วันลอยกระทงเป็นประเพณีไทย ที่ทำเพื่อขอขมาพระแม่คงคา แต่เด็กๆ ดูจะตื่นเต้นที่แสง สี เสียง และดูการประกวดต่างๆ ซึ่งหลายบ้านก็ยังมีคนเฒ่าคนแก่ที่บอกให้เด็กๆ ตัดผม ตัดเล็บ ใส่เหรียญ ลงไปในกระทง เพื่อลอยทุกข์ ลอยโศก โรคภัย จริงๆ แล้วยุคนี้เราควรสอนลูกอย่างไรดี ให้รู้จักประเพณีลอยกระทง ลองทำตามดังนี้เลยค่ะ
1. ไม่ใช่การลอยทุกข์ ลอยโศก หรือโรคภัยต่างๆ นะลูก
ตามประเพณีที่จัดงานลอยกระทงก็เพื่อขอขมาต่อพระแม่คงคา ที่เราได้ใช้น้ำ ได้ดื่มน้ำ รวมไปถึงการทิ้งสิ่งปฏิกูลต่างๆ ลงในแม่น้ำโดยตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจก็แล้วแต่ ไม่ใช่การไปขอพรเพื่อตัวเอง หรือขอพรเพื่อคนอื่น
2. กระทงแค่เป็นมิตรต่อแม่น้ำก็พอ
ความเชื่อโบราณ ใส่เล็บ เส้นผม และเหรียญลงไปในกระทง แล้วนำไปลอยน้ำ เพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์ ลอยทุกข์ ลอยโศก โรคภัยต่างๆ ให้ไปกับสายน้ำ แต่ความทุกข์ของคนเรา มันไม่หายไปเพราะลอยกระทง แต่อยู่ที่การกระทำของตัวเอง ไปลอยกระทงแค่ไม่ใช้วัสดุย่อยสลายยาก และแค่ขอขมาพระแม่คงคาก็เพียงพอแล้วนะคะ
3. ไม่ลอยโคมนะ เดี๋ยวไปตกที่บ้านคนอื่น
การปล่อยโคมลอย ไม่ใช่การลอยทุกข์ ลอยโศก แต่เป็นอันตรายต่อคนรอบข้าง ดีไม่ดีการลอยโคม จะไปทำให้ไฟไหม้บ้านของคนอื่นด้วยค่ะ ปรกติจะอนุโลมเพียงสองจังหวัด คือเชียงใหม่และเชียงราย เพราะมีประเพณียี่เป็ง แต่อยู่ภายใต้การเฝ้าระวังของเจ้าหน้าที่ 24 ชั่วโมง นอกนั้นมีกฎหมายห้าม หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
4. ลอยกระทง ไม่จำเป็นต้องเล่นดอกไม้ไฟ ประทัด พลุ
ไม่รู้ว่าเป็นความเชื่อเอาฤกษ์เอาชัยหรือของคู่กัน เมื่อถึงเทศกาลลอยกระทง ใครๆ ก็ต้องเล่นของอันตรายทุกที แต่อย่าปล่อยให้เด็กๆ เล่นดอกไม้ไฟ ประทัด พลุ เด็ดขาด หรือหากอยากเล่น ก็ห้ามเล่นตามลำพัง เพราะเด็กๆ ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ อาจสร้างความรำคาญให้คนอื่น แถมเป็นอันตรายต่อตัวเองด้วย ดังนั้นพ่อแม่ ผู้ปกครอง ต้องคอยดูแลลูกหลานดีๆ เลยค่ะ
ยุคนี้มีลอยกระทงออนไลน์นะคะ เป็นการไม่เพิ่มขยะลงแม่น้ำ แต่การไปลอยกระทงของจริงก็ยังต้องมีอยู่เพื่อรักษาประเพณีไทยต่อไป เพราะฉะนั้นตอนลอยกระทงไม่ว่ารูปแบบใด ควรสอนลูกให้ประหยัดน้ำ รู้คุณค่าของน้ำ ไม่ทิ้งขยะลงแม่น้ำด้วยนะคะ