ถึงลูกจะมีปัญหาการกิน เป็นเด็กกินยาก เลือกกิน ถ้าพ่อแม่ไม่กังวลเกินไปนัก ก็สามารถแก้ไขให้ลูกได้รับอาหารครบคุณค่าไม่ยาก..
เพราะการกังวลว่าลูกจะได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วนในวัยที่ร่างกายที่กำลังเจริญเติบโต แม่ก็มักจับตา จ้ำจี้จ้ำไชให้ลูกกินโน่นกินนี่ตลอดเวลา เวลาอาหารแต่ละมื้อเลยกลายเป็นช่วงเวลาของการเคี่ยวเข็ญรบรากันไป ทำให้เป็นสาเหตุหนึ่งที่ลูกไม่อยากกินอาหาร
มาทบทวนกันหน่อยว่า ความกังวลกับอาการกินยากของลูกนั้น เป็นเรื่องที่ควรกังวลจริงๆ หรือว่าเป็นเพียงความเชื่อ
ถ้าเด็กๆ ไม่กินเนื้อมีหวังเป็นโรคโลหิตจาง
ความจริง : ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคในสหรัฐอเมริการายงานว่า เด็กในอเมริกาที่ขาดธาตุเหล็กเป็นเด็กวัยเตาะแตะอายุระหว่าง 1-2 ปีมากที่สุดคือ 9 % เด็กอายุ 3-5 ปี 3 % และ 6-11 ปี 2 % จะเห็นว่าเด็กเล็กๆ มีโอกาสที่ขาดธาตุเหล็กมากที่สุด แต่ไม่ได้หมายความว่าถ้าไม่กินเนื้อแล้วเด็กจะขาดธาตุเหล็ก เพราะเนื้อยังเป็นอาหารที่ย่อยยากเกินไปสำหรับเด็กเล็กๆ
นักโภชนาการบอกว่า แม้ว่าเนื้อจะมีธาตุเหล็กที่ดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายก็ตาม แต่เด็กๆ สามารถได้รับธาตุเหล็กที่จำเป็นได้จากการกินอาหารที่มีธาตุเหล็กอื่นๆ เช่น นม ธัญพืชและขนมปัง ผลไม้อบแห้งอย่างเช่น ลูกเกด ผักโขม น้ำอ้อย ถั่ว ไข่ ปลา หมู และเป็ด ไก่ เด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี ควรจะได้รับธาตุเหล็กอย่างน้อย 10 มิลลิกรัมต่อวัน
เด็กไม่กินผักจะขาดวิตามินและแร่ธาตุสำคัญ
ความจริง : ผักมีประโยชน์ให้ทั้งวิตามิน เกลือแร่ และเป็นเส้นใยอาหารที่ช่วยให้ขับถ่ายได้ดี แต่ถ้าลูกไม่กินผัก แต่กินผลไม้ ก็ชดเชยกันได้ เพราะผลไม้ก็มีวิตามินเช่นเดียวกับผักนั่นเอง
ตัวอย่างเช่น ถ้าลูกไม่ยอมกินแครอตเลย ลองให้กล้วย ฟักทอง หรือแคนตาลูปดูสิคะ เพื่อชดเชยวิตามินเอและแคโรทีน ส้มก็แทนผักโขมที่ให้กรดโฟลิก เป็นต้น
แต่ในขณะเดียวกันก็ควรฝึกลูกให้กินผักอย่างค่อยเป็นค่อยไปด้วย
เวลาลูกไม่สบาย นมจะทำให้ลูกแย่เข้าไปใหญ่
