วัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบ Hib เป็นวัคซีนพื้นฐานและจำเป็นต้องฉีดให้ลูกทารกนะคะ เพราะยังสามารถป้องกันการติดเชื้ออื่น ๆ ได้ด้วยค่ะ
Hib ย่อมาจาก Haemophilus Influenzae Type B เป็นแบคทีเรียซึ่งทำให้เกิดโรคติดเชื้อในมนุษย์ โดยเฉพาะในเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 5 ปี โรคติดเชื้อชนิดนี้มีมานานแล้ว ไม่ใช่โรคใหม่ พบได้ทั่วโลก และไม่ใช่โรคที่เป็นกันมากขึ้นในเด็กไทยในสถานการณ์ปัจจุบัน เพียงแต่มีการนำวัคซีนป้องกันโรคฮิบ(Hib vaccines) มาใช้แพร่หลายในประเทศไทย คุณพ่อคุณแม่จึงน่าจะมีความรู้ เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาว่า บุตรหลานมีความจำเป็นต้องรับวัคซีนนี้หรือไม่ เมื่อเด็กได้รับเชื้อฮิบ จะมีความรุนแรงของโรคมากน้อยแค่ไหนคะ
เชื้อโรคฮิบเป็นสาเหตุสำคัญของโรคหลายชนิดในเด็ก โดยเฉพาะโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ และเป็นสาเหตุของโรคอื่นๆ เช่น ปอดอักเสบ หรือการติดเชื้อในกระแสเลือด เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ฝาปิดกล่องเสียงอักเสบ ฯลฯ การติดเชื้อฮิบอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ ถ้าไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาในระยะเวลาที่เหมาะสม
ฮิบจะทำให้เกิดการติดเชื้อและอักเสบได้เกือบทุกส่วนของร่างกาย ดังได้กล่าวถึงมาแล้ว โรคที่รุนแรงที่สุดจะมีโรคแทรกซ้อนตามมาได้มากคือเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ซึ่งมักพบในเด็กเล็ก โดยเฉพาะกลุ่มอายุต่ำกว่า 2 ปี ผู้ป่วยมักมีไข้สูง ซึม เบื่ออาหาร อาเจียน กระหม่อมโป่งตัวในเด็กเล็ก และมีอาการชักกระตุก ถ้าได้รับการรักษาไม่ทันท่วงที ผู้ป่วย ประมาณร้อยละ 5-20 ที่เป็นโรคนี้จะเสียชีวิต เด็กที่รอดร้อยละ 10-40 จะมีความผิดปกติทางสมองที่รุนแรง เช่น หูหนวก ชักกระตุก หรือพิการทางสมอง และเกือบร้อยละ 50 มีความผิดปกติทางสมอง แม้จะไม่รุนแรง แต่อาจมีผลต่อสมาธิและการเรียนรู้เมื่อโตขึ้น
เราจะพบเชื้อฮิบในทางเดินลมหายใจของคน โดยเฉพาะในเด็กอายุน้อยกว่า 4 ปี ที่เป็นพาหะของโรค โดยที่เด็กอาจจะไม่มีอาการเจ็บป่วย และพบได้ในเด็กที่เพิ่งหายจากการป่วยเป็นโรคนี้ และมีการติดต่อของโรคผ่านการสัมผัสหรือหายใจเอาฝอยละออง น้ำลายที่มีเชื้อนี้เข้าไป การติดเชื้อเริ่มจากจมูกและลำคอ และแพร่กระจายสู่ส่วนต่างๆของร่างกาย เช่น เยื่อหุ้มสมอง กระแสเลือด ปอด เยื่อหุ้มหัวใจ ฯลฯ
เด็กทารกแรกเกิดส่วนใหญ่ จะได้รับภูมิคุ้มกันป้องกันโรคนี้จากมารดาผ่านรกแต่ภูมิคุ้มกันนี้จะหมดไปในเวลาไม่กี่เดือนหลังจากคลอดออกมา จากการศึกษาโดย ศาสตราจารย์ สมศักดิ์ โล่ห์เลขา พบว่าเด็กไทยได้รับภูมิคุ้มกันลดลงเหลือต่ำสุด ในช่วงอายุ 5 เดือน หลังจากนั้นภูมิคุ้มกันจะเริ่มสูงขึ้น จนกระทั่งเด็กอายุ 2 ปี จะมีภูมิคุ้มกันประมาณร้อยละ 60 และเด็กไทยเกือบทุกคน จะมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อนี้เมื่ออายุครบ 4 ปี ในประเทศไทยพบโรคนี้ในเด็ก ตั้งแต่อายุ 2 เดือน จนถึง 2 ปี เป็นส่วนใหญ่ อายุที่พบบ่อยคือช่วง 4 เดือน แต่หลังจากนั้นก็จะพบได้น้อยลงมาก
