เมื่อประเทศไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 ซึ่งจะเป็นการเปิดตัวเองเข้าหาเพื่อนๆ สมาชิกประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนประเทศอื่นๆ มากขึ้น ทั้ง มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงค์โปร์ ฟิลิปปินส์พม่า ลาว ฯลฯ ซึ่งประเทศเพื่อนบ้านเหล่านี้ ส่วนใหญ่เป็นประเทศที่มีประชากรพูดภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่ 2 ได้ดีมากๆ แม้ไม่ใช่ประชากรที่มีการศึกษาระดับสูงก็ตาม พูดง่ายๆ ก็คือประชากรของประเทศเพื่อนบ้านเก่งภาษาอังกฤษมากกว่าเรานั่นเอง
ด้วยเหตุนี้คนไทย โดยเฉพาะเด็กไทยรุ่นใหม่จึงควรจะพัฒนาตัวเองให้สามารถใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารกับประเทศเพื่อนบ้านเหล่านี้ให้ได้ แต่ส่วนใหญ่แล้ว ระบบการศึกษาไทยที่มีมาแต่เดิม ไม่ค่อยเอื้ออำนวยต่อการฝึกฝนการสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษเท่าไหร่นัก นอกเสียจากเด็กๆ จะไปเรียนเสริม เรียนเพิ่มเติมเอาเอง หรือโชคดีมีพรสวรรค์ดั้งเดิมที่ช่วยให้เก่งภาษา ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ที่มองการณ์ไกล และพอจะมีทุนทรัพย์หลายๆ ท่าน จึงนิยมส่งบุตรหลานไปเรียนในโรงเรียนนานาชาติ หรือโรงเรียนสองภาษาแทน
ซึ่งในปัจจุบันนี้ แค่เฉพาะในกรุงเทพฯ ก็มีโรงเรียนนานาชาติ และโรงเรียนสองภาษาให้เลือกมากมายจนผู้ปกครองเลือกไม่ถูกว่าโรงเรียนนานาชาติโรงเรียนไหนน่าส่งบุตรหลานไปเรียนมากกว่ากัน ซึ่งถ้าเป็นโรงเรียนใหญ่ๆ มีชื่อเสียงมายาวนาน ผู้ปกครองก็คงเบาใจไปได้เปลาะหนึ่ง เพราะอย่างไรเสียระบบการเรียนการสอนของโรงเรียนนานาชาติดังๆ ก็ต้องได้มาตรฐานแน่นอนอยู่แล้ว แต่โรงเรียนนานาชาติบางโรงเรียนที่เพิ่งเปิดได้ไม่นาน ชื่อเสียงจะยังไม่เป็นที่คุ้นเคยนัก หรือบางแห่งก็เป็นโรงเรียนนานาชาติขนาดเล็ก ซึ่งทำให้ผู้ปกครองไม่ค่อยมั่นใจในคุณภาพของโรงเรียนเท่าไหร่นัก และอาจสงสัยว่า เราจะทราบได้อย่างไร ว่าโรงเรียนนานาชาติโรงเรียนไหนบ้างที่ได้มาตรฐาน และมาตรฐานของโรงเรียนนานาชาติที่ว่านี้ ใครเป็นผู้ตรวจสอบ ผู้ตรวจสอบมีความน่าเชื่อถือมั้ย และตรวจสอบกันอย่างไร
อ.อุษา สมบูรณ์ นายกสมาคมโรงเรียนนานาชาติแห่งประเทศไทย (ISAT) ได้เล่าให้ฟังถึงขั้นตอนการตรวจสอบมาตรฐานของโรงเรียนนานาชาติที่เป็นสมาชิกของสมาคม ว่ามีขั้นตอนการตรวจสอบอย่างไรบ้าง และจะช่วยสนับสนุนให้โรงเรียนนานาชาติในประเทศไทยพัฒนาคุณภาพให้อยู่ในระดับสากลได้อย่างไร
ทำไมจึงต้องมีสมาคมโรงเรียนนานาชาติ
