facebook  youtube  line

ความหวังใหม่ในการรักษาเด็กพิเศษ

วิธีรักษาเด็กพิเศษ-วิธีดูแลเด็กพิเศษ-การรักษาเด็กพิเศษ-ยารักษาเด็กพิเศษ-เทคโนโลยีรักษาเด็กพิเศษ

แม้การรักษาเด็กพิเศษในปัจจุบันโดยส่วนใหญ่จะยังไปไม่ถึงระดับการรักษาให้หายขาดจากตัวโรค แต่ก็มีความพยายามของแพทย์ นักวิทยาศาสตร์ เภสัชกร นักวิจัย รวมไปถึงวิศวกร ในการคิดค้นวิธีการใหม่ ๆ ในการรักษาเด็กพิเศษให้อาการดีขึ้นหรือแม้แต่ทำให้หายจากอาการที่เป็นอยู่

แม้การรักษาเหล่านี้โดยส่วนมากจะยังไม่ใช่การรักษามาตรฐาน แต่คุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองก็อาจจะพอเคยได้ยินชื่อมาบ้าง บทความนี้หมอก็เลยจะเล่าให้ฟังเกี่ยวกับการรักษาใหม่ ๆ ที่อาจจะนำมาใช้กับเด็กพิเศษในอนาคต ซึ่งอาจจะเป็นอีกไม่นานก็เป็นได้

1. การรักษาอาการเด็กพิเศษโดยการใช้ของยา

ปัจจุบันมีความพยายามในการผลิตยารุ่นใหม่ที่ให้ผลการรักษาที่ดีขึ้นและผลข้างเคียงน้อยลงอยู่พอสมควร แม้ในปัจจุบันจะมียารักษาเด็กพิเศษอยู่หลายชนิด แต่ก็ยังมีปัญหาในการใช้งานอยู่บ้าง ไม่ว่าจะเป็นผลข้างเคียงที่ทำให้ง่วง หรือผลข้างเคียงที่ทำให้เบื่ออาหารในยาบางชนิด รวมไปถึงกลไกการออกฤทธิ์ที่อาจจะไม่ตรงกับพยาธิสภาพของตัวโรคเท่าใดนัก เนื่องจากต้องยอมรับว่ายาที่ใช้กับเด็กพิเศษ ส่วนหนึ่งก็เป็นยาที่ผลิตโดยมีจุดมุ่งหมายในเบื้องต้นเพื่อรักษาโรคของผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นโรคจิตเภทหรือโรคซึมเศร้า ไม่ได้เจาะจงมาใช้กับเด็กโดยตรง

อย่างไรก็ดี ได้มีความพยายามในการผลิตยาใหม่ ๆ ที่มีกลไกการออกฤทธิ์ในตำแหน่งของสมองที่แตกต่างจากเดิม และมีความจำเพาะต่อตัวโรคของเด็กพิเศษมากยิ่งขึ้น รวมถึงมีผลข้างเคียงน้อยลงด้วย ก็หวังว่ายาเหล่านั้นจะออกมาสู่ท้องตลาดให้คุณหมอทั้งหลายได้ใช้กันในอีกไม่ช้า และมีราคาไม่แพงจนเกินไปนัก

 

2. การรักษาอาการเด็กพิเศษด้วยเซลล์ต้นกำเนิดหรือสเต็มเซลล์ (stem cell)

หลายท่านคงจะเคยได้ยินเรื่องของเซลล์ต้นกำเนิดในการรักษาโรคต่าง ๆ กันมาบ้าง โดยเฉพาะเรื่องของความสวยงามและการป้องกันริ้วรอยความชรา แต่ในบทความนี้จะขอเน้นที่ การรักษาในกลุ่มเด็กพิเศษ ซึ่งข้อมูลในปัจจุบันแสดงให้เห็นว่า การรักษาด้วยเซลล์ต้นกำเนิดสามารถนำไปใช้รักษาผู้ป่วยเด็กที่เป็นโรคทางพันธุกรรมให้หายขาดแล้วหลายโรค เช่น โรคธาลัสซีเมีย หรือโรคขาดเอนไซม์บางอย่าง เป็นต้น

อย่างไรก็ดี การรักษาดังกล่าวในกลุ่มเด็กพิเศษโดยทั่วไปยังคงมีข้อจำกัดอยู่ เนื่องจากตัวโรคของเด็กพิเศษมักจะไม่ได้เกิดจากความผิดปกติของยีนใดยีนหนึ่งเพียงอย่างเดียว แต่เป็นผลร่วมระหว่างการกลายพันธุ์ของยีน ซึ่งอาจจะมีได้หลายชนิดกับปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม เช่น การเลี้ยงดู สภาพสังคม เป็นต้น การจะแก้ไขยีนที่กลายพันธุ์เพียงอย่างเดียวโดยหวังผลให้อาการหายจึงเป็นเรื่องยาก เพราะมีปัจจัยอื่น ๆ มาเกี่ยวข้องด้วย นอกจากนี้ การรักษาด้วยเซลล์ต้นกำเนิดในเด็กพิเศษยังมีข้อจำกัดในด้านเทคนิคเกี่ยวกับสมองส่วน ที่เป็นเป้าหมายและระยะของเซลล์ที่ควรจะฉีดในแต่ละโรคอีกด้วย เพราะกลไกการเกิดโรคในกลุ่มเด็กพิเศษยังไม่เป็นที่เข้าใจกันอย่างชัดเจน

รวมไปถึงเรื่องความเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงจากการฉีดเซลล์ต้นกำเนิดเหล่านี้ ที่อาจจะทำให้เกิดปฏิกิริยาต่อต้านของร่างกายอย่างรุนแรงหรือในกรณีที่น่ากลัวที่สุด คือ การที่เซลล์เหล่านี้กลายเป็นเนื้องอกหรือมะเร็งไป ที่กล่าวมานี้ไม่ได้จะบอกว่าการรักษาด้วยเซลล์ต้นกำเนิดเป็นเรื่องอันตรายนะครับ เพียงแต่การนำเทคนิคนี้มาใช้ในเด็กพิเศษยังคงเร็วเกินไป ต้องอาศัยข้อมูลการวิจัยมากกว่านี้อีกมากพอสมควรจึงจะสามารถนำมาใช้ได้ครับ


วิธีรักษาเด็กพิเศษ-วิธีดูแลเด็กพิเศษ-การรักษาเด็กพิเศษ-ยารักษาเด็กพิเศษ-เทคโนโลยีรักษาเด็กพิเศษ

3. การรักษาอาการเด็กพิเศษด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารระหว่างสมองและคอมพิวเตอร์

brain-computer interface หรือเรียกสั้นๆ ว่า BCI หมายถึง การนำเอาคอมพิวเตอร์มาใช้ในการช่วยเหลือผู้ป่วย โดยอาศัยการควบคุมจากสมองหรือร่างกายของเราแทนการกดปุ่มคำสั่งตามปกติ เช่น การสั่งเปิดปิดโทรทัศน์ผ่านการกระพริบตา การควบคุมการเคลื่อนที่ของรถเข็นด้วยสมองโดยตรงโดยอาศัยการที่คอมพิวเตอร์จะไปอ่านและทำความเข้าใจรูปแบบคลื่นไฟฟ้าสมองที่เกิดขึ้น เพื่อนำไปแปลผล ซึ่งในกรณีนี้คือการควบคุมการเคลื่อนที่ของรถเข็น

เทคนิคทางคอมพิวเตอร์เหล่านี้จะสามารถช่วยบุคคลที่ป่วยด้วยโรคทางระบบประสาท เช่น น้องเด็กพิเศษที่เป็นโรคซีพีในการเคลื่อนไหวร่างกาย หรือ ในผู้ป่วยโรคความเสื่อมของระบบประสาทสั่งการ ก็จะได้รับประโยชน์โดยตรงในการช่วยด้านการเคลื่อนไหวครับ เพียงแต่เทคโนโลยีดังกล่าวยังคงอยู่ในระดับการวิจัยหรือใช้ในการรักษาเป็นราย ๆ ไป มากกว่าจะใช้เป็นการรักษามาตรฐาน ซึ่งคงต้องอาศัยเวลา รวมไปถึงการกำหนดนโยบายของภาครัฐเกี่ยวกับการใช้อุปกรณ์เหล่านี้ในการรักษาอีกสักพักครับ

4. การรักษาอาการเด็กพิเศษด้วย การกระตุ้นด้วยไฟฟ้าในสมอง (brain stimulation)

เป็นเทคนิคที่ต้องอาศัยการผ่าตัดเพื่อใส่เครื่องไว้ในส่วนของเนื้อสมอง เพื่อกระตุ้นการทำงานของสมองโดยตรง ซึ่งมีการใช้เป็นอย่างมากในผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน ซึ่งได้ผลการรักษาที่ดีพอสมควร 

การนำเทคนิคนี้มาใช้ในการรักษาเด็กพิเศษอาจจะต้องการข้อมูลการวิจัยอีกเป็นจำนวนมาก เพราะพยาธิสภาพในสมองของเด็กพิเศษเกิดจากสมองที่มีการพัฒนาล่าช้า ไม่ได้เกิดจากสมองโดนทำลายเหมือนในโรคพาร์กินสัน รวมไปถึงต้องอาศัยการผ่าตัดสมอง จึงไม่น่าจะเป็นตัวเลือกแรก ๆ ในกลุ่มผู้ป่วยวัยเด็ก อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันได้มีการพัฒนาเทคนิคการกระตุ้นสมองผ่านกะโหลกศีรษะ คือ ปล่อยกระแสไฟฟ้าหรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าบนหนังศีรษะโดยไม่ต้องผ่าตัด เพื่อไปกระตุ้นหรือยับยั้งการทำงานของเซลล์ประสาทในส่วนของสมองใหญ่โดยตรง วิธีการดังกล่าวประกอบไปด้วย

5. การรักษาอาการเด็กพิเศษด้วย การกระตุ้นสมองด้วยไฟฟ้ากระแสตรงผ่านกะโหลกศีรษะ

การรักษาอาการเด็กพิเศษด้วยการกระตุ้นสมองด้วยไฟฟ้ากระแสตรงผ่านกะโหลกศีรษะ (transcranial direct current stimulation หรือ tDCS) และ การกระตุ้นสมองด้วยสนามแม่เหล็กผ่านกะโหลกศีรษะ (transcranial magnetic stimulation หรือ TMS) มีรายงานผลการวิจัยที่แสดงให้เห็นผลดีของการรักษาด้วยเทคนิคดังกล่าวในกลุ่มเด็กพิเศษอยู่บ้าง แต่การรักษาด้วยการกระตุ้นสมองผ่านกะโหลกศีรษะเหล่านี้ยังไม่ได้เป็นการรักษามาตรฐาน และอาจจะมีผลแทรกซ้อน เช่น อาการชักเกิดขึ้นได้ จึงต้องอาศัยการวิจัยอีกสักระยะ ซึ่งก็มีหลายหน่วยงานในประเทศของเราที่มีการทำวิจัยเกี่ยวกับเครื่องมือเหล่านี้อยู่ครับ

กล่าวโดยสรุป ในปัจจุบันได้มีการพัฒนาเทคนิคการรักษาใหม่ ๆ เพื่อช่วยเหลือน้องเด็กพิเศษให้มีอาการดีขึ้น หรือการหายจากตัวโรคอยู่ แต่การรักษาเหล่านี้จะยังต้องอาศัยข้อมูลการวิจัยอีกพอสมควร จึงสามารถนำมาใช้งานได้จริงในการดูแลผู้ป่วยตามมาตรฐานวิชาชีพ แต่ก็ถือเป็นความหวังใหม่ในการรักษา

อย่างไรก็ดี แม้จะมีเทคนิคการรักษาใหม่ ๆ มาใช้ร่วมในการรักษา แต่การฝึกกระตุ้นพัฒนาการและการรักษาด้วยยา (ในเด็กบางราย) ก็ยังคงเป็นวิธีการหลักในช่วยเหลือน้องๆ เด็กพิเศษให้มีพัฒนาการดีขึ้นอยู่ครับ เพราะหากอยากให้สมองฟื้นฟูตรงไหน ก็ต้องใช้งานในส่วนนั้นให้มากขึ้นครับ


ผศ.นพ.วรสิทธิ์ ศิริพรพาณิชย์
กุมารแพทย์ด้านโรคสมอง 
 

รักลูก The Expert Talk EP 04:รู้จักหนูคนพิเศษ และหนูน้อย “LD”

รักลูก The Expert Talk EP 04:รู้จักหนูคนพิเศษ และหนูน้อย “LD”

สถิติของเด็กพิเศษมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทั้งจากพฤติกรรมการเลี้ยงดูของพ่อแม่ จากตัวของโรคและความผิดปกติจากสมอง เพราะเราเข้าใจว่า คุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกคนพิเศษ ต้องใช้ความเข้าใจ รวมถึงต้องการวิธีการ และแนวทางการดูแลลูกคนพิเศษ

“รักลูกเป็นพิเศษ” จึงเชิญผู้เชี่ยวชาญ รศ. ดร. นพ.วรสิทธิ์ ศิริพรพาณิชย์ มาร่วมพูดคุยเพื่อสร้างกำลังใจให้กับคุณพ่อคุณแม่

EP04 เราชวนมารู้จักหนูคนพิเศษและเข้าใจหนูน้อย LD ให้มากขึ้น เพื่อไขความข้องใจ แบบไหนใช่ LD หรือไม่ใช่? 

