แต่หลังจากที่เด็กและครอบครัวทั้งหมดเข้าสู่โปรแกรมการพัฒนา EF ของทางสถาบันฯ เด็กมีพัฒนาการสมวัยเพิ่มขึ้นจากจำนวน 25.6% เป็น 53.3% ของเด็กทั้งหมด ด้านการทดสอบระดับทักษะ EF ก่อนการส่งเสริมทั้ง 2 กลุ่ม พบว่ามีคะแนนต่ำกว่าเกณฑ์เด็กตามวัย ควรได้รับการส่งเสริมถึง 37.4% ในกลุ่มทดลองหลังการส่งเสริมเด็กมีทักษะ EF ในระดับปกติ เพิ่มขึ้นจากจำนวน 48.4% เป็นจำนวน 86.5%
ซึ่งกระบวนการพัฒนา EF ที่ใช้ได้เสริมสร้างความตระหนักให้พ่อแม่ ครู เห็นความสำคัญในบทบาทของตนเองในเป้าหมายการพัฒนาเด็กให้เก่ง ดี มีความสุข พ่อแม่ ครู ให้ความรัก ความอบอุ่นและความไว้วางใจ มีสัมพันธภาพที่ดีกับเด็ก โดย
สร้างกิจกรรมที่มีเป้าหมาย ที่จะสร้างโอกาสให้เด็กได้คิด ทำ ลองถูกผิดด้วยตนเอง สรุปทบทวน และปรับปรุงแก้ไขด้วยตนเอง บนฐานการชักชวนให้น่าสนใจ ทำให้สนุกคล้ายการเล่น ให้กำลังใจเด็กได้ทำจนบรรลุจุดมุ่งหมาย ให้เด็กได้รู้สึกสำเร็จ และได้รับการชมแชย พ่อแม่ ครู เพิ่มเวลาคุณภาพดังกล่าวนี้กับเด็กทุกวัน
จัดสภาพสภาพแวดล้อม วัสดุ อุปกรณ์ที่เอื้อและให้โอกาสเด็กได้สนใจที่จะทำ ได้เลือก ตัดสินใจ และปลอดภัย จัดพื้นที่การเรียนรู้แก่เด็กและครอบครัว ให้ทำกิจกรรมร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ทั้งในบ้าน โรงเรียน ชุมชน บริษัทเอกชน โรงงาน ให้เด็กได้เรียนรู้ในทุกพื้นที่
สร้างวินัยเชิงบวก หลีกเลี่ยงการตีตรา ลงโทษอย่างรุนแรงทั้งร่างกายและจิตใจเพราะความเครียดส่งผลให้ความสามารถในการเรียนรู้ของเด็กลดลง และสอนให้เด็กเข้าใจอารมณ์ตนเองและผู้อื่น
ควบคุมเวลาการใช้สื่อ ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อโฆษนา สื่อออนไลน์ต่างๆ และให้ความรู้ต่างๆ เช่น ไม่แนะนำให้เด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี ใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารทุกชนิด ไม่แนะนำให้เด็กอายุน้อยกว่า 6 ปี ใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารโดยลำพัง ไม่ควรให้เด็กดูทีวีเล่นเกมมากเกินไปเพราะส่งผลต่อพัฒนาการล่าช้า เป็นต้น
มีการประสานการส่งเสริมเด็กร่วมกันทั้งที่บ้านและโรงเรียน เช่นกิจกรรมครูพบพ่อแม่รายบุคคลอย่างน้อยปีละ 2 ครั้งเพื่อร่วมพัฒนาจุดเด่น และแก้ไขจุดบกพร่องต่างๆของเด็ก
และมีระบบการส่งเสริม ส่งต่อ และติดตามเป็นระยะในเด็กกลุ่มเสี่ยงต่างๆ
ซึ่งข้อสรุปของงานวิจัชุดนี้ระบุว่า เด็กๆ ต้องการจุดเริ่มต้นของชีวิตที่ดีอย่างเท่าเทียม โดยเฉพาะ 3,000 วันแรกของชีวิต นับตั้งแต่ในครรภ์ถึงอายุแปดปี เด็กต้องการการปกป้องทั้งร่างกายและสมองของเขาจากปัจจัยเหนือพันธุกรรมตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ไม่ว่าจะเป็นสารพิษ ความเครียดของแม่ ต้องการการดูแลและส่งเสริมการเรียนรู้ตั้งแต่แรกเกิด การเลี้ยงดูเชิงบวก ให้การดูแลใกล้ชิด ส่งเสริมการเรียนรู้การช่วยตนเอง การส่งเสริมการเรียนรู้และการดูแลเด็กปฐมวัยนี้ต้องมีมาตรฐานเท่าเทียมทุกระบบไม่ว่าจะเป็นการดูแลในครัวเรือน โดยญาติ โดยข้างบ้าน โดยบริษัทที่ส่งผู้บริบาลเด็ก เนอสเซอรี่ ศูนย์เด็กเล็ก หรือ โรงเรียนอนุบาล ไม่ว่าจะยากดีมีจนหรือเป็นเด็กพิเศษ
เด็กต้องการพื้นที่สร้างสรรค์ พื้นที่เรียนรู้ พื้นที่เล่น พื้นที่พัฒนาของพวกเขา พื้นที่ทางกายภาพต้องมีมากว่าในบ้านและในโรงเรียน ชุมชน บริษัทห้างร้าน หน่วยงานต่างๆ ในชุมชนต้องรับผิดชอบร่วมกันในการพัฒนาออกแบบพื้นที่ใหม่ กิจกรรมใหม่ และผู้ดูแลหรือโค้ชเด็กพันธุ์ใหม่เพื่อการพัฒนาการเรียนรู้และการดูแลเด็กในชุมชนในสังคมร่วมกัน
เด็กต้องมีส่วนร่วมในกระบวนการคิด ต้องมีโอกาสได้รับการส่งเสริมให้เป็นนักคิดนักออกแบบเพื่อพัฒนากิจกรรมที่เหมาะสมกับตนเองและชุมชน ธุรกิจ องค์กร โรงงานต้องส่งเสริมภาวะครอบครัวเข้มแข็งส่งเสริมการดูแลเด็กแก่คนในองค์กร นโยบายหลักทางทรัพยากรบุคคลขององค์กรและธุรกิจต้องมุ่งเน้นที่การสร้างความเป็นมิตรกับครอบครัวด้วย
การพัฒนาสังคมที่ยั่งยืนตามวาระการพัฒนาที่ยังยืน SDG 2030 นั้น ต้องมีเป้าหมายที่จะทำให้ สุขภาวะและศักยภาพของเด็กดีขึ้น ขณะเดียวกัน กระบวนการพัฒนาที่ใช้กลยุทธการยึดสุขภาวะและศักยภาพของเด็กเป็นศูนย์กลาง จะนำไปสู่การออกแบบกระบวนการพัฒนาแนวใหม่ที่เป็นไปตามกระบวนการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยเช่นกัน