ทำไมลูกของดิฉันไม่เหมือนคนอื่น คนอื่นร้องไห้เวลาไปโรงเรียนแต่ลูกไม่เคยร้องไห้เลย ตอนที่ไปโรงเรียนเมื่อ 3 ขวบครึ่งร้องไห้ตามคนอื่นอยู่ครู่เดียวครั้งเดียว อีกอย่างเขามักแสดงออกว่าไม่ชอบเวลาเด็กคนอื่นไม่ทำตามกฎ แล้วก็เวลาทำอะไรก็จะขออนุญาต เป็นเพราะดิฉันเข้มงวดมากเกินไปหรือเปล่าคะ ดิฉันจะเข้มงวดเรื่องเวลากินข้าว เข้านอน แล้วก็การดูทีวี
นานๆ ครั้งหนึ่งจึงจะได้คำถามประเภทเด็กเชื่อฟังและไม่ค่อยจะสร้างปัญหาอะไร พอพบครั้งหนึ่งมักจะเป็นที่ฮือฮา ทำเหมือนว่าเป็นของหายากในบ้านเรา ทั้งที่เป็นเรื่องพบได้เป็นสามัญในหลายประเทศ
ที่เล่ามา วันนี้เขาอายุ 4 ขวบแล้ว จากงานวิจัยเราพบว่าความสามารถในการควบคุมตัวเอง (self control) อันเป็นส่วนหนึ่งของ EF (executive function) จะปรากฏให้เห็นได้ชัดเจนและสามารถวัดได้เป็นตัวเลขเมื่อประมาณ 4 ขวบ เรื่องที่เกิดขึ้นจึงเป็นธรรมดา เขามี EF ดี ควบคุมตัวเองได้
การไปโรงเรียนได้โดยไม่ยากมักเกิดจากความมั่นใจว่าแม่ที่บ้านมีอยู่จริง (exist) แม้ไม่เห็นก็ไม่สูญหาย จึงสามารถปล่อยมือแม่ผ่านเข้ารั้วโรงเรียนได้เพราะหากหันกลับไปก็เห็นหน้า ตอนที่อยู่ในบริเวณโรงเรียนแล้วหันกลับไปก็เห็นแน่ ทั้งที่ไม่ต้องหันคอไปจริงๆ ความมั่นใจนี้ได้มาจากแม่ที่เลี้ยงดูด้วยตนเองมากที่สุดเท่าที่ทำได้ และขึ้นกับพื้นฐานทางอารมณ์ (temperament) ของเด็กแต่ละคนด้วย
เด็กแต่ละคนยากง่ายต่างกัน หากเราพบเด็กเลี้ยงง่ายเป็นข่าวดี แต่หากพบเด็กเลี้ยงยากเราควร “ให้” ให้มากให้จนอิ่ม เขาจะง่ายขึ้นด้วยตนเองเพราะแม่ที่มีอยู่จริง รวมทั้งแม่และและสิ่งแวดล้อมที่ไว้ใจได้ (trust)
สมัยใหม่เราอธิบายเรื่องการควบคุมตัวเองให้ละจากสิ่งหนึ่งเพื่อไปสนใจอีกสิ่งหนึ่งด้วย EF ปรากฏการณ์นี้เรียกว่า proto-EF ซึ่งเริ่มต้นเมื่อเด็กจดจำใบหน้าแม่ได้ (face recognition) ทารกแรกเกิดไม่เพียงไม่รู้จักใบหน้าแม่แต่แม่ไม่มีแม้กระทั่งตัวให้จับต้อง
แต่แล้ววันหนึ่งเขาพบว่าแม่อยู่เคียงข้างตลอดเวลาและแม่มีเส้นสายบนใบหน้า คือวงกลมสองดวงเป็นตา รอยยิ้มเป็นปากและขีดตรงกลางเป็นใบหู นี่คือใบหน้าคน ก่อนที่จะพบว่าคือใบหน้าแม่ผู้เลี้ยงดู ผู้เลี้ยงดูจึงจะมีใบหน้าแม่ให้จดจำ ผู้คลอดอาจจะไม่ได้รับการจดจำเพราะไม่อยู่บ้าน
เด็กเหม่อมองโมบายล์ขณะนอนอยู่ในคลิปเพราะโมไบล์น่าสนใจ ครั้น “ใบหน้าแม่” เดินเข้ามาใกล้ ชะโงกหน้าลงมาดู เด็กจะยับยั้งปฏิกิริยาการดูโมไบล์(response inhibition) หันมาดูใบหน้าแม่ (shifting) ความสามารถที่จะหยุดการกระทำหนึ่งไปที่อีกการกระทำหนึ่งคือ proto-EF เป็นต้นแบบ (prototype) ของ EF
เราจึงมีข้อห้ามข้อหนึ่งคือไม่ให้เด็กอายุน้อยกว่า 2 ขวบดูหน้าจอที่มีภาพเคลื่อนไหวรวดเร็ว แสงสีจัดจ้าน หรือการเปลี่ยนภาพแต่ละเฟรมด้วยความเร็ว เหตุเพราะสมองของเด็กสองขวบปีแรกพัฒนาทุกวัน และสมองของคนเราพัฒนาไปตามการกระทำ
หากเราให้เด็กก่อน 2 ขวบดูหน้าจอมากเกินไป หากโชคไม่ดีเขาพัฒนาความสามารถที่จะปฏิสัมพันธ์กับจอสี่เหลี่ยมแทนที่จะเป็นใบหน้าแม่ เราอาจจะได้เด็กไม่สบตาไม่พูด และไม่พัฒนา
นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
จิตแพทย์และนักเขียน ขวัญใจพ่อแม่ชาวโซเชียล