ลูกเพิ่งจะครบ 3 เดือน หนูกับสามีมีความจำเป็นต้องไปศึกษาต่อต่างประเทศ การจากลูกไปตอนเขาอายุเท่านี้จะเป็นอะไรมั้ยคะ เขาไม่น่าจะเป็นอะไรใช่มั้ยคะ
คนทำงานด้านสุขภาพจะพบคำถามทำนองนี้เสมอ ความรู้ที่เรามีนั้นชัดเจน คำแนะนำชัดเจน แต่บริบทและเงื่อนไขของคนแต่ละคนไม่เหมือนกัน จึงมักมีคำถามเช่นนี้คือหากฝืนคำแนะนำแล้วจะเกิดอะไรขึ้นหรือไม่
กรณีจากลูกไปทั้งพ่อและแม่เมื่อลูกอายุยังไม่ครบปีเป็นเรื่องที่เรามีความรู้ชัดเจนว่าขวบปีแรกเป็นเวลาวิกฤตของการสร้างสิ่งที่เรียกว่าแม่และพ่อ แม่และพ่อจะมีจริงหรือไม่ก็อยู่ที่ 6 เดือนแรก ดีกว่านั้นคือ 12 เดือนแรกของชีวิต แม่และพ่อที่มีอยู่จริงจะเป็นเสาหลักของพัฒนาการตลอดชีวิตที่เหลือของลูก
ถ้าทำอะไรไม่ได้จริงๆ เช่น เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว หรือพ่อเลี้ยงเดี่ยวด้วยเหตุใดก็ตาม คนคนเดียวนั้นเพียงพอที่จะเป็น “แม่” และเป็นเสาหลักของพัฒนาการ คนคนเดียวนั้นจะเป็นแม่หรือพ่อ หรือใครก็ได้ เป็นบุคคลเพศหลากหลายหรือพี่เลี้ยงสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าก็ได้ แต่ขอให้ชัดเจนว่าใครเป็น “แม่” แล้วเด็กจะเติบโตได้
ดังนั้นการจากลูกไปในเวลาเช่นนี้ถ้าทำได้ก็ไม่ควร สมมติว่าต้องจากไปจริงๆ เราค่อยเลื่อนมาดูการผ่อนความเสียหายที่จะเกิดขึ้น
ปรากฏว่าความเสียหายที่พบบ่อยเกิดจากเมื่อถึงวันพ่อแม่กลับมาบ้าน พ่อแม่จำนวนหนึ่งคาดหวังสูง ต้องการให้ลูกรักและเชื่อฟัง พูดอะไรก็ทำทันที กินข้าว อาบน้ำ แปรงฟัน แต่งตัว นอนหลับ อะไรต่อมิอะไรขอให้ง่ายไปเสียทั้งหมด ครั้นพบความจริงว่าลูกไม่ฟัง นอกจากไม่ฟังยังอาจจะร้องไห้ไม่เอาพ่อแม่ ไปจนถึงเดินหนี รวมทั้งแสดงออกอย่างชัดแจ้งว่าติดคนเลี้ยงที่แท้จริงมากกว่า ซึ่งมักจะเป็นลุงป้าน้าอา หรือปู่ย่าตายาย พ่อแม่ที่ใจร้อนจะเริ่มออกอาการ ดุ ด่า ว่า ตี คราวนี้ปัญหาที่แท้จริงก็จะเกิดขึ้น
ถ้าต้องไป เมื่อถึงวันกลับมาเราควรรอ และทำใจให้พร้อมที่จะเริ่มต้นเลี้ยงใหม่ด้วยมือของเรา ให้ความรักและเวลา ให้ความใกล้ชิดและความอบอุ่น อะไรที่เราไม่เคยทำขอให้รู้ว่าเราต้องเริ่มทำใหม่หมด รวมทั้งขอเวลาอีกช่วงหนึ่งในการเอาชนะความเสียหายที่เกิดจากการพลัดพรากจากคนเลี้ยงที่แท้ เด็กอาจจะดื้อ ไม่ฟัง ท้าทาย เรามีหน้าที่อดทน รอ และให้ความรักกับเวลาต่อไปอีกจนกว่าเขาจะไว้ใจเรา คือ trust และเริ่มสร้างสายสัมพันธ์กับเราคือ attachment
หากเราจากไปนาน 3 ปี ควรทำใจว่าเราจะใช้เวลาเพื่อสร้างทุกสิ่งทุกอย่างใหม่นาน 3 ปี แต่ในความเป็นจริงหากตั้งใจทำ ให้เวลาลูกมากๆ ก็น่าจะทำได้สำเร็จเร็วกว่านี้ คำถามทำนองนี้มักมากับความคาดหวังว่าผู้ตอบจะตอบว่าไม่เป็นไร แต่ในความเป็นจริงมันจะเป็นไรเสมอไม่มากก็น้อย
นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
จิตแพทย์และนักเขียน ขวัญใจพ่อแม่ชาวโซเชียล