พ่อแม่หลายคนอาจจะกำลังเจอปัญหาเรื่องการกินอาหารของลูก เช่น ลูกกินยาก ไม่ค่อยยอมกินข้าว เลือกกินเฉพาะอาหารบางประเภท อมข้าว ฯลฯ ทำให้คุณแม่กังวลใจว่าลูกจะได้รับสารอาหารไม่เพียงพอต่อการเจริญเติบโต ซึ่งอาจส่งผลให้ตัวเล็ก น้ำหนักน้อยได้ และพัฒนาการเติบโตไม่ทันเพื่อนก็เป็นได้
วันนี้เรามีเคล็ดลับแบบ Step-by-Step มาฝากคุณพ่อคุณแม่กันค่ะ ว่าจะเปลี่ยนจากลูก “กินยาก” เป็น “อยากกิน” ได้อย่างไร
Step 1 :สังเกตสัญญาณที่บ่งบอกว่าลูกเริ่มมีอาการกินยาก
ก่อนอื่นคุณพ่อคุณแม่ต้องเป็นนักสังเกตค่ะว่า ลูกมีสัญญาณบ่งบอกอาการกินยากดังต่อไปนี้หรือไม่
-
-
- เคี้ยวข้าวช้า อมข้าว
- หันหน้าหนีเวลาป้อน
- ลูกกินยาก เลือกกินอาหารเฉพาะบางอย่างที่ชอบเท่านั้น
- ลองเปลี่ยนอาหารให้หลากหลายแล้ว มีสีสันและหน้าตาน่ากินแล้ว แต่ลูกก็ยังไม่ยอมกินข้าว
- แม้จะเป็นเวลากินข้าว ลูกจะสนใจเล่นหรือสนใจสิ่งอื่นมากกว่าสนใจอาหารในจานตัวเอง
ถ้าพบว่าลูกมีอาการแค่บางอย่างที่กล่าวมาข้างต้น แสดงว่าลูกมีอาการกินยากจริงๆ แล้วค่ะ จากนั้นเรามาหาสาเหตุกันว่า ทำไมลูกกินยาก เพื่อว่าคุณพ่อคุณแม่จะได้หาทางแก้ไขตรงจุด และส่งเสริมการทานอาหารที่ถูกต้องแก่ลูกได้ดีขึ้นค่ะ
Step 2 :หาสาเหตุที่ทำให้ลูกกินยาก
สาเหตุที่ทำให้ลูกกินยากมีได้หลากหลายเช่นกัน แต่ที่พบบ่อยได้แก่
-
-
- อาหารรสชาติไม่ถูกปาก สีสันและหน้าตาไม่ถูกใจจนไม่อยากกิน
- ลูกสนใจทำอย่างอื่นมากกว่ากินข้าว เช่น ดูทีวี เล่นของเล่น
- ลูกกินขนมระหว่างมื้อจนอิ่ม ทำให้ไม่อยากกินอาหารมื้อหลัก
- พ่อแม่ไม่ทานอาหารบางอย่างให้ลูกเห็น ลูกเลยไม่ทานตามไปด้วย เช่น พ่อแม่ไม่กินผัก ลูกก็จะเลียนแบบพฤติกรรมไม่ทานผักไปด้วย
- ลูกสุขภาพไม่ดีโดยที่พ่อแม่ไม่รู้ เช่น ปวดท้อง เวียนหัว หรือมีอารมณ์ที่เปลี่ยนไป เช่น กำลังร่าเริงอยู่แต่โดนดุเลยไม่ยอมกินข้าว
พอจะทราบถึงพฤติกรรมและต้นเหตุแล้วนะคะว่าอะไรบ้างที่ทำให้ลูกกินยาก ลูกไม่ยอมกินข้าว อาจจะดูเป็นเรื่องยากสำหรับคุณพ่อคุณแม่ แต่จะง่ายขึ้นถ้าทำตามวิธีเหล่านี้ที่จะปราบลูกกินยากค่ะ
Step 3 :วิธีง่ายๆ แก้ไขลูกกินยาก
-
-
