คุณหมอครับ คำถามอะไรที่คุณหมอได้รับบ่อยเป็นอันดับ 1 ?
"ดื้อ" คือคำตอบสุดท้าย
ดื้อแปลได้มากมาย โดยรวมๆ คือพูดไม่ฟัง มากกว่านี้คือมีพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ ยกตัวอย่างเช่นพฤติกรรม x y หรือ z ยกตัวอย่างไปเถอะ
การจัดการเด็กดื้อแต่โบราณเราใช้หลักการของจิตวิทยาคลาสสิกคือการวางเงื่อนไข (conditioning) ได้แก่การทำโทษ การเพิกเฉย และการให้รางวัล
การทำโทษ มีหลายวิธี ดุ ด่า กักขัง ตี เหล่านี้เราพบว่าไม่ได้ผลดีเท่าไรนัก สร้างบาดแผลและมักทำให้พฤติกรรม xyz หายไปชั่วคราว มันจะกลับมาใหม่ด้วยความซับซ้อนและร้ายกาจกว่าเดิมเสมอ ไม่นับว่าการตีเด็กในหลายประเทศผิดกฎหมาย ครูตีก็ผิด พ่อแม่ตีก็ผิด
การเพิกเฉย มีตั้งแต่ทำไม่เห็นรอเขาหายเองไปจนถึงการไทมเอาท์สมัยใหม่บางตำราแผลงเป็นไทมอินเพื่อเน้นย้ำว่าเรามิได้กักขัง ทอดทิ้ง หรือเดินหนี ไทมเอาท์เท่ากับการนั่งลงเป็นเพื่อน สงบสติด้วยกัน รอเขาสงบลง แล้วจึงปลอบหรือกอด ทำให้เด็กรู้ว่ากริยาเมื่อสักครู่ไม่มีประโยชน์อะไรเลย เขาก็จะค่อยเรียนรู้และเลิกทำในที่สุด
การให้รางวัล เป็นวิธีที่ดี ช่วยให้เด็กรู้ว่าควรทำอะไรและไม่ควรทำอะไรเด็กจะพัฒนาจากการทำความดีเพราะพ่อแม่ปลื้มไปจนถึงทำความดีเพราะเป็นเรื่องสมควรทำตามพัฒนาการของวิธีคิดเชิงรูปธรรมไปสู่นามธรรม การทำความดีมีข้อแม้อยู่บ้างแต่โดยรวมๆ เป็นวิธีที่ใช้ได้ผลดี ดีมากเมื่อเราชมเชยให้มากกว่าตำหนิ จะช่วยให้เด็กมีเซลฟ์เอสตีมรู้ว่าตนเองทำดีก็ได้มิได้แย่เสมอไป แล้วทิศทางพัฒนาการจะไปในทางที่ดีเอง
จิตวิทยาคลาสสิกเริ่มอ่อนกำลังลง มาถึงจิตวิทยาเชิงบวก (positive psychology) จิตวิทยาเชิงบวกใช้หลักการเคารพและเชื่อมั่นในความสามารถของมนุษย์ ประกอบด้วยวิธีการต่างๆ ที่ช่วยให้เด็กได้เห็นความสามารถของตนเอง การกำหนดทางเลือกการตัดสินใจ แล้วรับผลลัพธ์ที่ตนเองเลือก ล่วงรู้อารมณ์ตนเอง แล้วพัฒนาต่อไป
จิตวิทยาเชิงบวกมิใช่การพูดหวานๆ แต่เป็นศาสตร์ที่มีหลักการและวิธีการที่จำเพาะ ชัดเจน และได้ผล ต้องการผู้เชี่ยวชาญที่รู้จริงช่วยชี้แนะ
แล้วเราก็มาถึงยุคที่ชีวิตมีทางเลือกมากมายเพราะไอที เด็กจะเลือกทำหรือไม่ทำ จะไปหรือไม่ไป กลายเป็นเรื่องยากที่พ่อแม่จะเข้าไปกะเกณฑ์บังคับเหมือนสมัยก่อน
เด็กสมัยใหม่ควรได้รับการพัฒนาให้ควบคุมตนเองได้ บริหารความจำใช้งานได้ดี แล้วคิดยืดหยุ่นได้หลากหลาย จากนั้นนำพาชีวิตของตนเองไปสู่จุดหมายที่ตนเองกำหนด คือ Executive Function(EF)
หากเด็กคนหนึ่งควบคุมตนเองและคิดยืดหยุ่นได้ พ่อแม่สมัยใหม่จะยินดีนั่งดูมากกว่าเข้าไปบังคับ ยินดีเดินตามแล้วคอยแนะนำหรือช่วยเหลือตามความจำเป็น
เช่นนี้คำว่าดื้อก็จะเลือนหายไป
นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
จิตแพทย์และนักเขียน ขวัญใจพ่อแม่ชาวโซเชียล