นมเสริมสำหรับเด็กใครว่าไม่สำคัญ แม่เลือกถูก ลูกพัฒนาการสมองดี เรียนรู้ไม่มีสะดุด
นมเสริมสำหรับเด็กตามช่วงวัย เป็นสิ่งจำเป็นที่คุณแม่จะต้องเลือกให้เหมาะสมกับลูกที่มีความต้องการต่างกัน เพื่อให้เขามีพัฒนาการสมวัย เรียนรู้ได้ดี ไม่มีสะดุด จะเลือกนมเสริมอย่างไร เสริมนมสูตรไหนให้เหมาะกับลูก เรามีคำแนะนำค่ะ
ลูกท้องผูก ท้องอืด โคลิก แหวะนม ปัญหาอันดับต้นที่แม่ต้องรู้ก่อนเลือกนมเสริม
รู้ไหมคะว่า เมื่อลูกเริ่มดื่มนมเสริม ปัญหาอันดับหนึ่งที่พบบ่อยคือ อาการท้องผูก ลูกท้องอืด ซึ่งส่งผลทำให้ไม่สบายท้อง ร้องกวนและโคลิกนั่นเอง สาเหตุหลักมักมาจากระบบย่อยของเด็กยังทำงานไม่สมบูรณ์ ยังไม่สามารถย่อยโปรตีนและน้ำตาลแลคโตสในนมได้หมดจนเกิดเป็นแก๊สในท้อง หากปล่อยไว้นาน อาการท้องผูก ท้องอืด จะส่งผลต่อพัฒนาการเด็กในระยะยาว นั่นคือ ลูกไม่สบายตัว อารมณ์ไม่ดี ไม่พร้อมเรียนรู้ ทำให้การพัฒนาการทั้ง EQ และ IQ สะดุดได้เลยค่ะ ดังนั้น นอกจากสารอาหารสำคัญในนมแล้ว การเลือกสูตรนมที่เหมาะสมสำหรับลูก จึงควรช่วยลดและป้องกันอาการท้องผูก ท้องอืดที่เป็นปัญหาสำคัญนี้ด้วยค่ะ
นมเสริมสำหรับเด็ก เสริมนมสูตรไหนถึงจะเหมาะกับพัฒนาการของลูก
เด็กทุกคนมีความต่างกันค่ะ ดังนั้น การเลือกนมเสริมหรือสูตรนมจึงจำเป็นต้องเลือกให้เหมาะกับความต้องการ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาการของเขาให้มากที่สุด
นมเสริมสำหรับลูกที่มีอาการท้องผูก ท้องอืด โคลิก แหวะนม
สูตรนมเสริมสำหรับลูกท้องผูก ท้องอืดบ่อย ๆ ควรเป็นนมที่มีโปรตีนนมที่ผ่านการย่อยบางส่วน(PHP) ทำให้ขนาดเล็กลง น้ำตาลแลคโตสต่ำกว่าสูตรปกติ นมสูตรนี้จึงย่อยง่ายและดูดซึมที่ลำไส้ได้ดี ช่วยลดอาการไม่สบายท้อง ท้องอืด ท้องผูก ร้องกวน แหวะนม เหมาะสำหรับลูกที่ต้องการสูตรนมที่อ่อนโยน และควรมีสารอาหารสำคัญที่ส่งเสริมการทำงานของสมองไปพร้อมกัน เช่นDHA MFGM หรือเยื่อหุ้มอนุภาคไขมันที่พบได้ในนมแม่ เป็นต้น ทำให้เขาได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อพัฒนาการเด็กตามช่วงวัย เรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่อง ไม่มีสะดุดค่ะ
PHP คือ Partially Hydrolyzed Protein โปรตีนนมที่ผ่านการย่อยบางส่วน จะมีขนาดโมเลกุลบางส่วนเล็กลงเมื่อเทียบกับโปรตีนปกติ ซึ่งคุณแม่มักเรียกนมสูตรที่มี PHP ว่า นมสูตรย่อยง่าย โดยมีผลวิจัยระบุว่า PHP ช่วยลดอาการไม่สบายท้องได้ภายใน 24 ชั่วโมง และช่วยให้อุจจาระอ่อนนุ่มคงตัว ไม่แข็ง ทำให้ถ่ายง่าย* หากลูกมีอาการดื่มนมแล้วท้องผูก ท้องอืด ลองมองหานมเสริมสูตรนี้ค่ะ
*Berseth CL et al, Cline pediatr (Phila). 2009;48:58-65.
