บทความในวันนี้เราจะมาคุยกันเกี่ยวกับปัญหาด้านการเรียนที่พบได้บ่อยๆ เมื่อเด็กเข้าเรียนชั้นประถมศึกษา นั่นก็คือภาวะบกพร่องทางสติปัญญา กับภาวะบกพร่องในการเรียนรู้
ทั้งสองภาวะมีคำว่า “บกพร่อง” เหมือนกัน และนั่นก็คงไม่ใช่ความหมายในทางบวกแน่ๆ เพียงแต่สองภาวะนี้มีทั้งด้านที่เหมือนกัน และด้านที่ต่างกัน ซึ่งเราจะมาเข้าใจสองภาวะนี้ไปด้วยกันนะครับ
ภาวะบกพร่องทางสติปัญญา (intellectual disabilities) เป็นภาวะเดียวกันกับ ภาวะปัญญาอ่อน (mental retardation) ที่เป็นที่รู้จักกันมานาน แต่ในปัจจุบันเราจะไม่ใช้คำนี้แล้วเพราะให้ความหมายในทางลบค่อนข้างมาก โดยนิยาม เด็กที่มีภาวะบกพร่องทางสติปัญญาจะหมายถึงเด็กที่ทำแบบประเมินเชาวน์ปัญญา หรือแบบทดสอบไอคิว แล้วได้ค่าไอคิวน้อยกว่า 70 ร่วมไปกับการมีความบกพร่องในทักษะต่างๆ และการปรับตัวเข้าสังคมร่วมด้วย
เด็กที่มีภาวะบกพร่องทางสติปัญญาจะมีปัญหาในการเรียนเกือบทุกด้าน อย่างไรก็ดี ภาวะบกพร่องทางสติปัญญาก็จะมีระดับความรุนแรงที่แตกต่างกัน ในรายที่อาการรุนแรงไม่มากอาจจะพอเรียนหนังสือจนจบชั้นประถมศึกษาได้ แต่บางรายที่อาการรุนแรงมาก จะไม่สามารถเรียนในระบบการศึกษาปกติได้เลย
ดังนั้นการวินิจฉัยภาวะบกพร่องทางสติปัญญาจึงจำเป็นต้องอาศัยแพทย์ในการประเมินและบ่อยครั้งที่จะต้องทำแบบทดสอบไอคิวร่วมด้วยเพื่อระบุระดับความรุนแรงของตัวโรค ซึ่งตรงนี้หมออยากจะบอกกับคุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองทุกท่านว่า แบบทดสอบไอคิวเป็นแบบทดสอบที่เด็กทำแล้วนำคะแนนที่เด็กทำได้ไปเปรียบเทียบกับคะแนนเฉลี่ยของแต่ละช่วงอายุ ดังนั้นไอคิวจึงเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ ไม่ใช่ว่าเด็กเคยทำแบบทดสอบไอคิวได้ 80 ก็จะอยู่ที่ 80 ตลอดไป
เด็กบางคนทำแบบทดสอบไอคิวในวันที่ไม่สบาย ก็อาจจะได้คะแนนต่ำกว่าความเป็นจริงได้ครับ นอกจากนี้ในเด็กที่มีภาวะบกพร่องทางสติปัญญาบางรายอาจจะมีสาเหตุจากโรคทางกายอื่นๆ ที่ส่งผลต่อการพัฒนาของสมอง เช่น ภาวะโครโมโซมผิดปกติ การขาดอาหาร เช่น การขาดธาตุเหล็กหรือไอโอดีน หรือเป็นโรคทางสมองร่วมด้วย ซึ่งทางคุณหมอที่ดูแลก็อาจจะมีการส่งตรวจเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุครับ
ในส่วนการดูแลเด็กกลุ่มนี้จะขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของโรค โดยหลักการแล้วจะพยายามให้เด็กได้เรียนในหลักสูตรปกติเท่าที่ความสามารถของเขาจะทำได้ ร่วมไปกับการฝึกทักษะอาชีพ และการดูแลตัวเองให้อยู่รอดในสังคมครับ
ภาวะบกพร่องในการเรียนรู้ (learning disabilities) หรือ LD (แอลดี) ซึ่งพอเขียนคำว่า แอลดี หมอคิดว่าคุณพ่อคุณแม่หลายๆ ท่านคงจะเริ่มคุ้นๆ กันแล้วใช่ไหมครับ ภาวะบกพร่องในการเรียนรู้คือชื่อภาษาไทยของภาวะแอลดีครับ ซึ่งหมายถึงเด็กที่มีปัญหาในกระบวนการบางอย่างของสมองที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้
โดยทั่วไปจะเกิดขึ้นใน 3 ด้านหลักคือ (1) ด้านการอ่าน (2) ด้านการเขียน และ (3) ด้านการคำนวณ ในด้านแรกคือด้านการอ่าน เด็กจะมีปัญหาในอ่าน อาจจะอ่านไม่ได้เลยหรืออ่านติดๆ ขัดๆ รวมถึงมีความสับสนในการออกเสียงพยัญชนะที่รูปร่างคล้ายๆ กัน หรืออ่านทีละตัวได้แต่ไม่สามารถผสมคำได้ ทำให้เด็กเสียโอกาสในการเรียนรู้เพราะการอ่านถือเป็นวิธีการหลักในการนำข้อมูลใหม่ๆ จากการเรียนเข้าสู่สมองของเด็ก
สำหรับในด้านที่สองคือด้านการเขียน เด็กจะมีปัญหาในการเขียนหนังสือ ในรายที่เป็นมากอาจจะเขียนไม่ได้เลย แต่ที่พบได้บ่อยกว่าคือเขียนได้แต่ไม่ถูกต้อง เช่น เขียนตัวพยัญชนะสลับด้าน หรือสับสนเกี่ยวกับตำแหน่งหัวเข้าหัวออกในพยัญชนะบางตัว เช่น เขียน “ค” กับ “ด” สลับกันเป็นต้น และด้านสุดท้ายคือด้านการคำนวณ ความหมายก็เป็นตามชื่อเลยคือเด็กจะไม่เข้าใจสัญลักษณ์ตัวเลข รวมไปถึงไม่เข้าใจเกี่ยวกับการบวก ลบ คูณ หาร หรือไม่เข้าใจการทด การยืมในการบวกลบเลข จึงทำให้เด็กมีปัญหาในการเรียนวิชาคณิตศาสตร์
เด็กที่มีภาวะบกพร่องในการเรียนรู้นี้อาจจะเสียแค่ด้านใดด้านหนึ่งหรือเสียหมดเลยก็ได้ โดยเกณฑ์การวินิจฉัยภาวะแอลดี ผลการประเมินความสามารถในด้านการอ่าน การเขียน หรือการคำนวณ จะต้องต่ำกว่าระดับชั้นเรียนของตนเอง 2 ระดับชั้นปีขึ้นไป เช่น ถ้าอยู่ป.5 แต่อ่านได้เหมือนกับเด็กป.2 ก็จะวินิจฉัยว่าเป็นภาวะแอลดีในด้านการอ่านครับ
คำถามต่อไปคือ เด็กที่มีภาวะบกพร่องในการเรียนรู้จะมีภาวะบกพร่องทางสติปัญญาหรือเปล่า หรือพูดให้ฟังง่ายๆ คือเด็กแอลดีจะมีไอคิวต่ำร่วมด้วยหรือไม่ คำตอบคือสองภาวะนี้เป็นคนละโรคกันครับ เพราะเด็กแอลดีส่วนใหญ่มักจะมีระดับไอคิวปกติหรือใกล้เคียงปกติ แต่อย่างไรก็ดี หากไม่ได้รับการรักษา เด็กแอลดีก็อาจจะมีภาวะบกพร่องทางสติปัญญาร่วมด้วยได้ครับ เพราะเขาไม่สามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ให้เท่ากับความสามารถของเพื่อนในชั้นเรียนได้ ทำให้ค่าไอคิวลดลง
เนื่องจากการอ่าน การเขียน และการคำนวณ ถือเป็นพื้นฐานการเรียนรู้ของเด็กวัยเรียน ดังนั้นการช่วยเหลือเด็กที่มีภาวะบกพร่องในการเรียนรู้จึงอยู่ที่การปรับรูปแบบการสอนและมุมมองของผู้ปกครองครับ ในแง่ของการปรับรูปแบบการสอน เด็กควรจะได้รับการเรียนเสริมในส่วนที่บกพร่องกับคุณครูเป็นรายบุคคลหรือเป็นกลุ่มเล็กๆ เพื่อให้เด็กสามารถเรียนได้ทัน
บางบทเรียนอาจจะต้องมีการย้ำกันหลายๆ รอบ หรือต้องมีการสอนซ้ำๆ แต่เชื่อเถอะครับว่าสมองของมนุษย์สามารถที่จะเข้าใจได้ในที่สุดแม้จะเป็นแอลดีก็ตามจุดสำคัญคือกำลังใจจากคุณครูกับเพื่อนๆ และที่สำคัญมากๆ คือคุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครอง กล่าวคือผู้ปกครองต้องเข้าใจก่อนว่าภาวะแอลดีทำให้เด็กมีปัญหาในการเรียน ไม่ใช่เพราะเด็กไม่ตั้งใจ จึงควรจะเสริมสร้างกำลังใจ รวมถึงหาจุดเด่นในด้านอื่นๆ ของตัวเด็กเพื่อชมเชยตัวเค้า
เนื่องจากเด็กที่มีภาวะแอลดีส่วนใหญ่มักจะถูกดุว่าเป็นประจำ ทำให้ขาดความมั่นใจในตัวเองและมักคิดว่าตัวเองด้อยค่า จึงพบว่าเด็กกลุ่มนี้มักมีปัญหาอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น อาการซึมเศร้า พฤติกรรมต่อต้านสังคม หรือการติดยาเสพติด ฯลฯดังนั้นกำลังใจจากผู้ปกครองจึงเป็นสิ่งสำคัญในการช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้ครับ
โดยสรุปคือ ภาวะบกพร่องทางสติปัญญา และ ภาวะบกพร่องในการเรียนรู้ เป็นคนละภาวะกัน การช่วยเหลือเด็กเหล่านี้จะเน้นที่การประเมินความสามารถของเด็กอย่างละเอียด เพื่อหาจุดเด่นและจุดด้อยของตัวเด็ก รวมถึงหาแนวทางจัดรูปแบบการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับตัวเด็ก บางบทเรียนอาจจะต้องมีการสอนย้ำๆ กันหลายรอบเพื่อให้เด็กเข้าใจ สิ่งสำคัญที่สุดคือกำลังใจจากผู้ปกครองที่จะทำให้ตัวเด็กมีแรงในการฮึดสู้ต่อปัญหาการเรียนของเขาครับ
ผศ.นพ.วรสิทธิ์ ศิริพรพาณิชย์
กุมารแพทย์ด้านโรคสมอง