สถานการณ์เด็กพิเศษปัจจุบัน

เป็นลักษณะของการตระหนักของสังคมในยุคนี้ว่าความบกพร่องหรือความล่าช้าในเรื่องของพัฒนาการเป็นสิ่งที่พ่อแม่ให้ความสนใจค่อนข้างมาก ประกอบกับเกณฑ์การวินิจฉัยของโรคในกลุ่มนี้ได้มีการเปลี่ยน เพราะฉะนั้นถ้าเราสังเกตจะเห็นว่าความชุกของโรคในกลุ่มพัฒนาการล่าช้ามีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น

ในประเทศสหรัฐอเมริกามีงานวิจัยพูดถึงว่าความชุกของโรคนกลุ่มนี้พบได้ราวๆ เกือบร้อยละ 20 ของเด็กวัยเรียน ถือว่าค่อนข้างเยอะ เพราะถ้าเราตีในชั้นเรียนหนึ่งประมาณ 40-50 คน ร้อยละ 20 นี้ถือว่ามีปริมาณพอสมควรในชั้นเรียนเลย ในไทยเองก็มีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้น

เพียงแต่การทำวิจัยตรงนี้ของประเทศไทยเองอาจจะมีข้อมูลของแต่ละโรคไม่ชัดเจนมากนัก ตัวอย่างเช่น ในกรณีของโรคสมาธิสั้นเคยมีงานของคุณหมอทวีศิลป์ (นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน) สมัยที่ท่านเป็นผู้อำนวยการสถาบันกัลยาราชนครินทร์ ท่านเคยศึกษาไว้ว่าความชุกของสมาธิสั้นในประเทศไทยอยู่ราวๆ ร้อยละ 8 ของเด็กวัยเรียน ซึ่งถือว่าค่อนข้างเยอะ เมื่อกี้ร้อยละ 20 คือทุกโรครวมกัน

นิยามเด็กพิเศษ

ลักษณะของเด็กที่เราใช้คำว่าเด็กพิเศษ คือ เด็กที่มีความต้องการพิเศษ ต้องการความช่วยเหลือบางอย่างเป็นพิเศษ เมื่อเทียบกับเด็กคนอื่นๆ มักหมายถึงเด็กที่มีปัญหาพัฒนาการล่าช้าในบางด้าน หรือในทุกด้าน ก็แล้วแต่โรคจะมีลักษณะอย่างไร

บางโรคอาจจะต้องการความช่วยเหลือเรื่องการติดต่อสื่อสาร บางโรคเป็นเรื่องของพัฒนาการล่าช้าที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมตัวเอง หรือบางโรคก็จะเป็นปัญหาเรื่องของระบบประสาทพื้นฐาน เช่น การมองเห็น การได้ยิน เป็นต้น

หลักการของการเกิดโรคในกลุ่มเด็กพิเศษ จริงๆ เกิดมาจากปัญหาของระบบประสาท ก็คือ เป็นโรคนี้จริง แต่ปัจจุบันเราพบสภาวะที่ชอบใช้คำว่า เทียม จริงๆ แล้วลักษณะว่าจะเป็น ออทิสติกเทียม หรือ สมาธิสั้นเทียม ไม่มีโรคแบบนี้อยู่จริงนะ เพียงแต่เป็นลักษณะของการใช้คำใกล้เคียงกับตัวโรคหลัก แต่ปัญหาไม่ได้เกิดจากตัวเด็ก แต่เกิดจากแนวทางการเลี้ยงดูที่ทำให้ตัวเด็กเองซึ่งไม่ได้เป็นโรคแต่มีอาการคล้ายกับการเป็นโรคได้ คือเหมือนเป็นปัญหาจากการเลี้ยงดูทำให้เกิดอาการคล้ายๆ กับเป็นโรคซึ่งจริงๆ ไม่ได้เป็น

เพราะฉะนั้นเด็กที่มีสภาวะ เทียมทั้งหลาย เมื่อได้รับการปรับการเลี้ยงดู เด็กจะสามารถดีขึ้นได้ไวเพราะตัวเค้าเองไม่ได้เป็นโรค ซึ่งคุณพ่อคุณแม่สามารถใช้พฤติกรรมบำบัดหรือกิจกรรมส่งเสริมลูกได้

กลุ่มอาการลูกคนพิเศษที่พบได้บ่อยในสภาวะปัจจุบัน

ต้องอ้างอิงที่เขาสำรวจกันในประเทศสหรัฐอเมริกาอีกเช่นเดิม ตัวงานวิจัยมักออกมาจากตรงนั้นเยอะ อย่างที่หมอได้บอกแล้วว่าเราพบว่าเด็กที่มีปัญหาในเรื่องของพัฒนาการในวัยเรียนเจอได้เกือบๆ ร้อยละ 20 ครึ่งหนึ่งเป็นโซนสมาธิสั้น อยู่ประมาณร้อยละ 8 ถึงร้อยละ 9

อันดับสองรองลงมาคือกลุ่มLD คือกลุ่มที่มีปัญหาเรื่องของการเรียนรู้ ซึ่งเราจะคุยรายละเอียดกันต่อไป แล้วก็จะเป็นโรคอื่นๆ อีก อย่างออทิสซึ่ม ก็จะเจออยู่ราวๆ ประมาณ 2% แล้วก็จะเป็นกลุ่มโรคผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการมองเห็นผิดปกติ หรือปัญหาการได้ยิน อันนี้จะอยู่ราวๆ ที่น้อยกว่าร้อยละ 1 แล้วก็โรคอื่นๆ อีกสักกลุ่มหนึ่ง

เข้าใจโรค LD

LD เป็นการเรียกทับศัพท์ภาษาอังกฤษย่อมาจากคำว่า Learning Disability กลุ่มที่มีภาวะบกพร่องในการเรียนรู้ ซึ่งเด็กกลุ่มนี้เองมักมีปัญหา 1 ใน 3 แบบ คือ มีปัญหาเรื่องของการอ่าน มีปัญหาเรื่องของการเขียน และมีปัญหาเรื่องของการคำนวณ เป็นทักษะสำคัญในเรื่องของการเรียนรู้

เพราะฉะนั้นเด็กกลุ่มนี้เองเวลามีปัญหาในเรื่องการอ่าน การเขียน หรือการคำนวณ มันจะส่งผลกระทบการใช้ชีวิตในโรงเรียนของเขาเยอะมาก เพราะทักษะ การคำนวณ การอ่าน การเขียน ต้องใช้กับทุกวิชา เพราะฉะนั้นลักษณะของเด็กกลุ่มนี้เองเราจะพบว่าในช่วงแรกเขาจะดูปกติ แต่พอเรียนไปสักพักเด็กก็ต้องมีความเหนื่อย และมีความพยายามในการเรียนมากขึ้น

ถ้าเขามีปัญหาเรื่องการอ่านเขาก็อาจจะอ่านไม่ได้อย่างที่ควรจะเป็น พออ่านไม่ได้เขาก็เสียโอกาสในการเรียนรู้สิ่งอื่นๆ ตามไปด้วย หรือในเด็กบางคนที่คำนวณเลขไม่ได้

ตัวอย่างของเด็กกลุ่มนี้ บางคนใช้วิธีท่องจำวิชาคณิตศาสตร์ คือจำไปเลยว่า 1 บวก 1 เท่ากับ 2 แต่ไม่ได้มาจากความเข้าใจคือจำเอา

พ่อแม่จะรู้ได้ตอนไหน ว่าลูกมีอาการ LD

การวินิจฉัยภาวะ LD คือเขามีศักยภาพในการเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นการอ่าน การเขียน หรือคำนวณ ต่ำกว่าชั้นเรียนจริงอย่างน้อย 2 ชั้น ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเขาอยู่ ป.4 ผลการเรียนของเขาในเรื่องของการคำนวณอยู่ในระดับเด็ก ป.2 หรือต่ำกว่าเขาก็เป็น LD ในเรื่องการคำนวณ

ในกรณีของการอ่านเด็ก ป.5 อ่านได้เท่ากับเด็ก ป.2 อันนี้ก็ลักษณะ LD ที่เกี่ยวข้องกับการอ่าน ซึ่งจะรู้ก็ต่อเมื่อลูกเราเข้าระบบการเรียนการสอน คุณครูจะบอกว่าเขาเขียนหนังสือไม่ได้นะ เขาอ่านไม่ได้นะ หรือเขาคำนวณเลขไม่ได้

เพราะเกณฑ์การวินิจฉัยโรคจำเป็นต้องเทียบกับรูปแบบการศึกษาปกติ ฉะนั้นโรคพวกนี้เองตอนเด็กๆ เราจะไม่รู้ ต้องรอเด็กเข้าระบบการศึกษาก่อน ถึงจะพอสังเกตได้ว่าเขามีความบกพร่องในด้านตรงนี้ ในสมัยก่อนเด็กหลายคนที่เป็นเด็กเก่งใช้การท่อง ถึงไม่เข้าใจก็จะท่องไว้ก่อน ซึ่งทำได้ระดับหนึ่ง พอถึงระดับหนึ่งก็จะทำไม่ได้

อย่างเช่นเด็กอาจจะท่อง 1 บวก 1 เท่ากับ 2 เพราะฉะนั้น 11 บวก 11 เท่ากับ 22 แต่ถ้าพอเค้าเจอ 66 บวกกับ 66 เกิดปัญหาทันที เพราะต้องมีการทดเลข ต้องข้ามหลัก เขาจะทำไม่ได้ เขาจะงง ส่วนใหญ่ก็มักจะต้อง ป.3-4 ก็เริ่มสังเกตเห็นแล้ว และเป็นปัญหาเรื่องของการอ่านที่อ่านไม่ได้

วิธีการดูแลเด็ก LD

LD มีจุดที่ต่างจากสมาธิสั้น และออทิสติก ในเชิงของกลไก เพราะเราเข้าใจกลไกการเกิดLDค่อนข้างน้อย ถึงแม้จะเจอค่อนข้างเยอะในกลุ่มประชากร แต่เนื่องจากมันมีความแตกต่างกัน แล้วเด็กกลุ่มนี้เองเป็นโรคที่เพิ่งมีความตระหนักในช่วงหลังๆ เพราะฉะนั้นข้อมูลการวิจัยเองยังไม่เยอะ

ปัจจุบันเราอาจจะพบว่าเกี่ยวข้องกับสมองหลายๆ ส่วน ที่ทำหน้าที่ในการแปลผล เรื่องของการประสมคำต่างๆ เรื่องของการคำนวณ ซึ่งเป็นความล่าช้าในการพัฒนาสมอง วิธีที่จะช่วยคือ ก็ต้องมีการใช้งานบริเวณนี้ให้เยอะขึ้นเพราะสมองของเรามีหลักการอยู่แค่ว่าถ้าต้องการให้ทำงานได้ก็ต้องใช้งานบ่อยๆ เพียงแต่เด็กไม่ถนัดด้านนี้เค้าก็ไม่อยากจะใช้งาน

ฉะนั้นก็จบตรงที่ว่าจะต้องมีการจัดรูปแบบการศึกษาพิเศษให้กับเด็กกลุ่มนี้ ต้องมีการจัดสถานการณ์ที่เขาจะต้องมีการฝึกโดยที่จะไม่เป็นลักษณะการเรียนปกติในชั้นเรียน เพราะจะเรียนไม่ทันเพื่อน

รูปแบบการเรียนปกติในชั้นเรียนถูกสร้างมาสำหรับเด็กปกติ อาจจะค่อนข้างลำบากสำหรับเด็กLD เพราะฉะนั้นตรงนี้เองจะต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างคุณครูและผู้ปกครองในการ Set ชั้นเรียนที่มีคนเรียนค่อนข้างน้อย อาจจะเป็นกลุ่มเรียนหลังเลิกเรียน หรือลักษณะการเรียนตัวต่อตัว

