การพาลูกออกไปเที่ยวนอกบ้านเป็นสิ่งที่ดีเสมอ ทั้งกับตัวลูกที่ได้มีโอกาสเห็นสิ่งแปลกใหม่ แตกต่างจากสิ่งที่ได้พบเจอเป็นประจำที่บ้าน และกับตัวคุณพ่อคุณแม่เองที่ได้เห็นลูก ๆ มีความสุข ในส่วนของเด็กพิเศษเองการได้มีโอกาสไปเจอกับสภาพแวดล้อมใหม่ๆ ก็เป็นสิ่งที่ควรกระทำเช่นกัน โดยมีข้อควรปฏิบัติเพิ่มขึ้นสักเล็กน้อย เพื่อไม่ให้ประสบการณ์การไปเที่ยวครั้งนั้นกลายเป็นเรื่องไม่สนุกทั้งกับตัวคุณพ่อคุณแม่และกับตัวของเด็กเอง
เด็กที่เป็นโรคออทิสซึม หมายถึง เด็กที่มีพัฒนาการด้านภาษาและด้านสังคมล่าช้ากว่าปกติ รวมไปถึงการมีพฤติกรรมและการรับรู้สิ่งกระตุ้นที่แตกต่างไปจากเด็กคนอื่น ๆ ซึ่งอาการอาจจะมากบ้างน้อยบ้างตามแต่ความรุนแรงของโรคในเด็กแต่ละคน แต่เด็กออทิสซึมก็ยังต้องการความรัก การดูแลเอาใจใส่ และโอกาสในการเรียนรู้ไม่ต่างไปจากเด็กปกติ การพาเด็กที่เป็นโรคออทิสซึมไปเที่ยวจึงเป็นสิ่งที่ดี เพียงแต่อาจจะต้องมีการปรับเล็กน้อย เพื่อให้การไปเที่ยวครั้งนั้นก่อให้เกิดทั้งความสุขและความสนุกไปพร้อม ๆ กัน ทั้งกับตัวเด็กและกับครอบครัว
วิธีพาเด็กพิเศษออสทิสซึมออกไปเที่ยวให้สนุก
- เลือกสถานที่ที่คนไม่พลุกพล่าน หรือเสียงไม่ดัง เพราะเด็กออทิสซึมมักจะมีความไวต่อการเจอคนแปลกหน้า และตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นมากกว่าปกติ ไม่ว่าจะเป็นการสัมผัส เสียง และการมองเห็น ดังนั้น เด็กกลุ่มนี้จึงมักไม่ชอบเสียงดัง ไม่ชอบที่ที่คนเยอะๆ คุณพ่อคุณแม่จึงควรเลือกสถานที่เที่ยวและช่วงเวลาที่ตอบโจทย์นี้ เช่น การไปเที่ยวสวนสนุกในช่วงกลางวันของวันธรรมดา หรือการไปเที่ยวตามพิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ ที่คนไม่เยอะมาก เป็นต้น
- มีตารางเวลาคร่าว ๆ แต่ต้องยืดหยุ่นปรับได้ตลอด เพื่อให้เวลาเด็กออทิสติกได้ปรับตัว หรือเรียนรู้ในที่นั้น ๆ หากกำหนดกิจกรรมตายตัวและเด็กไม่สามารถทำได้ อาจทำให้การต่อต้านจากเด็กเป็นอย่างมาก จนการเที่ยวครั้งนี้หรือครั้งต่อไปจะไม่สนุก
- แม้จะไม่ชอบเข้าหาคน แต่ก็ควรถือเป็นโอกาสในการฝึกฝนเรื่องนี้ได้ โดยอาศัยสิ่งที่ตัวเด็กชอบในการส่งเสริมให้เด็กกล้าออกทำสิ่งที่ตนเองไม่ถนัดหรือไม่อยากทำ เช่น การให้เด็กไปซื้อของที่ตัวเองอยากกินด้วยตนเอง หรือการให้เด็กไปถามเส้นทางไปหาของเล่นที่เด็กชอบ เป็นต้น เด็กออทิสซึมมักจะไม่ค่อยชอบการมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น ๆ นอกจากคนที่คุ้นเคยเท่าใดนัก แต่การได้ออกไปเที่ยวก็น่าจะเป็นโอกาสอันดีในการฝึกฝน