วัตถุประสงค์ของการก่อตั้งสมาคมโรงเรียนนานาชาติ คือ เพื่อเป็นตัวแทนของโรงเรียนนานาชาติในประเทศไทย ซึ่งตอนนี้มีอยู่ 133 โรงเรียน และได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกกับสมาคมฯ 101 โรงเรียน โดยสมาคมฯ จะช่วยเป็นตัวแทนให้กับโรงเรียนนานาชาติ 101 โรงเรียนที่เป็นสมาชิก ในการประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งของรัฐบาลและเอกชน เช่น กระทรวงศึกษาฯ กระทรวงการต่างประเทศ กองตำรวจตรวจคนเข้าเมือง และช่วยดูแลประสานงานในเรื่องเกี่ยวกับกฎหมาย กฎระเบียบต่างๆ ของทางราชการ ที่เกี่ยวเนื่องกับการจัดการศึกษาหลักสูตรนานาชาติของประเทศ
และเป้าหมายหลักอีกหนึ่งอย่างของสมาคมฯ คือ พยายามส่งเสริมเรื่อง “Quality Education” โดยประสานงานร่วมกันกับหน่วยงานทางการศึกษาต่างๆ ทั้งของไทย และต่างประเทศ เพื่อให้เข้ามาประเมิน และรับรองมาตรฐานของโรงเรียนนานาชาติในประเทศไทย ตามกฎของกระทรวงศึกษาธิการ
ใครเป็นผู้ประเมินมาตรฐานให้กับโรงเรียนนานาชาติในประเทศไทย
ตามกฎของกระทรวงศึกษาธิการ โรงเรียนนานาชาติจะต้องมีการประเมิน และรับรองมาตรฐานจากต่างประเทศ โดยจะต้องเริ่มประเมินการเรียนการสอนของโรงเรียนนานาชาติแต่ละแห่งตั้งแต่ชั้น Pre-Kindergarten (เตรียมอนุบาล) ไปจนถึงชั้น High School (มัธยมปลาย) ยกเว้นโรงรียนหรือเนิร์สเซอรี่ที่เปิดสอนแค่ระดับชั้นเตรียมอนุบาล และชั้นอนุบาลเท่านั้น ที่จะได้รับการประเมินคุณภาพจาก สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(องค์การมหาชน) หรือ สมศ. โดยตรง
ส่วนโรงเรียนนานาชาติที่เปิดสอนครบหมดทุกระดับชั้น ทางสมาคมโรงเรียนนานาชาติฯ จะประสานงานกับ สมศ. และองค์กรหลักๆ จากต่างประเทศ 4 องค์กรให้เข้ามาร่วมประเมินคุณภาพและมาตรฐานของโรงเรียนนานาชาติ ซึ่งองค์กรต่างประเทศทั้ง 4 ได้แก่
WASC - Western Association of Schools and Colleges
CIS - Commonwealth of Independent States CIS
NEASC - New England Association of Schools and Colleges
CfBT - Wes World Wide Education Service of CfBT Education Trust
นอกจากนี้ยังมีองค์กรต่างประเทศอื่นๆ อีกหลายองค์กร ที่เข้าร่วมประเมินมาตรฐานโรงเรียนนานาชาติ
แต่หลักๆ ก็คือองค์กรทั้ง 4 นี้ ซึ่งเป็นองค์กรที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน กระทรวงศึกษาธิการ และสมศ.ให้การรับรอง และมีการศึกษาหาแนวทางในการทำงานร่วมกันมานาน จนได้ข้อสรุปว่าสมศ. และองค์กรจากต่างประเทศ องค์กรใดองค์กรหนึ่งจากทั้ง 4 องค์กรจะเข้าไปตรวจเยี่ยมโรงเรียนนานาชาติต่างๆ ร่วมกัน โดยองค์กรต่างประเทศจะประเมินมาตรฐานของโรงเรียนทั้งหมด ส่วน สมศ. จะดูแลในส่วนของการเรียนการสอนภาษาไทยและวัฒนธรรมไทย (โรงเรียนนานาชาติจะให้นักเรียนไทยเรียนภาษาไทยและวัฒนธรรมไทย 5 คาบต่อสัปดาห์ และให้เด็กต่างชาติเรียน 1 คาบต่อสัปดาห์)
ประเมินมาตรฐานเพื่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
