ปีที่แล้วมีข่าวที่พ่อแม่หลายๆ คนคงติื่นเต้น และลุ้นไปกับ พรบ. ปฐมวัย โดยเฉพาะกฎหมายห้ามสอบ ที่คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) แต่แล้วเมื่อ พรบ. ไม่ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กอปศ. จะไปต่อหรือพอแค่นี้
นี่จึงเป็นที่มาของการถกประเด็น "ทำไมเด็กอนุบาล จึงไม่ควรสอบเข้าป.1" ซึ่งรักลูกได้สรุปประเด็นมาดังนี้
ตอนนี้เป็นเรื่องที่ต้องการคำตอบในประเด็นการสอบเข้า ป.1 แต่เด็กวัยนี้เป็นวัยเดียวที่ไม่สามารถเรียกร้องสิ่งใดได้ให้กับตัวเค้าเป็นวัยเดียวที่ต้องการการปกป้องคุ้มครองจากผู้ใหญ่โดยเฉพาะผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเด็ก
“เพื่อเป็นหลักประกันว่าเด็กปฐมวัยจะไม่ถูกติว ถูกบังคับให้เร่งเรียนเขียนอ่าน ตั้งแต่วัยยังไม่พร้อม จนเกิดความเครียดต่อเนื่องระยะยาว”
ทำไมต้องมีพระราชบัญญัติการพัฒนาเด็กปฐมวัย
รัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดพุทธศักราช 2560 พูดถึงการพัฒนาเด็กเล็กหรือเด็กก่อนวัยเรียนเอาไว้อย่างชัดเจน เพราะฉะนั้นเมื่อเรามีรัฐธรรมนูญเช่นนี้ เราก็ต้องมีกฎหมายขึ้นมาเพื่อรองรับให้เกิดการปฏิบัติอย่างแท้จริง
ถ้าเรามองนอกเหนือจากรัฐธรรมนูญแล้ว มีข้อมูลทางวิชาการยืนยันได้ว่าปฐมวัยเป็นวัยที่สำคัญที่สุดของชีวิตมนุษย์ทั้งเรื่องการพัฒนาทักษะสมองส่วนหน้าหรือที่เรียกว่า Executive Functions (EF) และการพัฒนาทุกด้านโดยรวม แต่ประเทศไทยกลับตกอยู่ในสภาวะที่ต้องเร่งแก้ไขด่วน
ประเทศไทยเผชิญสถานการณ์ที่พัฒนาการของเด็กปฐมวัยล่าช้า ไม่สมวัย ถึง 30 % เป็นระยะเวลาต่อเนื่องกันมานานกว่า 15 ปีแล้วเด็กไทยก็พัฒนาล่าช้าไปถึง 29 % การพัฒนาทางด้านภาษาของเราก็ล่าช้า ถ้ามองทั้งหมดแล้วมันถึงจุดที่จะต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน
เหตุผลสำคัญที่ต้องยุติการสอบเข้า ป.1 คืออะไร ?
สิ่งที่กระทบต่อความเชื่อ กรอบคิดของสังคมเด็กกลุ่มที่มาสอบ ทั้งสอบได้และไม่ได้เด็กกลุ่มนี้น่าสงสาร ทั้งๆ ที่คุณภาพของเด็กในช่วงชีวิตนี้ดีที่สุดเวลาพัฒนาสมอง ความคิดสร้างสรรค์มันก็หมดไปกับระบบการติวต่างๆและการเร่งเรียน เร่งรัด แล้วความเครียดระยะยาวมันก็ไม่มีผลดีต่อเด็กเลย โดยเฉพาะการพัฒนาสมอง
ฉะนั้นการเร่งรัดเรียนเขียนอ่าน มันทำลายชีวิตในเยาว์วัยของเด็กที่ควรจะเบิกบานและมีความสุข ทำลายทัศนคติที่ดีต่อการเรียนรู้ในอนาคต ทำลายสัมพันธภาพที่ดีของเด็ก แทนที่พ่อแม่จะชวนลูกเล่น ซึ่งมันเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ดีที่สุด
ถ้าเด็กไม่ต้องสอบเข้า ป.1 จะมีแผนรองรับอย่างไร ?
