ความอ้วนไม่ได้เกิดในทันทีทันใด แต่เกิดจากการสะสมไขมันทีละเล็กน้อยเป็นเวลานาน ดังนั้น การมีพฤติกรรมการกินที่เหมาะสมร่วมกับการออกกำลังกายจะช่วยป้องกันโรคนี้ได้
พฤติกรรมที่ส่งเสริมความอ้วน
กินอาหารไขมันสูง เช่น แฮมเบอร์เกอร์ พิซซ่า โดนัต หรือของทอด อาหารเหล่านี้ให้พลังงานสูง เพราะมีส่วนประกอบหลักเป็นแป้งและไขมัน ถ้าเรากินแฮมเบอร์เกอร์ 1 ชิ้น มันฝรั่งทอด 1 ถุง น้ำอัดลม 1 แก้ว จะได้รับพลังงานประมาณ 750-800 แคลอรี ซึ่งเป็นครึ่งหนึ่งของพลังงานที่ควรได้ต่อวันของเด็กอายุ 6-10 ปี การเลือกประเภทอาหารจึงเป็นเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่ต้องใส่ใจเป็นพิเศษ
กินจุบจิบ การกินขนมขบเคี้ยว น้ำหวานน้ำอัดลมบ่อยๆ ทำให้มีพลังงานส่วนเกินมาก เราควรฝึกลูกให้กินเป็นเวลา กินจุบจิบน้อยลง ให้เงินค่าขนมไปโรงเรียนแต่พอดี สำหรับเด็กที่ติดนิสัยนี้แล้ว พยายามให้กำลังใจและเปลี่ยนชนิดอาหารก็จะเป็นอีกวิธีที่ช่วยได้
ให้รางวัลหรือมีเครื่องล่อใจเป็นอาหาร “ถ้าทำการบ้านเสร็จเร็ว แม่จะพาไปกินไอศกรีม” บ่อยครั้งที่เราทำแบบนี้ ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้กินมากขึ้น ให้เปลี่ยนของรางวัลเป็นของเล่นหรือหนังสือแทนดีกว่า หรือจะเป็นการให้รางวัลแบบไม่ใช่สิ่งของ เช่น การกล่าวชื่นชม การกอด การยิ้ม ฯลฯ ก็ได้เช่นเดียวกัน
กินระหว่างดูทีวี มีการสำรวจพบว่าเด็กใช้เวลาดูทีวีเฉลี่ยวันละ 3 ชั่วโมง ระหว่างนี้มักจะกินขนมหรือดื่มน้ำอัดลมไปด้วย ถ้าคุณพ่อคุณแม่ไม่ห้ามปราม ลูกสามารถดูทีวีได้ทั้งวัน ร่างกายไม่มีการเผาผลาญพลังงาน มีแต่เติมเข้าไปไม่อ้วนยังไงไหว
ตามใจลูกเรื่องการกิน คุณพ่อคุณแม่สมัยนี้ตามใจลูกมากกว่าแต่ก่อน อาจเป็นเพราะมีเวลาให้ลูกน้อยหรือมีลูกน้อยเลยตามใจมาก เด็กมักจะไม่รู้ว่าอะไรควรกินหรือไม่ควร ผู้ใหญ่ควรชี้นำสม่ำเสมอ ลูกจะเข้าใจมากขึ้น
ตุนขนมไว้ที่บ้านจำนวนมาก บางบ้านมีขนมถุงใหญ่เป็นลังเลยก็มี เด็กจะกินมากไปด้วย มีถึง 71% ของครอบครัวไทย ที่ซื้อน้ำอัดลมเก็บไว้ที่บ้านเป็นประจำ ควรปลี่ยนใหม่ ให้ในบ้านจะมีแต่ผลไม้ นมพร่องไขมัน และน้ำเปล่า ลูกเล่นมาเหนื่อยๆ และหิว ก็จะกินเอง ทำแบบนี้เป็นประจำก็เกิดเป็นความเคยชิน และลดขนมไปได้
ขาดการออกกำลังกาย ควรจัดเวลาออกกำลังกายสำหรับทุกคนในครอบครัวอย่างสม่ำเสมอ และกระตุ้นให้มีการเผาผลาญไขมันส่วนเกินในชีวิตประจำวัน เช่น เดินขึ้นลงบันไดแทนการใช้ลิฟต์ จอดรถไกลหน่อยเพื่อให้เดินมากขึ้น ให้ช่วยงานบ้าน เดินไปซื้อของ กิจกรรมเหล่านี้ช่วยให้ไม่อ้วนและทำให้แข็งแรงกว่าเดิม
การควบคุมน้ำหนักในเด็กไม่ใช่เรื่องยากจนเกินไปหรอกค่ะ ถ้าคุณพ่อคุณแม่ตั้งใจจริงและทำอย่างสม่ำเสมอ หลักการสำคัญคือ กินให้พอกับที่ร่างกายต้องการ ถ้ากินเกินก็หาทางเผาผลาญไขมันออก มีการติดตามน้ำหนักตัวอย่างต่อเนื่อง ให้กำลังใจและเป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูก ทำได้ตามนี้ลูกของเราก็จะห่างไกลโรคอ้วนแล้วละค่ะ