ความจริง: เวลาลูกเป็นหวัด จะไม่ค่อยกินนม แล้วครืดคราดในลำคอ ข้อเท็จจริงคือว่านมจะไปเคลือบในลำคอซึ่งมีเสมหะจากอาการหวัด ทำให้ลูกรู้สึกระคายคอได้ แต่นมไม่ได้ทำให้อาการหวัดแย่ลง จึงไม่จำเป็นต้องงดนม ให้ลูกกินเท่าที่จะกินได้ แต่ถ้าลูกปฏิเสธนมในช่วงนี้ ก็ไม่ต้องกังวล ให้อาหารน้ำอื่นๆ ที่คล่องคอ เช่น น้ำผลไม้ ข้าวต้ม โจ๊ก น้ำซุปแทนจนกว่าอาการหวัดจะดีขึ้น และให้ลูกดื่มน้ำเยอะๆ เพื่อช่วยขจัดเสมหะ
กลัวลูกอ้วน เลยไม่ให้ลูกกินอาหารไขมันตั้งแต่เล็กๆ
ความจริง : แต่ละวันทารกและเด็กวัยเตาะแตะต้องการพลังงานจากไขมันถึง 40% เนื่องจากสมองและร่างกายกำลังพัฒนาอย่างรวดเร็ว เรื่องนี้ผู้เชี่ยวชาญทางด้านโภชนาการเด็กอธิบายว่าการเจริญเติบโตของสมอง ต้องการกรดไขมันและสารประกอบอื่นๆ จากไขมัน เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปีจึงไม่ควรดื่มนมพร่องมันเนยหรือนมที่สกัดไขมันออกไป สำหรับเด็กที่โตกว่านี้ก็ยังคงต้องการกรดไขมันในอาหารต่อไปเหมือนกัน ซึ่งช่วยในเรื่องของสุขภาพผิว การเจริญเติบโตของร่างกาย การผลิตฮอร์โมนเพศ การดูดซึมวิตามิน แต่เด็กที่โตเกิน 2 ปีขึ้นไปต้องการไขมันน้อยลง เหลือเพียง 30% ต่อวันก็เพียงพอแล้ว และไขมันในอาหารช่วยให้เด็กรู้สึกอิ่ม ดังนั้นถ้าคุณจำกัดการบริโภคไขมันมากไป ลูกอาจจะกินอาหารอื่นทดแทนมากขึ้น ซึ่งไม่ช่วยควบคุมน้ำหนักได้เลย สอนลูกให้รู้จักกินอาหารที่มีประโยชน์ทุกชนิดในปริมาณที่พอเหมาะดีกว่า
น้ำตาลทำให้ลูกไฮเปอร์ฯ
ความจริง : ไม่จริงเลย แต่ความเชื่อนี้อาจมาจากพ่อแม่เห็นเด็กมีพลังมากหลังจากกินของหวาน อย่างช็อกโกแลต หรือน้ำอัดลมซึ่งบางชนิดมีคาเฟอีนอยู่ด้วย ที่อาจเป็นสาเหตุจากคาเฟอีนที่มีอยู่ในอาหารเหล่านี้ก็ได้ที่กระตุ้นให้เด็กอยู่ไม่สุข
ไม่กล้าให้ลูกลองกินอาหารแปลกใหม่ กลัวลูกแพ้
ความจริง: การแพ้อาหารนั้นไม่ได้เป็นกันง่ายๆ หรือพบได้บ่อยๆ จริงๆ แล้วหมอเด็กบอกว่ามีเด็ก แค่ 6-8% เท่านั้นเองที่เป็นได้
ความจริงการแพ้อาหารเกิดขึ้นเพราะบางคนอาจะมีระบบภูมิต้านทานที่ไวต่อสิ่งแปลกใหม่ที่เข้ามาในร่างกาย ไม่เว้นแม้แต่อาหารที่ไม่พิษภัยแต่อย่างใด ทำให้เกิดปฏิกิริยา เช่น เป็นผื่น ลมพิษ อาเจียน ท้องร่วง และอาหารที่ทำให้เด็กแพ้มีอยู่ไม่กี่ชนิด คือ ไข่ ถั่ว มะม่วงหิมพานต์ ข้าวสาลี ถั่วเหลือง อาหารทะเล ต้องใช้ความสังเกตดูว่าลูกกินอะไรแล้วมีอาการแพ้ทุกครั้งที่กิน ไม่ใช่ครั้งแรกที่กินก็เหมาว่าลูกแพ้อาหารเสียแล้ว เลยพานไม่ยอมให้ลูกลองกินอะไรใหม่ๆ เลย