มันจะเชื่อมโยงกับใจความสำคัญของ พ.ร.บ. อีกเรื่องหนึ่ง คือการให้ความรู้กับพ่อแม่ ผู้ปกครอง ชุมชน สังคม ให้เข้าใจ ต้องมีกระบวนการให้ความรู้ทุกขั้นทุกตอนจนกระทั่งเด็กโตขึ้นมา หรือแม้ในตัวเด็กเองโตขึ้นมาก็ต้องมีความรู้ที่จะดูแลตัวเอง
ถ้าถามว่าถ้าไม่สอบจะคัดเลือกอย่างไร การคัดเลือกเด็กยังคงต้องมีอยู่ เพราะว่าความต้องการมันมากกว่าจำนวนที่รับได้ แต่ว่าใน พ.ร.บ. ประสงค์ว่าถ้าจะรับเด็กแล้วจะต้องเป็นการคัดเลือกที่ไม่กระทบต่อตัวเด็ก
พ่อแม่จะทำอย่างไร ในเมื่อคุณภาพของแต่โรงเรียนยังไม่เท่ากัน
ต้องยอมรับว่าโรงเรียนที่จัดสอบ พ่อแม่กลุ่มที่มีโอกาสคือพ่อแม่ที่พาลูกไปติว พ่อแม่กลุ่มนี้ก็จะได้มีโอกาสเข้าสู่ระบบของการสอบ โอกาสของการที่ลูกจะได้เข้าเรียนจึงเยอะกว่า
ถ้าโรงเรียนดีคัดเด็กดี ครูดี ผู้ปกครองดี ในขณะพ่อแม่ที่มีศักยภาพที่จะพัฒนาโรงเรียนหรือการบริหารที่ด้อยคุณภาพก็ไม่ได้ ดังนั้น การกระจายศักยภาพของพ่อแม่สู่โรงเรียนมันก็จะเกิดขึ้น แล้วทุกโรงเรียนก็จะถูกพัฒนาไปสู่มาตรฐานที่ต้องการ
ถ้าไม่กำหนดบทลงโทษ จะไปต่ออย่างไร ?
พ่อแม่ที่พาลูกไปสอบอาจจะไม่เข้าใจ เป็นเพราะเราต่างหากที่ไม่ได้สร้างความเข้าใจให้มากพอ ถ้าโรงเรียนไม่จัดสอบแล้วมันควรแก้ที่ต้นทางอย่างพ่อแม่ดีกว่า แล้วจะทำอย่างไร คณะกรรมการชุดใหม่ภายใต้ พ.ร.บ. อาจจะต้องให้มีบทลงโทษทางสังคมเพิ่มขึ้นด้วย เช่น นอกจากแจ้งกลับไปที่ต้นสังกัดให้พิจารณามาตรฐานคุณภาพ
อาจจะมีคนที่เสียประโยชน์บ้าง แต่หากเราเอาเด็กเป็นตัวตั้ง เด็กปฐมวัยเป็นวัยเดียวที่ไม่สามารถลุกขึ้นมาปกป้องตัวเองได้ พ่อแม่ผู้ปกครอง ครู นักวิชาการ ผู้ใหญ่จะต้องโอบอุ้มและปกป้องคุ้มครองสิทธิของพวกเขา ให้พวกเขาได้ใช้ช่วงปฐมวัยไปกับการสร้างรากฐานชีวิตที่มีคุณภาพ
“เด็กที่ถูกเตรียมพร้อมอย่างมีความสุขและเข้าใจ เขาจะรู้สึกว่ามีพลังชีวิตที่จะเดินต่อไปข้างหน้า มีศักยภาพในการเรียนรู้เพราะเขารักที่จะเรียนรู้ไปตลอดชีวิต”