- ลองปรับ เปลี่ยนเมนูอาหารให้น่ากินขึ้น เช่น สีสันสวยงาม ตกแต่งให้น่ารัก รวมถึงอาจใช้จานชามลายน่ารัก ซึ่งจะต้องเป็นของเฉพาะของเขาเอง เพื่อให้เขารู้สึกว่าเขาเป็นเจ้าของ เขาต้องรับผิดชอบจานข้าวที่เป็นของเขา ซึ่งทำให้รู้สึกเป็นผู้ใหญ่เหมือนพ่อแม่ และอยากกินข้าวได้หมดเหมือนพ่อแม่ทำ
- เวลากินข้าวไม่ควรมีสิ่งรบกวนหรือหันเหความสนใจ เช่น พ่อแม่ควรกินข้าวพร้อมลูกและพูดคุยกันบนโต๊ะอาหาร ตักอาหารให้กัน หรือป้อนข้าวลูกบ้าง ไม่ควรกินข้าวไปดูทีวีไป หรือปล่อยให้ลูกเดินเล่นแล้วแม่เดินป้อนข้าวตาม ซึ่งจะทำให้ลูกกินข้าวได้น้อยลงและไม่อยากกินข้าว
- พ่อแม่จะต้องกำหนดเวลาในการกินข้าวให้ตรงเวลาเหมือนเดิมทุกวัน เพราะลูกจะค่อยๆ ชินและปรับตัวได้ว่าถึงเวลากินข้าวแล้ว ถ้าหมดเวลากินข้าว พ่อแม่ควรเก็บอาหาร ซึ่งจะต้องใช้ความอดทนไประยะหนึ่ง ลูกจะเรียนรู้ว่าเมื่อถึงเวลากินข้าวก็ควรสนใจการกินข้าวให้อิ่ม ไม่อย่างนั้นจะต้องทนหิวและรอมื้อถัดไป
- พ่อแม่ต้องเป็นตัวอย่างให้ลูก เช่น ถ้าอยากให้ลูกกินผัก พ่อแม่ต้องกินผักให้เห็น ซึ่งลูกมักจะชอบเลียนแบบพฤติกรรมของพ่อแม่อยู่แล้ว จึงเป็นเรื่องง่ายที่เขาจะสังเกตและทำตามโดยไม่รู้สึกว่าโดนบังคับ หรือรังเกียจอาหารที่กิน
- ครอบครัวต้องให้กำลังใจและส่งเสริมการกินของเขา เช่น ทุกคำที่เขาเคี้ยวหมด ควรจะชมและพูดในแง่ดี เช่น กินหมดจะโตไวนะ กินหมดจะแข็งแรงมีแรงเล่นได้ทั้งวัน เป็นต้น รวมถึงปู่ย่าตายายที่มักเอาใจหลาน พอเห็นหลานไม่ชอบกินก็จะหาอย่างอื่นที่หลานชอบให้กิน โดยเฉพาะขนมหวาน ปู่ย่าตายายควรจะต้องลองหาวิธีชักจูงให้หลานกินของที่มีประโยชน์มากขึ้นเช่นเดียวกับที่พ่อแม่ส่งเสริม เพื่อแก้ปัญหาการเป็นเด็กกินยาก
ไม่ใช่เรื่องยากใช่ไหมคะ แต่สำหรับใครที่จะแก้ปัญหานี้กับลูกกินยากจะต้องอาศัยเวลาและความใจแข็งด้วยค่ะ เพราะช่วงแรกลูกจะไม่ยอม แต่ถ้าคุณพ่อคุณแม่อดทน พยายาม และใจแข็งอีกนิดเพื่อสร้างนิสัยการกินที่ดีให้ลูกได้จนกลายเป็นเด็กกินง่าย กินอาหารครบถ้วน เขาก็จะเติบโตได้อย่างแข็งแรง พ่อแม่ไม่ต้องกังวลใจอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม ถ้าความพยายามยังไม่เห็นผลอีก คุณพ่อคุณแม่อาจจะให้ลูกกินวิตามินเสริมร่วมด้วย เพื่อส่งเสริมให้ลูกเจริญอาหารและรับสารอาหารครบถ้วนค่ะ