นมเสริมพัฒนาการสมองสำหรับลูกวัยพร้อมเรียนรู้
สำหรับเด็ก ๆ ที่ไม่ได้มีอาการไม่สบายท้อง ก็อาจเลือกนมสูตรเสริมพัฒนาการสมองค่ะ เช่น ช่วง 3 ขวบปีแรก เป็นช่วงที่สมองกำลังพัฒนาสูงสุด ลูกกำลังตั้งคำถาม สำรวจสิ่งรอบตัวเพื่อเรียนรู้ ดังนั้น นมเสริมสำหรับลูกวัยนี้จึงควรมีสารอาหารสำคัญที่ช่วยส่งเสริมการทำงานของสมอง เช่น DHA MFGM รวมทั้งสารอาหารอื่นๆ เช่น 2’-FL (ใยอาหารที่ช่วยส่งเสริมระบบทางเดินอาหารและเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน) เป็นต้น
เมื่อร่างกายลูกพร้อม สมองได้รับการส่งเสริมด้วยสารอาหารสำคัญ เขาก็จะเต็มที่กับการออกไปเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ รอบตัวไปพร้อมกับเพื่อน ซึ่งเป็นก้าวสำคัญที่จะทำให้ลูกได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ การปรับตัวเข้าสังคม การช่วยเหลือและแบ่งปัน รวมไปถึงความเข้าอกเข้าใจผู้อื่น ทำให้ลูกมีทั้งความฉลาดทางสติปัญญา (IQ) และความฉลาดทางอารมณ์ (EQ)
คุณแม่รู้หลักการการเลือกนมเสริมสำหรับลูกที่มีความต้องการและการดูแลต่างกันแล้วนะคะ สิ่งสำคัญไปมากกว่านั้นคือ ควรเลือกนมเสริมที่มีสารอาหารสำคัญครบถ้วน เหมาะสมตามช่วงวัยและพัฒนาการ บวกกับการเปิดโอกาสให้ลูกออกไปเล่นและเรียนรู้ กินอิ่ม นอนหลับสบาย รับรองเลยว่าพัฒนาการที่ดีจะเป็นพื้นฐานสำคัญให้เขาต่อยอดไปสู่อนาคตที่ดีที่สุดของเขาเช่นกันค่ะ
(พื้นที่เพื่อการโฆษณาและประชาสัมพันธ์)
ลูกทารกแรกเกิดมักมีอาการผิดปกติบางอย่างที่ทำให้พ่อแม่กังวลใจ นี่คือ 12 อาการที่พบบ่อยในเด็กทารกแรกเกิด พร้อมสาเหตุ วิธีป้องกันและรักษาอย่างถูกต้อง
รวม 12 อาการที่พบบ่อยในเด็กทารก พร้อมวิธีรักษาและการป้องกัน
1. ผื่นผ้าอ้อม ผื่นแพ้ผ้าอ้อม อาการผื่นผ้าอ้อม
ผื่นผ้าอ้อมเกิดขึ้นบ่อยกับเด็กทารกวัย 4 - 12 เดือน แต่ก็นับว่าเป็นเรื่องหนักอกของคุณพ่อคุณแม่ไม่น้อยเลยนะคะ ที่ผิวสวย ๆ ของลูกถูกแทนที่ด้วย ผื่นผ้าอ้อม ผื่นแดง ปื้นแดง ผิวหนังลอกออกเป็นแผ่น ๆ จนทำให้ลูกระคายเคืองเจ็บแสบ แต่อย่าเครียดมากไปนะคะเพราะผื่นผ้าอ้อมจะค่อย ๆ ดีขึ้น และหายไปได้เองหากดูแลอย่างถูกต้อง และเพื่อไม่ให้ผื่นตัวร้ายกลับมาเยือนผิวสวย ๆ ของลูกอีกครั้ง มารู้วิธีปกป้องผิวจากผื่นผ้าอ้อมและยาทาผื่นผ้าอ้อมกันเลยค่ะ อ่านบทความผื่นผ้าอ้อม
2. ลูกพูดช้า
ลูกถึงวัยที่พูดได้แล้ว แต่ลูกยังไม่ยอมพูด ลูกพูดช้า ลูกพูดไม่ได้ ลูกพูดไม่ชัด คุณพ่อคุณแม่คงแอบกังวลใจอยู่ไม่น้อย สาเหตุอะไรที่ลูกพูดไม่ชัด ลูกไม่พูด ลูกพูดช้า แม่แอดมินมีคำแนะนำไว้ดังนี้ค่ะ อ่านบทความวิธีแก้ไขปัญหาพูดช้า
3. กลากน้ำนม เกลื้อนน้ำนม กลากน้ำนม
ถ้าฟังแค่ชื่อก็อาจเข้าใจผิดคิดว่าหมายถึง โรคกลาก ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อรา แต่จริง ๆ แล้ว กลากน้ำนม เป็นคนละโรคกับ โรคกลาก โดยสิ้นเชิง
กลากน้ำนม (Pityriasis Alba) หรือ เกลื้อนน้ำนม คือผิวหนังบางลงโดยไม่ทราบสาเหตุ ทำให้สีผิวบริเวณนั้นจางลงเป็นวงด่าง โดยในช่วงแรกอาจเป็นผื่นชมพูอ่อน ๆ แห้งและตกสะเก็ด คล้ายอาการ ผื่นผิวหนังอักเสบ (Eczema) โรคนี้สามารถพบบ่อยในเด็ก อ่านบทความกลากน้ำนม
4. ลูกแหวะนม ทารกแหวะนม อาการแหวะนม
อาการแหวะนมของทารกช่วงแรกคลอด – 4 เดือน เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ค่ะ สาเหตุของการ แหวะนม เกิดจากเพราะกล้ามเนื้อหูรูดหลอดอาหารและกระเพาะทำงานยังไม่เต็มที่ หรือลูกกินลมเข้าไปมากจากการดื่มนมผิดวิธี เมื่อกล้ามเนื้อแข็งแรงและปรับตัวได้ การกินของลูกจะดีขึ้น อาการแหวะนมจะหายไปได้เอง หากแหวะนมบ่อยมาก เช่น ทุกครั้งหลังดื่มนมลูกจะแหวะนม และแหวะนมร่วมกับอาเจียนเป็นประจำต่อเนื่อง อาจเกิดความผิดปกติในท้อง เช่น เนื้องอก หากแหวะนมเป็นเวลานาน และน้ำหนักลดลง อาจมีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร ควรปรึกษากุมารแพทย์โดยด่วน อ่านบทความแหวะนม
5. ลูกแพ้นมวัว อาการแพ้นมวัว แพ้นมวัว
มักเป็นในเด็กเล็กวัยต่ำกว่า 1 ปี สาเหตุของการแพ้นมวัวเกิดจากพันธุกรรม พ่อแม่เป็นภูมิแพ้ เพราะอาการนี้ถ่ายทอดทางสายเลือดทำให้ลูกแพ้นมวัวได้ รวมถึงการถูกกระตุ้นด้วยสารก่อภูมิแพ้ เช่น ช่วงตั้งครรภ์คุณแม่กินนมวัวมากเกินกว่าปกติ ทำให้ลูกในท้องมีโอกาสที่จะแพ้นมวัวได้ง่ายค่ะ อ่านบทความแพ้นมวัว
6. ลูกเป็นโคลิก อาการโคลิก
โคลิก คือการร้องแบบไม่มีสาเหตุ ปกติแล้วเด็กทารกวัย 1-3 เดือน ลูกร้องไห้แผดเสียง หน้าแดง ร้องเหมือนเจ็บ กำมือแน่น ขางอเข้าหาตัวโดยที่ไม่มีสาเหตุ ร้องมากกว่า 3 ชั่วโมงต่อวัน ร้องมากกว่า 3 วันต่ออาทิตย์ และร้องมากกว่า 3 อาทิตย์ ให้สันนิษฐานได้เลยว่าลูกเป็นโคลิกค่ะ สาเหตุของโคลิกเกิดได้จากหลายอย่าง เช่น ทารกท้องอืดท้องเฟ้อ อากาศหนาวหรือร้อนเกินไป ห้องนอนเสียงดังเกินไป เป็นต้น ดังนั้นหากดูอาการแล้วลูกเข้าข่ายอาการโคลิก คุณแม่สามารถปรึกษาคุณหมอเพื่อการดูแลที่ถูกต้องได้ค่ะ อ่านบทความโคลิก