การประเมินมาตรฐานโรงเรียนโดยองค์กรต่างประเทศ และ สมศ. ไม่ได้ทำขึ้นเพื่อจับผิดโรงเรียน หรือให้คะแนนว่าโรงเรียนนี้ โรงเรียนนั้นผ่านเกณฑ์หรือไม่ แต่จะเป็นการประเมินเพื่อก่อให้เกิดการแก้ไขปรับปรุงจุดบกพร่องของโรงเรียนให้ดีขึ้นมากกว่า ซึ่งตามกฎนั้น โรงเรียนนานาชาติที่ก่อตั้งขึ้นมา 2 ปี จะต้องขอรับการประเมินจากสมศ. และหาก สมศ. พิจารณาแล้วว่าโรงเรียนแห่งนั้นมีความพร้อมที่จะเข้ารับการประเมิน ก็จะมีการตรวจเยี่ยมครั้งแรก (Preliminary) ว่าโรงเรียนนั้นๆ มีความพร้อมที่จะเข้ารับการประเมินได้จริงหรือไม่
ซึ่งถ้าโรงเรียนแห่งนั้นมีความพร้อมแล้ว โรงเรียนก็ต้องทำ Self Study หรือ การประเมินคุณภาพภายในตามข้อกำหนดของ WASC ซึ่งจะเป็นการดูตั้งแต่ วิสัยทัศน์ของโรงเรียน วิสัยทัศน์ผู้บริหาร การบริหารจัดการโรงเรียน Community Profile ผลการเรียนรู้ การเงิน การรักษาความปลอดภัย หลักสูตร คุณวุฒิของครู สภาพแวดล้อมของโรงเรียน การมีส่วนร่วมของนักเรียนและผู้ปกครอง ซึ่งหัวข้อต่างๆ ในการประเมินเ เป็นสิ่งที่องค์กรจากต่างประเทศจะเข้ามาตรวจสอบโรงเรียนตามนี้
เมื่อโรงเรียนนานาชาติ ทำ Self Study เพื่อศึกษาตัวเองในเชิงลึก
การทำ Self Study ภายในโรงเรียน โรงเรียนจะต้องเชิญทั้งครู ผู้ปกครอง และพนักงานของโรงเรียน มาเป็นคณะกรรมการทำงานร่วมกัน และร่วมพิจารณาเกณฑ์แต่ละข้อที่ทางองค์กรต่างประเทศให้โจทย์มา แล้วดูว่าโรงเรียนของตัวเองเป็นไปตามเกณฑ์การประเมินเหล่านั้นมั้ย แล้วจึงส่ง Self Study ที่ได้ ไปให้องค์กรต่างประเทศและ สมศ. พิจารณา เพื่อที่จะเข้ามาตรวจเยี่ยมอย่างเต็มรูปแบบต่อไป
ซึ่งในการตรวจเยี่ยมอย่างเต็มรูปแบบ ก็จะมีการสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ในโรงเรียน ตั้งแต่ผู้บริหาร และครู รวมถึงภารโรง นักเรียนและผู้ปกครองด้วย เพื่อรับทราบข้อมูลต่างๆ เช่น เรื่องสิ่งแวดล้อมภายในโรงเรียน ความปลอดภัย การเรียนการสอน การบริหารจัดการ แล้วจึงสรุปออกมาว่า โรงเรียนแห่งนั้นมีจุดอ่อนจุดแข็งอย่างไรบ้าง สิ่งที่เป็นจุดแข็ง ก็จะมีการชื่นชมให้กำลังใจ ส่วนที่เป็นจุดอ่อน ก็ต้องผลักดันให้มีการแก้ไขต่อไป และยังมีการดูด้วยว่าโรงเรียนมีอะไรที่สามารถจะพัฒนาต่อไปได้อีก โดยให้ทำเป็น Action Plan ออกมา ว่าทางโรงเรียนจะปรับปรุง และพัฒนาเรื่องใดบ้าง เมื่อโรงเรียนปรับปรุงและพัฒนาจุดต่างๆ ตามที่ได้รับคำแนะนำมาแล้ว ก็ต้องส่งเรื่องกลับไปให้องค์กรต่างประเทศเข้ามาตรวจสอบอีกครั้งว่า เป็นไปตามนั้นมั้ย
ขั้นตอนทั้งหมดที่ว่ามานี้ทุกๆ 5 ปี จะต้องเริ่มทำใหม่ทั้งหมดอีกครั้งหนึ่ง และโรงเรียนนานาชาติทุกโรงเรียนต้องทำ เพราะเป็นมาตรฐานสากล ซึ่งจะเป็นผลดีกับโรงเรียนเอง ทางสมาคมฯ จึงพยายามสนับสนุนให้โรงเรียนนานาชาติที่เป็นสมาชิกสมาคมเข้ารับการประเมินนี้
สำหรับผู้ปกครองท่านไหน ที่อยากรู้ว่าครู Native English กับ ครูเอเชีย ครูแบบไหนจะดีกว่ากัน แล้วครู Backpacker จะสอนลูกเราได้ดีจริงหรือ ติดตามอ่านต่อได้ใน “เลือกโรงเรียนนานาชาติให้ลูก ต้องดูจากอะไรบ้าง ตอนที่ 2: ครูแบบไหนคือหัวใจของโรงเรียนนานาชาติ