กินนมมากๆ กระดูกแข็งแรง ถ้าลูกไม่กินนมจะไม่โต
ความจริง : นมคือแหล่งที่ดีที่สุดของแคลเซียม แต่ถ้าลูกของคุณไม่ค่อยกินนม หรือแพ้นมวัว ก็ยังสามารถได้รับแคลเซียมที่เพียงพอได้จากอาหารชนิดอื่น เช่น ปลาตัวเล็ก ตัวน้อย โยเกิร์ต เนยแข็ง นมถั่วเหลืองเสริมแคลเซียม บล็อคโคลี เต้าหู้ ผักใบเขียว เด็ก 1-3 ปีควรได้รับแคลเซียม 500 มิลลิกรัมต่อวัน เด็กวัย 4-8 ปี 800 มิลลิกรัม เด็ก 9 ปีขึ้นไป 1,300 มิลลิกรัม และควรกินอาหารที่มีวิตามินซีเพื่อช่วยให้ร่างกายดูดซึมแคลเซียมได้ดีด้วย เช่น น้ำผลไม้
น้ำผลไม้อุดมด้วยวิตามินและเป็นเครื่องดื่มดับกระหาย
ความจริง : จริงอยู่น้ำผลไม้มีวิตามินโดยเฉพาะวิตามินซี และแน่นอนว่ามีคุณค่ากว่าน้ำอัดลม แต่สำหรับน้ำผลไม้กระป๋องหรือน้ำผลไม้บรรจุกล่อง ไม่ควรให้ลูกกินมากเกินไป เพราะมักจะมีน้ำตาลประกอบอยู่ด้วย ทำให้ลูกได้รับน้ำตาลมากจนไม่อยากกินข้าว และอาจทำให้ฟันผุได้ด้วย เด็กเล็กๆควรดื่มน้ำผลไม้ 4-6 ออนซ์ต่อวัน ส่วนเด็กที่โตขึ้นมาอีกนิดไม่ควรเกิน 12 ออนซ์ต่อวัน นักโภชนาการบอกว่าแม้ว่าน้ำผลไม้ควรจะให้วิตามินก็จริง แต่น้ำเปล่าที่ดีที่สุด สำหรับดับอาการกระหายน้ำ และเด็กๆ ควรดื่มน้ำเปล่าวันละมากๆ ด้วย
ข้าวที่ขัดขาว ขนมปังขาวไม่มีประโยชน์
ความจริง : แม้ข้าวซ้อมมือขนมปังที่ทำจากแป้งโฮลวีตจะมีวิตามินและเส้นใยอาหารมากกว่า ซึ่งช่วยป้องกันอาการท้องผูก โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง และโรคเบาหวาน แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าข้าวขัดขาวและ ขนมปังขาวจะไม่มีคุณประโยชน์เอาเสียเลย เพราะให้คาร์โบไฮเดรตที่ให้พลังงาน ยังมีธาตุ เหล็ก วิตามินบี กรดโฟลิก และวิตามินบี 2 (แม้จะน้อยกว่าข้าวซ้อมมือและขนมปังโฮลวีตก็ตาม) ดังนั้นถ้าเด็กๆ ชอบข้าวขัดขาวและขนมปังขาวก็ไม่ต้องกังวล เราสามารถเสริมอาหารอื่นๆ โดยเฉพาะที่มีวิตามินบีและเส้นใยอาหารมากๆ ให้ลูกได้ด้วย
จะเห็นว่าถ้าคุณแม่รู้จักพลิกแพลง ยืดหยุ่น ไม่ยึด ติดกับสิ่งที่เชื่อจนเกินไปนัก หาข้อเท็จจริงของข้อมูลให้มากจะได้หมดกังวล แม้ลูกจะช่างเลือก(กิน) ก็ดัดแปลงเมนูไปได้สารพัด เท่านี้ลูกก็จะได้รับสารอาหารครบถ้วนแล้ววล่ะค่ะ