7. ลูกไม่หลับยาว
การที่ลูกนอนหลับยาก ไม่ยอมนอน หรือตื่นมาร้องไห้งอแงตอนกลางคืน เป็นเรื่องปกติที่คุณพ่อคุณแม่ต้องเจอ เพราะในช่วงแรกหลังคลอด เขายังต้องปรับตัวกับโลกภายนอกท้องแม่ ได้รับแสงสว่าง ได้ยินเสียง หรือสัมผัสอากาศที่ไม่ใช่ในท้องแม่ ซึ่งโดยปกติแล้วเขาจะค่อย ๆ ปรับตัวให้นอนได้ยาวขึ้นทั้งกลางวันและกลางคืนตามพัฒนาการ รวมถึงถ้าจัดสภาพแวดล้อมในการนอน การดูแลก่อนนอนให้ดี เขาจะสามารถปรับตัวและเวลนอนได้ดีขึ้นค่ะ อ่านบทความลูกไม่หลับยาว วิธีทําให้ลูกหลับยาวตอนกลางคืน
8. ทารกตัวเหลืองตาเหลือง ลูกมีภาวะตัวเหลืองหลังคลอด
ภาวะทารกตัวเหลือง คือ ภาวะที่ร่างกายมีสารสีเหลืองที่เรียกว่า บิลิรูบิน (Bilirubin) ในกระแสเลือดมากกว่าปกติ สาเหตุที่เด็กแรกเกิดตัวเหลือง ภาวะตัวเหลืองปกติที่ไม่ใช่โรค พบเป็นส่วนใหญ่ในทารกหลังคลอด เนื่องจากขณะอยู่ในครรภ์มารดา ทารกมีจำนวนเม็ดเลือดแดงมากกว่าทารกหลังคลอด เม็ดเลือดแดงส่วนเกินนี้จะถูกทำลาย สารฮีมภายในถูกเปลี่ยนเป็นบิลิรูบิน แม้ทารกที่มีสุขภาพแข็งแรงดี ประมาณ 50-60% ก็อาจมีภาวะตัวเหลืองได้ตั้งแต่อายุ 2-3 วัน และมักจะหายเหลืองเมื่อมีอายุ 5-7 วัน คำแนะนำเกี่ยวกับภาวะทารกตัวเหลือง อ่านบทความทารกตัวเหลือง
9. ทารกเป็นผื่นร้อน ผดร้อน ผื่นขึ้นหน้าทารก
ผดร้อนทารกมักเกิดขึ้นบ่อยในทารกที่อายุ 1-2 สัปดาห์ เนื่องจากโครงสร้างผิวหนังและต่อมเหงื่อของทารกยังทำงานได้ไม่สมบูรณ์ จึงทำให้เกิดการอุดตันของท่อระบายเหงื่อ ทำให้เกิดผดร้อน ผื่นร้อน มักเป็นผื่นที่มีลักษณะผื่นลมพิษ ตุ่มนูน หรือตุ่มใส ซึ่งบางรายอาการอาจหายได้เอง แต่หากมีผดร้อน ผื่นร้อนมีอาการรุนแรงก็อาจต้องไปพบแพทย์ อ่านบทความผื่นร้อน ผดร้อน
10. ลูกท้องผูก ทารกท้องผูก
อาการท้องผูกคือ ถ่ายลำบาก มีก้อนอุจจาระแข็ง ต้องใช้แรงเบ่งมาก หรือปวดเวลาอุจจาระผ่านออกมา ไม่มีการเคลื่อนไหวของลำไส้ และถ้าหากท้องผูกเกิดในเด็กแล้ว เจ้าหนูก็จะกลัวการถ่ายอุจจาระ เพราะว่าก้อนอุจจาระแข็ง ตอนเบ่งอาจทำให้รูทวารฉีกขาดได้ โดยปกติแล้วลำไส้ใหญ่ จะมีหน้าที่ดูดน้ำกลับเข้าสู่ร่างกาย หากอุจจาระค้างอยู่ในลำไส้ใหญ่นาน อุจจาระจะถูกดูดน้ำจนแข็งและแห้ง เวลาถ่ายยิ่งจะเจ็บมากขึ้นตามลำดับ เวลาปวดท้องเด็กก็จะอั้นไว้ก่อน เพราะกลัวว่าอึแล้วจะเจ็บ ก็เป็นวงจรวนไปทำให้เกิดท้องผูกได้ อ่านบทความท้องผูก