จริงๆ แล้วเด็กLDเรียนรู้ได้ แต่ต้องใช้เวลามากขึ้นในบางด้าน เช่น เรื่องของการอ่านก็ต้องมีการฝึกการอ่านให้มากขึ้น เรื่องคำนวณเองก็ต้องมีการฝึกตรงนั้นมากขึ้น ซึ่งเมื่อฝึกซ้ำๆ เด็กจะค่อยๆ ได้ขึ้นมาทีละนิด ทีละนิด

ดูแลเด็ก LD

พ่อแม่ต้องพยายามกระตุ้น พยายามให้ใช้ทักษะตรงนั้นให้บ่อยขึ้น เพราะโดยธรรมชาติของมนุษย์เองพอทำอะไรได้ไม่ดีก็ไม่อยากทำ แต่ตรงนี้พ่อแม่จะมีบทบาทสำคัญมากในการให้กำลังใจเขา พยายามบอกเขา พยายาม สู้ๆ นะลูก ต้องทำให้ได้เพราะต้องนี้เองถ้าหนูทำได้พ่อแม่จะภูมิใจในตัวหนูมากๆ เลย และหนูเองก็จะสามารถตอบคำถามของคุณครูได้ คุณพ่อคุณแม่จะมีบทบาทสำคัญในการเชียร์ของเขา ให้เขารู้สึกว่าเขาเองมีความภาคภูมิใจในตัวเอง

สำหรับเด็ก LD ไม่จำเป็นต้องกินยา ถ้าเขาไม่ได้มีภาวะร่วมด้วย ต้องอธิบายก่อนในบางครั้งโรคเรื่องของพัฒนาการล่าช้า บางทีเจอมากกว่า 1 โรคในคนๆ เดียว ยกตัวอย่างเช่น LDเจอกับสมาธิสั้นได้ ถ้าเขาเป็นสมาธิสั้นเขาต้องกินยาคุมอาการสมาธิสั้น พอสมาธิสั้นเขาดีขึ้น LDจะฝึกง่ายขึ้น แต่ถ้าเป็นLDเฉยๆ ไม่ต้องกินยา ไม่มียาสำหรับLD แก้ปัญหาจากการฝึก จากการสอนเป็นหลัก

ถ้าถามว่าเมื่อไหร่ถึงจะกลับไปเป็นปกติ ต้องเป็นกรณีๆ ไปเพราะLD ก็มีระดับ ที่เมื่อสักครู่บอกLD เจอร้อยละ 7 จากอเมริกา พบว่าส่วนหนึ่งเป็นกรณีแบบเล็กน้อย ฝึกไม่นานก็พอกลับเข้าชั้นเรียนได้พอไปเรียนได้ แต่ถ้าในกรณีที่เป็นปานกลางหรือว่าเป็นรุนแรง คงต้องใช้เวลามากขึ้นในการที่จะกลับเข้าสู่ชั้นเรียน

ในสมัยก่อนมีเด็กที่เป็นLD โตขึ้นมาโดยที่ไม่รู้ว่าเป็นแต่ใช้วิธีการท่องจำขึ้นมาเรื่อยๆ บางทีด้วยระบบการศึกษาที่ไม่ได้มีเรื่องของการสอบตก เด็กก็จะถูกเลื่อนชั้นขึ้นมาเรื่อยๆ โดยที่เขาอาจจะไม่ได้ผ่านขึ้นมาจริงๆ

โรคพัฒนาการของสมองเมื่อเด็กโตขึ้น บางทีมันค่อยๆ ดีขึ้นได้ แต่เขาจะเสียโอกาสระหว่างทางในการเรียนรู้ เช่น แทนที่เขาจะเรียนรู้ได้เต็มศักยภาพ เขาอาจจะเรียนรู้ได้ด้อยกว่าที่ควรจะเป็น เพราะว่าอ่านหนังสือแล้วเขาไม่สามารถสะกดคำ ไม่สามารถเข้าใจเนื้อหาได้ หรือไม่สามารถเขียนอะไรต่างๆ ออกมาได้ตามที่ควรจะเป็นเพราะว่าเสียทักษะตรงนั้นไป

เพราะฉะนั้นเมื่อเขาโตเป็นผู้ใหญ่ เหมือนกับเขาเรียนรู้ได้ไม่เต็มที่ในช่วงวัยเด็ก การได้รับโอกาสในการเรียนรู้ก็ไม่เท่ากับเพื่อน พอเป็นผู้ใหญ่อาการพวกนี้จะดีขึ้นบ้างจากพัฒนาการทักษะ เรื่องของการคำนวณอาจจะดีขึ้นตามวัยแต่ก็คงไม่เต็มศักยภาพที่ควรจะได้รับ

คำแนะนำในการดูแลเด็ก LD

ฝึกฝน

สำคัญมากๆ เราต้องพยายามฝึกให้เด็กทำในสิ่งที่เขาไม่ชอบ และไม่ถนัด พอฝึกแล้ว สิ่งที่เราจะฝืนใจทำในสิ่งที่ตัวเองไม่ชอบก็คือ

กำลังใจ

จะเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ ที่พ่อแม่ต้องให้ คุณครูด้วย คุณครูที่เป็นคนสอนต้องให้กำลังใจและชม เด็กกลุ่มนี้สอนได้นะ จริงๆ เด็กLDหลายคน IQ ปกติ หรือบางคนอาจจะสูงกว่าปกติด้วย เพียงแต่ว่ามีความบกพร่องเล็กๆ อยู่ในบางจุดที่ทำให้เขาขาดโอกาสที่จะเรียนรู้ได้เต็มศักยภาพเขา ถ้าเขาสามารถแก้ได้ปุ๊บบางคนไปโลดเลย

เพราะ IQ กับเรื่องของความบกพร่องในสติปัญญาคนละเรื่องกัน เขาแค่บกพร่องในการอ่าน เขียน คำนวณ พอเราแก้ตรงนี้ได้ปุ๊บแต่ศักยภาพทางสมองของเขาเต็มที่อยู่แล้วมันไปได้เลย เราแก้แค่จุดเล็กๆ

สม่ำเสมอ

ทั้งเรื่องของการฝึกฝนและเรื่องของการให้กำลังใจ ต้องทำให้สม่ำเสมอ พ่อแม่ก็ต้องให้กำลังใจด้วยไม่ใช่ว่าตอนแรกๆ ก็เชียร์ดี ตอนหลังๆ ก็โอเคลูก เด็กก็เริ่มหมดกำลังใจ ต้องให้กำลังใจลูกไปเรื่อยๆ ขณะเดียวกันเองตัวเด็กเองก็ต้องฝึกอย่างสม่ำเสมอ พอขึ้น ป.4 บทเรียนก็ยากกว่า ป.3 ป.5 ก็ต้องยากขึ้น

หลายๆ ครั้งที่เขาต้องการ Step Up ตัวเองเพื่อให้ขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง เพราะฉะนั้นเขาต้องการการฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง และต้องการกำลังใจจากผู้ปกครองและคุณครูอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

ควรหรือไม่บอกลูกว่าหนูเป็นคนพิเศษ

ขึ้นอยู่กับช่วงอายุมากกว่า ถ้ากรณีเด็กเล็กๆ ไม่จำเป็นต้องบอกเขา หรือบอกไปเขาเองก็อาจจะไม่เข้าใจ และงงว่ามาบอกเขาทำไม แต่โรคบางอย่างซึ่งอยู่ไปจนเด็กโต บางทีการบอกเขาก็อาจเป็นเรื่องที่ดี แต่เราต้องใช้การประเมินว่าตัวเองเอาสามารถรับรู้ได้มากน้อยแค่ไหน และการยอมรับกับเขา

โดยทั่วไปถ้าเป็นกรณีของเด็กโตแนะนำว่าให้บอก เพียงแต่การบอกต้องใช้ศิลปะ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่เองจะบอกก็ได้ หรือถ้าไม่มั่นใจหมอคิดว่ากุมารแพทย์ที่เป็นคนดูอย่างต่อเนื่องอาจจะเป็นคนที่เหมาะที่เป็นคนคุยกับเขาโดยตรงว่าเขาเป็นอะไร อย่างสมาธิสั้นเด็กส่วนใหญ่ก็เข้าใจนะ บางทีบอกเขาว่าเป็นเด็กสมาธิสั้น เขาก็พอรับรู้ได้ เพียงแต่ว่าการบอกว่าเขาเป็นอะไรสักอย่าง

สิ่งที่เรากลัวมากคือเป็นการตีตราเขาว่าเขาไม่ปกติ ฉะนั้นหลายๆ ครั้งเราต้องมีการประเมินก่อนว่าตัวเด็กเองพร้อมที่จะรับข้อมูลตรงนั้นไหม แล้วก็อาจจะบอกเขาว่าบางอย่างเป็นแล้วก็หายได้ มันไม่อยู่กับตัวเขาตลอดเวลา อยู่ที่การสื่อสารของพ่อแม่

ลูกเกิดมาปกติ แต่เลี้ยงยังไงลูกถึงกลายเป็นเด็กพิเศษ

คำถามที่ว่าตอนเกิดมาก็ดูปกติดี ทำไมสุดท้ายถึงกลายเป็นเด็กพิเศษ มันเป็นผลจากอะไร เด็กพิเศษสาเหตุหลักๆ ที่เขามีปัญหาที่ต้องการความช่วยเชิงพัฒนาการจริงๆ แล้วเกิดจากการที่เขาเป็นแบบนั้นเอง คุณพ่อคุณแม่อย่าเพิ่งโทษตัวเองว่าเลี้ยงไม่ดี

เพราะว่าการที่เขาเป็นสมาธิสั้นนั่น คือเขามีปัญหาล่าช้าในการพัฒนาการของเขาในส่วนของการควบคุมตัวเอง ถ้าเขาเป็นออทิสซึ่ม นั่นคือวงจรประสาทที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสาร เกี่ยวกับทักษะทางสังคมของเขามีปัญหา นั่นคือเขาเกิดมาพร้อมกับสิ่งตรงนั้น

การเลี้ยงดูของคุณพ่อคุณแม่อาจจะเป็นปัจจัยเสริมที่ทำให้อาการอาจจะเด่นชัดขึ้น หรือแม้ปัจจัยในเชิงบวกที่ทำให้อาการน้อยกว่าที่ควรจะเป็นได้หมดเลย

เพราะฉะนั้นปัญหาหลักไม่ได้อยู่ที่การเลี้ยงดูของพ่อแม่ แต่ขึ้นอยู่กับเรื่องของตัวเด็กเอง คุณพ่อคุณแม่ที่ทำได้คือการเลี้ยงดูเขาให้ดีที่สุด เพราะการเลี้ยงดูที่ดีจะช่วยทำให้อาการเบาลงได้ และที่สำคัญไม่ทำให้เกิดสภาวะที่คล้ายๆ กับตัวโรค

จริงๆ เด็กไม่ได้เป็นหรอกที่เราชอบใช้คำว่า เทียม มันจะช่วยลดภาวะตรงนี้ลงไปได้ด้วย ที่เราเรียกออทิสติกเทียม สมาธิสั้นเทียม ซึ่งไม่ใช้โรคจริงๆ มันเป็นปัญหาเรื่องของการเลี้ยงดู เช่น การเลี้ยงดูโดยที่มีปฏิสัมพันธ์กับแม่น้อย เด็กก็เลยมีอาการคล้ายๆ กับ ออทิสซึ่ม แต่ตัวเขาไม่ได้เป็นโรค เมื่อมีการปรับพฤติกรรมการเลี้ยงดูทุกอย่างจะกลับมาเป็นปกติเลย

ติดตาม รักลูก The Expert Talk ทุกวันพฤหัสบดีที่ 1 2 และ 3 ของเดือน

ติดตามรายการรักลูก podcastได้ที่

รักลูก The Expert Talk EP.07: รักลูกเป็นพิเศษ “กิจกรรมบำบัด แบบไหนใช่ของหนูคนพิเศษ”

กิจกรรมบำบัดการดูแลเพื่อลูกคนพิเศษ มีหลากหลายวิธีการ จะเลือกวิธีใด คุณพ่อคุณแม่ควรปรึกษาคุณหมอที่ดูแลลูกคนพิเศษ เพื่อช่วยส่งเสริมการรักษาให้ดีขึ้น โดย รศ. ดร. นพ.วรสิทธิ์ ศิริพรพาณิชย์

 

