมิแพ้แล้วตรวจพบว่ามีการไวต่อสารก่อภูมิแพ้ในอากาศ เช่น ไรฝุ่น แมลงสาป สุนัข แมว หญ้าต่างๆ หรือเชื้อราอย่างใดอย่างหนึ่ง
ซึ่งถ้าเป็นไปได้อยากให้ไปตรวจกับกุมารแพทย์โดยเฉพาะกุมารแพทย์เชี่ยวชาญภูมิแพ้เพื่อประเมินทดสอบการแพ้ทางผิวหนังหรือตรวจเลือดดูว่าแพ้อะไร ระหว่างนี้ถ้าทราบแล้วก็อยากให้พยายามควบคุมสภาพแวดล้อมในบ้าน อย่างเช่น ถ้าแพ้ไรฝุ่นก็ต้องมีการลดปริมาณไรฝุ่นภายในบ้านให้ได้มากที่สุดซึ่งเป็นศัตรูตัวร้ายกาจ
เพราะประมาณ 70-80% ของผู่ป่วยเด็กที่เป็นภูมิแพ้จะแพ้สารก่อภูมิแพ้จากไรฝุ่นซึ่งเป็นศัตรูตัวจิ๋วที่อยู่ในบ้านเราแล้วก็สะสมอยู่บนที่นอนออกลูกออกหลานเก่งมากเป็นแมลงตัวเล็กที่มีเป็นร้อยเป็นพันเป็นล้านตัวในที่นอนเรา
ฉะนั้นการกำจัดต้องใช้ความร้อนในการกำจัดต้องซักผ้าปูที่นอนด้วยน้ำร้อน 60 องศาขึ้นไป หมายถึงเอาผ้าไปอบเพื่อกำจัดรังของเขา หรือเป็นที่นอนที่สามารถกันไรฝุ่นได้หรือเป็นผ้าคลุมพิเศษที่หุ้มที่นอนที่ไรฝุ่นไม่สามารถเข้าไปอยู่อาศัยได้
อีกสิ่งที่เป็นที่สะสมไรฝุ่นก็คือตุ๊กตาต้องเอาไปซักทำความสะอาดถ้าเอาออกได้จะดีสุดถ้าต้องเก็บไว้จริงๆ เป็นน้องเน่าขออนุญาตน้องเอาไปล้างไปซักไปทำความสะอาดเพื่อให้ปริมาณของสารก่อภูมิแพ้ของไรฝุ่นลดลง ส่วนมากเทคนิคที่จะบอกพ่อแม่คือให้เขาเลือกไว้ตัวหนึ่งแล้วก็จัดห้องให้โล่งไม่มีฝุ่นเกาะ
ฝุ่นและควันจากการเผาทำให้เกิดโรคหืด และโรคทางเดินหายใจ โรคภูมิแพ้ทางผิวหนังที่อาการจะกำเริบ มีอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ทำการศึกษาแล้วว่าระหว่างที่มี PM2.5 หนักๆ ที่เชียงใหม่มีอัตราการเกิดโรคเส้นเลือดสมองแตกเพิ่มมากขึ้นเพราะตัว PM2.5 เองมันสามารถทำให้เกิดการอักเสบที่เส้นเลือดของร่างกายได้เพราะฉะนั้นเส้นเลือดสมองเป็นจุดเป้าหมายเลยที่ทำให้เกิดอาการผิดปกติ
เพราะฉะนั้นไม่ใช่โรคหืดอย่างเดียวแต่กลับมาที่เด็ก PM2.5 ก็มีส่วนจริงที่ทำให้ตัวอาการโรคหืดเป็นเยอะขึ้นควบคุมได้ยากขึ้น ที่การกำจัดเราจะบอกไม่ให้ลูกออกไปนอกบ้านหรือไม่ให้ PM2.5 เข้าบ้านก็คงทำไม่ได้ช่วงนี้เป็นช่วงที่ดีเพราะว่าเด็กใส่แมสเราก็จะมีโอกาสสัมผัสฝุ่น PM น้อยลง
ต้องช่วยกันรณรงค์ในเรื่องของฝุ่น PM2.5 การเผาไหม้ทั้งหลายแล้วก็มลพิษจากการเผาไหม้รถยนต์ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้ PM2.5 เยอะขึ้นถ้าบ้านไหนที่ Sensitive จริงๆ ก็อาจจะจำเป็นต้องมีเครื่องฟอกอากาศภายในบ้านแล้วก็แนะนำว่าถ้าจะเป็นห้องนอนช่วงที่มี PM2.5 เยอะๆ อาจจะต้องปิดหน้าต่างตอนกลางวันแล้วก็รอยรูรั่วต่างๆ ก็พยายามปิดไม่ให้ลมมันระบายเข้ามาและฟอกอากาศอย่างน้อยประมาณครึ่งชั่วโมงก่อนเข้าห้องนอนก็สามารถช่วยได้อย่างชัดเจนพอสมควร
โรคหืดเป็นโรคที่เจอได้พอสมควรประมาณ 10% ในประเทศไทยทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ไม่ใช่สิ้นหวังโรคหืดสามารถรักษาได้ควบคุมได้เพียงแต่การใช้ยาต้องทำความเข้าใจว่าโรคสามารถหายได้ควบคุมได้แต่ต้องใช้ยาอย่างสม่ำเสมอและใช้ยาถูกประเภท ยาควบคุมอาการโรคหืดไม่ว่าจะเป็นยาสเตรียรอยด์สูตรพ่นหรือว่ายากินที่เป็นยาต้าน
ในการรักษาโรคหืดระยะยาวและมีความปลอดภัยขอให้ผู้ปกครองและผู้ป่วยเองมีความมั่นใจในความปลอดภัยของตัวยา แต่อย่างไรก็ตามอย่าใช้ยาเอง อย่าหยุดยาเองควรมีการนัดติดตามจากแพทย์ผู้สั่งยา เพื่อปรับยาได้สม่ำเสมอและประเมินอาการว่ารักษาเพิ่มเติมอย่างไรนอกจากยา
ขณะเดียวกันก็จะได้ทราบวิธีการปฎิบัติตัวเวลาหืดกำเริบการใช้ยาขยายหลอดลมควรทำอย่างไร มีการตรวจประเมินเรื่องของภูมิแพ้ดูว่าต้องมีการปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมในบ้านหรือว่าสภาพแวดล้อมทั่วไปรอบตัวของทั้งตัวเด็กเองและตัวผู้ใหญ่อย่างไร ฉะนั้นพบแพทย์สามารถดูแลได้รักษาได้ ในระยะยาวโรคหืดอาจจะไม่ได้หายขาดหายสนิทไปจากชีวิตเมื่อเป็นแล้ว แต่ควบคุมไม่ให้เกิดอาการเราก็จะสามารถมีชีวิตและการเจริญเติบโตของเด็กที่ปกติได้ไม่ต่างจากคนทั่วไป
ติดตามฟังได้ที่รายการรักลูก The Expert Talk
Apple Podcast: https://apple.co/3m15ytB
Spotify: https://spoti.fi/3cvAVcX
Youtube: https://bit.ly/3cxn31u