11. ลูกท้องอืด ทารกท้องเฟ้อ
ท้องอืดเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ทารกรู้สึกไม่สบายตัว เกิดขึ้นได้เป็นปกติและมักไม่เป็นอันตราย พ่อแม่ควรเรียนรู้วิธีป้องกันท้องอืด ท้องเฟ้อ และบรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อในเบื้องต้นเพื่อช่วยคลายความอึดอัดให้ลูกน้อย รวมทั้งหมั่นสังเกตอาการผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย เพราะนั่นอาจเป็นสัญญาณของปัญหาเกี่ยวกับระบบย่อยอาหารที่รุนแรงได้
สาเหตุของอาการท้องอืด อึดอัด หรือไม่สบายท้องของลูกน้อยเกิดจากการมีแก๊สสะสมในกระเพาะอาหารมากเกินไป ซึ่งอาจเป็นผลมาจากหลายปัจจัย อาการท้องอืดเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ทารกมีอายุ 2-3 สัปดาห์ แม้ทารกไม่สามารถสื่อสารให้รู้ได้ด้วยคำพูด ทว่าพ่อแม่อาจสังเกตความผิดปกติได้เมื่อลูกน้อยแสดงอาการ อ่านบทความท้องอืด ท้องเฟ้อ
12. ทารกมีสีอึผิดปกติ ลักษณะอึผิดปกติ
อึของลูกนั้นเป็นตัวชี้วัดสุขภาพ เช่น อึสีเหลือง นุ่ม เหมือนสีฟักทองบด อึสีเขียว เป็นต้น คุณแม่จึงต้องหมั่นสังเกตสีอึและลักษณะของอึลูก เพราะหากอึลูกมีความผิดปกติ เช่น มีเหมือกปนออกมา มีกลิ่นเหม็นเน่า หรือ มีรเลือดปนออกมา นั่นอาจเป็นสัญญาณอันตรายที่บ่งบอกว่าเด็ก ๆ กำลังป่วยอยู่ อ่านบทความสีอึ ลักษณะอึทารก
โคลิก (Colic) อาการร้องไห้ไม่หยุดอย่างไม่มีสาเหตุ มักเกิดกับเด็กทารกอายุ 1-3 เดือน อาการโคลิกมีวิธีสังเกตและเป็นอย่างไร แม่จะแก้ไขอาการโคลิกได้อย่างไรบ้าง เรามีคำแนะนำค่ะ
ลูกเป็นโคลิก อาการโคลิกร้องไห้ไม่หยุด แม่มือใหม่ต้องรับมือยังไง
พ่อแม่มือใหม่ถึงกับปวดหัวกับลูกแรกเกิดที่อยู่ ๆ ก็มีอาการร้องไม่หยุด ต่อเนื่องหลายวันจนเป็นเดือน ทั้งที่ป้อนนมจนอิ่มตามเวลา อุ้มกล่อมจนหลับ ห้องนอนไม่มีแสงไม่มีเสียงรบกวน แต่พอถึงเวลาเดิม ๆ โดยเฉพาะตอนกลางคืน ลูกก็จะร้องไห้ขึ้นมาเองไม่หยุด อาการแบบนี้อาจเข้าข่ายโคลิกได้ค่ะ เรามาดูกันว่า โคลิกคืออะไร อาการจริง ๆ เป็นอย่างไร และหาวิธีรับมือโคลิกกันค่ะ
โคลิก คืออะไร
โคลิก (Colic) คือ อาการที่เด็กทารกอายุตั้งแต่ 2 สัปดาห์ขึ้นไป ร้องไห้อย่างหนักโดยไม่ทราบสาเหตุ และไม่สามารถกล่อมให้หาวิธีทำให้หยุดร้องในช่วงนั้นได้เลย มักเกิดกับเด็กทารกช่วงอายุ 1-3 เดือน แล้วจะค่อย ๆ ดีขึ้นหรือหายจากโคลิกได้เองช่วงอายุ 4 เดือน (ไม่เกิน 5 เดือน) โคลิกสามารถเกิดได้ทั้งกับทุกคนโดยไม่ได้จำกัดเพศ หรือสุขภาพ ปัจจุบันยังไม่สามารถหาสาเหตุที่ชัดเจนได้ว่าโคลิกเกิดจากอะไร จึงทำให้คุณหมอเด็กหลายคนให้สาเหตุไว้หลายอย่าง รวมถึงวิธีแก้อาการโคลิกและวิธีรับมือโคลิกก็มีหลากหลายเช่นกัน