เกี่ยวข้องกับการรักษาในกลุ่มน้องๆ ที่เป็นเด็กพิเศษมีกระบวนการรักษาที่เป็นการรักษาปกติ และมีอีกหลายๆ เทคนิคซึ่งอาจจะมีบางกลุ่มที่ได้มีการทดลองใช้ได้รับผลดีบ้างหรืออาจจะไม่ได้รับผลดีเท่าไหร่ ฉะนั้นในส่วนของการรักษาเด็กกลุ่มนี้เองก็จำเป็นต้องลองดูก่อนว่าเป็นโรคอะไร แนวทางการรักษาหลักเป็นอะไร

หากคุณพ่อคุณแม่จะลองหาวิธีรักษาอื่นๆ เข้ามาเสริมแนะนำว่าสิ่งสำคัญคือการปรึกษาคุณหมอหรือทางทีมรักษาด้วยว่าตรงนี้สามารถเอามาเสริมได้ไหม โดยส่วนใหญ่แล้วถ้ามันไม่ได้ไปมีผลกับการรักษาหลักส่วนใหญ่คุณหมอที่รักษาต้องยอมเพราะอะไรก็ตามที่เป็นประโยชน์กับเด็กทางหมอโอเคอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าบางอย่างที่อาจจะส่งผลกับตัวเด็กได้อาจจะมีการคุยกันก่อนมาชั่งข้อดีข้อเสียเกี่ยวข้องกับการฝึกพิเศษนั้นก่อน

ศาสตร์บำบัดหรือกิจกรรม

ขอเริ่มที่กลุ่มสมาธิสั้นก่อนอาจจะเห็นตัวอย่างค่อนข้างชัด สมาธิสั้นเป็นเรื่องของพัฒนาการล่าช้าในเรื่องของการควบคุมตัวเอง เพราะฉะนั้นเด็กที่เป็นสมาธิสั้นปกติแล้วเขาจะดีขึ้นจากการปรับสภาพแวดล้อมในเรื่องการปรับพฤติกรรม ส่วนเรื่องของยาอาจจะเป็นตัวหนึ่งที่ช่วยทำให้เขานิ่งเพื่อให้เขาพอเรียนหนังสือได้ นอกเหนือจากการให้ยาและเรื่องของการปรับพฤติกรรมก็จะมีกระบวนการอื่นๆ ที่เอามาใช้ได้

จากประสบการณ์หมอที่เคยทำทำวิจัยคือเราใช้การฝึกสติกับเด็กที่เป็นโรคซน สมาธิสั้น โดยโครงการนี้ดำเนินการที่สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ เชียงใหม่ แล้วเราก็พบว่าในเด็กที่เป็นโรคซน สมาธิสั้น ที่เข้าโครงการฝึกสติแล้วมีการสอนอย่างถูกต้องและมีการประเมินผลพบว่าเด็กกลุ่มนี้มีเรื่องของทักษะ EF ภายหลังการเข้าโครงการดีกว่าเด็กในกลุ่มที่ไม่เข้าโครงการคือทั้ง 2 กลุ่มเป็นเด็กโรคซน สมาธิสั้นเหมือนกัน แต่กลุ่มที่เข้าโครงการฝึกสติได้ผลดีกว่า

แต่อย่างไรก็ดีเด็กกลุ่มนี้เป็นเด็กที่รักษาหมายความว่าเราจำเป็นที่จะต้องให้การรักษาตามมาตรฐานก่อนแล้ววิธีการอื่นๆ อาจเอาเข้ามาเสริมได้ทำให้ผลตรงนั้นเห็นเด่นชัดมากขึ้น นี้เป็นตัวอย่างของการนำเรื่องการฝึกสติมาใช้กับเด็กสมาธิสั้น ซึ่งฟังดูแล้วเหมือนไม่น่าเป็นไปได้เลย กับเด็กสมาธิสั้นที่ดูเหมือนจะไม่ค่อยนิ่งแต่ถ้าคนสอนมีเทคนิคในการสอนมีการปรับรูปแบบกิจกรรมและเข้าใจในตัวเด็กเราสามารถใช้ตรงนี้มาพัฒนาได้ เพราะเราทราบกันดีว่าการฝึกสติเป็นรูปแบบหนึ่งของการพัฒนา EF ในเด็กโต ผู้ใหญ่และเมื่อเราใช้กับเด็กสมาธิสั้นก็ยังเห็นผลที่ดีได้

นอกจากเรื่องการฝึกสติ ในต่างประเทศก็มีการพูดถึงรูปแบบของการเรียนการสอนที่ปรับให้เหมาะกับเด็กที่เป็นโรค ซน สมาธิสั้น โดยเน้นเรื่องของการเรียนโดยใช้โจทย์ต่างๆ จะคล้ายกับ EF ใช้โจทย์เป็นตัวเป้าหมาย คือไม่ได้เน้นการนั่งเรียน เพราะเด็กกลุ่มนี้พลังงานเยอะถ้าให้นั่งเรียนบางทีเด็กก็อาจจะทำได้ไม่ดีนัก ควรให้มีกิจกรรมโดยที่เรากำหนดโจทย์ให้

หลายครั้งเราจะพบว่าเด็กกลุ่มนี้สามารถปรับตัวอยู่กับรูปแบบการเรียนที่มีการเคลื่อนไหวหรือมีการแก้ปัญหาต่างๆ อาจจะได้ดีขึ้นเมื่อเทียบกับการเรียนแบบมาตรฐานที่ต้องนั่งเรียนเป็นหลักก็เป็นวิธีหนึ่งที่เอามาช่วยได้ ส่วนตัวหมอเองมองว่าเรื่องของสมาธิสั้นเองอาจจะมีการนำเทคนิคต่างๆ มาใช้ไม่ได้เยอะมาก เพราะตัวโรคค่อนข้างชัดเจนและด้วยรูปแบบของการรักษาส่วนใหญ่ก็จะดีขึ้น

จุดที่ยากมันอยู่ที่ออทิสซึม คือออทิสซึมในปัจจุบันเป็นหนึ่งโรคที่มีความหลากหลายสูง ตั้งแต่ที่ว่าใกล้ๆ เด็กปกติ หมายถึง Level มีความหลากหลายค่อนข้างมาก จนกระทั่งถึงแบบที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ เพราะฉะนั้นโรคที่มีความแตกต่างกันค่อนข้างเยอะ เวลาที่มาพูดถึงกระบวนการที่จะช่วยเหลือจึงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก ทีนี้เอาแบบกลางๆ ก่อนลักษณะของออทิสซึมทั่วๆ ไปอาจจะไม่ได้เก่งในด้านใดด้านหนึ่งมากนักอย่างที่เราเคยคุยกันใน EP ก่อน ในขณะเดียวกันก็ยังพอที่จะสอนได้ไม่ถึงขนาดที่ว่าปรับเปลี่ยนอะไรไม่ได้เลย

เราจะพบว่าการรักษาหลักของออทิสซึมก็จะไปเน้นเรื่องการไปเสริมจุดที่เขาบกพร่องนั่นคือเรื่องการสื่อสาร เรื่องทักษะสังคม ส่วนยาเองจะมีบทบาทเยอะในแง่ของการจะไปลดเรื่องพฤติกรรมบางอย่างที่ไม่พึงประสงค์ เช่น พฤติกรรมซ้ำซากในบางคน หรือบางคนจะชอบพูดอะไรซ้ำไป ซ้ำมา นอกจากนั้นจะเป็นเรื่องของพฤติกรรมก้าวร้าว เนื่องจากเด็กบางคนจะคุมตัวเองในเชิงของความก้าวร้าวไม่ได้ ทีนี้นอกเหนือจากการที่เราจะมีการฝึกตามปกติแล้ว ออทิสซึมจะมีการฝึกเพิ่มเติมค่อนข้างเยอะ

สิ่งหนึ่งที่เราเห็นคือการใช้สัตว์บำบัดไม่ว่าจะเป็นม้า เช่นภาคเหนือเป็นที่อยู่ของสัตว์หลายๆ ชนิด โดยเฉพาะช้างที่เชียงใหม่ก็จะมีการใช้ช้างในการบำบัด ขี่ช้างหลักการเดียวกับขี่ม้าหรืออีกอันที่ต่างประเทศใช้โลมา หมอไม่แน่ใจที่ประเทศไทยใช้โลมาหรือเปล่าแต่ว่าในต่างเทศมีการใช้โลมา คือต้องเข้าใจในธรรมชาติของออทิสซึมถึงจะมีความล่าช้าในบางด้านแต่บางด้านเขามีการทำงานที่ละเอียดหรือต้องบอกว่าดีเกินไปหนึ่งในด้านนั้นคือเรื่องของการรับความรู้สึก

เพราะฉะนั้นสังเกตเด็กที่เป็นโรคออทิสซึมบางทีเขาจะไม่ชอบให้ใครมากอด ไม่ชอบเสียงดังๆ ไม่ชอบแสงสว่างๆ เพราะมันถูกกระตุ้นเยอะทีนี้มันก็ตอบยาก สัมผัสจากสัตว์หรือจากธรรมชาติกลับเข้ากับเด็กกลุ่มนี้อย่างไม่น่าเชื่อ

เราพบว่าการให้เด็กกลุ่มนี้มีโอกาสได้มาเจอกับสัตว์ ได้ขี่ม้า ได้สัมผัสช้าง ได้กอดโลมาทำให้เด็กกลุ่มนี้สามารถที่จะปรับตัวและสอนอะไรต่างๆ ได้ง่ายขึ้นซึ่งค่อนข้างน่าสนใจ เป็นการกระตุ้นได้อย่างสมดุล เพราะบางทีการติดต่อระหว่างคนกันคน เราอาจจะสร้างลักษณะของธรรมชาติเทียมๆ เช่น แสงไฟจากหลอดไฟ หรือเสียงที่มาจากอุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งอาจจะไม่ค่อยเหมาะหรือไม่ตรงกับที่เด็กต้องการ กลายเป็นว่าการนำเด็กกลับสู่ธรรมชาติทำให้เขาสามารถที่จะยอมรับได้ง่ายกว่าแมทช์กันได้โดยที่เด็กไม่รู้สึกแตกแยก

จากการที่ได้อ่านรายงานส่วนใหญ่ก็พบว่าดีขึ้น เพียงแต่ว่าอย่างที่หมอได้เรียนตั้งแต่ต้นว่าตัวออทิสซึมเองเป็นโรคที่เป็นสเปคตรัมที่ต่างกันตั้งแต่รุนแรงมากจนถึงรุนแรงน้อยฉะนั้นผลที่ดีขึ้นของแต่ละคนไม่เท่ากัน

สิ่งสำคัญคือการให้เด็กได้มีโอกาสเราไม่มีทางทราบจริงๆ ว่าตัวเด็กแต่ละคนที่เป็นออทิสซึมจะมีความบกพร่องในกลไกใดของสมองบ้าง การให้โอกาสเด็กได้เจอรูปแบบของการฝึกต่างๆ ได้มากขึ้นก็มีส่วนช่วย ปกติแล้วเด็กโรคออทิสซึมมักจะอยู่ในการดูแลของกุมารแพทย์พัฒนาการร่วมกับทีมซึ่งมักเป็นนักกิจกรรมบำบัดซึ่งจะกำหนดโปรแกรมการฝึก อย่างเรื่องของการฝึกก็จะเป็น Option ที่เอามาเสริมให้เด็กมีการฝึกต่างๆ ที่ดีขึ้นด้วย

ศิลปะบำบัด

ศิลปะเป็นเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจมากๆ เพราะว่าปกติแล้วมนุษย์เราตอนนี้เราใช้ชีวิตแบบไม่ค่อยสมดุล ไม่สมดุลคือเราใช้สมองหนักไปทางด้านซ้ายนั่นคือซีกเด่น ซึ่งเป็นเรื่องของทักษะการคิด ตรรกะ เรื่องของภาษาในเชิงของความหมาย แต่อีกซีกหนึ่งจะเกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นเรื่องของดนตรี เรื่องของจังหวะต่างๆ เราไม่ค่อยได้ใช้ เรื่องของศิลปะเป็นรูปแบบของการทำงานของสมองซีกที่ไม่เด่น

ในปัจจุบันเรามองว่า Concept ของสมองที่ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมันควรจะเป็นการ Balance กันแปลว่ามันไม่ควรจะเด่นในฝั่งใดฝั่งหนึ่งมันควรจะทำงาน Balance กันทั้ง 2 ข้างเพราะว่าตัวการวิจัยเด็กที่เป็นโรคออทิสซึมจะมีปรากฏการณ์อันหนึ่งที่เขาพบว่ามันเกิดการไม่สมดุลกันระหว่างสมองทั้ง 2 ซีก

