จากการเปิดเผยข้อมูลของ นาวาอากาศตรี นายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เกี่ยวกับการสำรวจสภาวการณ์เด็กและเยาวชนรายจังหวัด พบว่ามีเด็กถูกรังแกในสถานศึกษาปีละประมาณ 600,000 คน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ปัจจุบันไทยอยู่ในอันดับ 2 ของโลก โดยมีเด็กนักเรียนถูกรังแกจากเพื่อนนักเรียนด้วยกันสูงถึงร้อยละ 40 รองจากประเทศญี่ปุ่น
ซึ่งสถานการณ์การรังแกกันในโรงเรียน มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น มีการรังแกกันตั้งแต่ระดับอนุบาล และที่น่าห่วงคือ ขณะนี้เด็กเข้าถึงสื่อโซเซียลได้ง่าย เมื่อพ่อแม่และครูมีเวลาให้เด็กน้อย เด็กจึงเรียนรู้ความรุนแรงจากเกม สื่อต่าง ๆ และนำไปใช้กับเพื่อน นอกจากนี้ยังพบปัญหาใหม่ มีการรังแกกันผ่านสื่อออนไลน์ ทั้งการใช้ข้อความ ภาพ หรือวิดีโอคลิป บนโลกอินเทอร์เน็ตด้วย
ทำอย่างไรเมื่อเด็กถูกแกล้งในโรงเรียน
เมื่อเห็นเด็กรังแกกัน ให้ครูแยกสองฝ่ายออกจากกันในระยะเวลาสั้นๆ ก่อน เพื่อให้อารมณ์ของเด็กเย็นลง พร้อมทั้งให้คำมั่นสัญญาอย่างแข็งขันแก่เด็กที่ถูกรังแกว่าครูจะปกป้องเขา
ปรับพฤติกรรมของเด็กที่แกล้งเพื่อน สอนให้เขารู้จัก 'ขอโทษ' พร้อมกับสอนเด็กที่ถูกรังแกให้รู้จักอภัย
ให้เด็กทั้งสองฝ่ายช่วยเสนอแนะทางออก โน้มน้าวให้มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน
ครูต้องสังเกตขอบเขตการถูกรังแกของเด็กว่ารุนแรงและบ่อยแค่ไหน ถ้ามีพฤติกรรมทำซ้ำหรือร้ายแรงจนน่าห่วง ต้องรีบแจ้งพ่อแม่เด็ก
ครูไม่ควรใส่อารมณ์หรือสอดแทรกอคติให้เด็ก
พ่อแม่ควรให้ความร่วมมือกับโรงเรียนด้วยการพูดคุย เล่ารายละเอียด เพื่อหาทางออกร่วมกัน
อย่าเพิ่งตัดสินเด็กคู่กรณีว่าเป็นตัวปัญหา เราควรร่วมมือกันหาทางป้องกันและแก้ไข
สอนลูกว่าอย่าอยู่ใกล้เด็กที่ชอบแกล้งคนอื่น หรือระวังอย่าอยู่คนเดียวจนมีคนมาแกล้งได้
พ่อแม่ต้องคุยกับลูกทุกวันหลังเลิกเรียน เพื่อเช็กสถานการณ์การกลั่นแกล้งที่โรงเรียน และหากทำเป็นกิจวัตรลูกจะไม่รู้สึกรำคาญ และพร้อมเล่าให้ฟังทุกเรื่อง
ระวังการยุหรือผลักดันให้ลูกตอบโต้ หรือหันมาใช้พฤติกรรมความรุนแรงเหมือนที่เขาถูกเพื่อนแกล้ง
อ้างอิง : thairath.co.th