เด็กๆ ถึงวัยหนึ่งก็มักจะงอแงไม่อยากไปโรงเรียนบ้าง ซึ่งการไม่อยากไปโรงเรียนมีหลายสาเหตุ และที่ไม่อยากไปเพราะไม่อยากเรียนหนังสือก็มีเยอะเช่นกัน
พ่อแม่บางคนใช้วิธีพาลูกไปเก็บขยะหรือพาไปทำงานหนักๆ เพื่อให้ลูกรู้ว่าการทำงานมันหนักและเหนื่อยกว่าเรียนหนังสือนัก เด็กที่
จากประสบการณ์ส่วนตัวของผมจากการเลี้ยงลูก รวมทั้งมีโอกาสสอนหนังสือโดยเฉพาะสอนนักศึกษาแพทย์ซึ่งส่วนมากเป็นพวกค่อน ข้างอยากเรียน ผมได้ข้อคิดบางอย่างที่จะทำให้ลูกอยากเรียนหนังสือมาฝากกันครับ
สร้างแรงบันดาลใจ
ลองนึกเล่นๆ ดูนะครับว่า ที่เรากำลังทำงานทำการอยู่นี้เพื่ออะไรกัน ถ้าตอบว่าทำเพราะรักและสนุกกับงานที่ทำ ได้รับการยอมรับจากผู้คน รวมทั้งรายได้ดีด้วย ผมก็ขอแสดงความยินดีด้วยจริงๆ ครับ แต่ถ้าตอบว่าที่ทนทำอยู่นี่ก็เพื่อเงินเท่านั้นแหละ ถ้าเลิกได้เลิกไปนานแล้ว เพราะคิดดูแล้วยังมองอนาคตไม่เห็นเลย กรณีนี้ต้องบอกว่าน่าเศร้านะครับ ผมว่าชีวิตน่าจะเหมือนกับผีตายซาก
ถ้าเราอธิบายให้ลูกมองเห็นอนาคตข้างหน้า(แม้ว่าจะไกลไปบ้าง)ว่า ถ้าตั้งใจเรียนหนังสือแล้วจะได้อะไร จะเป็นอะไร เชื่อว่าอย่างน้อยลูกก็จะเห็นหนทางข้างหน้า การพูด "ขยันเรียนนะลูก" ไม่น่าจะช่วยอะไร และยังน่าเบื่ออีกต่างหาก การยกตัวอย่างบุคคลที่ประสบความสำเร็จในชีวิตจากการศึกษาเล่าเรียนน่าจะมี ประโยชน์กว่า เพราะลูกจะเห็นภาพได้ดีกว่ากันเยอะเลย
การหาหนังสือประวัติบุคคลสำคัญ หรือเล่าประวัติบุคคลสำคัญที่ประสบความสำเร็จในการศึกษาเล่าเรียนให้ลูกอ่าน หรือฟังก็เป็นหนทางที่ดีอย่างหนึ่ง และที่ดีที่สุดก็คือ ถ้าพ่อแม่เองก็เป็นคนที่รักการเรียนจนประสบความสำเร็จในชีวิต ก็จะเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดของลูกโดยไม่ต้องพูดหรือเคี่ยวเข็ญ
ให้คำชมและรางวัล
เรื่องนี้สำคัญมากนะครับ คนเราเกิดมาต้องการคนชม ต่อให้แก่แล้วก็ต้องการคนชม แต่ว่าบางทีถ้าชมไม่ดีก็เป็นการเสแสร้ง หรือพร่ำเพรื่อก็ไม่มีประโยชน์ เช่นเดียวกับรางวัลที่ให้ เด็กที่เราชมว่าเรียนดีทุกคนก็จะมีความสุข ลูกผมตอนเล็กๆ ถ้าเขาทำอะไรดีๆ แล้วเราชม เขาจะมีความสุขแล้วก็อยากจะทำอีก มันเป็นแรงกระตุ้นที่ค่อนข้างดีและแรง ส่วนการตำหนิ การว่ากล่าวควรจะใช้เมื่อจำเป็นเท่านั้น
การชมอย่างเดียวบางทีมันจับต้องไม่ได้ ชมมากๆ ก็เบื่อไม่เห็นได้อะไร อาจมีการให้รางวัลบ้าง แต่ก็ต้องระวังการสร้างเงื่อนไขหรือตั้งรางวัล เช่น ให้ของเล่นราคาแพง หรือพาไปต่างประเทศ วิธีการนี้เขาเรียกว่าติดสินบนนะครับ ลูกคุณจะตั้งใจเรียนเหมือนกัน แต่เรียนเพราะอยากได้สินบนไม่ได้เรียนเพราะอยากมีความรู้ ถ้ารางวัลหมดก็ไม่เรียน วิธีนี้ยังอาจจะเพาะนิสัยต่อรองและละโมบอีกด้วย
การให้รางวัลควรให้เป็นครั้งคราวไม่มากหรือน้อยเกินไป และที่สำคัญควรให้เมื่อลูกประสบความสำเร็จในการเรียนในระดับที่น่าพอใจ หรือมีการพัฒนาการเรียนดีขึ้นกว่าเดิม โดยไม่จำเป็นต้องสอบได้ที่ 1 หรือที่ 2 แค่ลูกเรียนดีขึ้นพ่อแม่ก็น่าจะพอใจ
การให้รางวัลควรให้เมื่อเห็นว่าสมควรให้ ไม่จำเป็นต้องสัญญาล่วงหน้าและไม่จำเป็นต้องให้ทุกครั้ง
สร้างบรรยากาศของการเรียนรู้
คนจะเรียนหนังสือต้องอยู่ในบรรยากาศของการเรียน ถ้าไม่มีบรรยากาศทำอย่างไรก็เรียนไม่ได้ พ่อแม่จำนวนมากละเลยในเรื่องนี้อย่างรุนแรง เนื่องจากเหน็ดเหนื่อยกับการงานมา ไม่ได้สนใจว่าลูกจะเรียนอย่างไร
ถ้าวันธรรมดาไม่มีเวลาใส่ใจลูกมากนัก อาจใช้วันหยุดเสาร์-อาทิตย์พาลูกไปร้านหนังสือดีๆ ที่มีหนังสือวิชาการ หนังสือสำหรับเด็ก ชวนกันเลือกหนังสือประเภทที่เขาอยากดู อยากรู้ อยากเห็น หรือหาเวลาพาลูกไปเที่ยวตามที่ต่างๆ เช่น สถานที่ทางประวัติศาสตร์ วัดวาอารามที่เกี่ยวกับเรื่องที่ลูกเรียนอยู่ เด็กจะได้เห็นของจริง เวลาเรียนก็จะได้ไม่เบื่อ
การสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ไม่ใช่เรื่องง่าย พ่อแม่บางคนความอดทนต่ำที่จะพาลูกไปในที่ที่ควรไป กลับพาลูกไปเที่ยวห้างสรรพสินค้า ซื้อของฟุ่มเฟือย รับประทานอาหารจังค์ฟูด จนลูกอ้วนเป็นหมู เพราะมันง่ายกว่ากันเยอะ
อีกเรื่องหนึ่งที่ปัจจุบันนี้แย่งเวลาในการเรียนรู้ของเด็กไปหมด ก็คือเกมคอมพิวเตอร์ พ่อแม่ไม่น้อยเลยที่ใจอ่อนทนลูกเซ้าซี้ไม่ได้เลยซื้อให้ และส่วนมากก็ไม่เคยดูด้วยซ้ำไปว่าเป็นเกมที่ทำให้ลูกก้าวร้าวรุนแรงขึ้นด้วย หรือเปล่า แล้วถ้าเด็กติดเกมเสียแล้ว ก็จะเอาเวลาไปเล่นเกมจนไม่อยากเรียนหนังสือกันแล้วละครับ
รีบขจัดความไม่เข้าใจในเรื่องที่เรียน
ผมอยากให้คุณพ่อคุณแม่ลองนึกย้อนกลับไปสมัยที่ตัวเองยังเป็นเด็ก วิชาไหนเราเรียนแล้วรู้เรื่อง เข้าใจดี ทำให้สอบได้คะแนนดี ทำให้อยากเรียนวิชานั้นมากขึ้น วนเวียนอยู่อย่างนี้ ซึ่งผมอยากจะเรียกว่าเป็นวัฏจักรของความสำเร็จในการเรียน ในทางตรงกันข้ามถ้าวิชาไหนเรียนแล้วไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจ สอบได้คะแนนไม่ดี ก็ไม่อยากเรียน ซึ่งจะทำให้ไม่รู้เรื่องมากขึ้น เป็นวัฏจักรความเลวร้ายของการเรียน