เพราะฉะนั้นการให้เด็กได้เรียนรู้ศิลปะจะเป็นการนำเด็กกลุ่มนี้ไปฝึกพัฒนาทักษะซึ่งปกติแล้วเขาอาจจะไม่ค่อยได้ฝึก การทำงานศิลปะซึ่งตรงนี้เป็นการช่วยทักษะหลายๆ อย่าง อันหนึ่งซึ่งเราอาจจะไม่ได้เจอเป็นอาการหลักของออทิสซึมแต่พบบ่อยคือเรื่องทักษะการใช้มือ เด็กกลุ่มนี้จะไม่ค่อยเก่งจะพบว่าถ้าให้เล่นพละก็จะดูงุ่มง่ามหรือไม่ค่อยคล่อง งานศิลปะก็จะไม่ค่อยเก่ง

เพราะฉะนั้นถ้ามีการฝึกเรื่องของศิลปะไม่ว่าจะเป็นการปั้น การวาดภาพเป็นการทำให้เขาได้มีโอกาสลองทำกิจกรรมต่างๆ ที่แตกต่างไปจากรูปแบบการฝึกเดิมของเขา น่าจะเป็นทักษะหนึ่งที่ช่วยได้ถ้าเกิดในวงจรหลักของเด็กมีปัญหา เราก็มากระตุ้นอีกฝั่งหนึ่งของสมองให้มันเกิดความสมดุลกัน

สมองในช่วงวัยเด็กพร้อมจะปรับตัวอยู่แล้วมันขึ้นอยู่กับโอกาส ถ้าได้มีโอกาสฝึกทักษะที่เกี่ยวข้องกับศิลปะในกลุ่มนี้เราพบว่าดีขึ้นเพียงแต่รูปแบบของศิลปะต้องไม่ใช่การบังคับไม่ใช่การฝืนใจ แต่เป็นสิ่งที่เด็กเองก็สนใจและชอบ ขณะเดียวกันทำไปแล้วก็ได้ประโยชน์กับครอบครัวด้วย

เพราะฉะนั้นอาจต้องลองกิจกรรมหลายๆ อย่างให้เขาได้มีโอกาสเจอไม่ว่าเป็นการปั้น เขียน วาดภาพต่างๆ ก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่นำมาใช้ได้เพื่อทำให้เกิดการทำงานของสมองให้ Balance มากขึ้นแทนที่จะไปเน้นหนักเรื่องของการสอนแปลความหมายของคำในการสื่อสารอย่างเดียวก็มาเน้นเรื่องของงานศิลปะต่างให้อีกฝั่งได้มีการใช้ให้ Balance กันมากขึ้น

เพลงบำบัด

เรื่องของเพลงอันนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะเราจะได้ยินเรื่องของประโยชน์ของดนตรีค่อนข้างเยอะ ต้องนำมาใช้อย่างถูกต้อง ถ้าเป็นกิจกรรมบางอย่างที่เกี่ยวของกับอารมณ์ การเคลื่อนไหวการใช้เพลงมาประกอบ มาช่วยส่งเสริมกิจกรรมได้ แต่บางครั้งเด็กออทิสซึมเขาไวต่อเสียง

ฉะนั้นเปิดเสียงเพลงตลอดทำให้เขาล้าบางทีเขาอาจจะไม่ชอบ เพราะฉะนั้นแนะนำว่าใช้เป็นครั้งๆ ใช้เพื่อวัตถุประสงค์บางอย่าง เช่น กิจกรรมนี้ต้องการการเคลื่อนไหว ดนตรีที่เป็นจังหวะเอามาประกอบการเคลื่อนไหวได้ และดนตรีกับการเคลื่อนไหวที่เราเรียกว่า Music and Movement เป็นการเชื่อม 2 ระบบเข้าด้วยกันคือระบบการรับเสียงกับการเคลื่อนไหว

พอระบบนี้เชื่อมกันเหมือนเป็นการต่อวงจรของ 2 ส่วน ซึ่งปกติแล้วทำงานแยกกันเพราะออทิสซึมเองทำงานเชื่อมโยงกันได้ไม่ดีนัก แต่การเอาดนตรีมาใช้สอนการเคลื่อนไหวของเด็กก็สามารถทำให้เด็กเองมีการพัฒนาต่างๆ ได้ดีขึ้นจากการเชื่อมโยงกันของระบบของสมองให้ทำงานด้วยกันได้

ของเล่นของเด็กพิเศษ

จริงๆ แล้วของเล่นที่ให้เด็กต้องประเมินระดับพัฒนาการของเขาก่อน บางทีเขา 7 ขวบก็จริงแต่ทักษะยังไม่ถึงข ต้องประเมินว่าตอนนี้เขาทำได้ประมาณไหนแล้วใช้ของเล่นมาส่งเสริมพัฒนาการ คำว่าส่งเสริมพัฒนาการก็คือว่าของเล่นต้องมีความยากนิดหน่อยคือมีความท้าทายเล็กๆ ถ้าเขาทำได้ง่ายๆ เล่นทีสองทีเขาก็เลิกแล้วอาจต้องมีความท้าทายนิดหน่อย เช่น ถ้าเป็นต่อบล็อกสำหรับเด็กเล็กอาจจะต้องให้ยากขึ้นนิดหน่อย

ความน่าสนใจก็คือตัวของเล่นชวนให้เล่นบางทีเราเห็นของเล่นบางอย่างยังไม่อยากเล่นเลย ดูแล้วตั้งใจมาสอนเกินไปของเล่นบางอย่างดูเป็นอุปกรณ์ในการฝึกมากกว่าของเล่น สำคัญคือต้องสนุกเป็นพื้นฐาน แล้วมาประยุกต์ให้มีความน่าสนใจมากขึ้น

ของเล่นสำหรับเด็กต้องสนุกไม่จงใจสอน ท้าทาย เกินวัยเขานิดหน่อยท้าทายโดยที่คุณพ่อคุณแม่ต้องอยู่ด้วย และคุณพ่อคุณแม่คือของเล่นอันหนึ่งของเด็ก เป็นของเล่นที่สามารถปรับไปตามสถานการณ์ได้ ฉะนั้นไม่ใช่เป็นการให้ของเล่นลูก ไปแต่คุณพ่อคุณแม่ต้องเล่นด้วย

บางทีเราเห็นลูกจะเข้าใจว่าเจอลูกแล้วเราเข้าไปชาร์จแบต ทำให้เรามีพลังแล้วกลับไปทำงานต่อไม่ใช่นะครับ ถ้าจะมาเล่นกับลูกต้องชาร์จแบตมาก่อนเข้าไปเล่นกับเขา เราจะได้ส่งพลังให้เขาได้เพราะเด็กทั่วไปก็ดี เด็กพิเศษเองก็ดีอย่างไรก็ต้องการพ่อแม่ เพราะฉะนั้นถ้าจะเข้าไปหาลูกก็ต้องมีพลังเข้าไปหาด้วยไม่อย่างนั้นกลายเป็นว่าเหนื่อยกว่าเดิมเพราะถูกสูบพลังออกไป

เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญพ่อแม่เป็นเครื่องเล่นที่ดีแต่ต้องเตรียมพลังในการเล่นกับเขาก่อน เนื่องจากคุณพ่อคุณแม่เองเป็นผู้ใหญ่อาจต้องเตรียมทางหนีทีไล่เพราะเด็กทั่วไปชอบการเล่นที่มีการเคลื่อนไหวแต่บางทีพ่อแม่ก็ไม่ไหวเคลื่อนไหวมาทั้งวันแล้วกลับมาบ้านก็อยากจะพัก บางทีต้องเตรียมกิจกรรมที่เรารู้ว่าลูกเราชอบแบบไหนดึงกลับมาให้มีการนั่งบ้างเดี๋ยวพ่อแม่จะไม่ไหวเสียเอง

ขอเสริมอีกนิดบางทีท่านอาจจะได้ยินเรื่องของเทคนิคต่างๆ ในการกระตุ้นสมองโดยตรงไม่ว่าจะเป็นการกระตุ้นด้วยไฟฟ้า การกระตุ้นด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ตรงนี้มีการศึกษาเยอะแต่เป็นเรื่องของการวิจัยแปลว่าอยากให้ติดตามข้อมูลตรงนี้ไปก่อนเพราะว่าการทำอะไรก็ตามที่เป็นการกระตุ้นสมองโดยตรงมันมีข้อเสียอันนี้ที่เจอและต้องระวัง คือมันกระตุ้นให้เกิดการชักได้

เราทราบกันดีว่าเด็กพิเศษหลายๆ คนมีความเสี่ยงที่จะชักได้ หากสนใจเรื่องของการฝึกกระตุ้นสมองในประเทศไทยเองมีโครงการวิจัยอยู่ค่อนข้างเยอะ อาจจะลองศึกษาดูจากทีมวิจัยต่างๆ ว่าเขามีการศึกษาไหมแล้วอาจจะลองพาลูกๆ ไปร่วมโครงการวิจัยด้วยซึ่งถ้าเข้าร่วมโครงการวิจัยต่างๆ ทำฟรีแล้วมีคนติดตามผลข้างเคียงต่างๆ จะปลอดภัยกว่าการที่ไปลองทำเอง หรือบางที่พอทราบก็พยายามแอบทำกัน และมีการเก็บค่าใช้จ่ายซึ่งบางทีแพงเกินไปแล้วผลที่ได้ยังไม่ชัดเจน แนะนำให้ทำกับที่ที่เขามีการติดตามเป็นรูปแบบของการวิจัยจะได้ประโยชน์มากกว่า

สุดท้ายหมอคิดว่าสิ่งสำคัญคุณพ่อคุณแม่เองรักลูกคุณพ่อคุณแม่อยากให้ลูกได้รับสิ่งที่ดีเพราะฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่ของเด็กพิเศษทั้งหลายพยายามแสวงหาวิธีการ บางทีหมอก็ได้เรียนรู้จากคุณพ่อคุณแม่ที่ไปนำศาสตร์แปลกใหม่มา และถามว่าแบบนี้ฝึกได้ไหมซึ่งบางอย่างมันไม่ใช่เลย คือมันไม่มีข้อมูลยืนยันว่าฝึกแบบนี้ได้ แต่บางอย่างก็ต้องยอมรับว่าน่าสนใจเหมือนเป็นวิธีที่โดยหลักวิทยาศาสตร์อธิบายแล้วน่าจะเป็นไปได้ สิ่งสำคัญคือเราไม่สามารถตอบได้ทุกอย่าว่าอันนี้เหมาะหรือไม่เหมาะ

แนะนำว่าเด็กพิเศษส่วนใหญ่ จะมีคุณหมอเด็กคอยดูแลสามารถปรึกษาได้ ซึ่งหมอจะดูว่าแบบไหนที่ทำแล้วเด็กได้ประโยชน์เราไม่ห้าม ส่วนใหญ่แล้วหมอเด็กค่อนข้างใจดีและเปิดรับตรงนี้ได้เพียงแต่ให้บอกสักนิด เพราะบางอย่างถ้าไปทำแล้วมันอันตรายบางทีที่ฝึกมาดีๆ มันจะเสีย เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญคือการพูดคุยกันระหว่างพ่อแม่กับคุณหมอที่เป็นคนรักษา คุยกันว่าจะลองตรงนี้ได้ไหม เสี่ยงไหม บางทีหมอตอบไม่ได้ในครั้งแรกหมอก็จะบอกว่าจะไปค้นมาให้แล้วเดี๋ยวครั้งหน้าเรามาคุยกันว่าทำแบบนี้มีกลไกอะไรและมีประโยชน์อะไร สิ่งที่จะทำให้คุณพ่อคุณแม่ได้ประโยชน์ละลูกก็ไม่เสียโอกาสครับ

 

พบกับ รายการ รักลูก The Expert Talk ทุกวันพฤหัสบดีที่ 1 2 และ 3 ของเดือน

ติดตามรายการรักลูก podcastได้ที่

 

 

รักลูก The Expert Talk Ep.79 (Rerun) : รู้จักหนูคนพิเศษ และหนูน้อย “LD”

รักลูก The Expert Talk Ep.79 (Rerun) : รู้จักหนูน้อยคนพิเศษ และหนูน้อย "LD"

 

สถิติของเด็กพิเศษมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทั้งจากพฤติกรรมการเลี้ยงดูของพ่อแม่ จากตัวของโรคและความผิดปกติจากสมอง

 

เพราะเราเข้าใจว่า คุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกคนพิเศษ ต้องใช้ความเข้าใจ รวมถึงต้องการวิธีการ และแนวทางการดูแลลูกคนพิเศษ “รักลูกเป็นพิเศษ” จึงเชิญผู้เชี่ยวชาญ รศ. ดร. นพ.วรสิทธิ์ ศิริพรพาณิชย์ มาร่วมพูดคุยเพื่อสร้างกำลังใจให้กับคุณพ่อคุณแม่ เราชวนมารู้จักหนูคนพิเศษและเข้าใจหนูน้อย LD ให้มากขึ้น เพื่อไขความข้องใจ แบบไหนใช่ LD หรือไม่ใช่?