โคลิกไม่ใช่โรคหรืออาการร้ายแรงค่ะ มักจะค่อย ๆ หายได้เอง แต่ถ้าหลัง 5 เดือนไปแล้วลูกยังร้องหนักเหมือนเดิม ต้องรีบพาไปพบหมอเพื่อตรวจอย่างละเอียด เพราะอาจเป็นไปได้ว่า ลูกมีความผิดปกติ มีโรคบางอย่างที่ส่งผลให้รู้สึกไม่สบายตัวจึงร้องไห้ยาวนาน
อาการโคลิกเป็นยังไง
- ร้องไห้หนักมาก ในช่วงเวลาเดิม ๆ โดยเฉพาะช่วงเย็นหรือหัวค่ำ บางคนก็จะตื่นมาร้องกลางดึก แต่จะเป็นเวลาเดิมเสมอ
- ร้องไห้ประมาณ 3 ชั่วโมงต่อวัน สัปดาห์ละประมาณ 3 วัน ต่อเนื่องอย่างน้อย 3 สัปดาห์
- อ้าปากกว้าง ร้องเสียงดัง ร้องเสียงแหลม แผดเสียงแบบไม่กลั้น
- ในเด็กบางคนอาจร้องจนหน้าแดง มีอาการเกร็งแขนขา กำหมัดแน่น ขางอเข้าหาหน้าท้อง
สาเหตุของอาการโคลิก
ปัจจุบันยังไม่มีการวินิจฉัยที่ระบุสาเหตุของโคลิกอย่างชัดเจน แพทย์จึงสันนิษฐานว่า โคลิกอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุที่ส่งผลต่อความสบายตัวอย่างเด็ก เช่น
- มีลมหรือแก๊สในท้องมากเกินไปจากการกินนมผิดวิธี ทำให้ไม่สบายท้อง หรือในบางกรณีทารกดื่มนมชงที่ย่อยยาก ทำให้ท้องอืด
- อาจมีการหดเกร็งของกล้ามเนื้อในระบบทางเดินอาหาร ทำให้ปวดท้อง
- ในห้องนอนมีแสง เสียง หรือกลิ่นที่รบกวนการนอน ทำให้ร้องไห้งอแง
- การพัฒนาของระบบประสาทที่ยังไม่สมบูรณ์ หรือการระคายเคืองของระบบประสาท
- ปัญหาทางสุขภาพของทารก เช่น กรดไหลย้อน หูอักเสบ โรคติดเชื้อของระบบทางเดินปัสสาวะ ไส้เลื่อน แพ้นมวัว ผื่นผ้าอ้อม เป็นต้น
- สุขภาพจิตของแม่ เพราะบางครั้งที่คุณแม่มีภาวะเครียด หดหู่ หรือซึมเศร้าหลังคลอด อาจส่งผลถึงอารมณ์ทารกเช่นกัน
แก้อาการโคลิก ป้องกันโคลิกอย่างไร
- ให้ลูกกินนมเป็นเวลา ไม่มากไปหรือน้อยไป และให้กินนมในท่าที่ถูกต้อง เพื่อป้องกันลูกกลืนลมเข้าท้องมากไป
- หากเข้าเต้า ปากลูกต้องครอบไปถึงลานนม คางชิดเต้า จมูกเชิด เป็นท่าที่ลูกดูดและกลืนนมได้อย่างถูกต้อง
- หากลูกกินนมจากขวด จุกนมต้องพอดีกับขนาดปากลูก ปิดฝาขวดนมให้ดี ไม่มีอากาศมากเกินไปตอนลูกดูดนม
- หลังให้นมลูกแล้ว ควรอุ้มเรอนมก่อนทุกครั้ง