การติดเชื้อฮิบ สามารถรักษาให้หายได้ โดยการใช้ยาปฏิชีวนะที่เหมาะสม แต่ถ้าผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยล่าช้า การอักเสบเป็นไปมากแล้ว หรือเชื้อดื้อยา ก็อาจทำให้มีการทำลายอวัยวะต่างๆ ซึ่งไม่สามารถฟื้นคืนได้ดีเหมือนเดิมก่อนรักษา
ปัจจุบันนี้ มีวัคซีนที่ใช้ป้องกันโรคติดเชื้อฮิบได้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่ใช้แพร่หลายในประเทศไทยอยู่ 2 ชนิด โดยทั้งสองชนิดให้ผลในการป้องกันโรคได้ดีไม่แตกต่างกัน และผลข้างเคียงในการฉีดวัคซีนทั้งสองชนิดมีน้อยมาก เช่น อาจมีไข้ ปวด บวม ในบริเวณที่ฉีด ซึ่งพบเพียงประมาณร้อยละ 6 เท่านั้น แต่เนื่องจากวัคซีนทั้งสองชนิดนี้ยังมีราคาแพงประกอบกับอัตราการป่วยจากเชื้อฮิบในประเทศไทย มีแนวโน้มที่ค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับประเทศแถบตะวันตก วัคซีนชนิดนี้จึงยังไม่ได้แนะนำให้ฉีดในเด็กไทยทุกคน
เด็กกลุ่มที่ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคฮิบ แบ่งได้ 3 กลุ่ม
กรณีเด็กทั่วไปที่อายุน้อยกว่า 4 ปี ที่ผู้ปกครองไม่ต้องการให้เด็กมีโอกาสป่วยจากโรคนี้ แม้ว่าโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคน้อยอยู่แล้วก็ตาม และไม่มีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียในการฉีดวัคซีน ก็สามารถปรึกษาเรื่องการฉีดวัคซีนกับกุมารแพทย์ของท่านได้
โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบเป็นโรคที่รุนแรง และอาจมีความพิการทางสมองตามมาได้ พ่อแม่อาจจะคิดว่า เมื่อฉีดวัคซีนฮิบแล้ว จะป้องกันบุตรหลานให้ปลอดภัยจากโรคนี้โดยสิ้นเชิง แต่ควรทราบเพิ่มเติมว่า แม้ว่าวัคซีนฮิบจะป้องกันโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบได้เป็นอย่างดี แต่การเกิดโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ก็อาจเกิดจากเชื้อโรคอื่นๆได้อีก ซึ่งนอกเหนือจากการป้องกันของวัคซีนฮิบ
นอกจากการพาลูกไปรับวัคซีนป้องกันโรคแล้ว การดูแลให้บุตรหลานมีสุขภาพพลานามัยที่ดี อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีอากาศบริสุทธิ์ ไม่นำเด็กไปยังสถานที่ซึ่งมีคนแออัดยัดเยียด มีคนอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น ห้างสรรพสินค้า และฝึกหัดให้เด็กล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอจนเป็นนิสัย ตลอดจนรับประทานอาหารที่สะอาดให้ครบทุกหมู่ พักผ่อนและออกกำลังกายให้พอเพียง ก็จะช่วยลดการป่วยเจ็บจากทั้งโรคฮิบและโรคอื่นๆ ได้อีกด้วย