มี 2 เรื่องที่ควรทำความเข้าใจ
ข้อแรก เด็กเข้าใจเรื่องความตายอย่างไร ตำราเขียนไว้ว่าเด็กเข้าใจความตายเมื่ออายุประมาณ 9-10 ปี กล่าวคือความตายเป็นกระบวนการที่มีสาเหตุ เป็นที่สิ้นสุด ไม่หวนกลับ และหลีกเลี่ยงไม่ได้ (causality,finality,irreversible,inevitability)
ส่วนเรื่องการฆ่าตัวตายนั้น มีงานวิจัยที่บอกว่าเด็กสมัยใหม่เข้าใจเรื่องการฆ่าตัวตายได้ตั้งแต่อายุ 7 ขวบแล้ว ซึ่งเร็วมาก แปลว่าเด็กที่ตั้งใจทำร้ายตัวเองหรือฆ่าตัวตายต้องการทำจริง มิใช่เรื่องทำเล่นๆ ที่น่าห่วงคือเขารู้แน่หรือเปล่าว่ากระบวนการนี้ไม่หวนกลับ
ข้อสอง คือการฆ่าตัวตายเกิดขึ้นร่วมกับโรคซึมเศร้าหรือโรคสมาธิสั้นอยู่บ้าง ซึ่งโรคทั้งสองชนิดเป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติบางประการของสมองและระบบประสาทส่วนกลาง อย่างไรก็ตามปัจจัยทางชีววิทยาและสังคมก็มีส่วนร่วมด้วยไม่มากก็น้อย
ปัจจัยทางจิตวิทยาได้แก่ความรู้สึกว่าตัวเองถูกทอดทิ้ง การทอดทิ้งเป็นการทอดทิ้งทางใจคือ psychological isolation เด็กรู้สึกเปลี่ยวเหงา มิได้รับการเหลียวแล ขาดที่พึ่ง ความรู้สึกนี้เกาะกุมจิตใจยาวนานมาตั้งแต่เล็ก
เมื่อมีเหตุการณ์สูญเสีย คือ lossไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียที่เป็นจริงหรือรู้สึกว่าสูญเสีย ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียวัตถุหรือสูญเสียสิ่งของอันเป็นสัญลักษณ์รวมทั้งการสูญเสียตนเองคือself เช่น การสอบเข้าไม่ได้ การเสียหน้า เป็นต้น เหล่านี้สามารถจุดชนวนให้ลงมือทำร้ายตัวเองได้
ปัจจัยทางสังคมที่น่ากังวลคือเรื่องการกลั่นแกล้ง ซึ่งเป็นไปตามยุคสมัยเมื่อคนเราสามารถทำร้ายกันได้โดยไม่ต้องแสดงตัวในโซเชียลเน็ทเวิร์ค
ในที่สุดก็ออกมารวมตัวกันภายนอกได้ด้วยความย่ามใจ การกลั่นแกล้งเป็นกระบวนการทำร้ายเด็กมิใช่เรื่องการฝึกให้เด็กที่ถูกกลั่นแกล้งเข้มแข็ง เราควรป้องกันเด็ก มิให้เขารู้สึกว่าโลกโหดร้ายไปเสียทุกสิ่งอันอันจะเป็นการทำร้ายความไว้เนื้อเชื่อใจต่อสรรพสิ่งคือ trust ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของชีวิต
โรงเรียนมีหน้าที่จัดการ ด้วยการจัดการทั้งระบบคือผู้ถูกกลั่นแกล้ง ผู้กลั่นแกล้ง และผู้ที่อยู่ตรงกลางคอยนั่งดูโดยไม่ทำอะไรหรือเชียร์ ภายใต้ข้อเท็จจริงว่าทุกคนเป็นเด็กเราสลายโครงสร้างที่เอื้อต่อการกลั่นแกล้งลงให้ได้ เท่ากับมิได้เพ่งเล็งไปที่ใครแต่ช่วยเหลือเด็กทุกคนในระบบ ส่วนบ้านมีหน้าที่ป้องกันและช่วยเหลือลูกโดยไม่มีเงื่อนไข
การป้องกันการฆ่าตัวตายในเด็กทำได้ด้วยการเลี้ยงดูช่วงเด็กเล็กอย่างดีที่สุด ให้เขารู้ว่าโลกไว้ใจได้
นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
จิตแพทย์และนักเขียน ขวัญใจพ่อแม่ชาวโซเชียล