- จัดห้องนอนให้เงียบและไม่มีแสง เพื่อให้ลูกรู้สึกสงบที่สุดในการนอน หรืออาจเปิดเพลงประเภท White Noise ช่วยให้ลูกผ่อนคลาย ดูลิสต์เพลงกล่องเด็ก เพลง White Noise
- ห่อตัวลูกตอนนอน และต้องมั่นใจว่าเปลี่ยนผ้าอ้อมสะอาด ไม่อับชื้นก่อนนอน เพื่อให้ลูกรู้สึกอบอุ่น ปลอดภัย หลับง่ายขึ้น
- นวดตัวลูกเพื่อให้ผ่อนคลาย รู้สึกสบายตัว
- เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยเฉพาะการเข้าเต้า เพราะนมแม่ย่อยง่าย สบายท้อง และทำให้ลูกรู้สึกอบุอุ่นปลอดภัย ไม่ผวา หลับง่าย
- กรณีที่ลูกดื่มนมชง อาจเลือกนมสูตรย่อยง่าย โปรตีนย่อยง่าย ป้องกันอาการท้องอืดหรือท้องผูก
อาการโคลิกแบบที่ไหนที่ควรพบแพทย์โดยด่วน
- ร้องหนักตลอดทั้งวัน หรือร้องจนสำลัก ไอมาก
- มีอาการชักเกร็ง
- มีไข้ ถ่ายเหลวมีเมือกหรือมีเลือดปน ซึ่งอาจเกิดจากการติดเชื้อ ไม่สบาย
- หลัง 6 เดือนไปแล้วยังร้องไห้แบบเดิม ต้องปรึกษาคุณหมอ เพราะลูกอาจมีความผิดปกติ เช่น ระบบประสาท มีปัญหาลำไส้ เป็นต้น
ภาวะร้องกลั้นเป็นอีกหนึ่งอาการที่มักพบบ่อยในเด็กทารกแรกเกิด ร้องกลั้นเป็นอย่างไร สามารถป้องกันหรือรักษาภาวะร้องกลั้นได้ไหม คุณหมอมีคำแนะนำมาให้คุณพ่อคุณแม่ได้สังเกตอาการร้องกลั้น พร้อมวิธีรับมือแบบอย่างถูกต้องค่ะ
เข้าใจภาวะลูกทารกร้องกลั้น ไม่อันตรายอย่างที่คิด ถ้าพ่อแม่พร้อมรับมือ
การร้องกลั้นคืออะไร
การร้องกลั้น (breath-holding spell) คือ การร้องไห้อย่างรุนแรง ตามด้วยการกลั้นหายใจโดยไม่ตั้งใจในช่วงสิ้นสุดการหายใจออก ทำให้เด็กมีอาการเขียวหรือซีดได้ มักเกิดขึ้นหลังจากมีสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดความกลัว โกรธหรือเจ็บ หากมีอาการเป็นระยะเวลานานอาจหมดสติหรือชักช่วงสั้น ๆ ร่วมด้วยได้ พบได้ในช่วงอายุ 6 เดือนถึง 5 ปี แต่อาการจะค่อยๆลดลง เมื่ออายุมากขึ้น พบบ่อยช่วงอายุ 16-18 เดือน
ภาวะร้องกลั้นมี 3 ประเภท
- มีอาการเขียว (Blue/ Cyanotic spells) พบบ่อยที่สุด
- มีอาการซีด (Pale/ Pallid spells)
- แบบผสม (Mixed spells)
วิธีสังเกตอาการร้องกลั้น
- ลูกร้องไห้ไม่มีเสียง
- อ้าปากค้าง
- ตัวเกร็ง
- ปากเขียวม่วงหรือซีด
อาการร้องกลั้นแบบไหนถึงอันตราย
หากมีอาการ คุณพ่อคุณแม่ควรปรึกษากุมารแพทย์ที่ดูแลเพื่อหาสาเหตุที่อาจหลบซ่อนอยู่ เช่น ภาวะชัก (ถ้าลูกมีอาการชักเกร็งนานกว่า 1 นาที ยิ่งน่าสงสัย) หรือภาวะซีดจากการขาดธาตุเหล็ก หรืออาการของโรคหัวใจ หากตรวจร่างกายปกติ และอาการเข้าได้กับภาวะร้องกลั้นในเด็ก คุณพ่อคุณแม่จะได้สบายใจค่ะ