 

Apple Podcast: https://apple.co/3m15ytB

Spotify: https://spoti.fi/3cvAVcX

Youtube: https://bit.ly/3cxn31u

 

#รักลูกPodcast

#รักลูกTheExpertTalk

#Moms_Issues

 

วิธีสังเกต ลูกเป็นออทิสติกหรือไม่

 
ออทิสติก-ออ ทิ สติ ก คือ-วิธีสังเกตลูกเป็นออทิสติก-อาการออทิสติก-รักษาออทิสติก-วิธีตรวจออทิสติก-ออทิสติกรักษาหายไหม-ลูกเป็นออทิสติก-เด็กออทิสติก-เด็กพิเศษออทิสติก-ออทิซึม-ออทิสติก พัฒนาการ-ออทิสติก ก้าวร้าว-ออทิสติก เล่นซ้ำๆ-ออทิสติกกลัวคนแปลกหน้า-ออทิสติกเข้าสังคมยาก-ช่วยลูกออทิสติกเข้าสังคม

ออทิสติก เป็นอีกหนึ่งกลุ่มอาการที่พบมาในเด็ก พ่อแม่รุ่นใหม่จำเป็นต้องเข้าใจเรื่องออทิสติก เพื่อสังเกตอาการและรักษาอย่างถูกต้อง พญ.เบญจพร อนุสนธิ์พรเพิ่ม จิตแพทย์เด็กวัยรุ่นและผู้ใหญ่ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ มีคำแนะนำค่ะ
ออทิสติกคืออะไร

โรคออทิสติก (Autistic Disorder) ออทิสซึม (Autism) หรือ ออทิสติกสเปกตรัม (Autistic Spectrum Disorder) เกิดจากพัฒนาการที่ผิดปกติของสมองที่มีสาเหตุเกี่ยวข้องกับปัจจัยทางพันธุกรรม ไม่ได้เกิดจากการเลี้ยงดูของผู้ปกครอง ทำให้เกิดความบกพร่องด้านการพูดสื่อสาร และปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ร่วมกับมีพฤติกรรมและความสนใจแบบแคบ จำกัด และเป็นแบบแผนซ้ำ ๆ

ความบกพร่องเหล่านี้จะเริ่มแสดงให้เห็นในวัยเด็กเล็ก และมีอาการต่อเนื่องไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ ออทิสติกเป็นโรคที่ยังไม่มีวิธีการรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถช่วยเหลือให้ดีขึ้นได้ โดยเฉพาะหากได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมตั้งแต่เริ่มแรก

  • ลักษณะอาการของโรคออทิสติก ความบกพร่องด้านการพูดและสื่อสาร
    ผู้ปกครองมักเริ่มสังเกตเห็นความผิดปกติในขวบปีที่ 2 เมื่อเด็กยังไม่เริ่มพูดเป็นคำที่มีความหมาย ไม่ตอบสนองเมื่อเรียกชื่อ ไม่ทำตามคำสั่ง ไม่ค่อยสบตาเหมือนเด็กทั่วไป โดยเด็กอาจไม่พูดเลย พูดเป็นคำที่ไม่มีความหมาย หรือมีภาษาเฉพาะตัว (ภาษาต่างดาว) หรือสื่อสารโดยการดึงมือผู้ปกครองให้ทำในสิ่งที่ต้องการ เด็กบางคนอาจเคยพูดเป็นคำได้แล้วแต่พัฒนาการด้านการพูดมาหยุดชะงัก หรือถดถอยในช่วงอายุ 1.6 - 2 ปี

    เด็กบางคนอาจจะเริ่มพูดสื่อสารได้ดีเมื่อโตขึ้น หรือบางคนอาจไม่มีความล่าช้าของพัฒนาการด้านการสื่อสารที่ชัดเจน แต่จะมีลักษณะการพูดที่ผิดปกติ เช่น พูดทวนคำพูดของผู้อื่น พูดโดยใช้คำศัพท์ไม่ถูกต้องเหมาะสมกับบริบท พูดซ้ำๆแต่เรื่องที่ตนสนใจ หรือไม่พูดคุยแบบตอบโต้กับผู้อื่น นอกจากนี้เด็กออทิสติกยังมักมีความผิดปกติของการใช้ภาษาท่าทาง (หรือภาษากาย) (Non-verbal language) ในการสื่อสาร เช่น มีการแสดงมีหน้า ท่าทางที่ไม่เหมาะสม หรือไม่เข้าใจการใช้ภาษาท่าทางของผู้อื่น

  • ลักษณะอาการของโรคออทิสติก ความบกพร่องในด้านปฏิสัมพันธ์ทางสังคม
    ความบกพร่องนี้อาจแสดงให้เห็นตั้งแต่ขวบปีที่ 2  โดยเด็กอาจจะแสดงอาการติดผู้ปกครอง หรือไม่กลัวคนแปลกหน้าเหมือนเด็กทั่วไป เมื่อโตขึ้นมักมีการแสดงออกของพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ทางสังคม ชอบเล่นคนเดียว ไม่แสดงความสนใจหรือความสนุกร่วมกับผู้อื่น ไม่เล่นแบบมีจินตนาการหรือบทบาทสมมติกับเพื่อน ไม่มีความสัมพันธ์แบบเพื่อนสนิท หรืออาจไม่สนใจที่จะมีเพื่อนเลย
ลักษณะอาการที่มักพบร่วมมในเด็กออทิสติก
  • เด็กมักมีการเล่นหรือแสดงออกของพฤติกรรมที่เป็นแบบแผนซ้ำ ๆ เด็กชอบนำของเล่นมาเรียงต่อกัน หมุนเล่นไปมา ไม่เล่นตามฟังก์ชั่นของของเล่นชิ้นนั้น ๆ (เช่นจับรถของเล่นหงายเพื่อหมุนล้อ) ชอบเล่นแบบเดิมซ้ำ ๆ ชอบไปสถานที่เดิมๆ หรือมีกิจวัตรที่เป็นแบบแผนเปลี่ยนแปลงได้ยาก

  • เด็กบางคนมีความหมกมุ่นสนใจในสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากเกินไป หรือมีความสนใจแปลกกว่าเด็กทั่วไป นอกจากนี้ยังอาจมีประสาทสัมผัสที่ไวมากหรือน้อยเกินไป เช่น การรับสัมผัสด้านความเจ็บปวด อุณหภูมิ เสียง แสง หรือการเคลื่อนไหวของวัตถุ หรือแม้แต่เนื้อสัมผัสของอาหารบางชนิด ผิวสัมผัสของเนื้อผ้าบางประเภท เป็นต้น

  • เด็กออทิสติกอาจพบมีภาวะความบกพร่องของสติปัญญาและการเรียนในด้านต่างๆ อาการขาดสมาธิ ซนและอยู่ไม่นิ่ง พฤติกรรมก้าวร้าว พฤติกรรมทำร้ายตัวเอง หรือพฤติกรรมกระตุ้นตนเองซ้ำๆ เช่น สะบัดมือ เคาะวัตถุ โยกตัว หรือกระโดด เป็นต้น
แนวทางการวินิจฉัยโรคออทิสติก

ออทิสติกสามารถวินิจฉัยได้โดยอาศัยประวัติพัฒนาการ การประเมินทางร่างกายและพฤติกรรมของเด็ก เนื่องจากไม่มีการตรวจทางห้องปฏิบัติการหรือการทดสอบจำเพาะใดๆ สำหรับโรคนี้ แต่ทั้งนี้ แพทย์อาจส่งตรวจเพิ่มเติม เพื่อวินิจฉัยแยกโรคบางอย่าง เช่น ส่งตรวจการได้ยินเพื่อแยกจากภาวะการได้ยินบกพร่อง เป็นต้น

พ่อแม่ควรทำอย่างไร ถ้าสงสัยว่าลูกป็นออทิสติก

เมื่อสังเกตเด็กตามข้อมูลที่ได้กล่าวไปในเบื้องต้นแล้ว สงสัยว่าเด็กเป็นออทิสติก ควรนำเด็กมารับการปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กหรือจิตแพทย์เด็ก เพื่อให้การวินิจฉัยและช่วยเหลือโดยเร็วที่สุด และระหว่างนี้ผู้ปกครองควรกระตุ้นพัฒนาการเด็กด้วยการเล่นกับเด็กมากขึ้น ฝึกให้เด็กพูดตาม สบตา หรือให้ทำตามคำสั่งง่ายๆ

แนวทางการรักษาออทิสติก

แนวทางการรักษา การช่วยเหลือเด็กและครอบครัว ขึ้นกับผลการตรวจประเมินเป็นหลัก โดยเป้าหมายคือเพื่อให้เด็กมีพัฒนาการแต่ละด้านอย่างสมวัย หรือใกล้เคียงพัฒนาการปกติมากที่สุด โดยมีทีมสหวิชาชีพทำงานร่วมกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อช่วยเหลือผู้ปกครองในการช่วยเหลือเด็กในด้านต่างๆ ดังนี้

การกระตุ้นพัฒนาการด้านต่าง ๆ สำหรับเด็กออทิสติก

การฝึกทักษะและแก้ไขพฤติกรรมที่เป็นปัญหา เช่น การฝึกให้เด็กมีทักษะการช่วยเหลือตัวเองในชีวิตประจำวัน ฝึกทักษะการเล่นและการเข้าสังคม แก้ไขปัญหาพฤติกรรมต่าง ๆ รวมทั้งปรับการเลี้ยงดู และสิ่งแวดล้อมตามความเหมาะสม การช่วยเหลือด้านการเรียนที่เหมาะกับศักยภาพของเด็ก ซึ่งอาจเป็นชั้นเรียนพิเศษ หรือชั้นเรียนร่วมกับเด็กปกติโดยมีการช่วยเหลือเพิ่มเติมรายบุคคล

การใช้ยารักษาอาจมีความจำเป็นในการรักษาบางอย่างที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้และการใช้ชีวิตประจำวันของเด็ก เช่น อาการขาดสมาธิ อยู่ไม่นิ่ง หงุดหงิด ก้าวร้าว หรือกระตุ้นตนเอง ทั้งนี้การใช้ยารักษาจะต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และควบคู่ไปกับการฝึกกระตุ้นพัฒนาการและพฤติกรรมดังกล่าวข้างต้น

รักลูก Community of The Experts

พญ.เบญจพร อนุสนธิ์พรเพิ่ม
จิตแพทย์เด็กวัยรุ่นและผู้ใหญ่ 
โรงพยาบาลวิชัยยุทธ

อาหารบำรุงสมองในเด็กพิเศษ

อาหารสำหรับเด็กพิเศษ-อาหารบำรุงสมอง-การดูแลเด็กพิเศษ

การดูแลเด็กพิเศษ คุณแม่หรือผู้ดูแลต้องดูแลให้ครบรอบด้าน อาหารก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญที่คุณแม่น้องเด็กพิเศษหลายคนยังกัวงวลว่า เลือกอาหารให้ลูกถูกต้องไหม ลูกเด็กพิเศษควรกินอาหารอะไรบ้าง บทความนี้หมอเลยจะมาพูดเกี่ยวกับเรื่องของอาหารการกินกันบ้างว่า เด็กพิเศษควรจะกินอาหารแบบใด จึงจะดีและเหมาะสมกับตัวเด็กรวมไปถึงตัวโรคของเขา

รู้จักสมอง เพื่อเลือกอาหารได้ถูกต้องสำหรับลูกเด็กพิเศษ

สมองประกอบไปด้วยน้ำเป็นองค์ประกอบหลัก ซึ่งก็ไม่แตกต่างจากอวัยวะอื่น ๆ  หากตัดส่วนของน้ำออกไป โครงสร้างของสมองจะเป็นไขมันและโปรตีนเป็นส่วนใหญ่ครับ โดยเฉพาะไขมันที่จะพบได้ค่อนข้างมากในเนื้อสมอง ส่วนโปรตีนจะทำหน้าที่ช่วยในการติดต่อสื่อสารระหว่างเซลล์ประสาท เช่น การเป็นวัตถุดิบในการสร้างสารสื่อประสาท อันหมายถึงสารเคมีที่เซลล์สมองใช้ในการติดต่อสื่อสารกัน เป็นต้น ดังนั้น อาหารในช่วงวัยเด็กเล็กจึงต้องมีสัดส่วนของไขมันและโปรตีนอย่างพอเพียง  