- พ่อแม่ควรโฟกัสที่ตัวลูกมากกว่ากิจกรรม เนื่องจากความสนใจของเด็กออทิสซึมจะต่างจากเด็กทั่วไป โดยเด็กออทิสซึมมักสนใจในรายละเอียดปลีกย่อยมากกว่าจะมองสิ่งนั้นในภาพรวม ดังนั้น จึงไม่น่าประหลาดใจหากกิจกรรมหรือของเล่นที่คุณพ่อคุณแม่ตั้งใจเลือกให้ กลับไม่ทำให้เด็กรู้สึกสนใจหรือสนุก แต่เด็กกลับไปสนใจกิจกรรมหรือของเล่นที่ดูไม่น่าจะมีอะไรแทน คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรจะไปฝืนใจให้เด็กมาเล่นหรือทำกิจกรรมที่เขาไม่ได้ชอบ เพราะจะยิ่งทำให้เด็กหงุดหงิดและรู้สึกเบื่อ แต่ควรใช้สิ่งที่เขาสนใจมาเป็นเครื่องมือในการเล่นหรือแม้แต่การปรับพฤติกรรมของเขาแทนครับ
- ความกลัวที่แตกต่าง เพราะในเด็กออทิสซึมมักมีความไวต่อสิ่งกระตุ้น ไม่ว่าจะการสัมผัส เสียง หรือภาพที่ตัวเขามองเห็น ซึ่งอาจทำให้เด็กรู้สึกไม่ชอบ หงุดหงิด ไปจนถึงความรู้สึกตกใจหรือกลัว ซึ่งอาจจะแสดงออกมาด้วยการร้องไห้เสียงดังหรือการมีพฤติกรรมรุนแรงได้ บางครั้งสิ่งนั้นไม่ได้ดูเป็นสิ่งที่น่ากลัวในสายตาของคุณพ่อคุณแม่เลย ทั้งนี้อาการกลัวไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับเด็กไม่ว่าจะเป็นเด็กทั่วไปหรือเด็กพิเศษ เพียงแต่คุณพ่อคุณแม่จะต้องมีข้อมูลก่อนว่า เด็กชอบ ไม่ชอบอะไร หรือกลัวอะไรบ้าง เพื่อหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นหรือสถานการณ์เหล่านั้นครับ
- ระวังการถูกชักจูงโดยคนแปลกหน้า เนื่องจากเด็กออทิสซึมมักจะมีความบกพร่องด้านทักษะสังคม โดยเฉพาะในส่วนของความเข้าใจสีหน้าและท่าทาง รวมไปถึงความคิดของบุคคลอื่น ทำให้เด็กที่เป็นโรคออทิสซึมอาจจะถูกล่อลวงหรือชักจูงโดยคนแปลกหน้าได้ง่าย เด็กอาจจะไม่ทันคน และไม่เข้าใจว่าคนที่เข้ามาจะมาดีหรือจะมาร้าย
- มีรายละเอียดสำหรับติดต่อไว้กับตัวเด็ก เนื่องจากเด็กออทิสซึมมักจะมีปัญหาด้านการสื่อสาร จึงควรมีข้อมูลสำหรับติดต่อพ่อแม่ไว้กับตัวเด็กในตำแหน่งที่เห็นได้ง่าย เผื่อในกรณีที่พลัดหลงกัน เจ้าหน้าที่จะได้สามารถติดต่อผู้ปกครองได้โดยตรงครับ
อย่างไรก็ดี อาการของโรคออทิสซึมนั้นมีความแตกต่างกันในแต่ละบุคคลเป็นอย่างมาก ในเด็กหนึ่งคนก็อาจจะมีความบกพร่องในแต่ละด้านไม่เท่ากัน แนวทางที่หมอเขียนไว้จึงเป็นเพียงแนวทางคร่าว ๆ เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่เลือกไปปรับใช้กับบุตรหลานของท่านให้เหมาะสม เพื่อให้การออกไปเที่ยวนอกบ้านด้วยกันเป็นประสบการณ์ที่ดีของทุก ๆ คนในครอบครัว หมอขอเป็นกำลังใจให้คุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองทุกท่านนะครับ
รักลูก Community of The Experts
ผศ.นพ.วรสิทธิ์ ศิริพรพาณิชย์
กุมารแพทย์ด้านโรคสมอง
สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล