กรณีที่ใช้เครื่องปั๊มนมก็เช่นกัน เมื่อเราปั๊มจนรู้สึกว่า ไม่มีน้ำนมออกมาอีกแล้วนั้น เราก็ควรทำการตรวจตามหลังอีกครั้งด้วยว่า ยังมีน้ำนมเหลือค้างที่บริเวณใดหรือไม่ หากคลำพบว่าบริเวณใดยังเป็นก้อนไตแข็งๆ แน่นๆ ก็ให้ทำการนวดไล่ให้น้ำนมออกมาทางหัวนมเช่นกัน
จะเห็นได้ว่าภายหลังการคลอดแล้ว คุณแม่ก็ต้องทำใจว่า “เราจะไม่มีโอกาสได้นอนหลับตลอดคืนยาวเหมือนสมัยก่อนอีกแล้ว” ช่วงกลางวันการให้นมบุตรทุก 2 – 3 ชั่วโมงนั้นอาจไม่ค่อยมีปัญหา แต่หากเป็นตอนกลางคืนนั้น แน่นอนว่าใครที่ไม่เคยชินกับการนอนแบบหลับๆ ตื่นๆ หรือตื่นขึ้นมากลางดึกเพื่อทำหน้าที่ที่สำคัญ แล้วตื่นมาแล้วเราอาจจะหลับยากอีก แน่นอนเลยว่า ใครที่ไม่คุ้นเคยก็ต้องเพลีย เพลียจนถึงกับอาจจะสลบได้
ดังนั้นในช่วงกลางคืนเราอาจพอยืดเวลาเป็นให้ลูกดูดนมจากเต้าหรือปั๊มนม ทุก 3 – 4 ชั่วโมงก็ได้ การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้นสำคัญ และดีที่สุดแน่นอน เพราะจะได้ประโยชน์เรื่องสายสัมพันธ์แม่ลูกผ่านทางผิวหนังด้วย ที่ฝรั่งเขาเรียกว่า skin – skin contact bonding
หากเกิดเต้านมคัดขึ้นมาจริงๆ ก็ต้องใช้วิธีการนวดเต้านม เพื่อไล่น้ำนมออกมาตามที่ได้กล่าวไปแล้ว ก่อนการนวดนั้นก็อาจใช้วิธีประคบอุ่นช่วย เพื่อให้เนื้อเยื่อเต้านมมีการอ่อนนุ่มทำให้การนวดได้ผลมากขึ้น
โดย นายแพทย์วิริยะ เล็กประเสริฐ
สูตินรีแพทย์ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