ในขณะที่คาร์โบไฮเดรต โดยเฉพาะน้ำตาลกลูโคสจะเป็นแหล่งพลังงานหลักแหล่งเดียวที่เซลล์ในสมองจะใช้ระหว่างการทำงานครับ จึงมีความจำเป็นไม่น้อยไปกว่าโปรตีนและไขมัน สำหรับวิตามินและแร่ธาตุจะมีบทบาทในการช่วยในการสังเคราะห์สารที่จำเป็นต่อการทำงานของสมองและร่างกาย โดยเฉพาะวิตามินในกลุ่มวิตามินบี ธาตุเหล็ก สังกะสี และไอโอดีน แม้ร่างกายหรือสมองจะต้องการวิตามินและแร่ธาตุเหล่านี้ในปริมาณที่ไม่มากนัก แต่ก็ขาดไม่ได้เพราะจะส่งผลเสียต่อการทำงานของสมอง รวมไปถึงทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ได้ครับ  

ดังนั้น สารอาหารทุกชนิดมีความจำเป็นต่อสมองทั้งสิ้น การค้นหาอาหารบำรุงสมองให้กับน้องเด็กพิเศษ จึงไม่ได้อยู่ที่การค้นหาอาหารพิเศษชนิดใดชนิดหนึ่งที่พอกินปุ๊บก็จะทำให้อาการของโรคดีขึ้น แต่อยู่ที่การได้รับสารอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ ซึ่งกับการกินของเด็กพิเศษก็เป็นเรื่องยากอยู่เหมือนกันครับ

เด็กพิเศษกินยากจริงไหม

เด็กพิเศษบางรายอาจจะกลืนอาหารแข็งได้ลำบากจากโรคทางสมอง หรือเด็กที่เป็นโรคออทิสซึมที่ชอบกินอาหารเฉพาะอย่างซ้ำ ๆ เดิม ไม่ค่อยยอมเปลี่ยนแปลง หรือเด็กโรคซนสมาธิสั้นที่มักจะหักห้ามใจตนเองไม่ให้ไปกินขนมและของหวานได้ยาก ดังนั้น แนวทางการแก้ไขปัญหาการได้รับสารอาหารไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายและสมองจึงประกอบไปด้วย การเลือกอาหารที่เหมาะสม และเทคนิคในการทำให้เด็ก ๆ ยอมกินอาหารตามที่คุณพ่อคุณแม่ต้องการ

สำหรับเทคนิคในการทำให้เด็ก ๆ ยอมกินอาหารตามที่คุณพ่อคุณแม่ต้องการเป็นเรื่องยากมากครับ หลักการคือ ไม่มีเด็กคนไหนปล่อยให้ตัวเองหิวหากมีอาหารอยู่ตรงหน้า เพราะฉะนั้น การส่งเสริมการกินของเด็กซึ่งสามารถใช้ในเด็กพิเศษได้ด้วย คือ การทำให้มีความหิวเกิดขึ้นตามช่วงเวลาของมื้ออาหารครับ  

ความหิวของคนเราเกิดจากสมองที่รับรู้ว่าน้ำตาลในเลือดลดต่ำลง ดังนั้น ในช่วง 1-2 ชั่วโมงก่อนถึงเวลาอาหารมื้อหลัก 3 มื้อในเด็กตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป จึงไม่ควรให้กินนมหรือขนม เพราะการกินนมหรือขนมจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้น เมื่อถึงเวลากินข้าวเด็กจะไม่หิวครับ เด็กจึงไม่ควรกินขนมไปเล่นไป หรือกินขนมไปดูโทรทัศน์ไปครับ นั่นคือ ไม่ควรกินจุกจิก โดยอาจเสริมด้วยการทำกิจกรรมที่ต้องออกแรงเพื่อให้ร่างกายมีการใช้พลังงานจากน้ำตาลและรู้สึกหิวมากขึ้นด้วยครับ

ถ้าเด็กยังไม่ยอมกินอาหารอีก คุณพ่อคุณแม่ต้องใจแข็ง โดยการยกอาหารเก็บขึ้นเลยหากเกินช่วงเวลาในการรับประทานอาหารแล้ว และไม่ควรให้นมเสริมทันที เพราะเด็กจะเรียนรู้ว่า ถึงไม่กินอาหารหลัก ก็ยังสามารถกินนมได้ และที่สำคัญคือ นมกินง่ายกว่าการกินอาหารหลักมาก เพราะแค่ดื่ม ไม่ต้องเคี้ยว จึงสะดวกหากจะดื่มนมแล้วรีบไปเล่นต่อ  

ดังนั้น หากเด็กไม่ยอมกินข้าว ก็ไม่ควรเลื่อนมื้อนมขึ้นมาเร็ว แต่ให้เด็กกินนมตามเวลาเดิมเพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ว่า หากไม่ยอมกินข้าวก็จะหิว นอกจากนี้ การทำอาหารให้กับเด็ก ๆ โดยเฉพาะในช่วงวัยเด็กเล็กก็ต้องดูน่าสนใจและดึงดูดใจเด็ก ๆ ด้วย เช่น การจัดอาหารให้ดูเหมือนรูปหน้าสัตว์ต่าง ๆ เช่น เอาลูกเกดมาทำเป็นตา เอาแคร์รอตทำเป็นเขาสัตว์ แบบนี้ก็จะทำให้เด็กสนใจที่จะกินมากขึ้นครับ

หลักการเลือกอาหาร สำหรับเด็กพิเศษ

การเลือกอาหารที่เหมาะสม คือ การเลือกอาหารที่มีสารอาหารครบทั้ง 5 หมู่ แหล่งของสารอาหารแต่ละชนิดอาจจะมีการปรับเปลี่ยนได้บ้างตามความเหมาะสม เพื่อไม่ให้เด็กเบื่อหรือรู้สึกจำเจ เช่น แหล่งของโปรตีน อาจจะมาจากเนื้อไก่บ้าง เนื้อหมูบ้าง หรือ เนื้อปลาบ้าง สลับกันไป  โดยเฉพาะเนื้อปลาที่เป็นแหล่งของกรดไขมันที่จำเป็นและช่วยในการทำงานของสมอง หรือ ถ้าเด็กไม่ค่อยยอมกินเนื้อสัตว์ การให้กินเต้าหู้หรือผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลืองก็พอจะทดแทนได้ครับ หรือในส่วนของคาร์โบไฮเดรต ถ้าเด็กไม่ยอมกินข้าว ก็ให้กินเส้นก๋วยเตี๋ยวหรือขนมปังแทนก็ได้เช่นกัน  

อาหารในกลุ่มผักและผลไม้ ต้องพยายามให้เด็กกินเองให้ได้นะครับ เพราะผักและผลไม้มีวิตามินและแร่ธาตุที่ร่างกายต้องการ และเป็นแหล่งของไฟเบอร์ที่ช่วยในการขับถ่ายด้วย ซึ่งการให้ยาวิตามินรวมหรือแร่ธาตุอาจจะช่วยทดแทนการได้รับวิตามินและแร่ธาตุไม่เพียงพอได้ แต่การได้รับวิตามินและแร่ธาตุในรูปแบบและสัดส่วนที่เหมาะสมจากอาหารโดยตรงจะเป็นประโยชน์ต่อตัวเด็กมากกว่าครับ

โดยสรุปแล้ว อาหารบำรุงสมองในเด็กพิเศษ คือ อาหารที่เด็กควรจะได้รับตามแต่ช่วงวัย โดยเน้นการกินอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ โดยเทคนิคสำคัญคือ การเลือกอาหารที่หลากหลาย การปล่อยให้เด็กหิวตามเวลา ไม่ปล่อยให้กินจุกจิกก่อนเวลาอาหาร และให้กินอาหารในช่วงเวลาที่กำหนดไว้ในแต่ละมื้อ รวมไปถึงการจัดรูปแบบอาหารให้ดูน่าสนใจสำหรับเด็กครับ

ผศ.นพ.วรสิทธิ์ ศิริพรพาณิชย์
กุมารแพทย์ด้านโรคสมอง

ไฮเปอร์ กับ สมาธิสั้น พ่อแม่ต้องรู้ความต่างและรับมือให้ถูกต้อง

 ลูกสมาธิสั้น-เด็กสมาธิสั้น-โรคสมาธิสั้น-อาการ สมาธิสั้น-รักษา สมาธิสั้น- สาเหตุ สมาธิสั้น-โรค สมาธิ สั้น รักษา หาย ไหม-สมาธิ สั้น คือ-วิธี แก้ เด็ก สมาธิ สั้น-สาเหตุ เด็ก สมาธิ สั้น-เล่นมือถือ สมาธิสั้น-เด็กไฮเปอร์-ลูกเป็นไฮเปอร์-ไฮเปอร์ ต่าง จาก สมาธิสั้น

ลูกสมาธิสั้น กับ ลูกเป็นไฮเปอร์ ต่างกันอย่างไร พ่อแม่ต้องรู้ สังเกตอาการ และรับมือเพื่อช่วยลูกได้อย่างถูกต้องนะคะ นพ.ชลภัฏ จาตุรงคกุล จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ศูนย์พัฒนาการเด็ก โรงพยาบาลกรุงเทพ มีคำแนะนำค่ะ

รู้จักโรคสมาธิสั้น

โรคสมาธิสั้น คือ ภาวะผิดปกติทางจิตเวชที่ส่งผลให้มีสมาธิสั้นกว่าปกติ ขาดการควบคุมการเคลื่อนไหว ทำให้มีลักษณะอาการซุกซน วอกแวกง่าย ไม่เคยอยู่นิ่ง เวลาที่พูดด้วยจะไม่ตั้งใจฟังและเก็บรายละเอียดไม่ค่อยได้ ขาดความรับผิดชอบ พบได้ค่อนข้างบ่อยในเด็กที่มีช่วงอายุระหว่าง 3 - 7 ปี  แต่ในรายที่เป็นไม่มาก

อาการโรคสมาธิสั้นจะแสดงออกชัดเจนกว่าในช่วงหลัง 7 ขวบขึ้นไป เพราะเป็นช่วงที่ต้องเข้าโรงเรียนมีงานและการบ้านต้องรับผิดชอบหลาย ๆ ชิ้นในเวลาเดียวกัน มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนและคุณครู รวมไปถึงการที่จะต้องรู้จักปรับตัวในการทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่นและการเข้าสังคม โดยสาเหตุแท้จริงนั้นไม่สามารถทราบได้ชัดเจน แต่หนึ่งในนั้นคือการที่สมองส่วนหน้า ซึ่งเป็นส่วนที่ทำหน้าที่ในการควบคุมสมาธิและการยับยั้งชั่งใจทำงานน้อยกว่าปกติ

อาการเด็กสมาธิสั้น

ลูกเป็นโรคสมาธิสั้นหรือไม่ นอกจากต้องสังเกตจากลักษณะอาการที่ปรากฏแล้ว ยังจำเป็นจะต้องพิจารณาจากระยะเวลาที่เป็น และสถานที่ที่เด็กมีอาการ กล่าวคือ อาจมี (A) หรือ (B)

  1. (A) หากเด็กมีอาการต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ ต้องมี 6 ข้อ (หรือมากกว่า) ของอาการขาดสมาธิ ติดต่อกันเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 6 เดือน โดยที่อาการต้องถึงระดับที่ผิดปกติและไม่เป็นไปตามพัฒนาการตามวัยของเด็ก ได้แก่ อาการขาดสมาธิ (Inattention) คือ
  • มักไม่สามารถจดจ่อกับรายละเอียดหรือไม่รอบคอบเวลาทำงานที่โรงเรียนหรือทำกิจกรรมอื่น
  • มักไม่มีสมาธิในการทำงานหรือการเล่น
  • มักดูเหมือนไม่ได้ฟังสิ่งที่คนอื่นพูดกับตนอยู่
  • มักทำตามคำสั่งได้ไม่ครบ ทำให้ทำงานในห้องเรียน งานบ้าน หรืองานในที่ทำงานไม่เสร็จ (โดยไม่ใช่เพราะต่อต้าน หรือไม่เข้าใจ)
  • มักมีปัญหาในการจัดระบบงานหรือกิจกรรม ทำงานไม่เป็นระเบียบ
  • มักเลี่ยงไม่ชอบหรือไม่เต็มใจในการทำงานที่ต้องใช้ความคิด (เช่น การทำการบ้านหรือทำงานที่โรงเรียน)
  • มักทำของที่จำเป็นในการเรียนหรือการทำกิจกรรมหายบ่อย ๆ (เช่น อุปกรณ์การเรียน)
  • มักวอกแวกไปสนใจสิ่งเร้าภายนอกได้ง่าย มักหลงลืมทำกิจวัตรที่ต้องทำเป็นประจำ

