ผู้ปกครองบางท่านค่อนข้างให้ความสำคัญกับคำว่า “Native English” มาก เวลาเลือกโรงเรียนนานาชาติให้กับลูก ก็จะดูว่าครูที่มาสอนบุตรหลานต้องเป็นครูฝรั่งเท่านั้น จะอังกฤษ หรืออเมริกาก็ได้ แค่ขอให้เป็นคนที่มีภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่เท่านั้นก็พอ เพราะกังวลว่าบุตรหลานของตนจะไปติดสำเนียงแปลกๆ ของครูชาติอื่นมา (โดยเฉพาะครูฟิลิปปินส์ หรือครูจากชาติเอเชียด้วยกัน)
หรือบางท่านก็กังวลว่าครูที่ไม่ใช่ Native English จะสอนภาษาอังกฤษได้ไม่ดีเท่ากับครูที่เป็น Native English ซึ่งเรื่องนี้เป็นแค่ความกังวลของผู้ปกครอง หรือเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงจริงๆ อ.อุษา สมบูรณ์ นายกสมาคมโรงเรียนนานาชาติแห่งประเทศไทย (ISAT) ได้แสดงทัศนะเกี่ยวกับเรื่องนี้เอาไว้อย่างน่าสนใจ
อ.อุษา บอกว่า ในความเป็นจริงแล้ว ไม่ว่าจะเป็นครูชาติไหนก็ตาม จะยุโรป อเมริกา หรือเอเชีย ขอเพียงมีความเป็นครูอยู่ในสายเลือด ก็จะสามารถสอนภาษาอังกฤษได้ดีไม่แตกต่างกัน และสิ่งที่ผู้ปกครองควรให้ความสำคัญที่สุด คือ วุฒิการศึกษาของครู ไม่ใช่เรื่องเชื้อชาติและความเป็น Native English ของครู
โดย เฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ปกครองที่มีบุตรหลานเรียนอยู่ในชั้นอนุบาล ยิ่งต้องให้ความสำคัญกับวุฒิการศึกษาของครูให้มากๆ ว่าครูที่สอนชั้นอนุบาลของโรงเรียนนั้นๆ เรียนจบมาทางด้านการศึกษาปฐมวัยโดยตรงรึเปล่า เพราะการสอนเด็กเล็กเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและสำคัญ หากครูไม่ได้จบมาทางด้านนี้โดยตรง ก็อาจจะมีวิธีการสอนเด็กเล็กในแบบที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งจะส่งผลต่อพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็กๆ อย่างแน่นอน
และในความเป็นจริงแล้ว อ.อุษา เห็นว่า ผู้ปกครองควรให้ความสำคัญเรื่องความสามารถในการสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษของ บุตรหลานมากกว่าเรื่องสำเนียงในการพูด นั่นคือ เด็กๆ ควรจะแต่งประโยคได้ แม้อาจจะไม่ค่อยถูกไวยกรณ์นัก แต่ขอให้สามารถสื่อสารใจความของเรื่องที่จะพูด ออกมาเป็นภาษาอังกฤษได้ก็พอ เพราะสุดท้ายแล้ว แม้เด็กจะเรียนกับครูที่เป็น Native English แต่ครูเหล่านั้นก็มาจากหลายท้องถิ่นในประเทศตัวเอง ซึ่งก็มีสำเนียงที่แตกต่างกันไปอยู่ดี เนื่องจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่พูดได้หลายหลากสำเนียงตามแต่ละท้องถิ่น ฉะนั้นเรื่องของสำเนียง เป็นแค่ความหลากหลายทางวัฒนธรรม มากกว่าเรื่องที่จะต้อง
ซีเรียส
เป็นที่โจษจันกันมานานแล้วในหมู่ผู้ปกครองของนักเรียนโรงเรียนนานาชาติ ว่าบางโรงเรียนก็ใช้ครู Backpacker มาสอนนักเรียน ซึ่งผู้ปกครองส่วนใหญ่ก็ไม่มั่นใจในคุณภาพของครูที่เป็น Backpacker อยู่แล้ว เพราะครูประเภทนี้ก็คือนักท่องเที่ยวนั่นเอง ส่วนสาเหตุที่มาสอนหนังสือ ก็อาจเป็นได้ทั้งต้องการหาประสบการร์ชีวิต หรือบางคนก็เงินหมด เลยต้องทำงานหาเงินกลับประเทศ ผู้ปกครองจึงไม่ค่อยแน่ใจว่าครู Backpacker จะมีวุฒิการศึกษาที่เพียงพอต่อการมาสอนหนังสือเด็กๆ รึเปล่า และครูที่เป็นนักท่องเที่ยว Backpacker แบบนี้ ก็มีสิทธิ์จะทิ้งเด็กไว้กลางคัน แล้วเดินทางกลับประเทศของตัวเองได้ทุกเมื่อ
ซึ่งเรื่องนี้ อ.อุษา มองว่า น่าจะเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของบางโรงเรียน ในยามที่ครูคุณภาพขาดแคลนมากกว่า เพราะในตลาดครูโรงเรียนนานาชาตินั้น ครูเก่งๆ เป็นที่แย่งชิงกันอย่างมาก จนบางช่วงครูคุณภาพอาจจะขาดตลาดได้
อ.อุษา เล่าให้ฟังว่า โรงเรียนนานาชาติในฮ่องกงนั้น ให้ค่าตอบแทน และสวัสดิการครูสูงมากๆ เพราะต้องการจะดึงครูเก่งๆ ไปสอนให้กับโรงเรียนของตัวเอง
ดังนั้นเรื่องของการค้นหาและจ้าง ครูเก่งๆ มาสอนจึงเป็นเรื่องที่แต่ละโรงเรียนต้องไว และต้องลงทุนสูง แต่ก็ได้ความคุ้มค่ากว่าการเอาครู Backpacker มาสอนแน่นอน เพราะครูเก่งๆ ย่อมมีทักษะและเทคนิคในการสอน มีวิธีที่จะทำให้เด็กเข้าใจเรื่องที่สอน เพราะเรียนจบมาโดยตรง ซึ่งเรื่องนี้ครู Backpacker ไม่มีทางทำได้ดีกว่าแน่นอน
ดังนั้น อ.อุษา จึงมั่นใจว่า ผู้ปกครองก็จะดูออกได้เอง ว่าครูโรงเรียนไหนเป็นครูคุณภาพ หรือครู Backpacker และหากทางโรงเรียนไม่อยากจะเสื่อมเสียชื่อเสียง ก็ควรต้องระมัดระวังในการเลือกครูมาสอนในโรงเรียนให้มากขึ้น
***หาก ผู้ปกครองอยากทราบว่าโรงเรียนที่ลูกของท่านเรียนอยู่ หรือโรงเรียนที่กำลังเล็งว่าจะส่งลูกไปเรียน ผ่านการรับรองหรือไม่ และผ่านการรับรองจากที่ไหนบ้าง สามารถดูได้จากเอกสารรับรองของกระทรวงศึกษาธิการ (2011)*