คำแนะนำหากลูกร้องกลั้น
- ทำความเข้าใจก่อนว่า ภาวะนี้ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อเด็ก แม้ว่าเด็กจะหมดสติ เด็กก็จะเริ่มหายใจได้เอง และเมื่อเด็กตื่นพ่อแม่ไม่ควรแสดงความกังวลมากนัก
- เอาผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดหน้าลูก ภายใน 15 วินาทีแรกของการหยุดหายใจ อาจทำให้อาการดีขึ้นได้
การป้องกันภาวะร้องกลั้น
- หาสาเหตุที่ทำให้ลูกร้องก่อน เพราะส่วนใหญ่ลูกมักจะร้องเมื่อหิว ง่วง หรือไม่สบายตัว
- ถ้าเป็นไปได้ควรหลีกเลี่ยงเหตุการณ์ที่ทำให้เด็กรู้สึกเจ็บ กลัว หรือโกรธมาก ๆ และกำหนดขอบเขตสิ่งที่เด็กควรจะได้รับหรือทำให้ชัดเจน แต่ไม่ใช่การตามใจที่จะทำให้เด็กมีอาการมากขึ้น เพื่อเรียกร้องความสนใจ
- หากไม่พบสาเหตุ และลูกยังร้องไห้ไม่รุนแรงมาก ให้ลองอุ้ม ปลอบ หรือ เบี่ยงเบน ชวนให้ลูกสนใจสิ่งอื่น การพาลูกออกไปเดินเล่น เปลี่ยนบรรยากาศ หรือทำกิจกรรมอะไรใหม่ ๆ อาจช่วยเปลี่ยนอารมณ์ลูกให้ดีขึ้นได้
สิ่งที่พ่อแม่ห้ามทำเด็ดขาดเมื่อลูกมีอาการร้องกลั้น
- ห้ามเขย่าเด็กแรง ๆ หรือตีเด็ก
- การเขย่าลูกอย่างรุนแรง จากอารมณ์โกรธหรือโมโหหรือเพื่อให้ลูกหยุดร้อง การกระทำแบบนี้นอกจากลูกจะไม่หยุดร้องหรืออาจจะยิ่งร้องหนักกว่าเดิม คืออาจส่งผลเสียต่อลูกถึงขั้นพิการได้
- ห้ามตะโกนใส่เด็กเล็ก พ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูต้องใจเย็น เมตตาเด็ก พยายามเข้าใจว่าเขายังสื่อสารด้วยคำพูดไม่ได้จึงต้องใช้วิธีการร้องไห้ แต่หากคิดว่าไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตนเองในขณะนั้นได้ หรือหงุดหงิดมาก ควรเรียกหาคนใกล้ชิดที่ไว้ใจได้มาดูแลเด็กแทนในช่วงนั้น
การร้องไห้ของทารก เป็นเรื่องน่ากังวลใจของคุณพ่อคุณเเม่อยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะพ่อแม่มือใหม่ แต่หมออยากให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจว่า การร้องไห้คือการสื่อสารของลูก เพื่อบอกสิ่งที่ตัวเองต้องการ และเป็นการเรียนรู้หรือมองหาว่า เขามีคนที่คอยปกป้องอยู่หรือไม่ ดังนั้นหากเด็กได้รับการตอบสนองอย่างเหมาะสม เขาจะเชื่อใจ และสร้างสายสัมพันธ์ที่ดีกับคุณพ่อคุณแม่ได้ ภาวะการร้องกลั้นหรือร้องไห้อย่างรุนแรงก็จะค่อยๆลดลงอย่างแน่นอน
รักลูก Community of The Experts
พญ.สินดี จำเริญนุสิต
กุมารเวชศาสตร์พัฒนาการและพฤติกรรม