ลูกสมาธิสั้น-เด็กสมาธิสั้น-โรคสมาธิสั้น-อาการ สมาธิสั้น-รักษา สมาธิสั้น- สาเหตุ สมาธิสั้น-โรค สมาธิ สั้น รักษา หาย ไหม-สมาธิ สั้น คือ-วิธี แก้ เด็ก สมาธิ สั้น-สาเหตุ เด็ก สมาธิ สั้น-เล่นมือถือ สมาธิสั้น-เด็กไฮเปอร์-ลูกเป็นไฮเปอร์-ไฮเปอร์ ต่าง จาก สมาธิสั้น

  1. (B) ต้องมี 6 ข้อ (หรือมากกว่า) ของอาการอยู่ไม่นิ่ง หุนหันพลันแล่นนานติดต่อกันอย่างน้อย 6 เดือน โดยที่อาการต้องถึงระดับที่ผิดปกติและไม่เป็นไปตามพัฒนาการตามวัยของเด็ก ได้แก่
  • อาการอยู่ไม่นิ่ง (Hyperactivity) หยุกหยิก อยู่ไม่สุข ชอบขยับมือและเท้าไปมา หรือนั่งนิ่ง ๆ ไม่ได้ มักลุกจากที่นั่งในห้องเรียนหรือในสถานการณ์อื่นที่เด็กจำเป็นต้องนั่งอยู่กับที่ มักวิ่งไปมาหรือปีนป่ายสิ่งต่าง ๆ ในที่ ๆ ไม่สมควรกระทำ ไม่สามารถเล่นหรือทำกิจกรรมอย่างเงียบ ๆ ได้ มัก “พร้อมที่จะวิ่งไป” หรือทำเหมือนเครื่องยนต์ที่เดินเครื่องอยู่ตลอดเวลา มักพูดมาก พูดไม่หยุด

  • อาการหุนหันพลันแล่น (Impulsivity) มักโพล่งคำตอบโดยที่ฟังคำถามไม่จบ มักไม่ชอบการเข้าคิวหรือการรอคอย มักขัดจังหวะหรือสอดแทรกผู้อื่น (ระหว่างการสนทนาหรือการเล่น) เริ่มพบอาการเหล่านี้ตั้งแต่ก่อนอายุ 7 ขวบ พบความบกพร่องที่เกิดจากอาการเหล่านี้ในสถานการณ์อย่างน้อย 2 แห่ง เช่น ที่บ้านหรือที่โรงเรียน อาการต้องมีความรุนแรงจนกระทั่งรบกวนการเรียน การเข้าสังคม หรือการทำงานอย่างชัดเจน อาการไม่ได้เกิดขึ้นระหว่างที่ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยเป็น Pervasive Developmental Disorder, Schizophrenia, Psychotic Disorder และอาการต้องไม่เข้าได้กับอาการของโรคทางจิตเวชอื่น ๆ (เช่น Mood Disorder, Anxiety Disorder, Dissociative Disorder หรือ Personality Disorder)   สัญญาณเตือนรีบรักษา

หากเด็กเป็นโรคสมาธิสั้น มีเพียง 15 - 20% เท่านั้นที่สามารถหายได้เองเมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ แต่อีกประมาณ 60% นั้นไม่หายขาดและจะเป็นโรคนี้ไปจนเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ เพราะฉะนั้นการสังเกตและรู้เท่าทันสัญญาณเตือนว่าถึงเวลาที่ต้องเข้ารับการรักษาคือสิ่งสำคัญ ได้แก่

  1. ผลการเรียนตกต่ำลง ถ้ามีอาการมากมักพบได้ตั้งแต่ในช่วงที่เด็กเรียน ป.1-ป.2 และผลการเรียนจะยิ่งตกมากขึ้นในช่วง ป.4 แต่ในกรณีที่เด็กมีไอคิว (IQ - Intelligence Quotient) ความสามารถทางเชาวน์ปัญญาสูง อาจไม่ส่งผลกระทบต่อผลการเรียนมากเท่าไรนักและอาจเริ่มสังเกตเห็นอาการในช่วงมัธยม แต่ในเด็กที่เป็นทั้งโรคสมาธิสั้นและโรคบกพร่องทางการเรียนรู้ (LD - Learning Disorder) ควบคู่กัน จะส่งผลต่อผลการเรียนค่อนข้างมากคือ คะแนนคาบเส้นหรือหวุดหวิดเกือบสอบตก

  2. คุณครูมีการรายงานพฤติกรรมความผิดปกติของเด็กกับพ่อแม่ผู้ปกครองพ่อแม่ผู้ปกครองเริ่มสงสัยและเห็นความผิดปกติของเด็กชัดเจนมากขึ้น

  3. เด็กหรือเพื่อนที่เด็กเล่นด้วยมีอาการบาดเจ็บ เนื่องจากเล่นรุนแรงและผาดโผนมากเกินไป

  4. เด็กเริ่มแยกตัวออกจากกลุ่ม อยู่โดดเดี่ยวคนเดียว ไม่ชอบสื่อสารและเข้าสังคม (ถูกเพื่อนปฏิเสธหรือรังแก)

รักษาแก้โรคสมาธิสั้น

ปัจจุบันวิธีรักษาโรคสมาธิสั้น (ADHD - Attention Deficit Hyperactive Disorder) มี 4 วิธี ได้แก่  

  1. ปรับพฤติกรรมและกระตุ้นพัฒนาการเด็ก ซึ่งจะได้ผลดีมากในเด็กที่ยังเป็นไม่มากและยอมเต็มใจที่จะเข้ารับการฝึกเพื่อให้อยู่นิ่ง

  2. รับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง โดยแพทย์จะเลือกชนิดยาที่เหมาะกับอาการและวัยของเด็ก เช่น Methylphenidate ช่วยกระตุ้นการทำงานของสมองให้หลั่งสารสื่อประสาทเพิ่มมากขึ้น ซึ่งการรับประทานทานยานั้นให้ผลในการรักษาที่ดีได้ถึง 70 - 80% โดยประมาณ และเด็กจะมีอาการดีขึ้นหลังจากรับประทานยาไปแล้วภายใน 1 - 4 สัปดาห์

  3. เรียนแบบตัวต่อตัว เพื่อช่วยพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กให้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะในเด็กที่เป็นโรคบกพร่องทางการเรียนรู้ร่วมด้วยนั้นจะเรียนไม่ทันเพื่อน พ่อแม่ผู้ปกครองควรหาวิธีพัฒนาการเรียนของเด็กอย่างเหมาะสม

  4. ปรึกษาแพทย์ต่อเนื่อง เพื่อทำความเข้าใจและขอคำแนะนำเกี่ยวกับเทคนิคการเลี้ยงดูที่ถูกต้อง การสื่อสารกันระหว่างแพทย์ ครู และผู้ปกครอง เพื่อลดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับพฤติกรรมของเด็กที่อาจเกิดขึ้นได้ 

 

ลูกสมาธิสั้น-เด็กสมาธิสั้น-โรคสมาธิสั้น-อาการ สมาธิสั้น-รักษา สมาธิสั้น- สาเหตุ สมาธิสั้น-โรค สมาธิ สั้น รักษา หาย ไหม-สมาธิ สั้น คือ-วิธี แก้ เด็ก สมาธิ สั้น-สาเหตุ เด็ก สมาธิ สั้น-เล่นมือถือ สมาธิสั้น-เด็กไฮเปอร์-ลูกเป็นไฮเปอร์-ไฮเปอร์ ต่าง จาก สมาธิสั้น

ไฮเปอร์กับสมาธิสั้นต่างกัน

เด็กที่เป็นไฮเปอร์ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นโรคสมาธิสั้นเสมอไป เพราะไฮเปอร์คืออาการที่ไม่อยู่นิ่ง ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่ โรคสมาธิสั้น เป็นเพียงสาเหตุอันหนึ่ง ยังไม่รวมถึงเด็กมีไอคิวสูงปัญญาเลิศ (Gifted Child ) เด็กที่มีความวิตกกังวัล (Anxiety) เด็กที่มีพัฒนาการทางระบบประสาทล่าช้า (Motor - Sensory) เด็กที่เคยได้รับความกระทบกระเทือนหรือติดเชื้อที่สมอง และเด็กที่ไฮเปอร์โดยธรรมชาติ

เด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด มักเกิดจากความผิดปกติของสมอง และสิ่งที่น่าสนใจคือ โรคสมาธิสั้นสามารถเกิดจากปัจจัยทางพันธุกรรมได้ หากพ่อหรือแม่เป็นโรคนี้ลูกก็มีโอกาสเป็นได้ถึง 50% และอาจเกิดขึ้นได้ขณะที่มารดาตั้งครรภ์

เลี่ยงเล่นสมาร์ทโฟนแท็บเล็ต ลดความเสี่ยงสมาธิสั้นในเด็ก

ในปัจจุบันต้องยอมรับว่าเจ้าตัวเล็กเติบโตท่ามกลางเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง โดยเฉพาะสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตที่เรียกได้ว่าพ่อแม่ผู้ปกครองมีไว้ให้เจ้าตัวเล็กได้เล่น เนื่องจากทำงานหนักและไม่ค่อยมีเวลาในการเลี้ยงดู ซึ่งความจริงแล้วหากไม่เล่นได้จะดีที่สุด เพราะสมาร์ทโฟนมีส่วนกระตุ้นให้เด็กที่เป็นเป็นสมาธิสั้นมากมีอาการขึ้น เนื่องจากเมื่อเล่นไปนาน ๆ อาจส่งผลให้เด็กขาดสมาธิและการควบคุมตนเอง อยู่ไม่นิ่ง หุนหันพลันแล่น และหากเด็กเป็นโรคสมาธิสั้นอยู่ก่อนแล้วอาการจะยิ่งมีความรุนแรงมากขึ้น อาทิ ใจร้อน วู่วาม อารมณ์ฉุนเฉียว ขาดการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ไม่รู้จักการรอคอย เป็นต้น   

นอกจากนี้การเล่นสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตเป็นเวลานาน ยังส่งผลให้เด็กเกิดความผิดปกติทางสายตา พูดช้า บุคลิกภาพไม่ดี ซึ่งพ่อแม่ผู้ปกครองควรมองหากิจกรรมที่เหมาะสมเพื่อช่วยเสริมสร้างพัฒนาการเด็กและสร้างความอบอุ่นภายในครอบครัว ได้แก่ การเล่นกีฬา เช่น กอล์ฟ ฟุตบอล ว่ายน้ำ เป็นต้น หรือการเล่นดนตรี เช่น เปียโน เป็นต้น สำหรับช่วงอายุที่เด็กสามารถใช้งานสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตได้นั้น ดีที่สุดคือที่ช่วงอายุตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป แต่ต้องควบคุมระยะเวลาในการใช้งานคือ ครั้งละไม่เกิน 1 ชั่วโมง เพื่อจะได้ไม่ส่งผลเสียต่อพัฒนาการการเรียนรู้และการเข้าสังคม  

หากเกิดความสงสัยว่าเด็กมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคสมาธิสั้น พ่อแม่ผู้ปกครองควรรีบพาเด็กไปปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทันที เพราะการรักษาโรคนี้ต้องใช้เวลาและอาศัยความร่วมมือทั้งจากตัวเด็ก พ่อแม่ผู้ปกครอง และคุณครูผู้สอน ซึ่งต้องใช้หลายศาสตร์ร่วมกันเพื่อผลการรักษาที่ดี ที่สำคัญหากเด็กเข้ารับการรักษาจนหายขาดจากโรค นอกจากจะสมาธิดีขึ้น ผลการเรียนดีขึ้น เด็กยังเกิดความภาคภูมิใจในตนเองและเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพได้ในอนาคต

รักลูก Community of The Experts 

นพ.ชลภัฏ จาตุรงคกุล
จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ศูนย์พัฒนาการเด็ก
โรงพยาบาลกรุงเทพ