วิธีแก้ไขที่ผมลองใช้มี 2 วิธี วิธีแรกคือพยายามติดตามการเรียนของลูกอย่างสม่ำเสมอ ถ้ามีเวลาจะเรียนไปกับลูกด้วยเลย ทำให้เรารู้ว่าลูกเรียนไม่เข้าใจตรงไหน บ่อยครั้งที่ผมพบว่าเรื่องที่ลูกไม่เข้าใจเป็นเพียงปัญหาและประเด็นเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น พออธิบายให้เขาเข้าใจ เขาก็จะเรียนเนื้อหาต่อไปได้อย่างสนุก และอยากเรียนต่อ แต่ถ้าปล่อยให้มีความไม่เข้าใจสะสมไปเรื่อยๆ ในที่สุดจะไม่เข้าใจมากขึ้นๆ จนเกินกว่าจะแก้ไขได้ แม้ว่าเด็กบางคนอาจจะเรียนผ่านและขึ้นชั้นที่สูงขึ้นได้ แต่ก็จะไม่มีพื้นฐานเพียงพอ ยิ่งเรียนก็จะยิ่งมึน ตามมาด้วยความเครียดและเบื่อหน่ายในที่สุด
เขียนมาถึงตอนนี้ อาจมีพ่อแม่บางคนบอกว่าเรื่องนี้น่าจะเป็นหน้าที่ของครูมากกว่า ขอบอกเลยนะครับว่าหวังยาก เพราะเด็กส่วนมากเวลาสงสัยมักไม่ค่อยกล้าถามครู หรือบางทีอยากถามก็ไม่มีโอกาสเพราะครูไม่มีเวลาดูแลเด็กอย่างละเอียด แค่สอนตามปกติก็จะไม่ไหวอยู่แล้ว เด็กมันเยอะครับโดยเฉพาะในโรงเรียนดังๆ
สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่ไม่มีเวลามากพอที่จะดูลูก หรือถึงมีเวลาดูลูกแต่ก็ไม่รู้จะสอนหรืออธิบายลูกอย่างไร ถ้าเป็นอย่างนี้ผมคิดว่าจำเป็นต้องใช้วิธีที่ 2 คือ กวดวิชา หรือหาคนมาสอนแทน จากประสบการณ์ทั้งที่เคยเป็นผู้เรียนและผู้สอน ผมยังค่อนข้างเชื่อว่าครูผู้สอนมีบทบาทและอิทธิพลต่อการอยากเรียนรู้ของเด็ก ค่อนข้างมาก
ผมเชื่อมานาน เดี๋ยวนี้ก็เชื่อ และจะเชื่อต่อไปว่า ครูไม่ได้สอนดีหรือสอนรู้เรื่องกันทุกคน ผมว่าถ้าระบบการศึกษาในโรงเรียนให้เด็กเลือกครูผู้สอนได้ ครูบางคนอาจมีเด็กแย่งกันเรียนด้วยจนห้องแตก ในขณะที่บางคนอาจต้องสอนจิ้งจกตุ๊กแกแทนก็ได้ การเรียนกับครูที่สอนลูกรู้เรื่องเป็นทั้งความสุขและสนุกครับ นี่คือเหตุผลว่าทำไมผมจึงคิดว่ายังคงต้องหาคนที่สอนลูกรู้เรื่องมาสอนให้ โดยเฉพาะในระบบการศึกษาที่อัปลักษณ์ของเราที่ยังต้องเรียนกันแบบแข่งขันแย่ง ชิงกันอยู่ ถ้าไม่มีลูกเองผมคงไม่กล้าสรุปอย่างนี้หรอกครับ
