เพื่อเตรียมพร้อมเผชิญวิกฤตชีวิตในอนาคต
เรียบเรียงจากบทสัมภาษณ์ พญ.พรรณพิมล หล่อตระกูล ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล
สอนลูก “อึด ฮึด สู้” เพิ่ม RQ
ถ้าลูกเป็นเด็กรอคอยไม่เป็น ไม่ชอบปรับตัวกับสิ่งใหม่ๆ ไม่พยายามที่จะแก้ปัญหา น่าสงสัยว่าลูกกำลังมีปัญหาด้าน RQ แล้วล่ะ
…เรามาเสริมสร้าง RQ ให้ลูกตั้งแต่วันนี้ เพื่อเตรียมพร้อมสู้วิกฤตที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตกันนะคะ
รู้จัก RQ
RQ (Resilience Quotient) คือความสามารถทางอารมณ์ในการปรับตัวเมื่อต้องเผชิญภาวะวิกฤตในชีวิต ซึ่ง RQ จะเป็นพื้นฐานที่ทำให้เราสามารถผ่านสถานการณ์วิกฤตได้ โดย RQ จะเป็นส่วนหนึ่งของ EQ (Emotional Quotient) ซึ่งเป็นความฉลาดทางอารมณ์ในทุกด้าน เด็กที่มี RQ ดีจะมีความอดทนและพยายามที่จะหาทางออกเมื่อเจอกับปัญหา
อึด ฮึด สู้ …สร้าง RQ
RQ มีความสำคัญสำหรับเด็กทุกคนค่ะ เพราะเป็นพื้นฐานสำหรับการปรับตัวเข้าสู่สังคมเมื่อเด็กโตขึ้น และยังเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนเจอเหตุการณ์วิกฤตที่พ่อแม่ไม่สามารถคาดเดาได้เลยว่าในอนาคตจะเกิดอะไรขึ้นกับลูกบ้าง
จริงๆ แล้วพ่อแม่สามารถเริ่มสร้าง RQ ให้ลูกได้ตั้งแต่ 2-3 ขวบค่ะ แต่การสอนก็ต้องใช้เวลา ฝึกบ่อยๆ แล้วลูกก็จะมีระดับ RQ ที่สูงขึ้นเรื่อยๆ
ซึ่งการที่จะมี RQ ต้องประกอบด้วย อึด ฮึด สู้
อึด คือความอดทนหรือการรอคอย ถ้าเด็กวัยเยาว์ของเราไม่มีความสามารถในการอดทน เมื่อเจอปัญหาก็จะตื่นตระหนก อารมณ์ฉุนเฉียว แต่ถ้าเด็กมีความอดทนก็จะผ่านปัญหาไปได้ เช่น ถ้าลูกอยากเล่นกระดานลื่น ก็ต้องเล่นทีละคน ถ้าแย่งกันก็อาจตกจากกระดานลื่นได้ หรือถ้าเล่นพร้อมกันก็อาจจะไม่สนุกและสิ่งที่เด็กจะเรียนรู้คือต้องรอคอยและมีความอดทน ซึ่งส่วนนี้จะรวมถึงการจัดการกับอารมณ์ด้วยค่ะ ทั้งความอยากเล่น อยากเที่ยว ความกังวล ความกลัว ที่มีได้ตลอดเวลา พ่อแม่ก็ควรพูดให้ลูกเข้าใจพร้อมกับการสัมผัสลูก แล้วลูกก็จะเรียนรู้และจัดการกับอารมณ์ที่เกิดขึ้นได้
ฮึด คือการสร้างกำลังใจและความเชื่อมั่น เด็กวัยนี้ต้องการที่จะทำอะไรหลายๆ อย่าง แต่ก็ไม่ใช่ว่าเขาจะทำได้ทุกอย่าง เช่น ลูกอยากเปิดก๊อกน้ำ แต่ก๊อกน้ำแข็งมากจนเขาเปิดไม่ได้ ถ้าพ่อแม่เป็นคนให้กำลังใจลูก ฝึกให้ลูกเป็นคนมั่นใจ เขาจะเชื่อมั่นและคิดว่าตัวเองต้องทำได้ เขาก็จะฮึดสู้ และจะรู้สึกว่าไม่สำเร็จก็ไม่เป็นไร พร้อมกับพยายามทำอีกครั้ง แต่ถ้าพ่อแม่ทำแทนลูกทุกอย่าง ลูกก็จะไม่มั่นใจและรอคอยความช่วยเหลือ หรือเด็กที่พยายามทำแล้วแต่พ่อแม่ไม่พูดส่งเสริม ขณะเดียวกันก็พูดเชิงตำหนิ เช่น ทำไมลูกทำไม่ได้ แบบนี้มันผิดนะลูก เด็กก็จะไม่มั่นใจและไม่กล้าเผชิญปัญหาด้วยตัวเอง
สู้ คือการแก้ปัญหา เด็กที่เคยแก้ปัญหาด้วยตัวเองก็จะรู้วิธีและทักษะต่างๆ ที่จะเลือกมาต่อสู้กับปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น สิ่งสำคัญคือพ่อแม่ต้องเปิดโอกาสให้ลูกได้ฝึกแก้ปัญหา ฝึกคิดเองหรือรู้จักให้ทางเลือกกับลูกเพื่อแก้ปัญหา แต่ต้องปล่อยให้ลูกตัดสินใจเลือกวิธีแก้ปัญหาหรือต่อสู้ด้วยตัวเอง
สร้าง RQ ที่โรงเรียน
ที่โรงเรียนเด็กจะเจอสถานการณ์ทางสังคมมากขึ้นค่ะ ทั้งกับคุณครูและเด็กด้วยกัน เด็กจะยิ่งต้องเพิ่มเรื่องความอดทนและการรอคอย เช่น เข้าคิวทำกิจกรรม ซึ่งคุณครูก็มีส่วนสำคัญที่จะสร้าง RQ ให้เด็ก โดยการสนับสนุนให้เด็กคิด ลงมือทำ และแก้ปัญหาด้วยตัวเอง เพื่อเด็กจะได้มีกำลังใจและมีความเชื่อมั่นในการตัดสินใจเมื่อต้องเผชิญกับวิกฤตในวันข้างหน้า
Check list for RQ
ความสามารถด้าน RQ | ใช่ | ไม่ใช่ |
1. มีความมั่นคงทางอารมณ์/รอคอย
- รู้จักรอคอยได้นาน 2-3 นาที - เป็นเด็กอารมณ์ดี |
||
2. มีความรู้สึกดีกับตนเอง/มีกำลังใจ
- ชอบการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ - พอใจที่ได้ทำอะไรด้วยตนเองตามวัย |
||
3. มีทักษะในการแก้ปัญหา
-รู้จักช่วยเหลือตนเองตามวัย -ชอบแก้ปัญหาหรือทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดจนสำเร็จ |
ถ้าคำตอบคือใช่มากกว่า แสดงว่าลูกมีแนวโน้มที่จะมี RQ ที่ดี แต่ถ้าคำตอบคือไม่ใช่ ก็ควรดูว่าส่วนไหนที่บกพร่อง และควรปรับเปลี่ยนวิธีสอนโดยส่งเสริมให้มี RQ เพิ่มขึ้นค่ะ