พูดถึงเรื่องนี้แล้วเครียดครับ ใครมีหน้าที่รับผิดชอบ ช่วยๆ กันเปลี่ยนระบบการศึกษาให้เด็กหายเครียดเร็วๆ หน่อยนะครับ
เพื่อนที่ดี
เด็กวัยรุ่นวัยเรียนมักจะเชื่อเพื่อนมากกว่าพ่อแม่ พ่อแม่ต้องเข้าใจและทำใจว่าชีวิตก็เป็นอย่างนี้แหละ เราเองก็เป็นอย่างนี้ไม่ใช่หรือ ยอมรับซะว่าเป็นเรื่องธรรมชาติและการแผลงฤทธิ์ของฮอร์โมนเพศครับ เพราะฉะนั้นถ้าเพื่อนเป็นพวกชอบเรียน ก็จะพากันเรียน มีอะไรข้องใจก็จะปรึกษากันได้ ถ้าเป็นไปได้ก็พยายามส่งเสริมให้คบเพื่อนที่ชอบเรียนก็จะดีครับ
ให้ลูกเรียนในสิ่งที่ลูกอยากเรียน
ย้ำนะครับว่าลูกอยากเรียน ไม่ใช่พ่อแม่อยากให้เรียน เราต้องสังเกตนะครับว่าลูกชอบอะไรแล้วส่งเสริมเขาให้ได้เรียน พ่อแม่บางคนโปรแกรมไว้หมดแล้วว่าอยากให้ลูกเป็นอะไร บางคนเคยอยากเรียนบางอย่างแต่เรียนไม่ได้ ก็มาเคี่ยวเข็ญให้ลูกเรียนแทนโดยไม่ถามความสนใจของลูกเลย อย่างนี้เข้าข่ายทรมานลูกครับ
เพราะฉะนั้นถามลูกก่อนนะครับว่าเขาอยากเรียนอะไร ฝันอยากเป็นอะไร ถ้าไม่เหลือทนหรือเพ้อเจ้อเกินไปก็ยอมๆ ลูกบ้างเถอะครับ จะได้ไม่มีใครมีความทุกข์ ชีวิตลูกต้องให้ลูกกำหนด เราช่วยกำกับพอแล้ว ถ้าอยากยิงธนูให้ไปไกลๆ และถูกเป้า คันธนูต้องอยู่กับที่ พ่อแม่ก็เช่นเดียวกันต้องทำตัวเป็นคันธนูที่ดีอย่าพุ่งไปกับลูก คือจัดการเรื่องเรียนของลูกทุกอย่าง ถ้าเป็นอย่างนี้ลูกรุ่งยากครับ เพราะแรงส่งธนูจะต่ำครับเพราะไม่วิ่งด้วยตัวเองเลย ภายภาคหน้าเวลามีปัญหาแต่พ่อแม่แก่ตายแล้วจะแก้ปัญหาเองไม่ได้
ผมมีประสบการณ์ในการสอนนักศึกษาแพทย์ประมาณ 10 ปีแล้วครับ พบว่านักศึกษาแพทย์ไม่น้อยเลยที่เรียนด้วยความขมขื่นและทุกข์ทรมาณ เนื่องจากพ่อแม่อยากให้เป็นหมอ แต่ตัวเองชอบวาดรูป อยากเป็นศิลปิน อยากเป็นวิศวกร แต่ว่าคนเก่งเรียนอะไรก็เรียนได้ แต่เรียนแล้วมีความสุขหรือเปล่านั่นอีกเรื่องหนึ่ง
เพราะฉะนั้นถ้าอยากให้ลูกอยากเรียน ก็ต้องให้เขาเรียนในสิ่งที่เขาอยากเรียนนะครับ ถึงตรงนี้บางคนอาจถามว่าแล้วจะรู้อย่างไรว่าลูกอยากเรียนอะไร คำตอบคือให้เวลากับลูกเยอะๆ สิครับ ถ้าเราให้เวลากับเขามากๆ ลูกก็จะสนิทกับเรา มีเรื่องอะไรก็จะเล่าให้เราฟัง คิดอะไรชอบอะไรก็จะบอกเรา ความเข้าอกเข้าใจระหว่างพ่อแม่กับลูกก็จะมากขึ้นครับ
หวังว่าข้อคิดเห็นทั้งหมดนี้อาจจะเป็นประโยชน์สำหรับคุณพ่อคุณแม่บ้างนะครับ ผมลองใช้มาแล้วรู้สึกว่าได้ผลดีพอสมควร.. ไม่ใช่อุปทานครับ